SEC ภาคใต้กับ SEA สงขลา-ปัตตานี

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) 6 ส.ค. 2567 | อ่านแล้ว 10304 ครั้ง


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

ภาคีเครือข่ายประชาชนภาคใต้ ตั้งข้อสังเกต ร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้’ หรือ SEC มีอำนาจล้น สร้างกลไกพิเศษ แก้ผังเมือง เอื้อกลุ่มทุนต่างชาติ พร้อมประเคนทรัพยากรในพื้นที่ เปิดทางอุตสาหกรรมทุกรูปแบบ ทำให้ SEA สงขลา-ปัตตานี ที่ทุกภาคส่วนที่กำลังทำเวทีกว่า 20 เวที นั้นไร้ค่า?

ร่าง พ.ร.บ. SEC หรือ ชื่อเต็มคือ ร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) ร่าง พ.ร.บ. SEC กำลังถูกเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร โดย คุณอนุทิน ชาญวีรกุล และ คุณสฤษฎ์พงษ์ เกี่ยวข้อง จากพรรคภูมิใจไทย ซึ่งทั้งสองคนได้เสนอร่างคนละร่างที่มีเนื้อหาเหมือนกัน และ ปัจจุบันผ่านการรับฟังความคิดเห็นประชาชนผ่านระบบกฎหมายกลาง และ ประเมินผลกระทบกฎหมายไปแล้ว
(อ่านเพิ่มเติมฉบับเต็มใน https://www.parliament.go.th/section77/manage/files/file_20210203160632_1_127.pdf)

ภาคประชาชน ได้ตั้งข้อสังเกต ร่าง พ.ร.บ.ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ มีสาระสำคัญที่พรรคการเมือง ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้น เมื่อสรุปใจความแล้วพบว่า อย่างน้อย 5 ข้อดังนี้

1. ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เท่ากับเป็นการซื้อ-ขายภาคใต้ เพราะในท้ายที่สุดแล้วทั้ง 67 มาตรา ที่ถูกเขียนขึ้นในร่างกฎหมาย คือการใช้อำนาจเปลี่ยนแปลงที่ดินของประชาชน ใช้อำนาจเปลี่บยแปลงผังเมือง ใช้อำนาจยกเลิกที่ดิน ส.ป.ก. ใช้อำนาจยกเลิกที่ดินราชพัสดุ ใช้อำนาจเปลี่ยนแปลงการถือครองที่ดินของประชาชน 10 ล้านคนในภาคใต้
สอง

2. พ.ร.บ. ฉบับนี้ ให้อำนาจการแก้กฎหมาย และบัญญัติกฎหมายใหม่ได้ หมายความว่า เมื่อไรก็ตามที่พื้นที่หนึ่งสามารถบัญญัติกฎหมายเองได้ โดยไม่ต้องผ่านกลไกนิติบัญญัติของประเทศไทย เท่ากับว่ากำลังสถาปนารัฐอิสระขึ้นมาบนแผ่นดินภาคใต้ ซึ่งในคำประกาศของเครือข่ายฯ ใช้คำว่า “การทำเช่นนี้เป็นหลักการเหยียบคนใต้ให้จมดิน”

3. การบัญญัติว่าไม่ต้องทำตามกฎหมายไทยทุกฉบับ ไม่ว่ามีกฎหมายใดก็สามารถแก้ได้ทุกฉบับ

4. อำนาจในการให้สิทธิพิเศษ ที่ระบุอยู่ในมาตรา 8 ยังหยิบยื่นกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ต่างชาติถือครอง ได้โดยไม่ต้องปฎิบติตามกฎหมายว่าด้วยการจัดการที่ดิน ในขณะที่ประชาชนคนไทย ยากลำบากในเรื่องการไม่มีที่ดิน

5. อำนาจการกำหนดการพัฒนา ภาคใต้มีประชากร 10 ล้านคนอาศัยอยู่ มีกระบวนการทางเศรษฐกิจที่มีความสมดุลระหว่างการเกษตร การท่องเที่ยว การประมง และภาคอุตสาหกรรมขนาดเล็ก โดยมองว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะแปรพื้นที่ทั้ง 14 จังหวัดไปเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมทุกชนิด และมีอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 ชนิดที่จะต้องพลักดันให้ได้

ในขณะที่ SEA สงขลา-ปัตตานีมีชื่อเต็มว่าโครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี

สำหรับโครงการดังกล่าว เป็นการดำเนินการที่เกิดขึ้นมาจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2564 ที่มอบหมายให้ สศช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) และแผนแม่บทต่าง ๆ โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ

ซึ่งที่ผ่านมา สศช. ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมายกร่างขอบเขตของงานจ้างที่ปรึกษา และใช้ในกระบวนการจ้างที่ปรึกษา โดยวิธีคัดเลือก และสำนักงานสภาพัฒฯ คัดเลือกมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มาเป็นที่ปรึกษาโครงการ เพื่อทำหน้าที่จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี โดยใช้กระบวนการ SEA ตามแนวทางการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ของ สศช. เพื่อทำแผนให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ คำนึงถึงความสมดุลของการพัฒนา ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

โครงการนี้มีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 18 เดือน ที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการแสดงความคิดเห็น โดยกำหนดไว้ไม่น้อย 40 เวทียังไม่นับเวทีย่อย ๆ เเบบไม่เป็นทางการอีกหลายครั้ง

ปัจจุบันได้ทำไปแล้ว 23 เวที ผ่านไปกว่าครึ่งมีผลสรุปเบื้องต้นดังนี้

“มหานครแห่งความสร้างสรรค์ เพื่อสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม” ภายใต้ยุทธศาสตร์ มี 4 ประเด็น ได้แก่

1. การยกระดับเศรษฐกิจเดิม และสร้างเศรษฐกิจใหม่อย่างสร้างสรรค์

2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่

3. การสร้างสรรค์สังคมเป็นธรรมและเป็นสุข

4. การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ จ.สงขลาและ จ.ปัตตานี

นางโซรยา จามจุรี ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ สะท้อนว่า “เวที SEA (การรับฟังความเห็นภายใต้โครงการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ จ.ปัตตานีและสงขลา) ช่วงท้ายวันนี้ ( 18 กรกฎาคม 2567 ณ โรงแรมซีเอส ปัตตานี) ช่วยกันระดมความเห็นเกี่ยวกับต้นทุน /ทรัพยากร ที่เปี่ยมปังในจังหวัดปัตตานี และทิศทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ควรจะเป็น กลุ่มเราเห็นว่า ควรจะใช้ต้นทุนอันโดดเด่นในพื้นที่ทั้งต้นทุนทางทรัพยากร (ท้องทะเล/อ่าวปัตตานี/แม่น้ำปัตตานี/ สถานที่ทางธรรมชาติ อันสวยงาม เป็นต้น) + ต้นทุนทางวัฒนธรรม (ภาษา/ศาสนา/ ศิลปวัฒนธรรม/อาหาร/สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เป็นต้น) ส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ และความภาคภูมิใจให้ชาวจังหวัดปัตตานี อีกกลุ่ม ก็เห็นด้วยว่าทิศทางการพัฒนาจังหวัด ควรจะมาทางนี้ แล้วก็ผุดไอเดียการท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบตามมา เช่น การท่องเที่ยวสุขภาพ การท่องเที่ยวอาหาร (เที่ยวไป กินไป) การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ การท่องเที่ยวทางศาสนา/ความเชื่อ (เช่น เที่ยววัด เที่ยวมัสยิด ทำบุญไปด้วย) เป็นต้น คุยกันสนุก เพราะเป็นการมองไปข้างหน้า และขุดค้นของดีในพื้นที่ออกมาชื่นชม และคิดใช้ประโยชน์ สิ่งที่กลุ่มคิดมานี้ ก็สอดรับอยู่นะ กับเป้าหมายการพัฒนาของจ.สงขลา + ปัตตานี ที่ระบุในเอกสารว่า "ศูนย์กลางเศรษฐกิจภาคใต้ ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจยั่งยืน บนฐานทรัพยากร และความหลากหลายทางวัฒนธรรม" นี่หากเหตุการณ์สงบดี สิ่งที่วาดหวังไว้ จะทะลุกว่านี้ เพราะวันนี้ เราก็เห็นแล้วว่าปัตตานี มีศักยภาพมาก นักท่องเที่ยวมาเลย์ ไหลเข้ามาไม่ขาดสาย

สำหรับคำว่า SEA หรือ Strategic Environmental Assessment แปลตรงๆ ว่า การประเมินผลกระทบทางยุทธศาสตร์

แปลให้ง่ายเข้าไปอีกก็คือ เป็นการศึกษาภาพกว้างว่า สมควรดำเนินโครงการอะไรก็แล้วแต่จะ จะนะ จะปัตตานี เมืองอุตสาหกรรมหรือไม่ ถ้าควรสร้างควรจะสร้างที่ไหน เมื่อระบุคร่าวๆ แล้วว่าควรจะสร้างและสร้างที่ไหน จึงค่อยมาศึกษา EHIA หรือ EIA เพื่อลงรายละเอียดต่อไป

SEA สงขลา- ปัตตานี ที่กำลังดำเนินการอยู่ เป็นผลจากข้อเรียกร้องที่พี่น้องจะนะ เสนอต่อรัฐบาลก่อนหน้านี้นั้น หัวใจสำคัญ คือ ทุนและรัฐ ต้องคืนอำนาจให้พี่น้องจะนะ ซึ่งตอนนี้รวมทั้งสงขลา และปัตตานี ในการการพัฒนาพื้นที่นี้ซึ่งมีรูปแบบที่หลากหลาย SEA “การประเมินผลเชิงยุทธศาสตร์เพื่อแสวงหารูปแบบการพัฒนาทางเศรษฐกิจบนฐานทรัพยากรของจังหวัดสงขลา และปัตตานีเพื่อการสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนที่นำไปสู่การกระจายและเป็นธรรมต่อประชาชนโดยรวมของสองจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียง หาก พรบ.SEC ทั้งภาคใต้ผ่าน SEA ในพื้นที่ที่อุตส่าห์ทำจะมีค่าอะไร นี่คือข้องกังวลใหญ่ ไม่เพียงแต่สองจังหวัดนี้เช่นกัน แต่ที่สำคัญประเทศนี้หลังจากนี้ประชาชนทุกภาคส่วนต้องกำหนดทิศทางการพัฒนาหมดสมัยที่กลุ่มทุนจะมาชี้นิ้วสั่งการอีกต่อไป”

ไม่เพียงเท่านั้นแต่ข้อกังวลนี้ อาจจะกระทบต่อกระบวนการสันติภาพและการแก้ปัญหาความขัดแย้งจังหวัดชายแดนใต้ ดั่งที่ข้อสังเกตในเวที คพท. ซึ่งคพท.สงขลา ให้ข้อสังเกตที่ต้องระวัง “ ปัจจัยเอื้อไม่หนุน กระบวนการสันติภาพ” และปัจจัยเอื้อจุดประเด็นความขัดแย้ง ในสองประเด็น

1. ประเด็นสิ่งแวดล้อม

2. SEC -SEA ในการประชุมคณะขับเคลื่อนการพูดคุยสันติสุขระดับพื้นที่ ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดโดยสำนักงานขับเคลื่อนการพูดคุยสันติสุขระดับพื้นที่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ณ ห้องประชุมโรงแรม ซี เอส ปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ซึ่งมพลโทีพลโท ปราโมทย์ พรหมอินทร์ แม่ทัพน้อยที่ 4 / รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เป็นประธานการประชุม
(อ่านรายงานเพิ่มเติมใน https://share.csitereport.com/share.php?post_id=0000041744)

หมายเหตุ
1. SEC ภาคใต้ https://theactive.net/news/lawrights-20240227/
2. SEA สงขลา-ปัตตานี http://sea.nesdc.go.th/pilot-project/โครงการติดตามและประเมิ/

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: