มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ย้ำไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง

กองบรรณาธิการ TCIJ 5 มี.ค. 2567 | อ่านแล้ว 2605 ครั้ง

มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ย้ำไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง

มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชนย้ำไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะมีเพศสภาพใด-ยอมรับเหตุการณ์นี้ทำให้มีภาพเหมารวมว่ากระเทยชอบตบตีกัน-ห่วงสื่อผลิตซ้ำนำเสนอภาพความรุนแรง ยิ่งทำให้เกิดอคติกับกลุ่ม LGBTQ+

5 มี.ค. 2567 สำนักข่าวไทย รายงานว่ารตี แต้สมบัติ ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้ความเห็นหลังเกิดเป็นกรณีความขัดแย้งของกลุ่ม LGBTQ+ ไทย-ฟิลิปปินส์ และมีภาพคลิปตบสนั่นโซเชียล และปรากฏผ่านสื่อต่าง ๆ มากมายนั้น ย้ำว่าไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบเมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้นไม่ว่าจะเพศสภาพใดอยากให้มีการพูดคุยสื่อสารหาทางออกกันมากกว่า และยังพบว่าหลายสื่อมีการใช้คำพาดหัวข่าวที่ทำให้สื่อถึงอคติเหมารวม คนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือกะเทย มักชอบใช้ความรุนแรง แต่แท้จริงแล้วไม่ว่าจะเพศใด สัญชาติไหน ก็สามารถใช้ความรุนแรงได้หากขาดสติ และตนรู้สึกตกใจที่มีการนำเสนอข่าวประเด็นนี้เหมือนเป็นประเด็นระดับชาติ เพียงเพราะเป็นกะเทย เป็นสาวประเภทสอง จึงมักถูกหยิบเป็นไฮไลท์ และยิ่งทำให้เกิดความเกลียดชัง และมีอคติต่อคนกลุ่มนี้

ส่วนที่หลายคนมองว่าเครือข่ายกะเทยมีความเป็นปึกแผ่น เหตุใดเรียกมาได้รวดเร็วนั้น ตนมองว่าเพราะยุคนี้การสื่อสารรวดเร็ว สามารถแชร์ผ่านโซเชียล มีการใช้ภาพนำและภาพที่เห็นขณะเกิดเหตุการณ์ทุกคนถือโทรศัพท์ถ่ายบางคนไลฟ์ ซึ่งห่วงว่าเป็นการนำเสนอภาพความรุนแรงซ้ำๆ อย่างที่เห็นตอนนี้คลิปตบตีว่อนโซเชียล

จากปรากฏการณ์นี้ ตอนนี้ที่น่ากลัวคือกลับมีกระแสคือเมื่อเราเห็นความรุนแรง เรากลับรู้สึกฮึกเหิม บางคนสนุกจากภาพเหตุการณ์ แต่จริง ๆ แล้วความรุนแรงในทุกรูปแบบไม่สามารถกระทำและไม่ควรจะทำต่อกันในทุกกรณี มองว่าเหตุการณ์นี้ต้องมองย้อนกลับไปที่กระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นชาติใด เพศสภาพใด เราควรจะต้องพึ่งพากระบวนการยุติธรรม พิสูจน์ตรวจสอบหาผู้กระทำผิด หากใครทำผิดก็ว่าไปตามกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมก็ต้องยุติธรรมอย่างแท้จริงด้วย

ส่วนความสัมพันธ์ของ LGBTQ+ ไทยกับฟิลิปปินส์ หากเป็นการทำงานระดับ Global มีองค์กรที่เป็น เพื่อนพี่น้ององค์กรที่เป็นนักกิจกรรมกะเทยในฟิลิปปินส์ มีหลายองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน หากมีความขัดแย้งน่าจะเป็นปัญหาระดับปัจเจกมากกว่า เพราะเมื่อเราเป็นกลุ่มคนข้ามเพศเหมือนกันเราก็ควรจะมีความเห็นอกเห็นใจกันมากกว่า

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: