วงการฟุตบอลอาชีพไทยนั้นมีเม็ดเงินมหาศาลหมุนเวียนอยู่ก็จริง แต่กลับไม่สามารถสร้างธุรกิจที่ทำกำไรมากมายให้กับคนในวงการและนักลงทุนได้ ผลประกอบการของทีมฟุตบอลของไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาวะที่ขาดทุน แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามก็ยังมีคนที่ยังอยู่ในวงการนี้ต่อไปหรือแม้แต่อาจจะมีหน้าใหม่เข้ามาอีกด้วย ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
ท้องถิ่นสร้าง สื่อสอบสารคดีข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนชุดนี้ผลิตภายใต้โครงการ สื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่น เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ประชาไท เพื่อบอกเล่าถึงเรื่องราวและปมปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นทั่วไทยในแง่มุมที่แตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่ปัญหาการบริหาร การเมือง การปกครอง สิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิคนพิการ คนไร้บ้าน ไร้ที่พึ่ง การศึกษา เด็กและเยาวชน กีฬา ไปจนถึงเรื่องธุรกิจ อันเกี่ยวเนื่องกับการทำงานของท้องถิ่นและชุมชน คำว่าท้องถิ่นในที่นี้ได้รับการตีความอย่างกว้าง ว่าหมายถึงรูปแบบของความสัมพันธ์ที่ชุมชนในท้องถิ่นนั้นมีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้อง ไม่ได้หมายความเฉพาะรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นของกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น ถึงแม้ว่าสารคดีในชุดนี้จำนวนหนึ่งจะพูดถึงประเด็นปัญหาในกรอบขององค์กรเหล่านั้นก็ตาม ธรรมาภิบาล (Good Governance) นั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่หน่วยการเมืองหรือการบริหารประเทศเท่านั้น หากหมายรวมถึงองค์กรภาคประชาชน ประชาสังคมหรือชุมชนต่างๆ ด้วยเหตุนี้เราจึงมีการตรวจสอบพฤติกรรมทางเพศของชุมชนนักกิจกรรมทางสังคม-การเมือง อยู่ในสารคดีชุดนี้ด้วย |
"การลงทุนสร้างสโมสรฟุตบอลในไทยลีก ตั้งแต่ T1 (Tier 1) ถึง T4 (Tier 4) จำนวน 122 ทีม [ณ ช่วงปี 2561] มีเม็ดเงินรวมกันมากกว่า 5,000 ล้านบาทในแต่ละปี และเป็นที่รับทราบกันว่าสโมสรเกือบทั้งหมด มีผลประกอบการขาดทุน ถ้าเป็นธุรกิจอื่น ๆ คงเลิกกิจการกันไปมากกว่าครึ่งแล้ว แต่สำหรับกิจการที่เรียกว่าฟุตบอลอาชีพ ผู้บริหารสโมสรทุกสโมสรยังคงมีหัวใจสู้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แม้จะขาดทุนและเจ็บปวดแค่ไหนก็ยังสู้ และทำต่อไปด้วยความรัก ทั้งรักฟุตบอล รักบ้านเกิด และมีความหวังที่อยากเห็นฟุตบอลไทยเติบโตก้าวหน้าต่อไป" - เนวิน ชิดชอบ
'เนวิน ชิดชอบ' ประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด นักการเมืองใหญ่จากบุรีรัมย์ที่หันมาเอาดีทางด้านการทำทีมฟุตบอล ได้เคยกล่าวเอาไว้เช่นนั้นเมื่อช่วงปี 2561 หลังธุรกิจสโมสรฟุตบอลในไทยเริ่มส่งสัญญาณ "ขาลง" ทั้งที่ทศวรรษก่อนหน้านี้ (ทศวรรษ 2550) เพิ่งเกิดจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้การทำสโมสรฟุตบอลเป็นธุรกิจที่น่าจับตา จึงเกิดคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับวงการฟุตบอลไทย
นับตั้งแต่ยุคทศวรรษ 2560 เป็นต้นมา จำนวนผู้เข้าชมในสนามฟุตบอลได้ลดลงอย่างชัดเจน จากการเปรียบเทียบกับช่วงทศวรรษที่ 2550 (ข้อมูลระหว่างฤดูกาล 2552-2559) พบว่าแฟนบอลไทยเข้าชมการแข่งขันฟุตบอลลีกสูงสุดของประเทศเฉลี่ยนัดละ 5,131 คน ล่วงมาทศวรรษที่ 2560 (ข้อมูลระหว่างฤดูกาล 2560-2565/66) ตัวเลขนี้ลดลงเหลือ 4,150 คน แม้ว่าจะตัดตัวเลขช่วงโดนผลกระทบโควิด-19 โดยพิจารณาแค่ตัวเลขเฉลี่ยฤดูกาล 2560 กับ 2561 ก็เหลือแค่ 4,604 คน กับ 4,466 คน ซึ่งยังสู้ค่าเฉลี่ยช่วงทศวรรษ 2550 ที่ทะลุห้าพันคนไปแล้วไม่ได้
และหากเทียบกับการแข่งขันฟุตบอลลีกสูงสุดในทวีปเอเชียด้วยกัน ค่าเฉลี่ยต่อนัดในฤดูกาล 2566/67 ของไทย (4,486 คนต่อนัด) นั้นอยู่ในอันดับที่ 12 ของเอเชีย ซึ่งประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างมาเลเซีย (5,238 คนต่อนัด) อินโดนีเซีย (5,795 คนต่อนัด) และเวียดนาม (6,675 คนต่อนัด) ต่างก็แซงไทยไปหมดแล้ว
ตารางที่ 1. ยอดผู้ชมในสนามเฉลี่ยแต่ละนัดของการแข่งขันฟุตบอลลีกในเอเชียฤดูกาล 2023 หรือฤดูกาล 2023/24 (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2023)
การแข่งขันฟุตบอลลีก (ประเทศ/เขตการปกครอง) / ยอดผู้ชมในสนามเฉลี่ยแต่ละนัด (คน)
|
ที่มา: Reddit/IndianFootball เรียบเรียงข้อมูลจาก Wikipedia และ worldfootball.net ณ เดือนธันวาคม 2023
ในด้านผลประกอบการ ดังเช่นที่เนวินเคยกล่าวไปว่าสโมสรเกือบทั้งหมดมีผลประกอบการขาดทุน ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจสโมสรฟุตบอลขาดทุนมีดังนี้
1. ต้นทุนที่สูง ธุรกิจฟุตบอลมีต้นทุนที่สูงมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าเหนื่อยนักเตะ ค่าจ้างโค้ช ค่าเช่าสนาม ค่าเดินทาง ค่าจัดการแข่งขัน และอื่น ๆ ต้นทุนเหล่านี้อาจทำให้สโมสรขาดทุนได้หากสโมสรไม่สามารถสร้างรายได้ให้เพียงพอ
2. ไม่มีประสิทธิภาพในการหารายได้ รายได้ของสโมสรฟุตบอลส่วนใหญ่มาจากค่าตั๋วเข้าชมการแข่งขัน การขายของที่ระลึก รายได้จากผู้สนับสนุน และค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ซึ่งหากสโมสรไม่มีประสิทธิภาพในการหารายได้เหล่านี้ได้เพียงพอก็มักจะขาดทุน
3. การบริหารที่ผิดพลาด การบริหารที่ผิดพลาดก็เป็นปัจจัยที่ทำให้สโมสรขาดทุนได้ เช่น การใช้จ่ายเงินเกินตัว การขาดการวางแผนระยะยาว หรือผิดพลาดในการตัดสินใจต่าง ๆ เป็นต้น
เป็นที่ทราบกันดีว่าการทำสโมสรฟุตบอลฟุตบอลในไทยมีค่าใช้จ่ายสูง เมื่อพิจารณาข้อมูลงบการเงินปี 2565 ของนิติบุคคลสโมสรฟุตบอลที่อยู่ในการแข่งขันไทยลีก 1 ฤดูกาล 2565/66 พบว่าในรอบปี 2565 นั้นมีรายจ่ายตั้งแต่กว่า 14 ล้านบาท ไปจนถึงกว่า 460 ล้านบาทเลยทีเดียว
นอกจากนี้ยังพบว่ามีเพียง 4 สโมสรจากทั้งหมด 16 สโมสรเท่านั้นที่ทำกำไรได้ คือ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด, บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, พีที ประจวบ และเชียงราย ยูไนเต็ด แต่ตัวเลขกำไรก็อยู่ที่ประมาณ 6 ล้านบาท ถึงกว่า 48 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งหากเมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขทีมที่ขาดทุนอีก 12 ทีมนั้นอยู่ที่ระหว่าง 1.7 ล้านบาท ถึง 280 ล้านบาทเลยทีเดียว
ตารางที่ 2. ข้อมูลงบการเงินปี 2565 ของนิติบุคคลสโมสรฟุตบอลที่อยู่ในการแข่งขันไทยลีก 1 ฤดูกาล 2565/66 |
||||
สโมสร |
ชื่อนิติบุคคล |
รายได้รวม (บาท) |
รายจ่ายรวม (บาท) |
กำไร(ขาดทุน) สุทธิ (บาท) |
บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด |
บริษัท บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จำกัด |
512,996,059.00 |
461,504,671.00 |
48,683,204.00 |
เชียงราย ยูไนเต็ด |
บริษัท เชียงราย ยูไนเต็ด คลับ จำกัด |
103,464,077.92 |
89,325,066.34 |
14,053,584.58 |
พีที ประจวบ |
บริษัท สโมสรฟุตบอล พีที ประจวบ เอฟซี จำกัด |
104,490,868.28 |
96,972,531.71 |
6,013,251.37 |
บีจี ปทุม ยูไนเต็ด |
บริษัท บีจี สปอร์ตส์ จำกัด |
376,905,937.00 |
368,777,390.00 |
4,512,863.00 |
หนองบัว พิชญ |
บริษัท สโมสรหนองบัวลำภู เอฟซี จำกัด |
8,236,976.98 |
9,972,406.76 |
-1,735,429.78 |
ลำปาง |
บริษัท สโมสรฟุตบอลลำปางเอฟซี จำกัด |
3,066,563.29 |
14,470,219.99 |
-11,403,656.70 |
นครราชสีมา มาสด้า |
บริษัท โคราช ยูไนเต็ด จำกัด |
58,975,325.51 |
70,289,351.78 |
-12,511,460.08 |
ขอนแก่น ยูไนเต็ด |
บริษัท สโมสรขอนแก่นยูไนเต็ด จำกัด |
29,552,884.60 |
47,503,940.11 |
-17,951,055.51 |
ชลบุรี |
บริษัท ชลบุรี เอฟ.ซี. จำกัด |
84,033,687.21 |
105,246,635.31 |
-21,795,704.15 |
สุโขทัย |
บริษัท สุโขทัยฟุตบอลคลับ จำกัด |
49,813,316.63 |
72,409,407.64 |
-22,687,816.65 |
ลำพูน วอร์ริเออร์ |
บริษัท สโมสรฟุตบอลลำพูน จำกัด |
13,190,595.76 |
38,615,272.68 |
-25,424,676.92 |
โปลิศ เทโร |
บริษัท ดาวเงิน เอฟซี จำกัด |
41,622,595.71 |
62,894,456.92 |
-25,831,024.67 |
ราชบุรี |
บริษัท ราชบุรี เอฟ.ซี. จำกัด |
52,614,964.26 |
83,180,786.80 |
-30,565,822.54 |
การท่าเรือ |
บริษัท การท่าเรือ เอฟ.ซี. จำกัด |
266,609,751.39 |
314,868,429.87 |
-48,258,678.48 |
เมืองทอง ยูไนเต็ด |
บริษัท เมืองทอง ยูไนเต็ด จำกัด |
180,783,946.74 |
211,037,394.19 |
-56,557,354.91 |
ทรูแบงค็อก ยูไนเต็ด |
บริษัท ทรู ยูไนเต็ด ฟุตบอล คลับ จำกัด |
168,021,822.00 |
433,495,409.00 |
-283,297,450.00 |
ที่มา: เรียบเรียงข้อมูลจากเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 12 ธันวาคม 2566)
ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับนักฟุตบอลที่เพิ่มขึ้น
ดังที่กล่าวไปว่าค่าใช้จ่ายที่เกินตัว เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สโมสรฟุตบอลไทยส่วนใหญ่ขาดทุน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับนักฟุตบอลไม่ว่าจะเป็นการซื้อตัว ค่าเซ็นต์สัญญา และค่าจ้าง ถือเป็นรายจ่ายสำคัญของแต่ละทีมเนื่องจากปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประสบผลสำเร็จของกีฬาชนิดนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของนักฟุตบอลในทีม
จากการวิเคราะห์โดยศูนย์วิจัย EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อปี 2562 ระบุว่ามูลค่านักฟุตบอลไทยลีกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและมักจะอยู่ในทีมที่มีอันดับที่ดี โดยมูลค่านักฟุตบอลชาวไทยในปี 2562 เฉลี่ยอยู่ที่ 1.16 แสนยูโร (ประมาณ 4 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่อยู่ที่ 9.97 หมื่นยูโร (ประมาณ 3.4 ล้านบาท) คิดเป็นการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 16.3% ต่อปี ขณะที่มูลค่านักฟุตบอลชาวต่างชาติ (ไม่รวมชาติอาเซียน) ในปี 2562 เฉลี่ยอยู่ที่ 4.52 แสนยูโร (ประมาณ 15.6 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่อยู่ที่ 3.61 แสนยูโร (ประมาณ 12.5 ล้านบาท) คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 25.1% นอกจากนี้ค่าเฉลี่ยของการเลือกใช้นักฟุตบอลของทีมในไทยลีกมีลักษณะที่เปลี่ยนไป จากที่ทีมมักจะมีนักฟุตบอลที่แพงเกินคนอื่น ๆ ในทีมไม่กี่คน กลายมาเป็นลักษณะที่ทีมจะมีนักฟุตบอลที่มีมูลค่าใกล้เคียงกันมากขึ้นโดยเฉลี่ย ทำให้แต่ละทีมต้องใช้เงินลงทุนกับนักฟุตบอลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในการไล่ตามความสำเร็จ
Transfermarkt เว็บไซต์เกี่ยวกับตัวเลขสถิติในวงการฟุตบอล ได้ประมาณการต้นทุนค่าจ้างนักฟุตบอล 12 ทีมจากทั้งหมด 16 ทีม ในการแข่งขันไทยลีก ฤดูกาล 2565/66 พบว่าแต่ละทีมมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 52 ล้านกว่าบาท ถึง 166 ล้านกว่าบาท ส่วน Economic Research Institute (ERI) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่สำรวจและรวบรวมข้อมูลเงินเดือน ค่าครองชีพสำหรับภาคอุตสาหกรรม ได้ประเมินฐานรายได้นักฟุตบอลในไทยปี 2566 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 450,029 บาทต่อเดือน
ฟองสบู่มูลค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด
เมื่อพิจารณาในด้านรายได้ นอกจากค่าตั๋วเข้าชมการแข่งขัน การขายของที่ระลึก และรายได้จากผู้สนับสนุนแล้ว ครั้งหนึ่ง ‘ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด’ เคยเป็นความหวังว่าจะช่วยให้ทีมฟุตบอลไทยมีกำไร โดยใช้ตัวอย่างการขายลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดจากต่างประเทศโดยเฉพาะฟุตบอลอังกฤษ ทั้งนี้ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยที่เคยพุ่งขึ้นไปแตะถึงระดับ 1,000 ล้านบาท (รวมถึงมีการปั่นกระแสข่าวว่าจะมีการทุ่มซื้อวงเงิน 12,000 ล้านบาท แบ่งจ่าย 8 ปี) แต่ราคากลับลดฮวบลงมาเหลือเพียงประมาณ 50 ล้านบาท
ทั้งนี้มิใช่ว่าคนไทยจะไม่นิยมดูการถ่ายทอดสดการแข่งขัน เพราะในฤดูกาล 2564/65 มีการสำรวจเรตติ้งผู้ชมฟุตบอล พบว่าไทยลีกถือเป็นอันดับ 1 มีค่าเฉลี่ยเรตติ้งสูงสุดอยู่ที่ 0.887 ตามมาด้วยอันดับ 2 พรีเมียร์ลีกอังกฤษ 0.792 และอันดับ 3 บุนเดสลีกาเยอรมนี 0.527 ส่วนในฤดูกาลฤดูกาล 2565/66 ทั้งถ่ายทอดสดและย้อนหลัง มียอดคนดูมากถึง 11.66 ล้านคน และยอดวิวรวม 1,001,352,000 วิว สูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ตั้งแต่มีการถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยลีก แต่ต่อมาคือฤดูกาล 2566/67 กลับมีการเสนอราคาลิขสิทธิ์ถ่ายทดสดเหลือเพียงแค่ 50 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งท้ายสุดก็ไม่มีใครกล้าสู้ราคานี้ จนสมาคมฟุตบอลให้สโมสรในไทยลีกเป็นผู้นำสัญญาณไปถ่ายทอดในช่องทางของสโมสรเอง จึงมีคำถามที่ว่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยในอดีตอาจมีมูลค่าสูงเกินจริง และ ‘ปรากฏการณ์ฟองสบู่’ นี้ก็ได้แตกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ตารางที่ 3: มูลค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลไทยลีกฤดูกาล 2554 - 2566/67 ฤดูกาล 2554-2556 ค่าลิขสิทธิ์ 600 ล้านบาท (3 ฤดูกาล เฉลี่ยฤดูกาลละ 200 ล้านบาท) ฤดูกาล 2557-2559 ค่าลิขสิทธิ์ 1,800 ล้านบาท (3 ฤดูกาล เฉลี่ยฤดูกาลละ 600 ล้านบาท) ฤดูกาล 2560-2563 ค่าลิขสิทธิ์ 4,200 ล้านบาท (4 ฤดูกาล เฉลี่ยฤดูกาลละ 1,050 ล้านบาท) ฤดูกาล 2564/65 ค่าลิขสิทธิ์ 800 ล้านบาท ฤดูกาล 2565/66 ไม่มีการเปิดเผยค่าลิขสิทธิ์ ฤดูกาล 2566/67 มีการเสนอราคาที่ 50 ล้านบาท แต่ท้ายสุดให้แต่ละสโมสรถ่ายทอดสดเอง |
ที่มา: รวบรวมจากขอบสนามและ Brand Inside
ช่องว่างระหว่างทีมเล็กกับทีมใหญ่
จากตัวอย่างที่ยกมา จึงน่าเป็นห่วงว่าธุรกิจฟุตบอลไทยนั้นอาจกำลังเดินไปในทิศทางที่ผิด เพราะในปัจจุบันมีทีมใหญ่ที่ประสบความสำเร็จทั้งด้านการแข่งขันและผลประกอบการไม่กี่ทีม ส่วนทีมเล็ก ๆ ก็ต้องเผชิญกับภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งไม่ประสบความสำเร็จในการแข่งขัน ก็ได้แต่หวาดผวาว่า ‘นายทุนของสโมสร’ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่น) จะถอดใจและเลิกทำทีมเมื่อใด
จากข้อมูลงบการเงินปี 2565 ของนิติบุคคลสโมสรฟุตบอลที่อยู่ในการแข่งขันไทยลีก 1 ฤดูกาล 2565/66 พบว่าจากทั้งหมด 16 สโมสร ส่วนใหญ่ (10 ทีม) มีรายได้ไม่ถึงหลักร้อยล้านบาท ส่วนอีก 6 สโมสรที่มีรายได้หลักร้อยล้านบาทนั้นมี 2 เพียงสโมสรเท่านั้นที่มีรายได้ถึง 400 ล้านบาท
ข้อมูลนี้สอดคล้องกับคำกล่าวของ มิตติ ติยะไพรัช ประธานที่ปรึกษาสโมสรเชียงราย ยูไนเต็ด ทีมที่เคยได้แชมป์ลีกสูงสุด (ไทยลีก ฤดูกาล 2562 ) ทีมแรกของภาคเหนือ ครั้งหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า “วงการฟุตบอลไทยนั้น ช่องว่างระหว่างทีมเล็กกับทีมใหญ่กำลังห่างมากขึ้นในทุกปี”
ส่วนคนเคยทำทีมเล็ก ๆ ในระดับภูมิภาคอย่าง ชูเกียรติ หนูสลุง อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทยและอดีตประธานสโมสรมาแชร์ ชัยภูมิ (ซึ่งได้ยุติการทำทีมไปเมื่อ 2 ฤดูกาลที่แล้ว) ได้ออกมาเปิดเผยว่าการทำทีมในไทยลีก 3 ตอนนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ยากลำบาก และถึงกับเสนอให้ฟุตบอลไทยในระดับภูมิภาคกลับไปเป็นแบบลีกสมัครเล่นที่ภาครัฐสามารถสนับสนุนได้อีกครั้ง
“ผมอยากฝากไปถึงสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ถ้าไทยลีก 3 ยังเป็นแบบนี้ เงินมีบ้างไม่มีบ้าง ก็คงยากที่จะเปรี้ยงปร้างเหมือนเดิม ถ้ามันไปไม่ไหวจริง ๆ ไทยลีก 3 ก็ควรจะกลับมาเป็นลีกสมัครเล่นที่ภาครัฐสามารถสนับสนุนได้ โอกาสอยู่รอดถึงจะมี แต่ถ้าเป็นนิติบุคคลแบบนี้ อนาคตไม่สดใสแน่” ชูเกียรติ กล่าวไว้กับสื่อสยามสปอร์ต เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา
ย้อนดู ‘ทศวรรษ 2550’ ยุคทองฟุตบอลไทย
การแข่งขันฟุตบอลในไทยมีประวัติความเป็นมายาวนานเกิน 100 ปี ผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสำคัญ ๆ มาอย่างยาวนาน โดยสามารถแบ่งวิวัฒนาการฟุตบอลไทยคร่าว ๆ ได้เป็น 5 ยุค ได้แก่ ยุคที่ 1 ยุคแรกเริ่มภายใต้รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (พ.ศ. 2443-2475) ยุคที่ 2 ยุคสองฟุตบอลสมัครเล่น (2475-2538) ยุคที่ 3 ยุคฟุตบอลสมัครเล่นสู่ลีกกึ่งอาชีพ (2539-2551) ยุคที่ 4 ยุคฟุตบอลอาชีพภายใต้การเป็นธุรกิจ (2552-2562) และ ยุคที่ 5 ยุคหลังโควิด-19 (ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา)
อาจจะกล่าวได้ว่าวงการฟุตบอลไทยเกิดจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในช่วงรอยต่อยุคที่ 3 และ 4 (ในช่วงปลายฟุตบอลสมัครเล่นสู่ลีกกึ่งอาชีพก้าวเข้าสู่ยุคฟุตบอลอาชีพภายใต้การเป็นธุรกิจ) โดยมีปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงคือ ‘การควบรวมลีก’ และ ‘การยกระดับฟุตบอลเป็นฟุตบอลอาชีพและการกดดันจาก AFC’
การควบรวมลีก การแข่งขันฟุตบอลก็มีประวัติยาวนานกว่า 100 ปี ตั้งแต่ปี 2443 และล้มลุกคลุกคลานมาจนมาถึงปี 2539 ได้มีการจัดการแข่งขันฟุตบอลอาชีพที่ใช้ระบบลีกเป็นครั้งแรก มีชื่อที่เปลี่ยนหลายครั้งตั้งแต่ ‘ไทยแลนด์ซอกเกอร์ลีก’ (Thailand Soccer League), ‘ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก’ (Thailand Premier League) ‘ไทยพรีเมียร์ลีก’ (Thai Premier League) จนมาถึง ‘ไทยลีก’ (Thai League) ในอดีตสโมสรฟุตบอลอาชีพมักกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จนในปี 2542 การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้จัดแข่งขันฟุตบอลอาชีพระบบลีกในส่วนภูมิภาค โดยให้ชื่อว่า ‘โปรวินเชียลลีก’ (Provincial League) ในปี 2545 เปลี่ยนชื่อเป็น ‘โปรเฟสชันนัลลีก’ (Professional League) ต่อมาในปี 2549 สโมสรฟุตบอลชลบุรี และสโมสรฟุตบอลสุพรรณบุรี จากโปรเฟสชันนัลลีกได้เข้าร่วมแข่งในไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก และในฤดูกาลปี 2550 ก็มีการควบรวม 'โปรเฟสชันนัลลีก' เข้ากับการแข่งขัน 'ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก' และ 'ไทยลีกดิวิชัน 1' แทน
การยกระดับฟุตบอลเป็นฟุตบอลอาชีพและการกดดันจาก AFC ในปี 2551 สมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (Asian Football Confederation หรือ AFC) ออกระเบียบว่าด้วยความเป็นสโมสรฟุตบอลอาชีพอย่างสมบูรณ์แบบ เป็นผลให้สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ต้องดำเนินการจัดตั้งนิติบุคคลเพื่อบริหารลีกและจัดการแข่งขันแทนที่ โดยได้มีการจัดตั้ง 'บริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด' ขึ้น (ปัจจุบันคือบริษัท ไทยลีก จำกัด) และออกระเบียบให้ผู้บริหารสโมสรฟุตบอลอาชีพต้องจัดตั้งในรูปนิติบุคคล (บริษัท) เพื่อดำเนินการบริหารสโมสร
ช่วงทศวรรษ 2550 (พ.ศ.2550-2559) ถือว่าเป็นยุคทองของฟุตบอลไทยโดยแท้ ฟุตบอลไทยได้รับความสนใจเป็นอย่างมากเมื่อพิจารณาในปริมาณคนดู ในอดีตจวบจนถึงฤดูกาล 2551 มีเพียงบางสโมสรเท่านั้นที่มีผู้ชมจำนวนอยู่ในหลักพันคน ก็ได้เกิดปรากฏการณ์เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดระหว่างฤดูกาล 2552 ที่ในช่วงต้นฤดูกาล (มีนาคม -มิถุนายน) ยังมีผู้ชมเพียงเฉลี่ยนัดละ 1,936 คน ขณะที่ปลายฤดูกาล (กันยายน - ตุลาคม) ยอดผู้ชมพุ่งสูงขึ้นเป็นเฉลี่ยนัดละ 4,904 คน ทั้งนี้ตลอดช่วงทศวรรษ 2550 กระแสความนิยมฟุตบอลไทยพุ่งถึงจุดสูงสุดในฤดูกาล 2558 เมื่อการแข่งขันไทยพรีเมียร์ลีก มียอดคนดูสูงสุดเท่าที่มีการเก็บข้อมูลมา (ฤดูกาล 2552 ถึง 2565-66) คือมีจำนวนผู้เข้าชมรวมทั้งฤดูกาลที่ 1,926,278 คน เฉลี่ยที่ 6,295 คนต่อนัด
ตารางที่ 4. จำนวนผู้ชมฟุตบอลลีกสูงสุดของไทย ฤดูกาล 2552 ถึง 2565/66
ฤดูกาล |
จำนวนทีม |
ยอดผู้ชมรวมทั้งฤดูกาล |
ยอดผู้ชมเฉลี่ยต่อนัด (คน) |
ไทยพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2552 |
16 ทีม |
984,000* |
4,100* |
ไทยพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2553 |
16 ทีม |
1,132,057* |
4,717* |
ไทยพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2554 |
18 ทีม |
1,396,584 |
4,564 |
ไทยพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2555 |
18 ทีม |
1,475,769 |
4,823 |
ไทยพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2556 |
18 ทีม |
1,657,887 |
6,095 |
ไทยพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2557 |
20 ทีม |
1,911,020 |
5,029 |
ไทยพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2558 |
18 ทีม |
1,926,278 |
6,295 |
ไทยลีก ฤดูกาล 2559 |
18 ทีม |
1,503,600 |
5,428 |
ไทยลีก ฤดูกาล 2560 |
18 ทีม |
1,399,728 |
4,604 |
ไทยลีก ฤดูกาล 2561 |
18 ทีม |
1,366,497 |
4,466 |
ไทยลีก ฤดูกาล 2562 |
16 ทีม |
1,367,681 |
5,699 |
ไทยลีก ฤดูกาล 2563/64 |
16 ทีม |
509,764 |
3,166 |
ไทยลีก ฤดูกาล 2564/65 |
16 ทีม |
538,231 |
2,539 |
ไทยลีก ฤดูกาล 2565/66 |
16 ทีม |
1,063,328 |
4,431 |
หมายเหตุ * สถิติผู้ชมไทยพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2552 และ 2553 เป็นค่าประมาณการ
ที่มา: เรียบเรียงข้อมูลจาก Wikipedia และ Positioning Magazine
จากทั้งหมดที่กล่าวมาคงจะช่วยอธิบายได้ส่วนหนึ่งว่า วงการฟุตบอลนั้นมีเม็ดเงินมหาศาลหมุนเวียนอยู่ก็จริง แต่กลับไม่สามารถสร้างธุรกิจที่ทำกำไรมากมายให้กับคนในวงการและนายทุนได้ ผลประกอบการของทีมฟุตบอลของไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาวะที่ขาดทุน แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามก็ยังมีคนที่ยังอยู่ในวงการนี้ต่อไปหรือแม้แต่อาจจะมีหน้าใหม่เข้ามาอีกด้วย ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ