Rocket Media Lab: สำรวจร่างแรกของโรดแมปซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ

กองบรรณาธิการ TCIJ 5 ม.ค. 2567 | อ่านแล้ว 6516 ครั้ง

Rocket Media Lab ชวนมาสำรวจร่างแรกของโรดแมปซอฟต์พาวเวอร์ จากเอกสารประกอบการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2566 ในวันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ที่มีรายละเอียดข้อเสนอโครงการ 54 โครงการ ว่ามีหน้าตาอย่างไร สาขาใดใช้งบประมาณมากน้อยแค่ไหน และใช้งบประมาณไปกับกิจกรรมใดบ้าง

  • งบประมาณซอฟต์พาวเวอร์ทั้ง 11 สาขา 54 โครงการ รวม 5,201,295,179 บาท ซึ่งยังไม่รวมการจัด งาน Soft Power Forum อีก 90 ล้านบาท และ World Water Festival ซึ่งยังไม่ได้ตั้งงบประมาณในการจัดงานไว้ 
  • โครงการที่ใช้งบประมาณมากที่สุดจากทั้งหมด 54 โครงการคือ โครงการเงินอุดหนุนการสนับสนุนภาพยนตร์ ละครและซีรีส์ ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรรมซอฟต์พาวเวอร์ 545.2 ล้านบาท
  • งบฯ ซอฟต์พาวเวอร์ใช้ในการประชาสัมพันธ์มากที่สุด ซึ่งหมายถึงการผลิตสื่อรูปแบบต่างๆ การสื่อสารทางการตลาด การจัดทำแพลตฟอร์มออนไลน์ การจัดทำแอปพลิเคชั่น รวม 1,676,133,06 บาท คิดเป็น 32.23% มีทั้งหมด 29 โครงการ 
  • สาขาเฟสติวัลยื่นของบฯ มากที่สุดเป็นเงิน 1,009,840,000 บาท รองลงมาเป็นสาขาอาหาร 1,000,000,000 บาท และอันดับ 3 สาขาท่องเที่ยว 749,000,000 บาท ทั้งสามสาขานี้ใช้งบฯ รวมกัน 53% มากกว่าครึ่งของงบฯ ซอฟต์พาวเวอร์ทั้งหมด
  • นอกจากทั้ง 11 สาขา 54 โครงการแล้ว ยังมีการจัด Soft Power Forum โดยมีวัตถุประสงค์เป็นเวทีแลกเปลี่ยนระดับนานาชาติให้เกิดกลไกสร้างความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์สู่ระดับสากล โดยใช้งบประมาณ 90 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าเช่าสถานที่ 15 ล้านบาท ประชาสัมพันธ์ 25 ล้านบาท และออแกไนเซอร์ 50 ล้านบาท

ซอฟต์พาวเวอร์ เป็นนโยบายสำคัญของพรรคเพื่อไทยตั้งแต่การหาเสียงเลือกตั้ง และเมื่อก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาล พรรคเพื่อไทยก็ขับเคลื่อนนโยบายนี้ทันที โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มรายได้ให้ประเทศ 4 ล้านล้านบาทต่อปีภายในระยะเวลา 4 ปี หรือเพิ่มรายได้ให้คนไทย 20 ล้านครัวเรือนประมาณ 2 แสนบาทต่อปี หรือประมาณ 16,000 บาทต่อเดือน เพียงไม่ถึงเดือนหลังจากการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ก็มีการแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติจำนวน 29 คนในวันที่ 13 กันยายน 2566 โดยมีตัวแทนรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงวัฒนธรรม เป็นกรรมการ โดยมีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธานกรรมการเอง

จากนั้น 3 ตุลาคม 2566 มีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ที่มีแพทองธาร ชินวัตร เป็นประธานกรรมการ เพื่อทำหน้าที่ผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ในด้านต่างๆ ให้มีความคืบหน้าแล้วนำเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติให้พิจารณา ต่อมา 25 ตุลาคม 2566 มีการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งแรก ตั้งคณะอนุกรรมการ 11 ด้าน 12 คณะ ได้แก่ แฟชั่น หนังสือ ภาพยนตร์ ละครและซีรีส์ เฟสติวัล อาหาร ออกแบบ ท่องเที่ยว เกม ดนตรี ศิลปะ และกีฬา

ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะกรรมการฯ แถลงว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้เห็นชอบในหลักการตามข้อเสนอแผนงานโครงการภายใต้ทั้ง 11 สาขาในเบื้องต้นแล้วจำนวน 54 โครงการ กรอบวงเงิน 5,164 ล้านบาท ซึ่งแต่ละคณะได้เสนอแผนการดำเนินการเร่งด่วนภายใน 100 วัน ภายใน 6 เดือน และภายใน 1 ปี ขั้นตอนหลังจากนี้จะนำเสนอโครงการดังกล่าวพร้อมกรอบงบประมาณต่อไปยังสำนักงบประมาณตามขั้นตอน ก่อนนำเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติและเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป

หลังจากที่มีการเผยแพร่กรอบวงเงินงบประมาณซอฟต์พาวเวอร์ มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นงบฯ ที่สูงและเกินจริงเกินไป จนนายกรัฐมนตรีต้องออกมายืนยันว่า คณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ฯ ขับเคลื่อนงานผ่านกระทรวงและคณะรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนที่ถูกต้อง และตรงไปตรงมา และพร้อมจะพิจารณาอีกครั้ง ทางด้านแพทองธารชี้แจงว่าไม่ได้ของบประมาณเพิ่ม เนื่องจากเป็นงบที่อยู่ในแต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นตัวเลขที่รัฐบาลคิดขึ้นมา แต่เป็นงบประมาณที่มาจากผู้รู้จริงในแต่ละสาขานั้นคือภาคเอกชน รัฐบาลเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวก อีกทั้งภาคเอกชนก็มีความตั้งใจทำ และระมัดระวังเรื่องการใช้งบประมาณอยู่แล้ว ส่วนการพิจารณาปรับลดวงเงินงบประมาณลงหรือไม่ต้องรอดูคณะกรรมการชุดใหญ่จะเห็นควรอย่างไร

สำหรับที่มาของงบประมาณนั้น ในการประชุมเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2567 สุรพงษ์ สืบวงศ์ลีกล่าวถึงที่มาของงบประมาณว่า จากคำขอ มีโครงการที่ต้องใช้งบประมาณปี 2567 จำนวน 3,500 ล้านบาท ส่วนที่เหลือยังเป็นงบประมาณปี 2568 ยังอยู่ในช่วงลงรายละเอียดและตรวจสอบกับสำนักงบประมาณอีกครั้ง ปัจจุบันสำนักงบประมาณตั้งข้อสังเกตว่า งบ 3,500 ล้านบาทเป็นส่วนที่อยู่ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ซึ่งกำลังพิจารณาอยู่เกือบ 1,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จะใช้งบประมาณในปี 2567 ได้ก็ต่อเมื่อหลังเดือนเมษายน 2567 ไปแล้ว ดังนั้นทั้งส่วนที่ยื่นขอเกินงบมา และกิจกรรมที่ต้องเกิดขึ้นก่อนเมษายน 2567 ต้องมีการนำเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติวันที่ 9 มกราคม 2567

Rocket Media Lab ชวนมาสำรวจร่างแรกของโรดแมปซอฟต์พาวเวอร์ จากเอกสารประกอบการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2566 ในวันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ ที่มีรายละเอียดข้อเสนอโครงการ 54 โครงการ ว่ามีหน้าตาอย่างไร สาขาใดใช้งบประมาณมากน้อยแค่ไหน และใช้งบประมาณไปกับกิจกรรมใดบ้าง

สาขาเฟสติวัล ได้งบประมาณมากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 โดยยังไม่รวมงานเทศกาลสงกรานต์ และ Soft Power Forum)

เนื้อหาส่วนหนึ่งในเอกสารประกอบการประชุมระบุถึงแนวทางและหลักการของข้อเสนอแผนงาน/โครงการว่า เน้นการสื่อและยกระดับคุณค่าความเป็นไทยใน 4 มิติ คือ Smart, Kind, Deep, and Mysterious โดยเป็น ความเป็นไทยที่ Amazing และ Awakening Sense ผ่านการประชาสัมพันธ์ การทำตลาด การพัฒนา/สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ฯ

จากกรอบวงเงินทั้งหมด 5,164 ล้านบาท (แต่จากการบวกงบประมาณทั้ง 11 สาขา ได้รวม 5,201,295,179 บาท ซึ่งยังไม่รวมการจัด Soft Power Forum อีก 90,000,000 บาท และ World Water Festival) สาขาเฟสติวัลยื่นของบประมาณมากที่สุดในบรรดา 11 สาขา เป็นเงิน 1,009,840,000 บาท รองลงมาเป็นสาขาอาหาร 1,000,000,000 บาท และอันดับ 3 สาขาท่องเที่ยว 749,000,000 บาท ทั้งสามสาขานี้ใช้งบประมาณรวมกัน 53% มากกว่าครึ่งของงบประมาณซอฟต์พาวเวอร์ทั้งหมด

อันดับที่ 4 สาขาภาพยนตร์ ละครและซีรีส์ 545,200,000 บาท อันดับ 5 กีฬา 500,000,000 บาท อันดับ 6 สาขาศิลปะ 375,000,000 บาท (อย่างไรก็ตามในเอกสารประกอบการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2566 สาขาศิลปะสรุปว่าใช้งบประมาณ 625 ล้านบาท แต่ในโครงการย่อย 5 โครงการ รวมกันได้ 375 ล้านบาท) อันดับ 7 สาขาเกม 374,000,000 บาท อันดับ 8 สาขาแฟชั่น 268,900,000 บาท อันดับ 9 สาขาออกแบบ 165,936,979 บาท อันดับ 10 สาขาดนตรี 144,000,000 บาท และอันดับ 11 สาขาหนังสือ 69,418,200 บาท

ส่วนเมื่อพิจารณารายโครงการ โครงการที่ใช้งบประมาณมากที่สุดจากทั้งหมด 54 โครงการคือ โครงการเงินอุดหนุนการสนับสนุนภาพยนตร์ ละครและซีรีส์ ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรรมซอฟต์พาวเวอร์ 545.2 ล้านบาท (สาขาภาพยนตร์ ละครและซีรีส์) อันดับ 2 โครงการ Thai Food Channel 500 ล้านบาท (สาขาอาหาร) อันดับ 3 โครงการ Pitch and Support World Festival 400 ล้านบาท (สาขาเฟสติวัล) อันดับ 4 ร้านอาหารเชฟชุมชนอาหารถิ่นอาหารไทย Local Chef Restaurant 300 ล้านบาท (สาขาอาหาร) และอันดับ 5 โครงการแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยว “Be My Guest” 290 ล้านบาท (สาขาท่องเที่ยว) 

งบประมาณถูกนำไปใช้กับการประชาสัมพันธ์มากที่สุด 1.67 พันล้านบาท

เมื่อพิจารณารายละเอียดในข้อเสนอโครงการซอฟต์พาวเวอร์ทั้ง 11 สาขา จำนวน 54 โครงการ จากนั้น Rocket Media Lab นำมาจำแนกเป็นประเภทต่างๆ 8 ด้าน ได้แก่ ด้านการจัดงานอีเวนต์ ด้านการทำประชาสัมพันธ์ ด้านการฝึกอบรม ด้านการผลิตผลงาน/จัดประกวด ด้านฐานข้อมูล/องค์ความรู้ ด้านบริหารโครงการ ด้านก่อสร้างอาคาร และด้านตั้งกองทุน/สนับสนุนเงินทุน

พบว่า งบประมาณซอฟต์พาวเวอร์เป็นงบประมาณที่การใช้จ่ายสำหรับการประชาสัมพันธ์ ซึ่งหมายถึงการผลิตสื่อรูปแบบต่างๆ การสื่อสารทางการตลาด การจัดทำแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น การจัดทำแอปพลิเคชั่นมากที่สุด รวม 1,676,133,06 บาท คิดเป็น 32.23% มีทั้งหมด 29 โครงการ 

จากการจำแนกตามสาขา พบว่า สาขาที่ใช้งบประมาณด้านประชาสัมพันธ์มากที่สุดคือ สาขาอาหาร 540,000,000 บาท รองลงมา สาขาท่องเที่ยว 516,000,000 บาท อันดับ 3 สาขาเฟสติวัล 353,000,000 บาท อันดับ 4 สาขาแฟชั่น 124,500,000 บาท อันดับ 5 สาขาออกแบบ 75,633,062 บาท อันดับ 6 สาขาศิลปะ 30,800,000 บาท อันดับ 7 สาขาดนตรี 16,000,000 บาท อันดับ 8 สาขาเกม 3,200,000 บาท

โครงการที่ใช้งบกิจกรรมการประชาสัมพันธ์มากที่สุด 3 อันดับแรก คือ โครงการ Thai Food Channel สาขาอาหาร 480 ล้านบาท ซึ่งการประชาสัมพันธ์ประกอบด้วยกิจกรรมจัดทำข้อมูล Content 365 ล้านบาท และกิจกรรมเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ 115 ล้านบาท โครงการระบุว่า “เป็นการสร้างแพลตฟอร์มภายใต้กรอบ 4s (Super Product , Super Food, Special Menu, Study) 4I (Ingredient, Inspire, Influencer, In Thailand) เพื่อสร้างการรับรู้อัตลักษณ์ทุกอย่างของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต เข้ามาสอดแทรกในทุกอุตสาหกรรมเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับประเทศ”

อันดับ 2 โครงการแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยว “Be My Guest” สาขาการท่องเที่ยว 280 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย กิจกรรมรายการนำเที่ยวเชิญแขกของประเทศ 200 ล้านบาท กิจกรรมกระตุ้นการเดินทางนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยให้คนไทยเป็น ‘Host’ ในการเชิญ 60 ล้านบาท การสื่อสารการตลาดออนไลน์ 20 ล้านบาท กิจกรรมหลักของโครงการนี้เป็น “การเชิญนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และเอกอัครราชทูตไทย ณ ต่างประเทศ ให้เป็นผู้เชิญแขก ในฐานะนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ในเส้นทางที่ได้รับการออกแบบที่สะท้อนถึงความเป็นไทย (Thainess) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นการท่องเที่ยวไทย ทั้งสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นให้เกิดการเดินทางตามเส้นทางของผู้นำ หรือแขกของประเทศไทยในอนาคต”

อันดับ 3 โครงการสื่อสารต่างประเทศ สาขาเฟสติวัล ใช้งบประมาณด้านประชาสัมพันธ์รวม 249 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมเผยแพร่โฆษณาผ่านสื่อต่างประเทศ 120 ล้านบาท กิจกรรมเผยแพร่โฆษณาทางโซเชียลมีเดีย 70 ล้านบาท กิจกรรมเผยแพร่โฆษณาผ่านช่องทางสื่อที่เน้นการสื่อสารไปยังตลาดเฉพาะ 29 ล้านบาท และกิจกรรมผลิตชิ้นงานโฆษณา 30 ล้านบาท ทั้งหมดมีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในช่องทางต่างประเทศอย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องกับการจัดเทศกาลตลอดทั้งปีของไทย

นอกจากนี้ยังพบว่าการประชุม Soft Power Forum มีการใช้งบประชาสัมพันธ์ 25 ล้านบาท

ทุกสาขามุ่งจัดอีเวนต์ มาเป็นอันดับสอง 1.24 พันล้านบาท

เมื่อพิจารณารายละเอียดในข้อเสนอโครงการซอฟต์พาวเวอร์ภายใต้ 11 สาขาจำนวน 54 โครงการ ประเภทกิจกรรมที่มีสัดส่วนงบประมาณมากเป็นอันดับ 2 รองจากการประชาสัมพันธ์และใช้งบประมาณใกล้เคียงกันที่กว่า 1 พันล้านบาท คือ การจัดอีเวนต์ ซึ่งหมายถึงการจัดงานแถลงข่าว การจัดงานเทศกาล การจัดการแข่งขัน งานแสดงสินค้า งานประกาศรางวัล โชว์กีฬา โดยใช้งบประมาณรวม 1,244,192,116 บาท คิดเป็น 23.92% ของงบประมาณทั้งหมด

กิจกรรมจัดอีเวนต์อยู่ในทุกสาขา สาขาที่ใช้งบประมาณจัดอีเวนท์มากที่สุดคือ สาขาเฟสติวัล 459,370,000 บาท คิดเป็น 36.92% ของด้านอีเวนต์ทั้งหมด อันดับ 2 สาขากีฬา 389,500,00 บาท คิดเป็น 31.31% อันดับ 3 สาขาภาพยนตร์ ละครและซีรีส์ 148,200,000 บาท คิดเป็น 11.91% อันดับ 4 สาขาออกแบบ 90,003,916 บาท คิดเป็น 7.23% อันดับ 5 สาขาดนตรี 51,000,000 บาท คิดเป็น 4.21% ส่วนอีก 6 สาขาใช้งบประมาณด้านอีเวนต์น้อยกว่า 4% ของงบประมาณอีเวนต์ทั้งหมด เมื่อแยกรายโครงการ พบว่ากิจกรรมจัดอีเวนต์ปรากฏใน 21 โครงการ

โครงการ Pitch and Support สาขาเฟสติวัลเป็นโครงการที่ของบประมาณเกี่ยวกับงานอีเวนต์มากที่สุด 400 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย กิจกรรมการประมูลสิทธิเป็นเจ้าภาพการจัดเทศกาลนานาชาติหรือเทศกาลเชิงธุรกิจนานาชาติ จำนวน 5 งาน 100 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการจัดเทศกาลนานาชาติ 250 ล้านบาท

ค่าใช้จ่ายในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งาน 50 ล้านบาท ในระยะเวลา 2 ปี กลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้คือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะเกิดเทศกาลนานาชาติหรือเทศกาลเชิงธุรกิจนานาชาติจำนวน 5 ครั้ง 

อันดับ 2 โครงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กีฬามวยไทยทั้งในและต่างประเทศ สาขากีฬา 216 ล้านบาท เป็นกิจกรรมการเผยแพร่มวยไทยในรูปแบบต่างๆ มุ่งเน้นไปที่การจัดงานซึ่งไม่มีรายละเอียดว่าแต่ละกิจกรรมใช้งบประมาณเท่าใด เช่น การจัด Muaythai Roadshow การจัดการประชุมมวยไทยโลกครั้งที่ 1 งานไหว้ครูมวยไทยโลก กิจกรรม MuayThai to the World at One Lumpinee กิจกรรม Amazing Muay Thai Experience (มวยไทย 4 สาย) กิจกรรม Amazing Muay Thai Youth Summer Camp in Thailand โดยมีเป้าหมายให้ชาวต่างชาติรับรู้ถึงการเอกลักษณ์ของมวยไทย และประเทศไทยคือหมุดหมายที่ดีที่สุดสำหรับการเรียนรู้เรื่องมวยไทย

อันดับ 3 โครงการการจัดการแข่งขันกีฬามวยไทยเพื่อสร้างกระแสความตื่นตัว 173.5 ล้านบาท สาขากีฬา กิจกรรมในโครงการนี้ประกอบด้วยการจัดแข่งขันมวยไทย Amazing MuayThai World Festival การแข่งขันชิงแชมป์ WBC MuayThai ศึก ONE Championship และ ศึก ONE Lumpinee & ONE Fight Night ในประเทศต่างๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการส่งแข่งกีฬามวยไทยในระดับนานาชาติ สร้างการท่องเที่ยวเชิงกีฬามวยไทยและวัฒนธรรม มีการแข่งขันกีฬามวยไทยไปทั่วโลกอย่างเป็นระบบภายใต้กฎกติกากีฬามวยไทย

นอกจากนี้ยังพบว่าการประชุม Soft Power Forum มีงบประมาณจัดอีเวนต์ 65 ล้านบาท

การฝึกอบรมให้เป็นผู้ประกอบการอาหารไทย-อินฟลูเอนเซอร์ สร้างอีเวนต์เชิดชูซอฟต์พาวเวอร์ ใช้งบ 800 ล้าน

เมื่อพิจารณารายละเอียดในข้อเสนอโครงการซอฟต์พาวเวอร์ภายใต้ 11 สาขาจำนวน 54 โครงการ ประเภทกิจกรรมด้านประเภทที่มีสัดส่วนงบประมาณมากเป็นอันดับ 3 เป็นกิจกรรมการฝึกอบรม ซึ่งหมายถึงโครงการที่มีกิจกรรมที่มุ่งให้ความรู้ ฝึกอบรมทักษะต่างๆ การพัฒนาบุคลากร การประชุมเชิงปฏิบัติการ การจัดทำหลักสูตร การจัดทำแพลตฟอร์มสำหรับการเรียนการสอนออนไลน์มีทั้งหมด 19 โครงการ รวม 832,058,000 บาท กระจายอยู่ใน 7 สาขา อันดับ 1 สาขาอาหาร 335,100,000 บาท อันดับ 2 สาขาเฟสติวัล 141,770,000 บาท อันดับ 3 สาขากีฬา 98,500,000 บาท อันดับ 4 สาขาแฟชั่น 97,300,000 บาท อันดับ 5 สาขาดนตรี 69,900,000 บาท อันดับ 6 สาขาท่องเที่ยว 40,000,000 บาท อันดับ 7 สาขาเกม 29,488,000 บาท

โครงการที่ใช้งบประมาณมากที่สุดในด้านการฝึกอบรม 2 อันดับแรกเป็นโครงการจากสาขาอาหาร โดยอันดับ 1 คือ โครงการร้านอาหารเชฟชุมชนอาหารถิ่นอาหารไทย Local Chef Restaurant โดยจะใช้งบฯ ด้านการฝึกอบรม 210 ล้านบาท และอันดับ 2 โครงการหนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย เพื่อไทยซอฟต์พาวเวอร์ ใช้งบฯ ด้านการฝึกอบรม 125.1 ล้านบาท ทั้ง 2 โครงการต้องการสร้างและพัฒนาบุคลากรเพื่อเป็นผู้ประกอบการอาหารไทย จากประชาชนทั่วไปจากทั่วประเทศ

อันดับ 3 โครงการ World Influencers สาขาเฟสติวัล 71.57 ล้านบาท มีกิจกรรมฝึกอบรมที่นำอินฟลูเอนเซอร์จากทั่วโลกมาอบรมทักษะด้าน influencer marketing และ digital marketing มีกลุ่มเป้าหมายเป็น 1) บุคลากรของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนผู้รับผิดชอบการจัดเทศกาลและอีเวนต์ของทุกสาขาทั้งหมด 11 สาขาซอฟต์พาวเวอร์ 2) ผู้ประกอบการไทยผู้ให้บริการสร้างสรรค์และบริการจัดเทศกาลและอีเวนต์ และ 3) สมาชิกโครงการ OFOS – 1 ครอบครัว 1 Soft Power ทุกระดับตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ไปจนถึงระดับประเทศ โดยโครงการคาดหวังว่าจะสามารถ “1) วางตําแหน่งให้ไทยอยู่ในใจของ world influencers สําหรับ 11 สาขาซอฟต์พาวเวอร์ไทย 2) สร้างเครือข่ายการขายซอฟต์พาวเวอร์ไทย ผ่านร้านอาหารไทยทั่วโลก 3) ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมระดับโลก World Conference on Creative Economy”

การผลิตชิ้นงาน เสริมสร้าง-ต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อเผยแพร่ซอฟต์พาวเวอร์

เมื่อพิจารณารายละเอียดในข้อเสนอโครงการซอฟต์พาวเวอร์ภายใต้ 11 สาขาจำนวน 54 โครงการ ประเภทกิจกรรมที่มีสัดส่วนงบประมาณมากเป็นอันดับ 4 คือ การผลิตชิ้นงาน/การจัดการประกวด ซึ่งหมายถึง การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ การจัดทำต้นแบบผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการประกวดสร้างสรรค์ผลงาน รวม 504,012,000 บาท อยู่ในสาขา ภาพยนตร์ ละครและซีรีส์มากเป็นอันดับที่ 1 งบฯ 350,000,000 บาท อันดับ 2 สาขาท่องเที่ยว 77 ล้านบาท อันดับ 3 สาขาแฟชั่น 46,500,00 บาท อันดับ 4 สาขาเกม 20,320,000 บาท อันดับ 5 สาขาอาหาร 10,000,000 บาท

โครงการที่ใช้งบประมาณมากที่สุด เป็นโครงการเงินอุดหนุนการสนับสนุนภาพยนตร์ ละครและซีรีส์ ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรรมซอฟต์พาวเวอร์ 350 ล้านบาท ทั้งนี้ไม่มีการกำหนดว่า เนื้อหามีลักษณะใด ในข้อเสนอของโครงการระบุผลที่คาดว่าจะได้รับว่า จะสามารถสร้างการรับรู้เอกลักษณ์ความเป็นไทยผ่านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ โดยจะมีจำนวนภาพยนตร์ไทยที่เผยแพร่ในเทศกาลต่างประเทศ ไม่น้อยกว่า 15 เรื่อง

ส่วนโครงการที่ใช้งบประมาณมากเป็นอันดับ 2 คือ โครงการ Thailand’s Souvenirs สาขาท่องเที่ยว ที่ใช้ในกิจกรรมออกแบบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตามอัตลักษณ์ของแต่ละจังหวัด และผลิตต้นแบบ First Lot โดยใช้งบฯ 77 ล้านบาท

อันดับ 3 โครงการส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าแฟชั่นจากทุนทางวัฒนธรรมไทยสู่สากล เพื่อกิจกรรมผลิตผลงานสร้างสรรค์ และการจัดแสดงสินค้า สาขาแฟชั่น 45 ล้านบาท โดยเป็นโครงการที่มีการผลิตผลงานสินค้าที่ได้รับแรงบันดาลใจจากกีฬามวยไทย กลุ่มเป้าหมายของโครงการคือ นักออกแบบ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการมวยไทย ด้วยการพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของตลาดแฟชั่นในระดับสากล และเกิดการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมแฟชั่นกับธุรกิจอื่นๆ

เฟสติวัลใช้ งบฯ 1,006 ล้านบาท เน้นจัดอีเวนต์-ประชาสัมพันธ์

เมื่อพิจารณาทั้งหมด 10 โครงการของสาขาเฟสติวัลพบว่า โครงการที่ของบประมาณมากที่สุด คือ โครงการ Pitch and Support ซึ่งเป็นการประมูลสิทธิเป็นเจ้าภาพการจัดเทศกาลนานาชาติ หรือเทศกาลเชิงธุรกิจนานาชาติ จำนวนเงินทั้งหมด 400 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 40% ของงบฯ ในสาขานี้ มีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานส่งเสริมการประชุมและนิทรรศการเป็นผู้รับผิดชอบ โดยในเอกสารข้อเสนอโครงการระบุว่า ใช้งบประมาณเพื่อการประมูลสิทธิเป็นเจ้าภาพการจัดเทศกาลนานาชาติหรือเทศกาลเชิงธุรกิจนานาชาติ จำนวน 5 งาน 100 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการจัดเทศกาลนานาชาติ 250 ล้านบาท และเป็นค่าใช้จ่ายในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งาน 50 ล้านบาท โดยระบุเหตุผลว่า “เพื่อมาดำเนินการสนับสนุนการจัดเทศกาลในประเทศไทยให้มีระดับสากล สามารถสร้างภาพลักษณ์การท่องเที่ยวที่น่าสนใจสำหรับคนรุ่นใหม่ อีกทั้งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับประเทศต่อไป”

โครงการในสาขาเฟสติวัลที่ใช้งบฯ มากเป็นอันดับที่ 2 คือ โครงการการสื่อสารต่างประเทศ 249 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 24.9% ของงบฯ ในสาขานี้ เป้าหมายของโครงการคือ การจัดทำแคมเปญในการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับเทศกาลที่จัดขึ้นทั่วประเทศของไทยในต่างประเทศ โดยใช้เงินไปกับการเผยแพร่โฆษณาผ่านสื่อที่ระบุในข้อเสนอโครงการว่าเป็น Global Media อาทิ Skynews, Euronews, CCTV Pheonix, Al Jazeera จำนวนเงิน 120 ล้านบาท หรือเกือบครึ่งหนึ่งของงบประมาณทั้งหมดของโครงการ อันดับ 3 คือ โครงการ World Influencers ที่ระบุว่าเป็นการอบรมเพื่อสร้างทักษะด้าน influencer marketing และ digital marketing ยื่นของบประมาณ 132.99 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 13.29% ของสาขานี้

หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบสาขาเฟสติวัลได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานส่งเสริมการประชุมและนิทรรศการ และสํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โครงการส่วนใหญ่เป็นความร่วมมือของหลายหน่วยงาน โครงการการสื่อสารต่างประเทศ ซึ่งใช้งบประมาณ 1 ใน 4 ของสาขานี้รับผิดชอบโดย ททท. หน่วยงานเดียว ในทำนองเดียวกับโครงการ World Influencers และโครงการร่วมมือกับ UFI (The Global Association of the Exhibition Industry) ซึ่งใช้งบประมาณ 132.99 ล้านบาท และ 31.75 ล้านบาทตามลำดับ รวม 164.74 ล้านบาท รับผิดชอบโดยสำนักงานส่งเสริมการประชุมและนิทรรศการหน่วยงานเดียว

หากจำแนกประเภทของการใช้งบประมาณ สาขาเฟสติวัล โครงการเกือบทั้งหมดเป็นเงินสำหรับการจัดงาน (459,370,000 บาท) และประชาสัมพันธ์ (349,500,000 บาท) และการฝึกอบรม (141,770,000 บาท) ซึ่งการฝึกอบรมในโครงการต่างๆ มีเป้าหมายเพื่อสร้างทักษะด้านการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการจัดเทศกาลในพื้นที่รูปแบบต่างๆ เช่น โครงการ Design Thinking 11 มีการจัดอบรมการจัดทำ “Creative Content” แก่ บุคลากรผู้รับผิดชอบในการจัดอีเวนต์ ทั้งรัฐและเอกชน โครงการ OFOS Festival ดำเนินการฝึกอบรมในระดับจังหวัด หรือโครงการร่วมมือกับ UFI มีการอบรมเพิ่มทักษะการใช้ AI สําหรับการทําการตลาดนานาชาติ

อย่างไรก็ตาม งบด้านเฟสติวัลยังไม่รวมการจัดเทศกาล World Water Festival ที่ยังไม่มีการเปิดเผยงบประมาณที่จะใช้

สาขาที่งบฯ น้อยกว่า 500 ล้านบาท ทำอะไรบ้าง

จากทั้งหมด 11 สาขาของงบประมาณซอฟต์พาวเวอร์จะเห็นว่า มี 6 สาขาที่ใช้งบประมาณน้อยกว่า 500 ล้านบาท คือ สาขาแฟชั่น ศิลปะ เกม ออกแบบ ดนตรี และหนังสือ โดยสาขาศิลปะและเกมใช้งบประมาณใกล้เคียงกันที่ 375 ล้านบาท และ 374 ล้านบาท และมีรายละเอียดของงบประมาณเป็นไปในทำนองเดียวกัน

ในสาขาเกม มีงบฯ กองทุนเพื่อพัฒนาและส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์เกมไทย 200 ล้านบาท และโครงการเกี่ยวกับสนามกีฬาอีสปอร์ตแห่งชาติ 120 ล้านบาท ซึ่งเป็นการสร้างสนามกีฬาอีสปอร์ต 80 ล้านบาท ส่วนสาขาศิลปะ โครงการที่มีงบประมาณที่เป็นสัดส่วนมากที่สุดคือ โครงการสร้างคอลเลคชั่นถาวรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หอศิลป์แห่งชาติ (รัชดาภิเษก) 250 ล้านบาท จากทั้งหมดของสาขา 375 ล้านบาท และอีกส่วนหนึ่งเป็นโครงการเพิ่มงบประมาณให้กองทุนส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัย 80 ล้านบาท

สาขาออกแบบ มีโครงการเดียว ใช้งบประมาณ 166 ล้านบาท คือโครงการ Thailand as Brand สรรหานักออกแบบ 100 คน พร้อมจัดทำหนังสือและสื่อเผยแพร่ภายใต้ชื่อ CREATIVE THAI 100 ซึ่งเป็นหนังสือภาษาอังกฤษที่จัดทำขึ้นพิเศษ และ Traveling Exhibition นิทรรศการเคลื่อนที่ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเผยแพร่ในมิลาน อิตาลี, นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา, ปารีส ฝรั่งเศส และโตเกียว ญี่ปุ่น ซึ่งโครงการระบุว่าเป็นพื้นที่ที่มีอิทธิพลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของโลก เพื่อให้สนับสนุนบุคคลที่คัดเลือกมาเป็นที่รู้จักในระดับสากล

สาขาแฟชั่น มีโครงการส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าแฟชั่นจากทุนทางวัฒนธรรมไทยสู่สากล ซึ่งใช้งบประมาณมากที่สุดเป็นการออกแบบสินค้าโดยใช้ผู้ที่มีองค์ความรู้ทางด้านมวยไทยมาร่วมออกแบบใช้งบประมาณ 130 ล้านบาท ใช้งบประมาณในกิจกรรมงานแถลงข่าวและผลิตสื่อ 40 ล้านบาท และงบการบริหารจัดการสินค้า การตลาด และการสนับสนุน 45 ล้านบาท โครงการที่ใช้งบประมาณมากรองลงมา คือ FASHION ALLIANCE 90 ล้านบาท เป็นโครงการที่มุ่งพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมแฟชั่น มีการฝึกอบรมเพื่อสร้างผู้ประกอบการเป็นหลัก

สาขาดนตรี มี 3 โครงการ ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ การแสดงดนตรี และการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนดนตรีทั่วประเทศ โครงการที่ใช้งบประมาณมากที่สุดคือ Talent Everywhere 84 ล้านบาท ซึ่งเป็นการสร้างทักษะด้านดนตรีแก่เยาวชนและบุคลากรทั่วประเทศ ผ่านการพัฒนาหลักสูตรเฉพาะทางด้านดนตรีสากลอาชีพ หลักสูตรรายวิชาดนตรีในสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษา และการจัดสรรพื้นที่สาธารณะเพื่อการฝึกซ้อม และแสดงผลงาน ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือ โครงการ Music Exchange ​Push และ Music Exchange Pull ใช้งบประมาณ 30 ล้านบาทเท่ากัน เป็นการส่งศิลปินไทยเพื่อเข้าร่วมแสดงผลงานในเทศกาลดนตรีระดับนานาชาติ และเชิญศิลปินของเทศกาลดนตรีระดับนานาชาติ เข้าร่วมเทศกาลดนตรีของไทย

สาขาหนังสือ ใช้งบประมาณน้อยที่สุด โดยมีกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่เป้าหมายเกือบทุกโครงการ มี 3 โครงการที่เป็นการจัดกิจกรรมอีเวนต์ รวม 19.41 ล้านบาท มี 1 โครงการที่ไม่ใช้เงิน และอีก 1 โครงการไม่ระบุจำนวนเงิน และยังมีการใช้งบประมาณสำหรับงานสถาปัตยกรรมและปรับปรุง/ตกแต่งอาคาร จัดหาหนังสือและสื่ออื่นๆ ติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ ที่หอสมุดเมืองกรุงเทพฯ อีก 50 ล้านบาท

ไม่เพียงแค่ซอฟต์พาวเวอร์ 11 สาขา แต่ยังมีการจัดงาน Soft Power Forum และ World Water Festival อีกด้วย

นอกจากนี้ในเอกสารประกอบการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2566 ในวันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ ยังมีส่วนของการจัดงาน การจัดงาน World Water Festival – The Songkran Phenomenon โดยกำหนดจัดงานใน 77 จังหวัดตลอดเดือนเมษายน ซึ่งจะมีพิธิเปิดงานที่ถนนราชดำเนิน โดยจัดเป็น Soft Power Avenue ประกอบไปด้วยกิจกรรม อาทิ การสรงน้ำพระ กิจกรรมสายมู น้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ หมอดู ขบวนพาเหรด Mardi Gras รวบรวมของดีทั้ง 77 จังหวัด การแสดงทางวัฒนธรรมจาก 4 ภาค การจำหน่ายสินค้าของดี 77 จังหวัด ถนนแห่งสายน้ำชุ่มฉ่ำ (Water Battle Street) การแสดงดนตรีหลากหลายประเภทพร้อมด้วยศิลปินรับเชิญระดับโลก 

โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้ประเทศไทยติด 1 ใน 10 ประเทศสุดยอดเฟสติวัลของโลก ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35 ล้านคนในปี 2567 สร้างรายได้ประมาณ 40,000 ล้านบาท และสร้างงานสร้างรายได้สู่ชุมชนทั้ง 77 จังหวัด โดยตัวโครงการนี้ยังไม่มีการกำหนดงบประมาณในการใช้จัดงาน 

นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งโครงการ คือ การจัดการประชุมนานาชาติด้านซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power Forum) โดยมีวัตถุประสงค์เป็นเวทีแลกเปลี่ยนระดับนานาชาติให้เกิดกลไกสร้างความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์สู่ระดับสากล ส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการด้านซอฟต์พาวเวอร์ ขยายโอกาสทางธุรกิจสู่ระดับสากล โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่อยู่ในอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ รวมไปถึงผู้ประกอบการ นักธุรกิจ นักลงทุน จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยวางแผนจะจัดขึ้นในวันที่ 21-23 มิถุนายน 2567 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยใช้งบประมาณ 90 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าเช่าสถานที่ 15 ล้านบาท ประชาสัมพันธ์ 25 ล้านบาท และออแกไนเซอร์ 50 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอโครงการซอฟต์พาวเวอร์ทั้ง 11 สาขา จำนวน 54 โครงการ ซึ่งใช้งบประมาณรวม 5,201,295,179 บาท จากเอกสารประกอบการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2566 ในวันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ นี้ ยังจะต้องมีการนำเสนอต่อสำนักงบประมาณ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติและเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป

 

ดูข้อมูลที่ https://rocketmedialab.co/database-soft-power/

หมายเหตุ

  • เอกสารงบประมาณโครงการ Soft Power ประกอบการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2566 มี 2 ส่วน คือ เอกสารสรุปทุกโครงการในรูปแบบ PDF สำหรับผู้เข้าประชุม และเอกสารแบบฟอร์ม: สรุปสาระของข้อเสนอโครงการ (Project Brief) ซึ่งแยกแต่ละสาขา โดยเอกสารทั้งสองชุดนี้ ปรากฏว่ามีสาขาที่ตัวเลขงบฯ ไม่ตรงกันคือสาขาเฟสติวัล และสาขาท่องเที่ยว ตัวเลขงบประมาณจากงานชิ้นนี้ยึดตามจำนวนงบประมาณที่นำมาจากไฟล์สรุปสาระของข้อเสนอโครงการ (Project Brief) ของแต่ละสาขา
  • ในสไลด์เอกสารประกอบการประชุม กลุ่มศิลปะสรุปว่าใช้งบประมาณ 625 ล้านบาท แต่ในโครงการย่อย 5 โครงการ รวมกันได้ 375 ล้านบาท
  • เอกสารประกอบการประชุม (ไฟล์รวม) บวกเลขงบประมาณรวมของสาขาเฟสติวัล โครงการ Design Thinking 11 ได้ 27.05 ล้าน แต่ในกิจกรรมบวกงบรวมได้ 27.10 ล้านบาท ขณะที่เอกสารข้อเสนอโครงการก็ระบุว่า 27.10 ล้าน
  • กลุ่มศิลปะไม่มีรายละเอียดข้อเสนอโครงการ สนับสนุนสาขาศิลปะการแสดงร่วมสมัยและการจัดแสดงให้ต่างประเทศ

อ้างอิง

เอกสารประกอบการประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 2/2566 ในวันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: