Thai-PAN ตรวจพบยาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อหมู 5 แหล่งทั่วประเทศ นักวิชาการชี้เสี่ยงภาวะดื้อยาและภูมิแพ้ต่อประชาชนได้

กองบรรณาธิการ TCIJ 6 มิ.ย. 2567 | อ่านแล้ว 3449 ครั้ง

Thai-PAN ตรวจพบยาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อหมู 5 แหล่งทั่วประเทศ นักวิชาการชี้เสี่ยงภาวะดื้อยาและภูมิแพ้ต่อประชาชนได้

เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) และภาคีเครือข่ายผู้บริโภค แถลงผลตรวจพบยาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อหมู 5 แหล่งทั่วประเทศ นักวิชาการชี้เสี่ยงภาวะดื้อยาและภูมิแพ้ต่อประชาชนได้

เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ค. 2567 เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) และภาคีเครือข่ายผู้บริโภค จัดงานแถลงข่าวยาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อหมู นำโดย ปรกชล อู๋ทรัพย์ Thai-PAN ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ทัศนีย์ แน่นอุดร นิตยสารฉลาดซื้อ และ ภก.ภาณุโชติ ทองยัง ประธานอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งดำเนินรายการ โดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ดำเนินรายการ เช้าทันโลก FM 96.5

พบยาปฏิชีวนะเกินมาตรฐานในเนื้อหมู 5 แหล่งจำหน่ายชื่อดัง ชี้เสี่ยงกระทบสุขภาพผู้บริโภค

“จากการสุ่มตัวอย่าง 30 ตัวอย่าง ในการหายาปฏิชีวนะ 4 กลุ่ม พบยาปฏิชีวนะ Florfenicol เป็นยาที่ไม่อนุญาตให้ใช้ในคน แต่อนุญาตให้ใช้ในสัตว์ 16.7 % พบว่ามีสารดังกล่าวตกค้าง ซึ่งเป็นสารที่กฎหมายไม่อนุญาตให้มีการตกค้างตามประกาศฉบับที่ 303 ของกระทรวงสาธารณสุข ถือได้ว่าเป็นเนื้อสัตว์ที่ไม่เหมาะสมเป็นอาหารตามประกาศของกรมปศุสัตว์ ปี 2559”

ปรกชล ได้นำเสนอผลการตรวจวิเคราะห์เพื่อเฝ้าระวังยาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อหมู โดยให้รายละเอียดจากการตรวจเนื้อหมูจำนวน 30 ตัวอย่าง ใน 22 จังหวัด ซึ่งเก็บตัวอย่างระหว่างวันที่ 15-25 เมษายน 2567 มาจาก 3 แหล่ง ได้แก่ ตลาด โมเดิร์นเทรด และฟาร์มช็อป ผลการเฝ้าระวังยาปฏิชีวนะพบว่า มี 4 กลุ่มตกค้างจาก 5 แหล่งจำหน่าย ได้แก่ 1.ร้านค้าห้องแถว สาขากาดเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ 2.ตลาดนครปฐม จ.นครปฐม 3.Lotus’s ศาลายา จ.นครปฐม 4.ตลาดริมทางรถไฟ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ 5.Farmesh จ.นครศรีธรรมราช พบว่ามีสาร Florfenicol ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะที่ไม่ควรมีการตกค้างในเนื้อสัตว์และเข้าข่ายเป็นอาหารผิดมาตรฐาน ตาม พ.ร.บ.อาหาร 2522 และไม่เหมาะสมที่จะใช้ในการประกอบอาหารตามประกาศของกรมปศุสัตว์ ปี 2559
 
เมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา Thai-PAN ได้มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมปศุสัตว์ สำนักคณะกรรมการอาหารและยา และ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อหารือเรื่องของผลและการแปลผล จนถึงแนวทางในการจัดการในประเด็นดังกล่าว ในที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่าตัวยา Florfenicol ต้องไม่พบตกค้างในเนื้อสัตว์ตามข้อกฎหมายกำหนด และมีข้อสรุปและข้อเรียกร้องของ Thai-PAN ดังนี้

1. ผลสรุป เนื้อหมูทั้ง 5 ตัวอย่างที่ผิดมาตรฐาน และผิดกฎหมาย ต้องมีการดำเนินการโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ ต้องการตรวจสอบย้อนกลับและแถลงต่อสาธารณชน
 
2. ข้อเรียกร้องต่อผู้จำหน่ายเนื้อหมูขนาดใหญ่ทั้ง 5 แหล่งที่ตรวจพบยาปฏิชีวนะเกินมาตรฐานในเนื้อหมูแถลงต่อสาธารณชนถึงผลดังกล่าว
 
3. ข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการในการสร้างความเข้าใจและความรู้ต่อสังคมเรื่องยาปฏิชีวนะในเนื้อสัตว์ โดยชี้ให้เห็นประเภทของยา ข้อดี ข้อเสีย นอกจากนี้ควรดำเนินการดังกล่าวเพื่อบรรลุเป้าแผน MR ในระดับชาติ ฉบับที่ 2 ซึ่งพูดถึงการลดการใช้ยาปฏิชีวนะในเนื้อสัตว์ลง 50% เมื่อเทียบกับปี 2564 ให้ได้
 
4. ข้อเสนอให้มีมาตรการเฝ้าระวัง มีกลไกแจ้งเตือนภัยอย่างเร่งด่วน โดยให้ผู้บริโภคสามารถดำเนินการอย่างมีส่วนร่วม

นักวิชาการกังวลสารตกค้างในเนื้อหมูส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค “แพ้ยา-ดื้อยา” ต่อร่างกาย

“สารตกค้าง Florfenicol นั้น เป็นยาปฏิชีวนะที่เป็นอันตรายต่อคนทำให้เกิดการแพ้ได้ ซึ่งมีการห้ามใช้ในหมู เพราะเมื่อมีการตกค้างในเนื้อหมู และประชาชนบริโภคสามารถก่อให้เกิดการแพ้ได้ การใช้ antibiotic มีผลกระทบหลัก 2 เรื่อง คือ 1.การดื้อยา 2.การแพ้ยา ซึ่งทั้ง 2 สิ่งนี้ไม่ต้องมีปริมาณสูงก็เกิดภาวะดังกล่าวได้ ”ผศ.ภญ.ดร.นิยดา กล่าว

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่ายาปฏิชีวนะนั้นมีข้อควรระวังในการใช้ หากไม่ระมัดระวังจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ก่อให้เกิดเชื้อดื้อยา และสามารถส่งผลต่อระบบนิเวศน์ในสิ่งแวดล้อมได้ด้วย ข้อคำนึงของการใช้ยานั้น แม้จะมีความเชื่อว่ายาสามารถช่วยรักษาโรคได้ แต่ปัญหาสำคัญของการใช้ยาคือการปรับตัวของเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นการใช้ยาปฏิชีวนะโดยขาดความรู้ ความเข้าใจ และข้อระมัดระวัง จะนำไปสู่การที่เชื้อแบคทีเรียจะต่อสู้และมีภูมิต้านยากว่าเดิม และสามารถดื้อยาได้เร็วมาก โดยเฉพาะเชื้อไวรัสที่มีการปรับตัวเร็วที่สุด ยาที่พบตกค้าง Florfenicol มีอยู่ตัวเดียวก็จริง แต่ต้องคำนึงด้วยว่า การตรวจไม่พบ(ยาปฏิชีวนะตัวอื่น) ไม่ได้แปลว่าไม่ได้ใช้ ฉะนั้น ผลดังกล่าวจึงเป็นเพียงการไม่พบสารตกค้างด้วยเครื่องมือที่มีอยู่

สิ่งสำคัญในการการตรวจสอบนั้นจำเป็นต้องตอบคำถาม 3 อย่าง ได้แก่ 1.มียาปฏิชีวนะ(antibiotic) ตกค้างหรือไม่? 2.มีเชื้อดื้อยาเกิดขึ้นหรือไม่? และ 3.มีสารดื้อยาพันธุกรรมเกิดขึ้นไหม? ในส่วนของการตรวจพบสารตกค้าง Florfenicol นั้น เป็นยาปฏิชีวนะที่เป็นอันตรายต่อคนทำให้เกิดการแพ้ได้ ซึ่งมีการห้ามใช้ในหมู เพราะเมื่อมีการตกค้างในเนื้อหมู และประชาชนบริโภคสามารถก่อให้เกิดการแพ้ได้ แม้จะไม่ได้เกิดกับทุกคนแต่มีจำนวน % ก็มีเยอะ ซึ่งการใช้ antibiotic มีผลกระทบหลัก 2 เรื่อง คือ 1.การดื้อยา 2.การแพ้ยา ภาวะดื้อยาก่อให้เกิดโรคติดต่อได้ สามารถแพร่เชื้อได้ ทั้งคนไปสู่สัตว์ และสัตว์สู่คน เพราะฉะนั้น ประเด็นการดื้อยาจึงถูกให้ความสำคัญในระดับนานาชาติ และถือเป็นวาระหนึ่งขององค์การอนามัยโลก เพราะโรคระบาดหรือเชื้อเหล่านี้มองไม่เห็นแต่มีอยู่จริง และส่งผลกระทบจริงและรุนแรงในประวัติศาสตร์

ภาครัฐควรเร่งตรวจสอบต่อแหล่งที่มาเนื้อสัตว์ ผู้ประกอบการต้องมีส่วนร่วมในการแจ้งแหล่งผลิตที่ไม่มีความปลอดภัย

“หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องเริ่มดำเนินการตรวจสอบ ผู้บริโภคกินเข้าไปทุกวัน เราเสียเงินแทนที่จะได้ของที่ปลอดภัย แต่ดันตั้งคำถามว่าหมูที่กินนั้นเสี่ยงรึเปล่า?” ภาณุโชติ
ภก.ภาณุโชติ ทองยัง ประธานอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค ให้ความเห็นต่อผลตรวจของ THAI-PAN และเครือข่ายการทำงานนั้น คือ ภาพสะท้อนระบบอาหารในประเทศไทย ด้าน food safety ซึ่งสิ่งนี้ไม่ใช่การตำหนิภาครัฐ แต่เป็นภาพสะท้อนและหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ยืนยันว่าการดำเนินการเรื่องดังกล่าวของภาครัฐยังไม่เพียงพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคได้ ประเด็นที่สภาองค์กรของผู้บริโภคเรียกร้องให้เกิดขึ้นหลังจากพบยาปฏิชีวนะในเนื้อหมูเกินมาตรฐาน คือ ต้องมี“ระบบเฝ้าระวังเชิงรุกและเตือนภัยเร่งด่วนอย่างมีส่วนร่วม” เพื่อแจ้งเตือนภัยเร่งด่วน (Rapid Alert) สื่อสารสังคม และสนับสนุนผู้ประกอบการคุณภาพ หน่วยงานภาครัฐควรมีคณะกรรมการต้องให้เครือข่ายผู้บริโภคตัวจริงเข้าไปมีสิทธิในการมีส่วนร่วม มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกัน ผู้ประกอบการต้องมีการพัฒนาระบบและสามารถมีการดำเนินการแจ้งตรงต่อภาครัฐเมื่อพบผู้ผลิตที่ทำเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้สื่อมวลชน ผู้บริโภคต้องติดตามให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดอาหารปลอดภัย

ทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายเผยแพร่ และบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า นิตยสารฉลาดซื้อได้ติดตามการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะในอาหารมาเป็นระยะเวลาหลายปี โดยทำงานร่วมกับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจใหมีการปฏิเสธการสนับสนุนผู้จัดหา (Supplier) ที่เป็นแหล่งจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย ในฐานะของฝ่ายผู้บริโภคพบว่า การทำงานเรื่องนี้จำเป็นต้องเร่งด่วน เพราะปัจจุบันผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ในตลาดทั่วไปที่ระบุว่าปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะ หรือ antibiotic มีราคาสูง กว่า 2-3 เท่ากว่าราคาเนื้อสัตว์ปกติ ซึ่งในทางกลับกันนั้นเนื้อสัตว์ในท้องตลาดทั่วไปผู้ซื้อก็ไม่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้ว่าเนื้อเหล่านี้มาจากที่ใด แหล่งใด แม้จะเป็นโมเดิร์นเทรด ห้างสรรพสินค้าที่ได้มาตรฐาน ก็ระบุเพียง น้ำหนัก ราคา และวันหมดอายุ สิ่งนี้สะท้อนว่าผู้บริโภคไม่สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งผลิตอาหารได้เอง
 
“ผู้บริโภคทุกคนควรได้พูดถึงความต้องการที่จะไม่เอาเนื้อสัตว์หรืออาหารที่ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ ประกาศเจตนารยม์ และขณะเดียวกันต้องสนับสนุนให้ influencer ที่มีอิทธิพลต่อคนในสังคมที่ควรรีวิวนอกจาก รสชาติ ราคา แต่ควรสอบถามถึงแหล่งอาหารที่เชื่อถือหรือวางใจได้แทนผู้บริโภคด้วย นอกจากเรื่องความอร่อยแต่ควรคำนึงเรื่องความปลอดภัยด้วย” ทัศนีย์ กล่าว

ข้อเสนอแนะของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มี 4 ข้อ ได้แก่ 1. ผู้บริโภคต้องมีส่วนในการเรียกร้องที่จะไม่รับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนเพื่อให้เกิดการตรวจสอบแหล่งที่มี รวมถึงคนที่ทำงานเกี่ยวกับอาหารสื่อสารสังคมต้องตั้งคำถามเรื่องความปลอดภัยของอาหารด้วย 2.ผู้ประกอบการ ซึ่งตลาดอาหารนั้นมีขนาดที่ใหญ่มากเกือบ 5 แสนล้านบาท แบรนด์อาหารดังๆ ควรสร้างมาตรฐานและความเชื่อมั่นเรื่องอาหารปลอดภัยไร้การปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ ควรแสดงจุดยืนที่ชัดเจน “ไม่รับซื้อเนื้อสัตว์ที่มีการตกค้างของยาปฏิชีวนะ” เพื่อแสดงความจริงใจต่อการเลือกสรรวัตถุดิบที่ปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค อีกทั้งยังจะเป็นผลดีต่อการลดปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะในกระบวนการเลี้ยงสัตว์ 3.ผู้จัดหาและให้บริการเนื้อสัตว์ ทั้งซูเปอร์มาร์เก็ตและตลาดสดที่มีศักยภาพสูง ควรคำนึงถึงความปลอดภัยของเนื้อสัตว์ที่นำมาจำหน่าย ด้วยการจัดทำมาตรฐานและแนวปฏิบัติเพื่อการตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้า รวมไปถึงส่วนประกอบของสินค้าหรือระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) และกำกับให้ซัพพลายเออร์ต้องแสดงหลักฐานว่าสินค้าปลอดการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะ เพื่อยุติการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสมในฟาร์ม และ 4.ภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรได้ทำการเฝ้าระวังตรวจการตกค้างของยาปฏิชีวนะในฟาร์ม โรงเชือด ร้านค้าและแจ้งผลการเฝ้าระวังให้ประชาชนทราบอย่างสม่ำเสมอ ผ่านระบบฐานข้อมูลที่เข้าถึงง่าย รวมทั้งเปิดรับข้อมูลจากผู้ใช้งานที่ต้องการแจ้งเบาะแสเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสมในฟาร์ม
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: