ระเบิด 'เจ้าแม่กวนอิมสะกอม' อย่าโยงการต่อสู้ผู้นำศาสนาและชาวบ้านในอดีตกับ BRN

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) 6 ธ.ค. 2567 | อ่านแล้ว 1421 ครั้ง


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

ความว่า "แท้จริงแล้วเราเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮ์และเราจะกลับไปหาพระองค์" "ทุกชีวิตย่อมลิ้มรสกับความตาย"

ก่อนอื่นผู้เขียนขอแสดงความเสียใจ ต่อเหตุการณ์ระเบิดแคมป์ก่อสร้างเจ้าแม่กวนอิม ม.1 ตำบลสะกอม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ส่งผลให้ คนงานและเด็กเจ็บ 3 ราย ไม่นับความเสียหายอื่นๆทั้งทรัพย์สิน และความรู้สึกของชาวบ้านรอบๆ เมื่อ เช้าวันพุธที่ 20 พฤศจิกายน 2567

คนพื้นที่ประสานเสียง บึ้มแคมป์สร้างเจ้าแม่ฯ ไม่เกี่ยวศาสนา “วอนสื่อ” อย่าโยง

จากการลงพื้นที่พบว่า คนพื้นที่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ ประสานเสียง ไม่เกี่ยวกับศาสนา ดังนั้นจึงวอนวอนสื่ออย่าโยง

เช่น นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ให้สัมภาษณ์สื่อThe Active ว่า “จากที่ได้ตามอ่านข่าวและเห็นการแสดงความคิดเห็นบนโลกโซเชียล มีการโพสต์ในลักษณะที่สร้างความเกลียดชัง ไม่เห็นด้วย ไม่สุภาพกับคนในพื้นที่และมีลักษณะเชิงชาตินิยม ซึ่งเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้สร้างความแตกแยกในพื้นที่ สร้างความเข้าใจผิดจากกคนไกลที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ ทำให้ความรู้สึกต่อการแก้ปัญหาโดยสันติวิธีน้อยลง ทั้งที่ความจริงแล้วพี่น้องมุสลิมเคลื่อนไหวคัดค้านการก่อสร้างเจ้าแม่กวนอิม ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอุตสาหกรรมจะนะ ที่พวกเขามองว่าส่งผลต่อทรัพยากรและคนในพื้นที่ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับศาสนา หรือการท่องเที่ยวแต่อย่างใด ในขณะที่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2567

บาบอฮุสณี บินหะยีคอเนาะ ผู้จัดการโรงเรียนศาสนบำรุง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาและที่ปรึกษาสมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้ กล่าวว่า ”คนในพื้นที่แสดงจุดยืน ไม่เห็นด้วยกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะและการก่อสร้างเจ้าแม่กวนอิมแบบ สันติวิธี เสมอมาเราเสียใจกับการปฏิบัติการรุนแรงที่ไม่ทราบฝ่ายในครั้งนี้เพราะมันทำลายความงดงามของการต่อสู้คนในพื้นที่...เราเสียใจ“

ดุลยรัตน์ บูยูโส๊ะ ประธานเครือข่ายโรงเรียนเอกชนสี่อำเภอเขตพิเศษ จังหวัดสงขลาและยังมีตำแหน่งเป็นประธานคณะขับเคลื่อนการพูดคุยสันติสุขระดับพื้นที่(ภาคประชาสังคม) ให้ทัศนะว่า “จากเหตุการณ์ระเบิดจุดก่อสร้างเจ้าแม่กวนอิมในพื้นที่ ต.สะกอม อ.เทพา จ.สงขลา มีความพยายามจากหลายภาคส่วนในการวิเคราะห์สาเหตุในการสร้างเหตุการณ์ครั้งไปในทางความขัดแย้งในด้านความเชื่อทางศาสนาและเป็นเรื่องของการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน ส่วนตัวของข้าพเจ้ายังเห็นว่าน่าจะไม่เกี่ยวข้องกันอย่างชัดเจนเพราะตัวเองเป็นคนที่เกิดในพื้นที่จังหวัดสงขลาและเป็นคนหนึงที่พยายามแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่โดยใช้สันติวิธี กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างเจ้าแม่กวนอิมนั้นเข้าใจดีว่าตัวเองไม่มีสิทธิในการคัดค้านการก่อสร้างแต่อย่างใด มีการดำเนินการเจรจาถึงความเหมาะสมเพียงเท่านั้น ในเมื่อคัดค้านไม่ได้ก็ต้องยอมรับสภาพกันไปซึ่งในห้วงสองปีที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีเหตุการณ์ความรุนแรงใดเพื่อยับยั้งการก่อสร้าง สำหรับประเด็นที่ผูกโยงเรื่องขบวนการแบ่งแยกดินแดนนั้นยังมีข้อขัดแย้งในความรู้สึกหลายประการ เช่น

1. อาวุธที่ใช้จนถึงตอนนี้ยังหาข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้ว่าชนิดใด

2. ระเบิดลูกที่ 3 และ 4 ทิ้งระยะเวลานานมากซึ่งปกติแล้วทางกลุ่มขบวนการจะกำหนดเวลาให้ใกล้เคียงกันเพื่อง่ายในการหลบหนี

3. การระเบิดครั้งที่ 1 และ 2 เกิดบริเวณแคมป์คนงานแทนที่จะมุ่งเน้นระเบิดเพื่อทำลายที่การก่อสร้างเจ้าแม่กวนอิม ส่วนตัวคิดว่าถ้าปัญหาคือเจ้าแม่ควรจะระเบิดที่เจ้าแม่มากกว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะมหาศาลแน่นอน แคมป์คนงานเสียหายหลักพันเอง

4. มีการใช้ภาษามอญหรือภาษาพม่า (ไม่มั่นใจ) ทางกลุ่มขบวนการไม่เคยใช้แบบนี้ นี่เป็นความตั้งใจในการเตือนแรงงานพม่าหรือเปล่า ณ เวลานี้แรงงานเหล่านี้เข้ามาเป็นกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่พอสมควร ถ้าเราติดตามข่าว

จากการสอบถามคนในพื้นที่บริเวณจุดเกิดเหตุ ทุกคนได้รับผลกระทบเรื่องรายได้ชัดเจนเพราะลูกค้าต่างก็ยกเลิกการจองซะเป็นส่วนใหญ่ วิงวอนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าช่วยเหลือเยียวยาเป็นการเบื้องต้นก่อนครับ

สรุป เหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดสงขลาจะมีที่มาจากนโยบายภาครัฐที่ข้ามขั้นตอนการสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จะนะเมืองนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น เพราะฉนั้นอยากเสนอให้ส่วนราชการหรือรัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับขั้นตอนการรับฟังเสียงประชาชน

สำหรับ ประเด็นความมั่นคงหรือขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่จังหวัดสงขลานั้น อยากให้หน่วยงานรับผิดชอบทำงานแบบต่อเนื่อง อย่าทำงานแบบพายเรืออยู่ในอ่างน้ำ เปลี่ยนชุดการทำงานเมื่อไหร่ก็เริ่มนับหนึ่งกันใหม่ อนากให้สานต่อเรื่องงานจะได้ก้สวข้ามความขัดแย้งสักที

นายอัสโตรา ญาบัต นักวิเคราะห์ข่าวภาษามลายูชื่อดังชายแดนใต้ ในรายการKecek Taning ให้ทัศนะต่อเรื่องนี้ว่า "สำหรับการระเบิดที่สะกอมดังกล่าวขอให้พิจารณาอย่างรอบคอบอย่างรีบด่วนสรุป และผูกโยงกับขบวนการ BRN ซึ่งท้ายสุดบรรดาผู้นำศาสนา ในอำเภอ จะนะ เทพา ของจังหวัดสงขลาที่เคยออกมาต่อสู้อย่างสันติวิธีกับชาวบ้านจะถูกเหมารวม อีกทั้งจะถูกด้อยค่าในการต่อสู้ให้กับชุมชนในอดีต ปัจจุบันและในอนาคต" (ชมคลิปฉบับเต็ม)

นายรักชาติ สุวรรณ อดีตประธานเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ กล่าวว่า “ได้ติดตามสถานการณ์กรณีมีเหตุระเบิดบริเวณที่ก่อสร้างองค์เจ้าแม่กวนอิมทางสื่อที่ส่งเสียงในเรื่องนี้ค่อนข้างรุนแรง อย่างน่าเป็นห่วง"

"ก่อนการสร้างองค์เจ้าแม่กวนอิม ก็จะมีประเด็นการสร้างท่าเรือน้ำลึก และนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ที่ชาวบ้านรวมตัวกันต่อต้านด้วยเพราะชาวบ้านที่หากินกับทะเล เขาก็ห่วงแหนทรัพยากร หวงแหนวิถีชีวิตเดิม ในตอนนั้นทราบว่ามีภาครัฐในพื้นที่ไม่ได้อยู่ข้างชาวบ้านซักเท่าไหร่ ค่อนข้างจะอยู่ข้างนักธุรกิจรายใหญ่ซะมากกว่า ภาครัฐเองก็หมดเงินไปเยอะ .. แต่ก่อสร้างไม่ได้ ก็หันมาก่อสร้างองค์เจ้าแม่กวนอิมแทน ในผืนดินของเขาที่เขากว้านซื้อมาเก็บไว้ในชุมชนที่มีพี่น้องมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ นัยว่าจะเป็นแลนด์มาร์ค เป็นแหล่งท่องเที่ยว"

"แล้วก็มาถึงเหตุระเบิดบริเวณที่ก่อสร้างองค์เจ้าแม่กวนอิม (บ้างก็บอกโดยวิธีการยิง เอ็ม 79 บางข่าวก็บอกว่าโดยการวาง) ไม่ว่าจะเป็นวิธีไหน เหตุใดก็ตาม มันเริ่มก่อตัวของการปะทะทางความรู้สึก (อ่านจากคอมเม้นต์) แม้แต่สื่อก็พาดหัวข่าวทำให้ชวนคิดเป็นอื่นได้"

"ในขณะเดียวกัน การจะสื่อสารอื่นใดออกไปเกี่ยวกับเรื่องนี้ ควรจะมีการระมัดระวังคำพูด คำสื่อสารด้วยเช่นกัน ไม่อย่างนั้นมันจะเป็นการสร้างความขัดแย้งทางความรู้สึกของผู้คน (ผมเคยบอกไปบ่อยๆ ในเรื่องความขัดแย้งทางความรู้สึกของผู้คน)"

"เราจำเป็นที่จะต้องค่อย ๆ แกะเรื่องราวทีละชิ้นเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้งทางความรู้สึก…ขอให้การสื่อสารใดๆจะไม่สร้างความขัดแย้งเพิ่ม”

วันเสาร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2567 เวลา 9.00 ย.-11.00 น. ณ ชาวดอยคอฟฟี่ห้าแยกจะนะ จังหวัดสงขลาผู้เขียน ดร.ขดดะรี เบ็ญเซ็นนายกสมาคมโรงเรียนเอกชนภาคใต้และตัวแทนผู้โรงเรียนเอกชนสอนสอนศาสนาจังหวัดสงขลาได้พูดคุย สานเสวนา และเสนอแนะต่อพ.ต.อ. พสิษฐ์ ศานติปรัชญา รอง ผบก.ภ.จว.สงขลา และคณะ ในประเด็นนี้โดยเฉพาะขอให้หน่วยมั่นคงในพื้นที่ให้พิจารณาอย่างรอบคอบที่จะผูกโยงประเด็นนี้กับศาสนา การศึกษามุสลิมแม้ที่ผ่านมาบุคคลเหล่านี้เคยออกมาคัดค้านการก่อสร้างเจ้าแม่กวนอิมตามที่เป็นข่าว และสมาคม เครือข่ายองค์กรโรงเรียนเอกชนสอนศาสนายินดีทำงานร่วม เพื่อร่วมปรึกษาหากับตัวแทนผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเขต ไม่เพียงเท่านั้นยังยินดีร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาสังคมโดยเฉพาะปัญหายาเสพติดของเยาวชน และนักเรียน

สำหรับผู้เขียนแล้วไม่ปฏิเสธให้รัฐใช้กระบวนการยุติธรรมตามอำนาจทางกฎหมายจัดการคนร้ายแต่อย่าลืมแก้ปัญหาให้ชาวบ้านด้วยซึ่งตลอดเวลาการก่อสร้าง “เจ้าแม่กวนอิม” ที่ผ่านมาชาวบ้านก็เดือดร้อน เช่นกันซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่ไม่สามารถละเลยมิใยดีแม้นายทุน ทำผิดกฎหมาย (คลิปนี้เป็นแค่บางส่วนที่ชาวบ้านต้องมาขวางรถบรรทุกหน้าบ้าน)

บันทึก(ร่วม)ภารกิจสันติวิธีเพื่อสันติภาพกับศ.ชัยวัฒน์ กรณีสร้างเจ้าแม่กวนอิม ก่อนเหตุระเบิด

อย่างไรก็แล้วแต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ก่อนสร้างรูปปั้นเจ้าแม่กวนอืมนี้นั้นมีข้อทวงติงของชุมชนและนักวิชาการ โดยเฉพาะ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอนันต์ ผ่านสื่อมวลชนซึ่งสามารถหาอ่านย้อนหลังได้ในข้อเสนอของ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ ก่อนสร้างเจ้าแม่กวนอิม ที่สะกอม จังหวัดสงขลา

อีกทั้งในบทสัมภาษณ์ท่านได้เตือนโดยสะท้อนว่า “บทเรียนที่ผมได้จากวิจัยงานนับไม่ถ้วนจากหลาย ๆ ที่ รวมทั้งงานที่ตัวเองทำด้วยก็คือว่า รูปเคารพทางศาสนาก็ดี เรื่องเล่าทางศาสนาก็ดี และอื่น ๆ ที่มีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัว สมมติเราสร้างขึ้น ควรจะอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับโครงสร้างประชากร แปลว่า ถ้าคุณเป็นคนส่วนน้อย คุณก็สร้างองค์น้อย ๆ คุณก็พูดเล่าเรื่องความสำเร็จของความเชื่อของคุณในบริบทที่เล็กหน่อย ที่ได้สัดส่วนกับประชากร"

"ถ้าคุณเป็นคนส่วนใหญ่ คุณอาจจะพอทำสิ่งเหล่านี้ได้นะครับ แต่ขณะเดียวกันต้องกลับไปประเด็นแรก คือต้องนึกถึงใจเขา แต่ว่าพอคุณทำกลับกัน จะเพิ่มสิ่งที่ผมเรียกว่า ปัจจัยเสี่ยง (Risk factors) ให้กับพลวัตทางความขัดแย้งซึ่งมีอยู่แล้วในพื้นที่ มันจะมีปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาเรื่องการลงทุน ปัญหาอะไรอีกหลายอย่างในพื้นที่ นี่เราโฟกัสแค่เรื่องเดียว ทั้งหมดคือปัจจัยเสี่ยง (Risk factors) ที่สูง"

(บทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม) 

นอกจากนั้นยังไม่พอท่าน ศ.โคทม อารียา ผศ.ดร. พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ เจ้าคณะอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาและพวกเรารวมทั้งผู้เขียนอุตส่าห์เดินทางไปตึก TPIPP กทม. เพื่อสานเสวนาในประเด็นนี้

เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2565 (ภารกิจสันติวิธีเพื่อสันติภาพในประเด็นข้อท้วงติงชุมชนมุสลิมจะนะและชายแดนใต้กรณีบริษัท TPIPP ของเจ้าสัวประชัยจะสร้างเจ้าแม่กวนอิมชายหาดสะกอม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลาประตูสู่ชายแดนใต้) (อ่านข่าวต้นฉบับ)

ท่านเคยสะท้อนผ่านสื่อว่า “จริง ๆ ผมอยากจะสื่อสารกับฝ่ายใดก็ได้ที่อยากฟังผม ที่สำคัญคือผู้ที่ประสงค์จะสร้างรูปเคารพนี้ เจ้าแม่กวนอิมสูง 136 เมตรนะครับ ผมอยากคุยกับคุณประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เจ้าของบริษัททีพีไอ ผมอยากคุยกับผู้ถือหุ้นของบริษัททีพีไอและบริษัทในเครือ มีบริษัทปุ๋ย บริษัทประกันก็มีตลาดหลักทรัพย์ และผมก็อยากจะคุยกับลูกค้าของเขาด้วยในสิ่งเหล่านี้ แล้วก็ถามตัวเองว่าในการทำสิ่งนี้ ว่าเหมาะสมแค่ไหนในบริบทแบบนี้”

อาจารย์ชัยวัฒน์เสนอพิพิธภัณฑ์กวนอิมเมตตาสากลแทนสร้างรูปปั้น “ผมอยากเสนอจริง ๆ นะ ให้เขาคิดทำเรื่องพิพิธภัณฑ์กวนอิมเมตตาสากล ทำหน้าที่เก็บ บรรจุเรื่องราวของความเมตตาที่มนุษย์มีต่อกันจากที่ต่าง ๆ ในโลก ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย อาจเป็นที่แรกในโลกที่ทำแบบนี้ เอาที่สวยเลย คุณมีทุนใช่ไหม คุณจะสร้างตึกรูปปั้นสูง 40 ชั้นได้ คุณก็ใช้ตรงนั้นมาทำพิพิธภัณฑ์แห่งความเมตตา แล้วก็เก็บสะสมเรื่องราวของความเมตตาทั่วโลก ให้คนอื่นดูนะครับ เช่น ในค่ายกักกันนาซี มีการ์ดของหน่วย SS นาซีเยอรมันคอยช่วยคนอื่น ไม่เคยได้ยินใช่ไหม แล้วไปหยิบของพวกนี้มาดูใช่ไหมเอาของ เอาภาพอะไรต่อพวกเขามาดู เราก็จะเห็น
(อ่านรายเอียดเพิ่มเติม) และ (อ่านเพิ่มเติมประวัติ)

อย่างไรก็แล้วแต่ท้ายสุด เจ้าสัวประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ก็ไม่รับข้อเสนอแนะท่าน เพราะเมื่อ 4 มิถุนายน 2567 นายประชัย เลียวไพรัตน์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือTPIPP พร้อมนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรมช.กระทรวงมหาดไทยและนายกอบจ.สงขลา ร่วมทำพิธีบวงสรวงการก่อสร้างรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม ที่หาดสะกอม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

อย่าลืมโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน จากการออกแบบของชุมชนผ่าน SEA ที่กำลังทำอยู่

สำหรับการก่อสร้างรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม ชาวบ้านมองว่า มันอาจเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอุตสาหกรรมจะนะ ที่เคลื่อนประท้วงจนเป็นข่าวดัง และในแปลนกาก่อสร้างที่ลงผ่านสื่อหลายสำนักยังมีแผนจะก่อสร้างคอนโดฯ โรงแรมในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งพื้นที่ก่อสร้างดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ชุมชนมุสลิม โดยชาวบ้านเกรงจะยิ่งเป็นแหล่งบันเทิง อบายมุขเข้ามารุกวิถีวัฒนธรรม

ส่วนการก่อสร้างอุตสาหกรรมจะนะ ถูกยุติโครงการชั่วคราว โดยให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ก่อน หรือ SEA หลังชาวบ้านในพื้นที่รวมตัวกันคัดค้านถึงทำเนียบรัฐบาล ช่วงปี 2563-2564 ซึ่งชาวบ้านได้ร่วมเวที SEA และรอว่าจะเดินตาม SEA ซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่ปรึกษาโครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี (หลังจากพี่น้องจะนะประท้วงโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่เป็นข่าวดังคณะรัฐมนตรีจึงมีมติ SEA เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2564)

ล่าสุดจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 5 (เวทีที่ 28) ในวันที่ 26 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมหรรษา เจบี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลซึ่งโครงการฯ นี้ได้กำหนดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อแสดงความคิดเห็นในทุกขั้นตอนของการจัดทำแผนแม่บทของจังหวัดสงขลาและปัตตานี อย่างน้อย 8 ครั้ง จำนวนไม่น้อยกว่า 40 เวที เพื่อให้ได้แผนแม่บทที่มีความสมดุลและสอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นแล้ว จำนวน 5 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 27 เวที มีผู้เข้าร่วม ประมาณ 2,365 คน โดยผลการศึกษา พบว่า จังหวัดสงขลาและปัตตานีควรมีเป้าหมายการพัฒนา สู่การเป็น “ศูนย์กลางเศรษฐกิจภาคใต้ ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจยั่งยืน บนฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางวัฒนธรรม”

โดยมีประเด็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ 3 ประเด็น ได้แก่
(1) การพัฒนาเศรษฐกิจสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจภาคใต้
(2) การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และการสร้างสังคมเป็นธรรม และมีสันติสุข
(3) การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

โดยทางเลือกการพัฒนาที่เป็นไปได้เบื้องต้น ที่จะนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่กำหนดไว้ ได้แก่
- ทางเลือกการพัฒนาพื้นที่เป็นศูนย์กลางการเกษตรครบวงจร
- ทางเลือกการพัฒนาพื้นที่เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว
- ทางเลือกการพัฒนาพื้นที่เป็นศูนย์กลางการค้า
- ทางเลือกการพัฒนาพื้นที่เป็นศูนย์กลางการศึกษาและสุขภาพ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: