'ยูนิเซฟ' ชี้ความร้อนที่เพิ่มขึ้น 'ทั่วยุโรป-เอเชียกลาง' คร่าชีวิตเด็กเกือบ 400 คนต่อปี

กองบรรณาธิการ TCIJ 5 ส.ค. 2567 | อ่านแล้ว 14755 ครั้ง

ยูนิเซฟชี้ความร้อนที่เพิ่มขึ้นทั่วยุโรปและเอเชียกลางคร่าชีวิตเด็กเกือบ 400 คนต่อปี แนะรัฐบาลลงทุนด้านสุขภาพ ระบบเตือนภัยความร้อนล่วงหน้า ปกป้องเด็กเล็กโดยเฉพาะกลุ่มที่เปราะบางจากคลื่นความร้อน | ที่มาภาพ: Wikimedia Commons

เมื่อช่วงเดือน ก.ค. 2567 ยูนิเซฟรายงานผลวิเคราะห์ล่าสุด พบว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทั่วทวีปยุโรปและเอเชียกลางได้คร่าชีวิตเด็กประมาณ 377 คนในปี 2564 โดยเด็กครึ่งหนึ่งเสียชีวิตจากอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับความร้อนในช่วงขวบปีแรก และส่วนใหญ่เสียชีวิตในช่วงฤดูร้อน

เรจินา เด โดมินิซิส ผู้อำนวยการยูนิเซฟประจำภูมิภาคยุโรปและเอเชียกลาง กล่าวว่า “ประมาณครึ่งหนึ่งของเด็กในยุโรปและเอเชียกลาง หรือราว 92 ล้านคน ต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนบ่อยครั้ง ซึ่งภูมิภาคนี้ถือเป็นพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นในอัตราที่เร็วที่สุดทั่วโลก อุณหภูมิที่สูงขึ้นแม้ในระยะเวลาสั้น ๆ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางสุขภาพที่ร้ายแรงต่อเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้”

รายงาน Beat the heat: child health amid heatwaves in Europe and Central Asia ซึ่งได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลใน 23 ประเทศในทวีปยุโรปและเอเชียกลาง ระบุว่า การสัมผัสกับความร้อนมีผลกระทบเฉียบพลันต่อเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และอาจส่งผลให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกเกิดน้อย การเสียชีวิตในครรภ์ และความผิดปกติแต่กำเนิด ความเครียดจากความร้อนเป็นสาเหตุโดยตรงของการเสียชีวิตของทารกและอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารก อีกทั้งทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ในเด็ก รายงานยังระบุด้วยว่า ภาวะร้อนจัดนี้อาจทำให้เด็กและวัยรุ่นในภูมิภาคต้องสูญเสียโอกาสในการมีชีวิตที่ปกติสุข ซึ่งคิดเป็นระยะเวลา 32,000 ปี

สำหรับประเทศไทย เด็ก 3 ใน 4 คนหรือประมาณ 10.3 ล้านคนต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนสูงในปี 2563 ทั้งนี้ภายในปี 2593 เด็กทุกคนในประเทศไทยจะต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนถี่ขึ้นและยาวนานขึ้นหากไม่มีการดำเนินการแก้ปัญหาใด ๆ

ในขณะที่อุณหภูมิยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยูนิเซฟได้เสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลทั่วภูมิภาคยุโรปและเอเชียกลางดังนี้:

• บูรณาการกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบของคลื่นความร้อน โดยผ่านนโยบายต่าง ๆ เช่น การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (National Determined Contributions) แผนการปรับตัวแห่งชาติ และนโยบายการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการจัดการภัยพิบัติโดยมีเด็กเป็นศูนย์กลาง

• ลงทุนในการดำเนินงานด้านสุขภาพและการดูแลสุขภาพเพื่อดูแลรักษาเด็กที่เจ็บป่วยจากความร้อนอย่างมีประสิทธิภาพ

• ลงทุนในระบบเตือนภัยล่วงหน้า เช่น ระบบแจ้งเตือนความร้อน

• ปรับพื้นที่การเรียนรู้ของเด็ก ๆ เพื่อลดอุณหภูมิให้เหมาะสมกับการเล่นหรือทำกิจกรรม และเตรียมพร้อมครูให้มีทักษะในการรับมือกับความเครียดของเด็ก ๆ ที่เกิดจากความร้อน

• ปรับการออกแบบเมืองและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึง อาคารต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อยู่อาศัยของชุมชนเปราะบางที่สุด ให้สามารถรับมือหรือลดการสัมผัสความร้อน

• จัดเตรียมน้ำสะอาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มักขาดแคลนน้ำสะอาด

ยูนิเซฟกำลังทำงานร่วมกับรัฐบาล พันธมิตร และชุมชนทั่วภูมิภาคเพื่อสร้างการปรับตัวและความยืดหยุ่นต่อคลื่นความร้อน ซึ่งรวมถึงการเตรียมความพร้อมให้กับครู เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในชุมชน และครอบครัวให้มีทักษะและความรู้ในการรับมือกับความเครียดและการเจ็บป่วยจากความร้อน

  

หมายเหตุ

การประมาณการระดับภูมิภาคอ้างอิงจากการวิเคราะห์ข้อมูลรายงาน “2021 Global Burden of Disease” ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดจาก Institute of Health Metrics การประมาณการผลกระทบด้านสุขภาพไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้คาดการณ์โรคของประชาชนทั่วไป แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพของประชากร

Disability-Adjusted Life Years (DALYs) วัดผลกระทบโดยรวมของโรคและการบาดเจ็บทในชีวิต เพื่อช่วยให้เราเข้าใจความรุนแรงของผลกระทบจากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ อีกทั้งช่วยให้เราเห็นภาพรวมว่าความเจ็บป่วยและการบาดเจ็บส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างไร สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม: https://www.who.int/data/gho/indicator-metadata-registry/imr-details/158

ข้อมูลผลกระทบของคลื่นความร้อนต่อเด็กทั่วโลก:

https://www.unicef.org/reports/coldest-year-rest-of-their-lives-children-heatwaves

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: