แอมเนสตี้ยื่น 7,301 รายชื่อปฏิบัติการด่วน (Urgent Action) ถึงรัฐบาลไทยยื่น 3 ข้อเรียกร้อง 'นายกรัฐมนตรี - รมว.ยุติธรรม' ปล่อยตัว - หยุดดำเนินคดีอานนท์ นำภา พร้อมยกเลิกหรือแก้กฎหมายละเมิดสิทธิในเสรีภาพการแสดงประชาชน
เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2567 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนนำ 7,301 รายชื่อ จากการเปิดปฏิบัติการด่วน (URGENT ACTION) ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และยื่นข้อเรียกร้องถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หลังได้ขับเคลื่อนผลักดันให้คนทั่วโลกได้มีส่วนร่วมลงชื่อและส่งจดหมายเรียกร้องถึงรัฐบาลให้ปล่อยตัวอานนท์ นำภา นักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข และต้องยกเลิกข้อกล่าวหาและคำตัดสินในกระบวนการยุติธรรมที่เขาถูกดำเนินคดีความทั้งหมด รวมไปถึงประชาชน เด็กและเยาวชนทุกคนที่ถูกดำเนินคดีความเพียงเพราะได้ใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกของตัวเอง โดยมีตัวแทนจากทำเนียบรัฐบาลมารับข้อเรียกร้อง โดยมีนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองพร้อมคณะ ออกมารับหนังสือ
นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า การนำรายชื่อประชาชน สมาชิก นักกิจกรรมจากทั่วโลกมายื่นเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวและยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดกับอานนท์ นำภา นักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงนักกิจกรรมคนอื่นๆ ในครั้งนี้ คือปฏิบัติการด่วนที่สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ต้องการกระตุ้นใหทางการไทยปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่กำหนดให้รัฐบาลไทยต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนประชาชนทุกคน ทั้งสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบ รวมไปถึงการยกเลิก แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่จำกัดสิทธิมนุษยชน ซึ่งการรณรงค์นี้มีถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
“4 ปีที่ผ่านมาพบว่าเกิดการดำเนินคดีความกับนักกิจกรรมและผู้ที่ออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นว่าการออกมาใช้สิทธิมนุษยชนในประเทศของตัวเองกลายเป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะทุกคนถูกจับกุมคุมขัง ถูกคุกคาม ถูกติดตาม หรือต้องจากบุคคลอันเป็นที่รัก ปัจจุบันพบตัวเลขผู้ถูกละเมิดสิทธิเรื่องนี้มากกว่า 1,938 คน ในจำนวนนี้มีเด็กถูกดำเนินคดีความไปแล้วอย่างน้อย 286 คน ซึ่งทำให้เห็นถึงความบกพร่องในหน้าที่ของรัฐบาลไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะตามพันธกรณีกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน กำหนดให้รัฐบาลไทยต้องเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนควรได้มีเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ”
ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ฝากถึงกระบวนการยุติธรรมและรัฐบาลไทยโดยเน้นย้ำว่า ‘สิทธิในการประตัวหรือปล่อยตัวชั่วคราวคือสิทธิมนุษยชน’ ที่ทุกคนควรได้รับเพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่สอดคล้องกับหลักการทางกฎหมายที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ‘ผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด’ นอกจากนี้ปิยนุชได้กล่าวย้ำถึงคำประกาศที่รัฐบาลไทยได้กล่าวไว้กับนานาชาติและประชาคมโลกว่า ประเทศไทยจะลงสมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) ระหว่างปี 2568-2570ที่ย้ำและให้พันธสัญญาว่าจะร่วมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในประเทศของตัวเอง และหากรัฐไทยต้องการเป็นส่วนหนึ่งของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ รัฐไทยจะต้องเคารพ ค้มครอง สิทธิมนุษยชนในประเทศของตนเองตามที่ได้ประกาศไว้
“เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ HRC ว่าประเทศไทยจะลงสมัครสมาชิก HRC ระหว่างปี 2568-2570 และรัฐไทยยังย้ำและให้พันธสัญญาต่อประชาคมโลกที่จะร่วมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในประเทศของตัวเอง แต่ประกาศนั้นอาจสวนทางกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในปัจจุบัน หากรัฐบาลไทยต้องการเข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกของ HRC ในปี 2568 รัฐบาลไทยควรเตรียมความพร้อมต่อหน้าที่และความรับผิดชอบ ในฐานะสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ซึ่งจะถูกจับตามองจากนานาชาติ ด้วยการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริม รวมไปถึงการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกกฎหมายที่จำกัดสิทธิของผู้ที่ออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ และควรตระหนักว่าสิทธิในการประกันตัวคือสิทธิมนุษยชน”
ดังนั้น ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงมีข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทย ดังต่อไปนี้
1. ปล่อยตัวอานนท์ นำภา นักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข รวมทั้งให้ยกเลิกคำตัดสินว่ามีความผิดและการดำเนินคดีใดๆ ต่อเขาและบุคคลอื่นๆ รวมทั้งเด็ก ซึ่งถูกดำเนินคดีเพียงเพราะการใช้สิทธิมนุษยชนของตน
2. ระหว่างที่ยังไม่ยกเลิกคำตัดสินว่ามีความผิดและการดำเนินคดี ต้องอนุญาตให้อานนท์ นำภาและนักกิจกรรมคนอื่นมีสิทธิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และประกันว่าเงื่อนไขการประกันตัวจะไม่เป็นการจำกัดโดยพลการต่อการใช้สิทธิของตนโดยสงบ
3. แก้ไข เพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายที่ถูกใช้เพื่อจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ เพื่อประกันว่าประเทศไทยจะปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของตน
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ