แอมเนสตี้เปิดตัวระดมทุน 'Face to Face' หวังสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยมือคนธรรมดา

กองบรรณาธิการ TCIJ 5 เม.ย. 2567 | อ่านแล้ว 7131 ครั้ง

แอมเนสตี้ ประเทศไทยประกาศจุดยืนเคียงข้างช่วยเหลือ ‘ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน’ ในไทยและทั่วโลกเต็มกำลัง Kick off ระดมทุนแบบ Face-to-Face หวังขับเคลื่อนนโยบาย กฎหมาย กระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใส เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพตามหลักสากลทั่วโลก

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดตัวการระดมทุนผ่านตัวแทนระดมทุน หรือ Face-to-Face (F2F) ในรูปแบบบุคคลตามจุดต่างๆ ตั้งเป้าสร้างพลังจากคนธรรมดาให้ร่วมแรงร่วมใจกันขับเคลื่อนนโยบาย กฎหมาย และข้อบังคับต่างๆ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลทั่วโลก พร้อมเดินหน้าส่งเสริมองค์ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนศึกษาเชิงรุก ควบคู่กับการยืนหยัดเคียงข้างผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกคน ให้ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกของตัวเองทุกรูปแบบ

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า ในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น รวมถึงประเด็น ‘สิทธิมนุษยชน’ กลายเป็นเรื่องที่หลายคนให้ความสนใจออกมาเรียกร้องอย่างเข้มข้น ทำให้แอมเนสตี้ต้องปรับเข็มทิศการทำงาน เกาะติดสถานการณ์ จนเกิดงานรณรงค์หลากหลายรูปแบบต่างๆ ทั้งกิจกรรมลงพื้นที่และในโซเชียลมีเดีย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ทุกคนได้ใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามหลักปฏิญญาสากล และสนับสนุนการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ

ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ ประเทศไทย แสดงความคิดเห็นอีกว่า สถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันพบความไม่ปกติในกระบวนการยุติธรรมหลายคดี สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลพยายามใช้วิธีการลักษณะนี้ในการปิดกั้นไม่ให้ประชาชนใช้สิทธิใช้เสียงของตัวเอง จากกฎหมายหมายและข้อบังคับต่างๆ ที่ยังไม่เป็นไปตามหลักสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ทำให้ปัจจุบันมีคนที่ถูกกักขังอิสรภาพจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกกว่า 2,000 คน และในจำนวนนี้เป็นเยาวชนเกือบ 300 คน

“นอกจากนี้แอมเนสตี้ ประเทศไทย พยายามเรียกร้องสิทธิให้กับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิโดยรัฐ ที่ผ่านมาเราถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการ “เข้าข้างคนผิด” เนื่องจากผู้ที่ถูกจับกุมเป็นผู้ที่ละเมิดกฎหมายบ้านเมือง ซึ่งอคติเหล่านี้ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลต้องฝ่าฟัน” ปิยนุช กล่าว

ผู้อำนวยการ ประเทศไทย ยืนยันว่าการผลักดันเรื่องสิทธิมนุษยชนของแอมเนสตี้ทุกประเด็น มีหลักฐานและการศึกษาจากการลงพื้นที่มายืนยันข้อเท็จจริง ไม่ได้ผลักดันโดยไม่มีข้อมูลประกอบ ที่ผ่านมามีนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกมาร่วมทำการศึกษาต่าง ๆ และนำเรื่องราวเหล่านี้มารณรงค์ โดยยืนยันว่าแอมเนสตี้ไม่ได้เห็นต่างหรือเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลเพียงอย่างเดียว แต่ยินดีที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลในการแก้ปัญหาและขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนให้เป็นไปตามหลักสากล เพราะที่ผ่านมาได้ทำงานกับประชาชนทั่วโลกในการสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน รวมถึงยืนหยัดเคียงข้างเสรีภาพสื่อมวลชนเพื่อช่วยกันเป็นกระบอกเสียงให้กับคนที่ถูกละเมิดสิทธิ คนที่อยู่ในมุมมืดของสังคม ทั้งหมดนี้จึงเป็นสิ่งที่การันตีได้ว่าแอมเนสตี้เป็นองค์กรที่พร้อมทำงานร่วมกับทุกคนและทุกหน่วยงาน

“เราต้องมองว่าคนที่โดนละเมิดสิทธิ ทำไมเขาถึงทำสิ่งนั้น เขากำลังยืนหยัดเรียกร้องอะไร และสิ่งที่เขาทำนั้นก็คือสิทธิมนุษยชน บางคนเรียกร้องเรื่องของครอบครัว เรื่องของตัวเขา เรื่องของสังคม เรื่องของชุมชนของเขา เราคิดว่า รัฐบาลและทุก ๆ คน อาจจะต้องเปิดใจดูว่า สิ่งที่แอมเนสตี้พยายามทำอยู่ คือเรื่องของสิทธิในการแสดงออก สิทธิในการมีชีวิตอยู่ ที่เรียกร้องเพื่อให้เขาได้รับความยุติธรรมต่างๆ ถ้ามองว่าแอมเนสตี้ เข้าข้างคนผิด ความเป็นจริงเราอยากเห็นการทำงานในกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใส เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ ถ้าทำแบบนั้นได้จริง เราจะเห็นเลยว่าการเอาผู้กระทำผิดมารับผิดชอบตามกระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องสำคัญ ฉะนั้นถ้าเห็นเรื่องนี้เหมือนกัน เราอยู่ข้างเดียวกัน” ปิยนุช พูดถึงจุดยืนและการทำงานของแอมเนสตี้ ประเทศไทย

ปิยนุช เปิดใจว่า สิ่งที่ทำให้แอมเนสตี้ฝ่าฟันมรสุมและอคติ มาจากความเชื่อมั่นว่าคนธรรมดาสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ การยึดมั่นในหลักการสิทธิมนุษยชนที่เห็นคนเป็นคนเท่ากัน การทำงานกับทุกภาคส่วน ทั้งคนทั่วไป สถาบันการศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชน โดยสิ่งที่ยืนยันเรื่องนี้คือ แอมเนสตี้มีหลักฐานการทำงานทุกอย่าง มีงานวิจัย ที่เกิดจากการลงพื้นที่จริง ที่ชี้ชัดว่าเกิดอะไรขึ้น ที่ผ่านมาได้ทำงานรณรงค์มากมาย มีผู้สนับสนุนเป็นคนธรรมดาทั่วโลก โดยข้อเสนอต่างๆ จากทุกคน ถูกนำไปใช้งานการทำงานผลักดันเชิงนโยบายให้เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้การันตีและเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า ทำไมแอมเนสตี้ถึงอยู่มาได้ 60 ปี เพราะทุกคนทำงานด้วยความตั้งใจ ซื่อสัตย์ และมีใจรักจริงๆ

“แน่นอนมันมีมรสุม แต่ว่าด้วยเจตจำนงของเรา มรสุมนี้มันก็เป็นเพียงคลื่นลูกหนึ่ง แล้วเราก็จะผ่านมันไปได้ ถ้าเรามีความเชื่อมั่นว่าคนเท่ากันจริงๆ แล้วเราก็ต่อสู้เพื่อสิ่งนั้น” ปิยนุช ยืนยันที่จะทำสิ่งนี้ต่อไป

Face-to-Face (F2F) ช่องทางระดมทุนที่เป็นมากกว่าการบริจาคเงิน

ปิยนุช ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่าแอมเนสตี้เป็นหนึ่งในองค์กรขนาดใหญ่ระดับโลกไม่กี่แห่ง ที่ยังคงรับเงินบริจาคจากคนธรรมดาทั่วโลก เงินทุนส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 80 – 90 มาจากผู้สนับสนุนที่มีจำนวนกว่า 13 ล้านคนทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีระบบสมาชิกที่ไม่เพียงแต่จ่ายค่าสมาชิกรายปีเท่านั้น แต่สมาชิกของแอมเนสตี้ยังมีบทบาทที่จะช่วยกันกำหนดทิศทางการทำงานและตรวจสอบการทำงานของแอมเนสตี้ในทุกปี

“คนที่เป็นสมาชิกไม่เพียงแต่สมัครและจ่ายค่าสมาชิกรายปี แต่มันสำคัญมากกว่านั้น เพราะเขาจะมีสิทธิมีเสียงในการเลือกตัวแทนของเขามาเป็นประธาน มาเป็นตัวแทนของสมาชิก มาเป็นกรรมการ แล้วก็กรรมการ หรือตัวแทนของสมาชิกก็เป็นผู้กำหนดทิศทางการทำงานของสำนักงานแอมเนสตี้ทั่วโลกได้ การเป็นสมาชิกจึงเป็นเสมือนอีกเข็มทิศที่จะช่วยกำหนดทิศทางการทำงานของแอมเนสตี้ ว่าเราจะทำประเด็นเรื่องอะไรบ้างเราจะทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างไร เราจะมียุทธศาสตร์อย่างไร เราจะตรวจสอบงบประมาณการใช้เงินอย่างไร โปร่งใสแค่ไหน เรามีการแก้ไขปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้นทั่วโลกอย่างไร แล้วก็ต้องมีการรายงาน มีการตรวจสอบ มีการใช้ระบบต่างๆ อย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ ซึ่งเสียงของสมาชิก 1 เสียง สำคัญมากๆ” ปิยนุช บอกความสำคัญของการเป็นสมาชิกแอมเนสตี้

ปัจจุบันแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้เปิดช่องทางการระดมทุนใหม่ นั่นคือการระดมทุนผ่านตัวแทนระดมทุนโดยตรง หรือ Face-to-Face (F2F) แจ็กเกอลีน ยิว รองผู้อำนวยการฝ่ายการระดมทุน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา แอมเนสตี้ ประเทศไทย มีโปรเจ็กต์นำร่องเพื่อทดสอบระบบนี้มานานพอสมควร จึงตัดสินใจเปิดการระดมทุนแบบ F2F อย่างจริงจังอีกครั้ง เพราะมีการพิสูจน์จากผลการศึกษาต่างๆ ยืนยันว่า F2F เป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพมากในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชนของแอมเนสตี้ จึงเชื่อว่ามีโอกาสสูงที่จะเข้าถึงผู้คนในที่สาธารณะเจ้าหน้าที่ระดมทุนจะพูดคุยโดยใช้เวลาเฉลี่ยเพียง 3 นาที

“สิ่งที่เราจะพยายามอย่างเต็มที่ในการระดมทุนผ่านตัวแทนระดมทุนโดยตรง คือการแนะนำว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย คือใคร ทำอะไร และงานที่เราทำอยู่ในประเทศไทยคือเรื่องอะไร”

สำหรับประเด็นเรื่องการบริจาคเงินกับการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างนั้น การพบปะกับผู้บริจาคแบบเห็นหน้ากันเป็นประจำ รายเดือน รายไตรมาส ทุก 6 เดือน และต่อเนื่องกัน รองผู้อำนวยการฝ่ายการระดมทุน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เชื่อว่าจะช่วยเป็นหลักประกันความยั่งยืนทางการเงิน ที่ทำให้แอมเนสตี้ยืนหยัดทำงานเคียงข้างผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ในระยะยาว เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างบางอย่างได้ โดยเธอยืนยันว่า การระดมทุนแบบ Face-to-Face จะทำให้ทุกคนรู้จักแอมเนสตี้มากขึ้นเพียงแค่เปิดใจรับฟังและให้โอกาสเราได้พูดคุยกัน

“ด้วยหลักความรับผิดชอบและความโปร่งใส เราจะรับลงทะเบียนผ่านแท็บเล็ต โดยเจ้าหน้าที่ระดมทุนจะกรอกข้อมูลพื้นฐานของผู้บริจาค แต่สำหรับข้อมูลทางการเงิน ผู้บริจาคจะต้องกรอกข้อมูลด้วยตัวเอง โดยเจ้าหน้าที่จะไม่ดูในส่วนที่เป็นข้อมูลทางการเงินของผู้บริจาค เราใช้ซอฟต์แวร์และเกตเวย์การชำระเงินที่มีความปลอดภัยที่หลายๆ องค์กรใช้ ขั้นตอนสุดท้ายคือ ลายเซ็นดิจิทัลของคุณจากผู้บริจาค จากนั้นเจ้าหน้าที่ระดมทุนจะกดปุ่มส่งต่อหน้าผู้บริจาค และเมื่อส่งแล้วจะไม่สามารถกลับหน้าได้ ดังนั้นจึงไม่มีใครสามารถขโมยข้อมูลของผู้บริจาคได้ และข้อมูลนี้เป็นของแอมเนสตี้โดยตรง ไม่ใช่ของเจ้าหน้าที่ระดมทุน หรือบริษัทใดๆ” แจ็กเกอลีน อธิบายเรื่องการระดมทุนแบบ Face-to-Face

สำหรับความคาดหวังในการแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนด้วยการระดมทุนแบบ Face-to-Face แจ็กเกอลีนระบุว่า จะเป็นช่องทางที่ช่วยให้แอมเนสตี้สามารถเข้าถึงผู้คนได้เป็นจำนวนมากในพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะอยู่ในห้างสรรพสินค้า รถไฟฟ้า สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน และงานอีเวนต์ต่าง ๆเพื่อทำให้ทุกคนได้รับรู้ว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน แจ็กเกอลีน ยิว รองผู้อำนวยการฝ่ายการระดมทุน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย บอกว่า ทั้งหมดขึ้นอยู่กับขนาดของการระดมทุนที่มี เช่น ถ้าเริ่มจากเล็กๆ มีทีมงาน 10 คน สามารถหยุดคนได้ 100 คนต่อวัน จุดมุ่งหมายคือการพูดคุย การเผยแพร่ และเพิ่มระดับการรับรู้ ดังนั้นจาก 100% ที่เราพยายามหยุดเพื่อพูดคุยแนะนำองค์กร อาจจะมีแค่ 6 - 7 คนที่หยุดฟังหรือคุยกับทีมงานในเวลา 3 - 5 นาที เพียงเท่านี้เธอเชื่อว่านับเป็นการพูดคุยที่เพิ่มระดับการรับรู้เกี่ยวกับกับทำงานของแอมเนสตี้แล้ว เพราะบทสนทนาเราจะเป็นคำถามว่า ‘คุณอยากรู้เกี่ยวกับสิทธิของคุณไหม?’ ‘คุณรู้ไหมว่าทุกคนเกิดมามีสิทธิด้านสิทธิมนุษยชนอะไรบ้าง?’ แล้วคุณอาจจะคิดว่า ‘อ๋อ ไม่รู้สิ’”

“เราจะไม่หยุดคุณด้วยการพูดว่า ‘โปรดบริจาคให้กับแอมเนสตี้’ เราต้องการให้คุณรับรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนก่อน และเมื่อเราเห็นว่าคุณมีความสนใจมากขึ้น จากนั้นเราจะชักชวนว่า ‘คุณอยากจะสนับสนุนพวกเราต่อไปไหม?’ ‘ขอบคุณที่หยุดและฟังเราพูดคุยเกี่ยวกับงานของแอมเนสตี้ ประเทศไทย’ ‘ตอนนี้คุณเชื่อเรื่องงานรณรงค์ของเราไหม?’ ‘คุณอยากจะสนับสนุนแอมเนสตี้ต่อไปอีกเพื่อรักษาผลกระทบระยะยาวต่อคนไทยและสังคมไทย รวมถึงมีส่วนช่วยในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในระดับโลกอีกด้วยไหม’ ความตั้งใจของเราคือการทำให้ทุกคนรู้ว่า เขาเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนระดับโลกได้”

แจ็กเกอลีน ยิว รองผู้อำนวยการฝ่ายการระดมทุน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ย้ำว่า ที่กล่าวมาข้างต้นคือวิธีสื่อสารแบบ Face-to-Face เป้าหมายใหญ่ของแอมเนสตี้คือการเข้าถึงผู้คนให้มากที่สุด เพราะต้องการให้ผู้คนรับรู้เกี่ยวกับงานขององค์กร รู้ว่าแอมเนสตี้เป็นใคร จากนั้นจึงชักชวนให้คุณมาสนับสนุนเพิ่มเติม แต่ต้องทำให้รู้ก่อนว่าคนธรรมดาจะยืนหยัดเพื่อสิทธิมนุษยชนได้อย่างไร

คนธรรมดา จะยืนหยัดเคียงข้างเพื่อสิทธิมนุษยชนได้อย่างไร

ปิยนุช ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ ประเทศไทย บอกว่า เมื่อพูดถึงคำว่า ‘สิทธิมนุษยชน’ หลายคนมักจะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ที่จริงแล้ว สิทธิมนุษยชนอยู่รอบตัวเรา แม้กระทั่งในลมหายใจ เพราะตั้งแต่เราเกิดจนถึงเราจากโลกนี้ไป ทุกก้าว ทุกวินาที นั่นคือเรื่องสิทธิมนุษยชน อากาศที่หายใจก็เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เรามีสิทธิที่จะได้หายใจในอากาศที่บริสุทธิ์ แต่เราต้องเจอ PM 2.5 เรามีสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเรา เราจะจัดการอย่างไรกับเนื้อตัวร่างกายของเรา เราอยากจะเป็นเพศไหน เราอยากจะเก็บลูกของเราไว้ หรือว่าเราต้องการการทำแท้งที่ปลอดภัย ถ้าลูกเราเกิดมา เราต้องการให้ลูกของเรามีการศึกษาที่ดี ที่มีคุณภาพ มีน้ำใช้ ไม่มีควันพิษ ไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ทุกอย่างเป็นสิทธิหมด

“ถ้าเกิดคุณมองไปรอบตัวคุณ แล้วเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวคุณว่ามันไม่ยุติธรรม หรือมันไม่น่าเกิดขึ้นได้ นั่นเป็นก้าวแรกที่คุณสามารถทำความรู้จักและเข้าใจสิทธิได้ใกล้ชิดเพิ่มขึ้น เพราะนั่นเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเราทั้งสิ้น เรามีสิทธิที่จะใช้ชีวิตที่ดี มีคุณภาพ และมีอนาคตที่สดใส นั่นก็คือสิทธิของเรา และสิ่งที่แอมเนสตี้ทำก็คือเอื้ออำนวยให้สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นโดยมีบุคคล แล้วก็ภาคส่วนต่างๆ ที่ได้ทำหน้าที่ของเขา ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น” ปิยนุช กล่าว

สำหรับแนวทางในการปลูกฝังเรื่องสิทธิมนุษยชนในสังคมนั้น ปิยนุชกล่าวว่า ต้องเริ่มตั้งแต่ระดับครอบครัว จากความเคารพ เข้าใจ และไม่ใช้ความรุนแรง เช่นเดียวกับในโรงเรียน ในชุมชน และการที่คนคนหนึ่งเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน และนำไปสู่การบอกต่อ จนหลายคนเริ่มตระหนักรู้ ตั้งคำถามกับการทำหน้าที่ของรัฐในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ก็ถือว่าช่วยสนับสนุนแอมเนสตี้ได้มากแล้ว

สร้างการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องยาก

ท่ามกลางการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวัน คนธรรมดาที่ไม่มีอำนาจในมือจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร? ปิยนุชตอบว่า ทุกคนไม่จำเป็นต้องลงถนนเพื่อประท้วง หรือเป็นนักกิจกรรมเท่านั้น แต่ก็สามารถขับเคลื่อนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ในหลายช่องทาง ซึ่งการระดมทุนผ่านตัวแทนระดมทุน แบบ Face-to-Face (F2F) เป็นอีกช่องทางที่ทำให้ทุกคนมาร่วมกันขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนไปกับแอมเนสตี้ได้ทั้งในไทยและทั่วโลก หรือจะทำรูปแบบอื่น ๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน

“คุณเป็นใครก็ได้ ถ้าคุณอยากจะสนับสนุน คุณนั่งอยู่ที่บ้าน คุณอ่านข่าว คุณคลิก คุณแชร์ในสิ่งที่คุณรู้สึกว่ามันน่าจะสื่อสารบอกคนอื่นเกี่ยวกับเรื่องสิทธิได้ คุณอยากจะใช้สมองของคุณ คุณเขียน คุณสามารถแชร์ คุณเป็นอาสาสมัคร คุณมาร่วมกิจกรรม หรือคุณเป็นผู้บริจาคก็ได้ คุณทำได้หลายอย่างมาก”

“มีคนในประเทศไทยจำนวนไม่น้อยที่เริ่มเข้าใจแล้วว่า สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ เราเห็นการทำงานของเยาวชนในการมีคลับต่างๆ ทำกิจกรรมต่างๆ เราเห็นคนในภูมิภาคต่างๆ เข้าเรียนสิทธิมนุษยชนศึกษากับเรา แล้วเขาก็ไปทำห้องเรียนสิทธิมนุษยชนต่อในชุมชน เราเห็นบางชุมชนต้องการมีความรู้เรื่องการรณรงค์ เรื่องสิทธิ แล้วก็ติดต่อให้เราไปทำการอบรมให้ ทุกสิ่งทุกอย่างมันมีพัฒนาการ แล้วก็มีการจุดประกายเกิดขึ้นเป็นขั้นตอนของมัน เราคิดว่าเรามีความหวังที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยได้” ปิยนุช กล่าวทิ้งท้าย

‘ช่วยเหยื่อ-คนถูกละเมิด’ เส้นทางสิทธิมนุษยชนของ “แอมเนสตี้”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล คือขบวนการของคนธรรมดามากกว่า 13 ล้านคนทั่วโลก ที่ร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อสังคมที่เท่าเทียมและยุติธรรมสำหรับทุกคน เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพประจำปี 2520 จากการรณรงค์ต่อต้านการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ จนกระทั่งบัดนี้ เป็นเวลากว่า 63 ปี นับจากจุดเริ่มต้นในปี 2504 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังคงยืนหยัดทำงานรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและเป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกคนที่ต้องการเห็นสังคมที่เท่าเทียมและยุติธรรมสำหรับทุกคน โดยยึดหลักการตาม "ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน" (Universal Declaration of Human Rights-UDHR)

สำหรับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เริ่มเป็นที่รู้จักในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เป็นต้นมา ในฐานะองค์กรที่เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนมาอย่างแข็งแกร่ง ภายใต้ความเชื่อที่ว่า “คนธรรมดาสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้” ผ่านกิจกรรมทั้งการจัดกิจกรรมรณรงค์สาธารณะ การจัดห้องเรียนสิทธิมนุษยชน และการรณรงค์ในประเด็นสิทธิมนุษยชนต่างๆ เพื่อยืนหยัดเคียงข้างผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ พร้อมทำงานร่วมกับภาครัฐในการผลักดันกฎหมายและนโยบายที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: