สภาทนายความฯ นำชาวบ้านยื่นฟ้องแพ่ง CPF 2,400 ล้าน กรณี 'ปลาหมอคางดำ'

กองบรรณาธิการ TCIJ 7 ก.ย. 2567 | อ่านแล้ว 5977 ครั้ง

สภาทนายความฯ นำชาวบ้านยื่นฟ้องแพ่ง CPF 2,400 ล้าน กรณี 'ปลาหมอคางดำ'

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา สภาทนายความฯ และตัวแทนชาวบ้าน จาก จ.สมุทรสงคราม ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายรวม 2,400 ล้านบาท กับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด หรือ CPF กรณีแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ โดยศาลแพ่งกรุงเทพใต้ นัดไต่สวนคำร้องขออนุญาตดำเนินคดีแบบกลุ่มเดือน พ.ย. 67

เว็บไซต์สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์  รายงานว่าเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2567 ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เปิดเผยว่าคณะทำงานให้ความช่วยเหลือ กรณีปลาหมอคางดำแพร่ระบาด นำนายปัญญา โตกทอง กับพวกรวม 10 คน เป็นตัวแทนของกลุ่มผู้ประกอบอาชีพประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและตัวแทนประมงพื้นบ้านในเขตอำเภออัมพวา อำเภอบางคนที และอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม จำนวนกว่า 1,400 คน ยื่นฟ้องบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งกับกรรมการบริหารรวม 9 คน [Thai PBS รายงานว่าคือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จํากัด (มหาชน) หรือบริษัท CPF] ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้เป็นคดีสิ่งแวดล้อมและขออนุญาตฟ้องคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าสินไหมทดแทนจากการขาดรายได้ในอาชีพประมงเพาะเลี้ยงและประมงพื้นบ้าน และจากการถูกละเมิดสิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติรวมถึงมีคำขอบังคับให้บริษัทฯ แก้ไขฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไปให้กลับสู่สภาพเดิม ด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ ตามหลัก “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย” สืบเนื่องจากการที่บริษัทฯ เป็นผู้ขออนุญาตและนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นจากประเทศกานาคือ ปลาหมอคางดำ (Sarotherodonmelanotheron) ซึ่งเป็นสัตว์น้ำอันตรายต่อระบบนิเวศน์และสัตว์น้ำท้องถิ่น เข้ามาทดลองพัฒนาสายพันธุ์เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ และด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อของบริษัทฯ ที่เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองสัตว์น้ำอันตราย ทำให้เกิดการหลุดรอดของปลาหมอคางดำ (Sarotherodonmelanotheron)จากแหล่งเพาะเลี้ยงออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะ แพร่พันธุ์และเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วเกิดการแพร่ระบาดเข้าสู่บ่อเพาะเลี้ยงของชาวประมงและกระจายไปหลายจังหวัดของประเทศ

ขอบเขตและลักษณะเฉพาะของกลุ่มในการฟ้องคดี คือ เป็นบุคคลที่ประกอบอาชีพประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและ/หรือประมงพื้นบ้านโดยมีภูมิลำนักอาศัยและทำมาหากินอยู่ในเขตพื้นที่อำเภออัมพวา อำเภอบางคนที และอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม และได้รับความเสียหายจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ (Sarotherodonmelanotheron)

จำนวนค่าสินไหมทดแทนที่กลุ่มประมงเรียกร้อง

1) กลุ่มประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้ตามจำนวนพื้นที่ที่เพาะเลี้ยงในอัตราไร่ละ 10,000 บาทต่อปี เป็นเวลา 7 ปี (พ.ศ. 2560 – 2567) และค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิ์การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอีกรายละ 50,000 บาท โดยกลุ่มประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีจำนวนสมาชิกกว่า1,000 ราย มีพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำรวมกันกว่า 27,000 ไร่ ค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้องเป็นเงินกว่า 1,982,000,000 บาท

2) กลุ่มประมงพื้นบ้าน เรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้ตามจำนวนวันในอัตราวันละ 500 บาท (ปีละ 182,500 บาท) เป็นเวลา 7 ปี (พ.ศ. 2560 – 2567) และค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอีกรายละ 50,000 บาท โดยกลุ่มประมงพื้นบ้านมีจำนวนสมาชิกกว่า 380 ราย ค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้องเป็นเงินกว่า 19,000,000 บาท

รวมเป็นเงินค่าสินไหมทดแทนที่กลุ่มประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและกลุ่มประมงพื้นบ้านในเขตจังหวัดสมุทรสงครามเรียกร้องเป็นเงินกว่า 2,486,450,000 บาท

ทั้งนี้เป็นคดีแพ่ง หมายเลขดำที่ สว 1/2567 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้

Thai PBS  รายงานเพิ่มเติมว่านอกจากนี้ ตัวแทนจากสภาทนายความ ในฐานะผู้ได้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบอาชีพประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและอาชีพ ประมงพื้นบ้าน จ.สมุทรสงคราม จำนวน 54 คน ยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ 18 หน่วยงาน ต่อศาลปกครองกลาง ฐานความผิดละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่

ประกอบด้วย 1.กรมประมง 2.อธิบดีกรมประมง 3.คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ 4. คณะกรรมการระดับสถาบันด้านความ ปลอดภัยและความหลากหลายทางชีวภาพของกรมประมง 5.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 6.รมว.เกษตรและสหกรณ์ 7.กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 8.อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

9.คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 10.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 11.รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 12.คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

13.คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณะแห่งชาติ 14.กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 15.อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 16.กระทรวงมหาดไทย 17.รมว.มหาดไทย 18.กระทรวงการคลัง

ซึ่งผู้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองทั้ง 54 คน ได้เรียกร้องให้ผู้ถูกฟ้องซึ่งเป็นหน่วยงายของรัฐเร่งประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ เพื่อนำเงินฉุกเฉินเยียวยาต่อผู้ฟ้อง ตามเวลาที่ศาลกำหนด นอกจากนี้ให้ผู้ถูกฟ้องติดตามเงินจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จํากัด (มหาชน) หรือบริษัท CPF หรือ ผู้ก่อให้เกิดผลกระทบ ชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐตามมูลค่าความเสียหาย

ทั้งนี้ มติชนออนไลน์ รายงานว่า ศาลนัดไต่สวนคำร้องอีกครั้งหนึ่งคือวันที่ 4 พ.ย. เวลา 09.00 น. 

CPF ยืนยันไม่ได้เป็นสาเหตุระบาด 'ปลาหมอคางดำ' ไม่กังวลกรณีถูกฟ้อง

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2567 ว่า CPF ชี้แจงว่า ตามที่กลุ่มชาวประมง จังหวัดสมุทรสงครามและสภาทนายความ ได้ยื่นฟ้องทางแพ่งบริษัทเพื่อเรียกค่าเสียหายชดใช้การนำเข้าปลาหมอคางดำนั้น บริษัทขอแจ้งว่า บริษัทได้ตั้งคณะทำงานเพื่อสอบข้อเท็จจริง ตั้งแต่เริ่มการริเริ่มแนวคิดการศึกษาตั้งแต่ปี 2549 จนกระทั่งยุติความคิดที่จะทำการวิจัยในเรื่องนี้เมื่อต้นปี 2554 ยืนยันว่าไม่ใช่ต้นเหตุของการระบาด อย่างไรก็ตามบริษัทพร้อมเข้าสู่กระบวนการเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามที่ถูกกล่าวหาและเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมที่ก่อให้เกิดการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างถูกต้องตามกระบวนการทางกฎหมาย และนำไปสู่ความเข้าใจที่ถูกต้องของสังคมได้ในที่สุด

“แม้บริษัทจะมั่นใจว่าไม่ใช่สาเหตุของการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ แต่รับทราบดีว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาสำคัญในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทได้เข้ามาช่วยสนับสนุนการแก้ไขอย่างบูรณาการกับทุกภาคส่วน และลงมือปฏิบัติการเชิงรุกในหลายมิติตามแนวทางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน” ข่าวของ CPF ระบุ

โดยได้ดำเนินงานเชิงรุก 5 โครงการ ประกอบด้วย 1.สนับสนุนการรับซื้อปลาหมอคางดำจำนวน 2,000,000 กก.นำมาผลิตเป็นปลาป่น รับซื้อไปแล้วกว่า 1,100,000 กก.และยังคงรับซื้อต่อเนื่อง 2.สนับสนุนภาครัฐและชุมชน ปล่อยปลาผู้ล่า 200,000ตัว โดยที่ผ่านมา ส่งมอบปลากะพงขาว ไปแล้ว 70,000 ตัว 3.สนับสนุนภาครัฐ ชุมชนและภาคประชาสังคม จัดกิจกรรมจับปลา สนับสนุนอุปกรณ์จับปลาและกำลังคน ในทุกพื้นที่ ที่ประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาสนับสนุนกิจกรรมไปแล้ว 30 ครั้งใน 14 จังหวัด จับปลาหมอคางได้มากกว่า 25,000 กิโลกรัม 4.พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาหมอคางดำ โดยร่วมกับสถาบันการศึกษา และ 5.ร่วมทำวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญในการหาแนวทางควบคุมประชากรปลาหมอคางดำเพื่อพัฒนาแนวทางที่จะบรรเทาปัญหาในระยะยาว ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ สถาบันการศึกษาทั้งใน และต่างประเทศ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: