ไทยพร้อมแค่ไหนกับเก้าอี้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

กองบรรณาธิการ TCIJ 6 มี.ค. 2567 | อ่านแล้ว 4815 ครั้ง

มองสถานการณ์แรงงานและประชากรข้ามชาติ ไทยพร้อมแค่ไหนกับเก้าอี้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เสวนา “ไทยกับเก้าอี้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ มุมมองจากสถานการณ์การคุ้มครองแรงงานและประชากรข้ามชาติ” ซึ่งจัดโดยเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ, มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา, Solidarity Center, มูลนิธิด้านความยุติธรรมและสิ่งแวดล้อม และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้มีการวิเคราะห์ถึงความพร้อมของรัฐบาลไทย และยื่นข้อเสนอในประเด็นสิทธิมนุษยชน เพื่อให้รัฐบาลได้นำไปพิจารณาต่อ

เมื่อช่วงเดือน ก.ย. 2566 กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ นำโดยนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ประกาศว่า รัฐบาลไทยจะสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ HRC วาระปี 2025 - 2027 ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในเดือนตุลาคม ปีนี้ นับเป็นอีกครั้งที่รัฐบาลไทยแสดงเจตจำนงในเรื่องนี้ เพราะในปี 2565 กระทรวงการต่างประเทศเคยส่งหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เสนอเรื่องการสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นก็มีมติรับทราบ

แต่ขณะที่รัฐบาลกำลังมุ่งมั่นต่อภารกิจนี้ สิ่งที่ปรากฏอยู่ในหน้าสื่อบ่อยครั้ง คือปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่แทบไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างถูกจุด นับตั้งแต่การจับกุมคุมขังผู้เห็นต่างทางการเมือง สิทธิแรงงาน ไปจนถึงประเด็นเรื่องผู้ลี้ภัย ที่หลายคนถูกส่งกลับไปเผชิญอันตรายในประเทศต้นทาง ขณะเดียวกัน ผู้ลี้ภัยไทยเองก็ยังถูกอุ้มหายขณะลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อความคาดหวังกับความเป็นจริงสวนทางกัน ที่จริงแล้ว ไทยพร้อมแค่ไหนที่จะเข้าชิงเก้าอี้สมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ?

ในงานเสวนา “ไทยกับเก้าอี้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ มุมมองจากสถานการณ์การคุ้มครองแรงงานและประชากรข้ามชาติ” ซึ่งจัดโดยเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ, มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา, Solidarity Center, มูลนิธิด้านความยุติธรรมและสิ่งแวดล้อม และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้มีการวิเคราะห์ถึงความพร้อมของรัฐบาลไทย และยื่นข้อเสนอในประเด็นสิทธิมนุษยชน เพื่อให้รัฐบาลได้นำไปพิจารณาต่อ

ภาพรวมสถานการณ์สิทธิผู้ลี้ภัย คนไร้รัฐ แรงงาน และแรงงานข้ามชาติ

ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ ได้กล่าวปาฐกถาถึงภาพรวมสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทย ผ่านกลุ่มแรงงานและประชากรข้ามชาติ ทั้งหมด 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ลี้ภัย คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ แรงงาน และแรงงานข้ามชาติ โดยพิจารณาจาก 3 ประเด็น ได้แก่ กฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติในไทย และข้อท้าทายและลู่ทางสู่อนาคต

ผู้ลี้ภัย

สำหรับผู้ลี้ภัย ซึ่งหมายถึงผู้ที่หลบหนีภัยในการประหัตประหาร และ/หรือภัยสงครามเข้ามาในประเทศไทยนั้น  ศ.กิตติคุณ วิทิต กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาผู้ลี้ภัย แต่เป็นภาคีอนุสัญญาสิทธิมนุษยชน 7 ฉบับ จาก 9 ฉบับ ซึ่งใช้คุ้มครองผู้อพยพลี้ภัยได้บ้าง เช่น มาตรา 13 ของอนุสัญญากติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ห้ามส่งคนต่างด้าวออกจากประเทศแบบพลการ รวมถึงผู้อพยพลี้ภัยด้วย รวมถึงได้เข้าร่วมการประชุมนานาชาติ และให้คำมั่นสัญญา 8 คำมั่นสัญญา เช่น จะพยายามพัฒนากระบวนการในการกลั่นกรองผู้อพยพลี้ภัย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิของผู้ลี้ภัยมากที่สุดด คือการใช้กฎหมายคนเข้าเมืองกับผู้ลี้ภัย ซึ่ง ศ.กิตติคุณ วิทิต อธิบายว่า โดยทั่วไป กฎหมายคนเข้าเมืองจะสันนิษฐานว่ากลุ่มคนที่เข้ามานั้นได้รับการปกป้องจากรัฐเดิม แต่ไม่ได้ครอบคลุมถึงกลุ่มผู้ลี้ภัย ที่รัฐเดิมไม่ได้ปกป้อง และยังหนีภัยมา เพราะฉะนั้น จึงไม่น่าใช้กฎหมายคนเข้าเมืองกับกลุ่มผู้อพยพลี้ภัย

นอกจากนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมี พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งมาตรา 13 ระบุว่า 13 ห้ามส่งกลับใครก็ตามสู่ภัยอันตรายที่อาจจะเป็นภัยต่อชีวิต โดยต้องบังคับใช้กฎหมายนี้ให้มากยิ่งขึ้น

สำหรับข้อท้าทายและแนวทางในอนาคตในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัย แบ่งดังนี้

  • กลุ่มชาวเมียนมาที่มีอยู่เดิม  90,000 คน ในค่ายผู้อพยพ ควรส่งเสริมให้เรียนอย่างต่อเนื่องมากขึ้น รับรองเอกสารในการจบการศึกษา และเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้ได้ทำงาน เพื่อลดการคอร์รัปชัน และได้แรงงานที่มีคุณภาพกลับสู่ประเทศไทย
  • กลุ่มชาวเมียนมาที่เข้ามาใหม่ เนื่องจากการรัฐประหารในเมียนมา ศ.กิตติคุณ วิทิต เสนอว่า ควรให้เข้ามาอยู่แบบชั่วคราว ไม่ส่งกลับประเทศต้นทาน และเคารพสิทธิพื้นฐาน เช่น อาหารการกิน น้ำ การศึกษา เป็นต้น
  • กลุ่มชาวกัมพูชา ควรให้เข้ามาอยู่ชั่วคราว ไม่ผลักดันกลับประเทศ และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพพื้นฐาน เนื่องจากมีรายงานว่า ชาวกัมพูชาที่ถูกผลักดันกลับประเทศนั้นต้องโทษจำคุก ซึ่งหมายความว่าเป็นการผลักดันไปสู่อันตราย
  • ผู้ลี้ภัยในเขตเมือง หรือ Urban Refugees มีหลายสัญชาติ สามารถอยู่ได้ชั่วคราวในทางปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รัฐบาลมีกระบวนการกลั่นกรองผู้ลี้ภัย ซึ่งควรมีการบังคับใช้

กลุ่มคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ

ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีในสนธิสัญญาข้อตกลงเกี่ยวกับคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ 1954 กับ 1961 แต่เป็นภาคีอนุสัญญา 7 ฉบับ จาก 9 ซึ่งช่วยได้บ้าง เช่น ในเรื่องการศึกษา ซึ่งไม่เลือกปฏิบัติในหลักการและในเรื่องจดทะเบียนเกิดด้วย

สำหรับแนวทางในอนาคต ศ.กิตติคุณ วิทิต มีข้อเสนอดังนี้

  • ให้สัญชาติไทยกับเด็กที่เกิดในไทย แต่ไม่มีสัญชาติ
  • สำหรับผู้ที่ไม่ได้เกิดในไทย ให้สถานะอยู่อาศัย (Residency) ซึ่งอาจเปิดโอกาสให้ทำงานได้ และไม่ควรใช้กฎหมายคนเข้าเมืองกับคนกลุ่มนี้
  • กลุ่มชาติพันธุ์จะต้องได้สัญชาติไทย

แรงงาน

ในประเด็นเรื่องแรงงาน ไทยเป็นภาคีอนุสัญญาแรงงานเกือบ 20 ฉบับ จาก 190 ฉบับ ขององค์การแรงงานสากล รวมทั้งเป็นภาคีอนุสัญญาในประเด็นพื้นฐาน เช่น การห้ามแรงงานเกณฑ์ ความเท่าเทียมในการจ่ายค่าตอบแทน การห้ามเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน การปกป้องคุ้มครองแรงงานเด็ก และการยุติการนำเด็กไปเป็นเหยื่อแรงงาน และส่วนที่ไม่ได้เป็นภาคี คือประเด็นเรื่องเสรีภาพในการสมามคม การตั้งสหภาพแรงงาน และสิทธิในการร่วมเจรจา หรือที่เรียกว่า สนธิสัญญา 87 และ 98

สำหรับข้อเสนอในอนาคต ศ.กิตติคุณ วิทิต กล่าวว่า การปกป้องคุ้มครองด้านสิทธิแรงงาน ควรครอบคลุมไปถึงแรงงานในกลุ่ม informal economy หรือคนที่อยู่นอกกรอบของการคุ้มครอง ไม่ว่าจะเป็นแรงงานภาคเกษตร และแรงงานแพลตฟอร์ม ซึ่งควรจะมีสิทธิบางอย่าง เช่น ค่าแรงหรือวันหยุด รวมถึงอภิสิทธิ์ในการรวมกลุ่ม

แรงงานข้ามชาติ

สำหรับแรงงานข้ามชาตินั้น ไทยไม่ได้เป็นภาคีในสนธิสัญญาใดๆ ของสหประชาชาติ รวมทั้งไม่ได้เป็นภาคีในสนธิสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) อย่างไรก็ตาม ได้มีการทำ MOU กับประเทศข้างเคียง ที่จะกำหนดลักษณะการเข้าออกของแรงงานอพยพจากประเทศข้างเคียงทั้งหลาย ซึ่งประเด็นนี้ ศ.กิตติคุณ วิทิต กล่าวว่า จำเป็นต้องมีการอำนวยความสะดวกให้กระบวนการต่างๆ ลื่นไหลมากขึ้น ดังนี้

  • ลดข้อกฎหมายและค่าธรรมเนียม เนื่องจากระบบราชการทำให้ขั้นตอนต่างๆ เป็นไปอย่างล่าช้า
  • ไม่ว่าจะเป็นแรงงานที่ได้รับการอนุมัติให้เข้าทำงาน หรือไม่ได้รับอนุมัติให้เข้ามาทำงานในประเทศ ต้องได้รับการคุ้มครองปกป้องจากการเอารัดเอาเปรียบ ควรแยกแยะระหว่างการเข้าเมืองโดยผิดหรือถูกกฎหมาย กับสิทธิขั้นพื้นฐาน
  • อำนวยความสะดวกให้ MOU คล่องมากขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่ตลาดของไทยก็ต้องการแรงงานมาก

กล่าวโดยสรุป ความเชื่อมโยงของคนทั้ง 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้อพยพลี้ภัย คนไร้สัญชาติ แรงงาน และแรงงานข้ามชาติ มีดังนี้

1. มาตรฐานสากล โดยเฉพาะสนธิสัญญาสากลที่สำคัญ และคำมั่นสัญญาที่เราจะให้ก็คือการเป็นภาคีมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมันจะได้ชัดขึ้นในเรื่องมาตรฐาน มีลักษณะปรวิสัยที่เอื้อต่อประเทศไทย และจับตาดูเรื่องความโปร่งใส      

2. การบังคับใช้กฎหมายและมีกฎหมายนโยบายที่ดี รวมถึงกฎหมายอาญาต่างๆ ที่ใช้แก่แรงงานและกฎหมายคนเข้าเมือง

3. การร่วมมือกันระหว่างกระทรวงทั้งหลาย

4. การมีส่วนร่วมของ NGO และฝ่ายอื่นๆ ในเรื่องของการตรวจตราและเรียกร้อง

5. การมีส่วนร่วมของกลุ่มอื่นๆ ตั้งแต่ผู้อพยพลี้ภัย คนไร้สัญชาติไร้รัฐ แรงงาน และแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากเราต้องพยายามให้เห็นชัดเจนที่สุดว่าเขาเป็นผู้ที่มีสิทธิ์ที่จะมีความสุขได้ ไม่ใช่เป็นแต่วัตถุในการมองของบางฝ่ายในรัฐ ซึ่งอาจจะถูกเอารัดเอาเปรียบ และประทุษร้าย

สถานการณ์และข้อท้าทายของแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทย

สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้จัดการโครงการมูลนิธิเพื่อสิทธิแรงงาน กล่าวถึงสถานการณ์ในปัจจุบันของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยว่า สถานการณ์การเมืองส่งผลให้แรงงานอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการเข้ามาตามเส้นทางธรรมชาติ และกลายเป็นผู้หลบหนีเข้าเมือง ต้องถูกกักตัวอยู่ใน ตม. และถูกส่งกลับประเทศ หลังจากลงโทษครบ 48 วัน พร้อมติดแบล็กลิสต์ห้ามเข้าประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มคนที่ถูกหลอกมาทาง MOU โดยมาเกินโควตา เช่น โควตากำหนดให้เข้ามา 70 คน แต่มีการนำเข้าแรงงานจริงกว่าร้อยคน ทำให้คนที่เหลือไม่มีงานทำ และหลายคนตกเป็นเหยื่อของนายหน้า ขณะเดียวกัน จำนวนนายหน้าเองก็มีมากขึ้น ทำให้คนงานต้องเสียเงินจำนวนมาก

ท่ามกลางแรงงานที่หลั่งไหลเข้ามาตามชายแดน อันเนื่องมาจากความรุนแรงทางการเมืองในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเมียนมา รัฐไทยกลับมองข้ามเรื่องสิทธิมนุษยชนของคนเหล่านี้ และบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยมองว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นพวกเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเท่านั้น

“จิตใจของรัฐยังไร้มนุษยธรรมในการที่จะปกป้องและดูแลคน” สุธาสินี กล่าว

สำหรับแรงงานในประเทศ ยังคงประสบปัญหาค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม โดยสุธาสินีกล่าวว่า แม้จะมีค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ทุกวันนี้ก็ยังคนมีค่าจ้างที่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ ขณะเดียวกัน รัฐก็ไม่ได้ใส่ใจที่จะตรวจสอบ

“เป็นไปได้อย่างไร นายจ้างจ่ายค่าจ้าง 3 วันต่อครั้ง ได้ร้อยกว่าบาท แล้วคนงานจะอยู่ได้อย่างไร เรามองดูแล้ว มันแย่มาก เรามองว่ารัฐไม่ได้ใส่ใจที่จะตรวจสอบ ให้คนงานมาแล้วจะเข้าสู่ระบบกฎหมายได้อย่างไร ไม่ได้แยกแยะว่า บางคนทำงานแล้ว พอตีตราว่าเขาเป็นคนผิด ก็คือให้เขาผิดหมดเลย ไม่ได้อะไรเลย ด้านสุขภาพอะไรก็เข้าไม่ถึงอยู่แล้ว”สุธาสินี อธิบาย

ด้วยเหตุนี้ เมื่อให้สุธาสินีทดลองประเมินให้คะแนนรัฐบาลไทย ในการเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ สุธาสินีระบุว่า “ไม่ให้คะแนน” เนื่องจากการปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะเรื่องการจำกัดสิทธิการรวมตัว สิทธิการเจรจาต่อรอง ที่แรงงานข้ามชาติทำไม่ได้

“ถ้าคุณไปอยู่ในระดับสากล ในคณะมนตรี คุณยิ่งไปนั่งประเมินร่วมกับคณะนานาชาติอีก บ้านคุณคุณก็ยังไม่ดูแลให้มันดีเลย แล้วคุณจะไปดูแลระดับปฏิญญาสากลได้อย่างไร” สุธาสินี กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลไทยได้มีโอกาสเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ สุธาสินีชี้ว่า ควรแก้ไขจุดอ่อนเรื่องต่างๆ ที่รัฐบาลยังไม่เคยทำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักของสากล สิทธิการรวมกลุ่มของแรงงาน รับรองอนุสัญญา ILO 87 และ 98 เนื่องจากไม่ว่าจะคนงานไทยหรือคนงานต่างประเทศ ก็ยังมีความยากลำบากในการตั้งสหภาพแรงงาน ยังมีการคุกคาม ยังมีการถูกเลิกจ้าง

นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เช่น กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ และกฎหมายคุ้มครองอื่นๆ รวมทั้งขยายขอบเขตของกฎหมายให้คุ้มครองไปถึงแรงงานประมง แรงงานเกษตร เป็นต้น

“ถ้าคุณอยากเป็น คุณต้องเคารพหลักสิทธิของความเป็นคนเล็กๆ น้อยๆ อย่างในกรณีของไทยไปอิสราเอลก็เหมือนกัน มีประเทศอีกเป็นร้อยกว่าประเทศ แต่ในขณะที่มีสงครามขึ้นในอิสราเอล ก็ยังจะส่งคนงานไทยกลับไปอีก บอกว่าให้เลือกไปในพื้นที่สีเขียว แล้วทั้งๆ ที่เวลาเราตั้งคำถามว่า คุณรู้ไหมว่าพื้นที่สีส้ม สีเขียว สีแดง อยู่ในโซนไหนของอิสราเอล ไม่รู้ คนที่ไปนอกเหนือจาก MOU คุณรู้ไหมว่ามีจำนวนเท่าไร ไม่รู้ ชาวบ้านร้องห่มร้องไห้ ไม่รู้ว่าลูกตายแล้วหรือถูกจับเป็นตัวประกัน รัฐบาลยังยืนแถลงข่าวบอกว่ายังไม่มีจำนวนตัวเลขคนตาย ซึ่งรัฐเอง ถ้าอยากผ่าน ต้องมองถึงความทุกข์ยากของคนงาน คนเล็กคนน้อย”สุธาสินี กล่าว

แรงงานไทยในมุมมองของนานาชาติ

ด้าน เดวิด เวลช์ ผู้อำนวยการโซริดาริตี้เซ็นเตอร์ ประเทศไทย ได้ให้ภาพรวมเกี่ยวกับประเด็นที่ส่งผลกระทบกับการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานไทย โดยเฉพาะแรงงานไทย รวมทั้งในมุมมองของนานาชาติ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ แรงงานเกณฑ์ และอื่นๆ ในมุมมองของเวลช์ แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ในประเทศไทย เป็นแรงงานนอกระบบ และมักจะถูกปฏิเสธเสรีภาพในการรวมตัว ซึ่งปัจจัยหลักที่ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพนี้ ไม่ได้มาจากบริษัทเท่านั้น แต่รวมถึงกระบวนการการผลิตทั้งหมด 

“นั่นหมายความว่า ความท้าทายที่พวกเขาต้องเผชิญนั้น เกี่ยวข้องกับระบบโครงสร้างในประเทศนี้”

“ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา เราได้พบกับหลายภาคส่วน ทั้งภาคประชาสังคมด้านสหภาพแรงงาน หลายคนเป็นตัวแทนชุมชนที่มารวมตัวกันเพื่อให้มั่นใจว่ารัฐบาลไทยจะไม่จำคุกผู้นำการเคลื่อนไหวเพื่อก่อตั้งสหภาพแรงงาน ผู้นำอาวุโสของการเคลื่อนไหวเพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงานถูกรังแกด้วยกฎหมายนานต่อเนื่องกันถึง 13 ปี และต้องโทษจำคุกถึง 4 ปี ไม่ใช่เพราะเรื่องการคอร์รัปชัน แต่เป็นเพราะเขาอยู่ในขบวนการเคลื่อนไหว เท่าที่ผมเห็น ไม่มีที่ใดในโลกที่ทำแบบนี้ และมันส่งสัญญาณที่น่ากลัวให้กับเจ้าหน้าที่ระดับล่างในการจัดทำข้อตกลงของรัฐและอื่นๆ ว่า เราสามารถทำแบบนี้กับคุณได้นะ” เวลช์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังมีสัญญาณในแง่บวกเกี่ยวกับแรงงานไทย กล่าวคือ กรณีของบริษัท Brilliant Alliance ที่ต้องจ่ายเงินเกือบ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับคนงานหญิงไทยกว่า 1,000 คน ซึ่งเวลช์มองว่า กรณีนี้เป็นกรณีสำคัญ เนื่องจากที่ผ่านมา แรงงานเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมผ่านระบบกฎหมายไทย และกฎหมายแรงงานที่มีอยู่ เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการรณรงค์จากนานาชาติ ซึ่งเป็นเรื่องตลกร้าย และสะท้อนให้เห็นความอ่อนแอของโครงสร้างแรงงานสัมพันธ์ ในบริบทของแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ

กฎหมายแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นกลับตรงกันข้าม เนื่องจากเนื้อหาของกฎหมายแรงงานไทยยังคงทำให้การรวมตัวกันเป็นเรื่องยากมาก เพื่อให้สหภาพง่ายต่อการสลายตัว เพื่อปฏิเสธการเป็นสมาชิกของกลุ่มที่ต้องการจัดตั้งสหภาพ เช่น แรงงานรายย่อย แรงงานนอกระบบ

“เมื่อผมพูดถึงแรงงานนอกระบบ ผมกำลังพูดถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาก ที่เต็มไปด้วยแรงงานเชื้อชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชาวอเมริกัน ยุโรป ญี่ปุ่น และอื่นๆ แต่กลับมีสถานะที่เหมือนโจรในประเทศนี้ โดยเฉพาะแรงงานภาคเกษตร นี่เป็นนโยบายที่จงใจวางไว้ และกีดกันกลุ่มที่เปราะบางที่สุดในประเทศนี้ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยหรือแรงงานข้ามชาติ โดยกีดกันออกจากสิทธิในการรวมตัว จากสิทธิในการร่วมกันต่อรองกับนายจ้าง มันเป็นทางเลือกที่ทั้งรัฐบาลไทยและกลุ่มทุนนานาชาติต่างได้เปรียบ”

“เรื่องตลกร้ายก็คือ นี่เป็นบริบทที่มีเพียงกลุ่มเปราะบางเท่านั้น ซึ่งก็คือแรงงานที่ถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างรุนแรงโดยภาคส่วนต่างๆ โดยที่รัฐมีส่วนร่วมกับบริษัทเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทย กัมพูชา เมียนมา และอื่นๆ และเป็นบริบทที่แรงงานไทย หรือเมียนมา หรือกัมพูชา ไม่สามารถตอบโต้บริษัทเหล่านี้ได้เลย เพราะทุกอย่างมาจากการเลือกวางนโยบายอย่างจงใจ” เวลช์ ระบุ

ด้วยเหตุนี้ เวลช์มองว่า ต้องเพิ่มแรงกดดันทั้งการแก้ไขกฎหมายแรงงาน และคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของแรงงาน โดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นแรงงานประเภทใด

“แรงงานทุกคน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยหรือแรงงานข้ามชาติ ไม่ว่าจะอยู่ในภาคส่วนไหน ควรมีสิทธิในการรวมตัวและสิทธิในการร่วมกันต่อรองกับนายจ้าง แรงงานทุกคนควรได้รับการรับผิดชอบ ไม่ใช่เฉพาะจากบริษัทผู้ว่าจ้างเท่านั้น แต่ต้องได้รับการรับผิดชอบดูแลจากสายพานการผลิตทั้งระบบ นี่คือทิศทางที่กฎหมายระหว่างประเทศจะมุ่งไป”

“ประเทศไทยไม่เพียงแต่มีคุณสมบัติพร้อมที่รับบทผู้นำ แต่จะเป็นผู้นำในการรับผิดชอบของสายพานการผลิตทั้งระบบ เป็นผู้นำในการขยายขอบเขตเสรีภาพในการสมาคมและสิทธิแแรงงาน เราเรียกร้องให้รัฐไทยเป็นเช่นนั้น และไม่มีเหตุผลที่จะไม่เป็น เราต้องการสร้างแรงกดดันในอนาคต และตั้งตารอให้รัฐมาเข้าร่วมกับเรา” เวลช์กล่าว

สถานการณ์ปัญหาของผู้โยกย้ายถิ่นฐานและผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย

สำหรับประเด็นสถานการณ์ผู้ลี้ภัย ซึ่งเป็นประเด็นหลักด้านสิทธิมนุษยชน พุทธณี กางกั้น ประธานกรรมการ แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุว่า เห็นด้วยกับการสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เนื่องจากจะเป็นประโยชน์ในการชักชวนให้ภาคประชาสังคมช่วยกันผลักดันและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลไทยในเรื่องสิทธิมนุษยชน

พุทธณี กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีความพยายามอย่างมากที่จะร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ หรือกลไกระหว่างประเทศ เช่น Global Compact on Migration, UPR, การประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชน รวมทั้งให้คำมั่นว่าจะแก้ไขปัญหาเรื่องผู้ลี้ภัย ขณะเดียวกันก็มีการออก National Screening Mechanism คือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการคัดกรองและคุ้มครองผู้ที่มีสถานะผู้ลี้ภัยนั่นเอง ก็ถือว่ามีความพยายามมากในการที่จะแก้ปัญหาในเรื่องผู้ลี้ภัย

สำหรับสิ่งที่รัฐบาลต้องทำ หากต้องการจะเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ก็ได้แก่ การเข้าเป็นภาคีว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย การถอนข้อสงวนข้อที่ 22 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่ยังมีข้อสงวนนี้อยู่ ส่วนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อไทยนั้น พุทธณี มองว่า แค่การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอาจไม่เพียงพอ และให้ข้อเสนอเพิ่มเติม ดังนี้

1. ประเทศไทยต้องพิจารณาว่า ควรที่จะร่วมกับอาเซียน เสนอให้อาเซียนมีมาตรการหยุดค้าขายอาวุธกับเมียนมาหรือไม่ เนื่องจากมีรายงานว่า อาวุธที่ใช้ในการสู้รบในเมียนส่วนใหญ่มาจากประเทศในอาเซียน อันนี้ก็เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ความรุนแรงมันดำรงอยู่

2. รัฐบาลควรจะให้ความสำคัญกับตัวแทนทางการเมืองที่ไม่ใช่ตัวแทนรัฐบาลทหารเมียนมาเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็น NUG รัฐบาลพลัดถิ่น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ที่มีพลังทางการเมืองในเมียนมา

3. รัฐบาลไทยควรที่จะเข้าเป็นภาคีอนุสัญญากรุงโรม เพื่อที่จะเข้าไปมีบทบาทในเรื่องของศาลอาญาระหว่างประเทศ และสามารถส่งประเด็นเรื่องอาชญากรรมกับมวลมนุษยชาติในประเด็นของเมียนมาเข้าไปให้กับอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศพิจารณาได้

4. ประเทศไทยควรจะเชิญผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ ว่าด้วยสถานการณ์เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา เข้ามาในประเทศอย่างเป็นทางการ เพื่อแสดงว่าประเทศไทยสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตย

สถานการณ์การโยกย้ายถิ่นแบบไม่ปกติกับสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ

กัณวีร์ สืบแสง ประธานคณะอนุกรรมาธิการ พิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนต่อสถานการณ์การโยกย้ายถิ่นแบบไม่ปกติ ในฐานะตัวแทนจากฝ่ายการเมือง กล่าวว่า จัดตั้งคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนต่อสถานการณ์การโยกย้ายถิ่นแบบไม่ปกติ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในปีนี้ แต่คณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ต้องการจะเปลี่ยนกรอบกระบวนทัศน์ทางด้านความคิดในเรื่องหลักการทางด้านสิทธิมนุษยชน

คณะอนุกรรมาธิการ พิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนต่อสถานการณ์การโยกย้ายถิ่นแบบไม่ปกติ แบ่งกลุ่มคนที่โยกย้ายถิ่นแบบไม่ปกติเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ลี้ภัย แรงงานข้ามชาติ และกลุ่มคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ซึ่งประเทศไทย โดยเฉพาะฝ่ายนิติบัญญัติ ยังไม่ให้ความสำคัญมากนัก

“เรามีกฎหมายหลายตัวนะครับ ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัย เกี่ยวข้องกับคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ เพียงแต่ว่าเราจับทุกคนมาใส่ตะกร้าเดียวกัน เราไม่มองเหตุผลของการย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติว่าเขามีเหตุผลที่แตกต่างกัน เราก็เลยปรับใช้กฎหมายฉบับเดียวที่คล้ายๆ กับว่าเป็นคัมภีร์ใหญ่ คือ พ.ร.บ. ตรวจคนเข้าเมือง ใครก็ตามที่เข้ามาผิดกฎหมาย เราจับใส่ตะกร้านั้น แล้วเราก็พยายามบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียว โดยที่ไม่มองว่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้ จริงๆ แล้วมันมีนะ คำว่าผู้ลี้ภัย มันมีเกิดขึ้นอยู่ในประเทศไทย มันมีกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เกิดอยู่ในประเทศไทย มันมีกลุ่มคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ที่จำเป็นต้องเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการต่างๆ ขั้นพื้นฐานของการเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับประชาชนที่มีสัญชาติไทย” กัณวีร์ กล่าวถึงสถานการณ์การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการโยกย้ายถิ่นแบบไม่ปกติ

สำหรับประเด็นเรื่องสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาตินั้น กัณวีร์มองว่า ยังมีปัญหาหลายเรื่องที่นำไปสู่ข้อกังขาว่า ไทยจะเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์และโรฮิงญา ที่ถูก “ขังลืม” ในห้องกักของ ตม. เป็นระยะเวลานานนับสิบปี ประเด็นเรื่องนักกิจกรรมทางการเมืองชาวกัมพูชาที่โดนจับ ก่อนที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชาจะเดินทางมาเยือนประเทศไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นการกดปราบข้ามชาติ นักกิจกรรมชาวลาวที่เสียชีวิตในประเทศไทย รวมทั้งกรณีของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมชาวไทยที่ถูกอุ้มหายที่กัมพูชา ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่มีคำตอบ

“สิ่งต่างๆ เหล่านี้แหละที่จะเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทางคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติอาจจะพิจารณาว่าประเทศไทยสมควรหรือไม่ ที่จะเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ” กัณวีร์กล่าว

ส่วนประเด็นเรื่องระเบียงมนุษยธรรม หรือ Humanitarian Corridor ซึ่งเป็นโครงการของรัฐบาลนั้น กัณวีร์มองว่าเป็นเจตนารมณ์ที่ดีของรัฐบาล เพียงแต่ว่า “เจตนารมณ์ที่ดีไม่ได้หมายความว่าปฏิบัติได้อย่างแท้จริง”

“คุณจะต้องเข้าใจก่อนว่าความหมายของมนุษยธรรมคืออะไร คุณต้องเข้าใจก่อนว่าสถานการณ์ในประเทศหรือพื้นที่ที่คุณจะเข้าไปช่วยเหลือ โดยใช้การสนับสนุนด้านมนุษยธรรมนั้น มีความละเอียดอ่อนขนาดไหนบ้าง ในประเทศเมียนมาตอนนี้ บริเวณที่ชายแดนติดกับประเทศไทยมันเป็นพื้นที่ที่ละเอียดอ่อน แล้วก็มันเป็นพื้นที่ที่มีการดูแล การควบคุม แตกต่างกัน 3 ระดับ ระดับที่ควบคุมโดยทหารพม่า ระดับที่ควบคุมโดยกองกำลังชาติพันธ์ุติดอาวุธ ระดับที่เป็น Mixed Control Area เพราะฉะนั้น การที่รัฐบาลบอกว่าจะเปิดพื้นที่มนุษยธรรม แต่ยังไม่เข้าใจว่ามนุษยธรรมคืออะไร แล้วก็ไม่รู้ต้องดีลกับใครบ้าง ตอนที่รัฐบาลไทยตัดสินใจประกาศออกมาว่าจะประสานงานผ่านทางกาชาดพม่า ซึ่งเขาก็ไม่เข้าใจว่ากาชาดพม่าจริงๆ แล้วอยู่ภายใต้การควบคุมของทหารพม่านั่นเอง”

“การจะทำงานมนุษยธรรม เราไม่สามารถเลือกปฏิบัติได้ เราจำเป็นต้องทำงานโดยที่ไม่เอนเอียงและเป็นกลางจริงๆ การที่รัฐบาลไทยบอกว่าเริ่มทำไปก่อน ตอนนี้เขาคุยกับทหารพม่าเป็น G2G ไปก่อน ต่อไปในอนาคตค่อยไปคุยกับกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ นานา ผมว่าผิดจุด แล้วไม่สามารถทำได้จริงๆ จะทำให้เกิดความเอนเอียง ไม่เป็นกลาง และสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ต่อไปในอนาคตจะทำให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมนั้นถูกปิดประตูเต็มที่”

“ตอนนี้รัฐบาลไทยเลือกใช้การประสานงานกับกาชาดพม่าอย่างเดียว ผมว่ามันจะทำให้พื้นที่มนุษยธรรมของท่านจะถูกโค่นล้มไปด้วยความตั้งใจของท่านเอง เพราะฉะนั้น ก็ต้องฝากไว้กับรัฐบาลไทยว่าท่านควรจะพิจารณาให้รอบคอบ ควรใช้คำว่ามนุษยธรรมให้ถูกต้อง” กัณวีร์ อธิบาย

กัณวีร์กล่าวว่า การช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ไม่ใช่เป็นการให้ความช่วยเหลือเพียงเพื่อให้ผ่านไปเท่านั้น แต่จำเป็นต้องมองว่าการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนคืออะไร

“รัฐบาลไทยจำเป็นต้องศึกษาอีกเยอะพอสมควร ในการที่จะเข้าใจความหมายของคำว่ามนุษยธรรม เพราะฉะนั้น เรื่องผู้ลี้ภัยยังห่างไกลจากรัฐบาล ในการที่จะนำมาซึ่งการแก้ไขได้”  

“แต่ในฝ่ายนิติบัญญัติ ในกรรมมาธิการของในสภา ก็มีการตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อจะเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน ตามหลักการมนุษยธรรมและหลักการสิทธิมนุษยชน ก็หวังว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็นข้อเสนอแนะ ให้กับทางรัฐบาล ฝ่ายบริหาร เอาไปปรับใช้ ทั้งการดูแลเรื่องผู้ลี้ภัย ทั้งการดูแลเรื่องเกี่ยวกับระเบียงมนุษยธรรมที่เราพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น” กัณวีร์ กล่าวทิ้งท้าย

นอกจากนี้ เครือข่ายองค์กรด้านแรงงานข้ามชาติและภาคีด้านสิทธิมนุษยชน มีข้อเสนอและข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย ในการพัฒนามาตรการคุ้มครองและปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัย ดังนี้

1. ขอให้รัฐบาลไทยพิจารณารับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัย ได้แก่ ให้การรับรองอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ไม่ควรมีคำว่าการศึกษาอีกแล้วในเรื่องนี้ เพราะว่าไทยศึกษามานานแล้ว

การรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย อนุสัญญาระหว่างประเทศฉบับที่ 87 เรื่องสิทธิเสรีภาพในการสมาคม และคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว อนุสัญญาระหว่างประเทศ ฉบับที่ 98 เรื่องการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง ทั้งนี้จะเป็นหลักประกัน และเป็นกรอบในการพัฒนากฎหมายที่ให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัย

2. ประเทศไทยควรดำเนินการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการแรงงานข้ามชาติ ที่มียุทธศาสตร์ในการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ ซึ่งแผนยุทธศาสตร์นี้เป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของกระทรวงแรงงานในการที่จะออกได้ตามกฎหมายไทย ซึ่งเรามีกฎหมายฉบับนี้มาตั้งแต่ปี 60 6 ปีที่ผ่านมา ไทยไม่เคยทำแผนยุทธศาสตร์ฉบับนี้ ทำให้การคุ้มครองและการรองรับเรื่องการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติไม่เกิด

3. ประเทศไทยควรทบทวนเรื่องการพิจารณากลั่นกรองบุคคลที่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้ เพราะเราพบปัญหาว่า มีผู้ลี้ภัยหลายคน ถ้าเกิดจะเข้าสู่กระบวนการนี้ ต้องรับโทษตามกฎหมายไปก่อน และหลังจากนั้นค่อยประกันตัวออกมา เพื่อเข้าสู่กระบวนการ ซึ่งทำให้เห็นว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำซ้อน รวมถึงควรจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติ เพื่อบริหารจัดการ กำหนดสถานะให้แก่ผู้ลี้ภัยอย่างเป็นระบบ

4. ประเทศไทยควรจัดทำกลไกการคัดกรองก่อนการผลักดันส่งกลับผู้อพยพที่จะมีความเสี่ยงอันตรายต่อชีวิต หรือภัยจากการประหัตประหาร ปัจจุบัน แม้ว่า ตม. เองจะยืนยันว่ามีการคำนึงถึงเรื่องนี้ แต่ว่าเรายังไม่เห็นกลไกที่ชัดเจนในเรื่องนี้ ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีการผลักดันส่งกลับผู้ลี้ภัยหรือผู้อพยพ เพื่อไปสู่อันตรายต่อตนเอง

ทั้งหมดนี้ เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันและความเชื่อมั่นต่อประชาคมโลกว่า ประเทศไทยมีความจริงใจ และยืนยันในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนทุกกลุ่ม เป็นหลักประกันให้แก่แรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ รวมถึงประชาชนไทย ว่าจะได้รับการคุ้มครองและดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชน และเพื่อให้ประเทศไทยได้ยืนอยู่ในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้เต็มภาคภูมิ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: