ภาคธุรกิจกว่า 200 องค์กร รวมพลังวันต่อต้านคอร์รัปชัน 2567 จับมือกัน “ฮั้วไม่โกง” ร่วมกันต่อสู้คอร์รัปชันจนกว่าจะชนะ เปิดมิติใหม่ “ชวนคนไทยต้านโกง” ผ่าน 3 มาตรการ พร้อมชูรางวัล “WHITE BRAND” มอบให้แก่บริษัทที่มีธรรมาภิบาลดีเด่น เพื่อให้ประชาชนร่วมตรวจสอบ ป้องกันการฟอกขาว เพื่อสร้างสังคมที่โปร่งใส สร้างความเชื่อมั่นให้คนรุ่นใหม่ ช่วยให้ภาคธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน
6 ก.ย. 2567 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมกับหน่วยงานของรัฐ และเอกชนกว่า 200 องค์กรร่วมแสดงพลังในงานวันต่อต้านคอร์รัปชัน 2567 เพื่อสร้างการรับรู้ให้คนในสังคมได้เล็งเห็นถึงปัญหาคอร์รัปชัน ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สูญเงินไม่ต่ำกว่าปีละ 300,000 ล้านบาท พร้อมชวนคนไทยทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม สร้างมิติใหม่ ผ่าน 3 มาตรการ ต่อต้านคอร์รัปชันทุกรูปแบบ และส่งเสริมให้ธุรกิจไทยทุกขนาดดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส โดยยึดหลัก ESG อย่างเข้มข้น
นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัจจุบันเป็นที่ประจักษ์ว่า ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันได้บั่นทอนความน่าเชื่อถือของนานาประเทศต่อประเทศไทยถึงขั้นวิกฤติ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งระบบ รวมทั้งคนไทยทุกคน จึงจำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันเร่งฟื้นฟูความน่าเชื่อถือของประเทศอย่างเร่งด่วน และจำเป็นจะต้องช่วยกันเอาชนะคอร์รัปชันให้ได้ เพราะจะส่งผลดีต่อความยั่งยืนของภาคธุรกิจ ความยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจ และความยั่งยืนของสังคมไทย จึงขอเชิญชวนทุกฝ่าย ทุกภาคส่วนมาฮั้วกันต้านโกง ต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ
ทั้งนี้ “ภาคธุรกิจ” ต้องเร่งสร้างความร่วมมือกับคนในห่วงโซ่ได้แก่ องค์กรกำกับ คู่ค้า พนักงาน และลูกค้า รวมทั้งนักลงทุน ร่วมยกระดับธรรมาภิบาล หรือ G-Governance จาก G ที่ไม่ได้รับการใส่ใจ เป็น G ที่ยึดถือและปฏิบัติอย่างเข้มข้น ขณะที่ “ภาคประชาชน” ในฐานะผู้บริโภคสามารถสนับสนุน ส่งเสริม และต่อต้านภาคธุรกิจที่ยอมจำนนต่อการทุจริต มีพฤติกรรมสร้างภาพ หรือฟอกขาว ส่วน “ภาคการเมือง” ทุกพรรค ทุกฝ่าย ต้องร่วมกันผลักดันการจัดการปัญหานี้เป็นวาระเร่งด่วน
โดยก่อนหน้านี้องค์กรฯ เคยเสนอต่อภาครัฐจัดตั้ง “วอร์รูมต่อต้านคอร์รัปชัน” เพื่อจัดการวิกฤตินี้แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ดังนั้น เราต้องไม่รอ ต้องจับมือกันเพื่อเอาชนะคอร์รัปชันให้ได้
จากงานวิจัย พบว่า แต่ละปีคนทำมาหากินนักธุรกิจถึง 1 ใน 3 ที่ติดต่อราชการต้องสูญเสียเงินให้กับการคอร์รัปชันสูงเกือบ 300,000 ล้านบาท เมื่อการคอร์รัปชันไม่เคยหยุด การต่อต้านคอร์รัปชันก็หยุดไม่ได้เช่นกัน องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ขอเชิญชวนทุกภาคส่วน สร้างมิติใหม่ “ชวนคนไทยต้านโกง” ด้วย 3 ความร่วมมือ ดังนี้
1.ร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ตัวเราเอง: ดำเนินธุรกิจที่มีธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง กำหนดให้การไม่ทุจริตคดโกงเป็นนโยบายที่สำคัญ มีบทลงโทษที่ชัดเจน ทำให้การต่อต้านคอร์รัปชันเป็นวัฒนธรรมองค์กรยึดถือตั้งแต่ผู้นำไปจนถึงพนักงาน
2.ร่วมมือกับเครือข่ายและพันธมิตร: ขยายการต่อต้านคอร์รัปชันไปยังคู่ค้า ลูกค้า และพันธมิตรรอบข้าง ให้ครบในทุกห่วงโซ่
3.ร่วมสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่ซื่อตรงโปร่งใส: สนับสนุนและเป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) ที่มีสมาชิกกว่า 1,600 บริษัท ผนึกกำลังให้เป็นเครือข่ายของภาคธุรกิจที่ร่วมมือกันต่อต้านการคอร์รัปชันที่เข้มแข็งในทุกรูปแบบ
เอกชนแข็งขันหยุดคอร์รัปชันเริ่มที่ตัวเอง
สำหรับเวทีเสวนา “หยุดโกงแบบโปร่งใส สร้างแบรนด์ธรรมาภิบาลที่ขาวสะอาด” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WHA Group นายณรงค์เวทย์ วจนพานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตี้คอนสตรัคชั่นโปรดัคส์ จำกัด (มหาชน) นายอติคุณ เผอิญโชค แมคโดนัลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Eazy Car กลุ่มบริษัทไทยรุ่ง นายธนเดช กุลปิติวัน บรรณาธิการบริหารนิตยสาร BrandAge และ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน มาร่วมพูดคุยและเจาะลึกการดำเนินธุรกิจตามหลักการ ESG อย่างถูกต้อง โปร่งใส
นางสาวจรีพร กล่าวว่า WHA Group ดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใสตั้งแต่วันแรกที่เริ่มดำเนินกิจการ เพราะโดยส่วนตัวเกลียดเรื่องคอร์รัปชันมาก และตั้งปณิธานตั้งแต่เด็กว่าจะไม่มีการจ่ายใต้โต๊ะ การดำเนินธุรกิจของ WHA ที่ผ่านมาเติบโตมาโดยตลอด ทั้งกิจการโลจิสติกส์ และพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ขนาดกว่าแสนตารางเมตร ไม่เคยมีปัญหา เพราะยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้อง โปร่งใส และมีธรรมาภิบาล
“ที่พูดกันว่าถ้าไม่จ่ายใต้โต๊ะ ไม่โต เป็นเรื่องไม่จริง WHA ทำตามกฎหมาย และทำดีกว่ากฎหมาย ไม่เคยต้องจ่ายใต้โต๊ะ ธุรกิจก็เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ก็เห็นแล้วว่า บริษัทหุ้นปั่นก็ทยอยล้มไป แต่ WHA เติบโตสวนตลาด เพราะสิ่งที่เราทำมาตลอด เพราะฉะนั้นถ้าบริษัทไหนไม่มี Governance ก็ไม่รอด” นางสาวจรีพร กล่าว
ด้านนายณรงค์เวทย์ กล่าวว่า วันนี้อยากย้ำว่าอย่าให้ค่านิยมว่า “คนโกง คือคนเก่ง” และเป็นที่ยกย่องเชิดชูในสังคม ซึ่งจะทำให้สังคมเห็นว่าการโกงเป็นเรื่องปกติ อย่าให้มีการตราหน้าว่า “คนไม่โกง คือคนโง่” อย่าปล่อยให้การโกงเป็นธรรมชาติของสังคม ต้องเริ่มที่ตัวเอง องค์กร สำหรับบริษัท ควอลิตี้คอนสตรัคชั่นโปรดัคส์ พยายามปลูกฝังและถ่ายทอดเรื่องคุณธรรมให้กับพนักงาน แม้บางครั้งจะมีต้นทุนที่สูงกว่า แต่ยังจำเป็นต้องตั้งมั่นในเรื่องความโปร่งใส เป็นธรรม สร้างต้นทุนความดีให้เป็นแบบอย่างต่อสังคม
ขณะที่นายอติคุณ กล่าวว่า เรื่องธรรมาภิบาล เป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญมากกว่าที่ผ่านมา เพราะจากผลสำรวจ พบว่า คนรุ่นใหม่สิ้นหวังมากขึ้น โดย 44% ของคนรุ่นใหม่ไม่อยากมีลูก โดยมีสัดส่วนถึง 38% ที่ให้เหตุผลว่าเพราะไม่อยากให้ลูกเกิดมาในสังคมปัจจุบัน โจทย์สำคัญที่สุดในเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน คือทำอย่างไรให้ทุกคนมีความหวัง ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องมือทางเทคโนโลยีเข้ามาช่วยตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ทำให้คนเห็นการโกงอย่างโปร่งใสชัดเจนขึ้น และสามารถจดจำ ประมวลผล องค์กรควรจะมอบความหวังให้คนรุ่นใหม่ สามารถสร้างสิ่งที่แตกต่างได้ในอนาคต
ด้านนายธนเดช กล่าวว่า BrandAge ซึ่งได้จัดทำผลสำรวจ The Most Admired Brand เป็นประจำทุกปี ปีนี้ได้ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เพิ่มมิติในเรื่องแบรนด์ที่ขาวสะอาด โดยการทำแบบสอบถามเพิ่มกับผู้บริโภค เพื่อช่วยกระตุ้นให้องค์กรให้ความสำคัญกับเรื่อง Governance ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญ สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค ผู้ถือหุ้น พนักงาน สังคม ทำให้ธุรกิจเกิดความยั่งยืนได้ โดยจะเริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่ปีนี้ และประกาศผลในปี 2568
ดร.มานะ กล่าวว่า อยากให้ภาคธุรกิจร่วมมือกันทำสิ่งที่ถูกต้อง คำว่า ESG ที่ถูกใช้กันในภาคธุรกิจ กำลังถูกตีความทางกฎหมายแบบ ทำให้สังคมข้องใจว่าคำว่า Governance มีจริงหรือไม่ ดังนั้นอยากให้ภาคธุรกิจมาร่วมกัน “ฮั้วกันต้านโกง” ต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ตัวเอง ต้องช่วยกันต่อต้านคอร์รัปชันให้เป็นนโยบาย เป็นวัฒนธรรมองค์กรตั้งแต่ระดับผู้นำ พนักงาน ขยายความร่วมมือ สร้างเครือข่ายพันธมิตร และสุดท้ายต้องสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจให้สุจริต โปร่งใส
“การมี White Brand จะเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับภาคธุรกิจ ให้ประชาชนหันมาใส่ใจเรื่อง Governance ของภาคธุรกิจว่าทำได้จริงหรือไม่ ผ่านการโหวตของผู้บริโภค ถ้าทำได้สำเร็จ จะเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่าธุรกิจสามารถเติบโตได้ถ้าดำเนินการอย่างโปร่งใส ซื่อสัตย์” ดร.มานะกล่าว
สำหรับการจัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันในปีนี้ ได้จัดขึ้นทั้งในรูปแบบออนไลน์เพื่อให้คนทั้งประเทศได้เข้าร่วมกิจกรรม และออนไซต์ ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 7 อาคาร B ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีไฮไลท์ คือ เวทีเสวนา “เท็จทอล์ค” รู้ลึกกลโกงการทุจริตคอร์รัปชัน 5 คดีโกง ตั้งแต่ระดับหมู่บ้านไปถึงระดับชาติ ผ่านวิธีคิดและมุมมองของผู้ทุจริตโดยตรง เพื่อกระตุ้นเตือนสังคมให้รู้เท่าทัน และร่วมกันตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตในโรงเรียน, ซอฟต์พาวเวอร์ระบบอุปถัมภ์ “เจอ จ่าย จบ”, การฮั้วประมูล ที่มีการจ่ายใต้โต๊ะปีละ 7,500 ล้านบาท, การทุจริตในโครงการรัฐวิสาหกิจ และล่าสุดกรณี กระต๊าก คอร์ปอเรชัน ซึ่งเป็นนิทานระดับตำนานของตลาดหุ้น ที่ร่วมกันโกงตั้งแต่ผู้บริหาร นักกฎหมาย และยังได้รับรองจากบริษัทกฎหมายระดับโลก สร้างความเสียหายแก่นักลงทุนกว่า 30,000 ล้านบาท กรณีเหล่านี้จะต้องช่วยกันทำให้หมดไปจากสังคมไทย
ผู้สนใจสามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ เฟซบุ๊กเพจองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน: https://www.facebook.com/act.anticorruptionThailand
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ