เสนอแนวทางการบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติพื้นที่ชายแดน

กองบรรณาธิการ TCIJ 7 พ.ค. 2567 | อ่านแล้ว 25691 ครั้ง

เสนอแนวทางการบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติพื้นที่ชายแดน

เครือข่ายองค์กรประชากรข้ามชาติ (MWG) และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) เสนอแนวทางการบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติ ที่จ้างงานในพื้นที่ชายแดนตามมาตรา 64 ของ พรก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 แก้ไข 2561

7 พ.ค. 2567 เครือข่ายองค์กรประชากรข้ามชาติ (MWG) และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) ได้ยื่นหนังสือถึงจัดหางานจังหวัดตาก สำเนาถึงอธิบดีกรมการจัดหางาน และผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว เรื่อง "ข้อเสนอแนวทางการบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติ ที่จ้างงานในพื้นที่ชายตามมาตรา 64 ของ พรก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 แก้ไข 2561" โดยมีรายละเดียดดังนี้

จากสถานการณ์ต่อเนื่องตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีผลให้เกิดการปิดด่านชายแดนไทย-พม่า ซึ่งมีผลกระทบต่อการจ้างแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ชายแดนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการจ้างงานตามมาตรา 64 ของพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ทำให้มีแรงงานข้ามชาติในกลุ่มนี้ขออนุญาตทำงานลดลง

จำนวนแรงงานก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด จำนวนแรงงานที่จ้างงานในมาตรา 64 ข้อมูล ณ.วันที่ 25 มกราคม 2562 มีจำนวนถึง 21,078 คน และหลังจากวันที่ 31 มีนาคม 2565 ที่สิ้นสุดการผ่อนผัน จำนวนแรงงานที่จ้างงานในมาตรา 64 ข้อมูล ณ. วันที่ 25 กันยายน 2565 มีจำนวน 7,594 คน โดยหากพิจารณาจำนวนแรงงานมาตรา 64 ตัวเลขลดลงอย่างเห็นได้ชัด

นอกจากนั้นแล้วยังมีปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเนื่องมาจากสถานการณ์การรัฐประหารในประเทศเมียนมา และความรุนแรงด้านการสู้รบในพื้นที่ชายแดน ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินการออกเอกสารการผ่านแดน มาตรา 64 ที่ทางการเมียนมาไม่มีการออกเอกสารต้นทางอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการผลักดันอย่างต่อเนื่องจากทางฝั่งผู้ประกอบการ แต่การดำเนินการออกเอกสารบัตรผ่านแดน มาตรา 64 ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากสถานการณ์การสู้รบที่จังหวัดเมียวดีเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมาไม่มีทีท่าว่าจะทุเลาลง อีกทั้งปัญหาเรื่องการออกเอกสารหนังสือผ่านแดน มาตรา 64 เมื่อพิจารณาจาก ข้อมูลในเดือนมีนาคม 2567 จำนวนแรงงานจากพม่าที่จ้างงานในมาตรา 64 ลดลง ข้อมูลจำนวนวันที่ 25 มกราคม 2567 ที่มีจำนวน 5,512 คน สำหรับจังหวัดตากมีเพียง 3,898 คน ซึ่งยังไม่สามารถแก้ไขตามจำนวนกำลังแรงงานที่ผู้ประกอบการต้องการจ้างแรงงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจแม่สอด ซึ่งมีจำนวนที่ต้องการจ้างเพิ่มถึง 15,000 คน หากพิจารณาแล้วจะเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับสถานการณ์ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด 19

ล่าสุดรัฐบาลเมียนมา ประกาศให้มีดำเนินการทำเอกสารการเก็บอัตลักษณ์ หรือ Unique Identification Number หรือ Unique Identification Card (UID) เป็นเอกสารที่จะต้องใช้คู่กับการข้ามแดนซึ่ง รวมถึงเอกสารหนังสือผ่านแดน มาตรา 64 และบัตรผ่านแดนชั่วคราว 7 วัน โดยแรงงานมาตรา 64 ที่ต้องเดินทางเข้า-ออก จะต้องดำเนินการทำเอกสารการเก็บอัตลักษณ์เพิ่มขึ้นมา ซึ่งอาจจะกระทบต่อการออกเอกสารหนังสือผ่านแดน มาตรา 64 และ การข้ามแดนของแรงงาน ที่ไม่สามารถเดินทางกลับมาทำงานได้ หากไม่มีการพิจารณาในการหาทางออกในด้านเอกสารประจำตัวของแรงงานในพื้นที่ชายแดนแล้วอาจส่งผลกระทบต่ออัตราจำนวนแรงงานที่ต้องการในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลังจากสถานการณ์โควิด และ อาจจะกระทบภาพรวมทางเศรษฐกิจในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ

จากสถานการณ์ที่กล่าวมาข้างต้น ทางเครือข่ายประชากรข้ามชาติ มีความกังวลถึงการบริหารจัดการแรงงานในพื้นที่ชายแดนที่อาจจะส่งผลต่อการจ้างงานและเศรษฐกิจของประเทศไทย จึงขอเสนอข้อเสนอในการแก้ปัญหา ดังนี้

ระยะสั้น
1. ขอเสนอให้อธิบดีมีการพิจารณาเสนอขอมติคณะรัฐมนตรีในการแก้ไขปัญหา โดยพิจารณาเอกสารที่ทางอธิบดีกำหนดเพื่อใช้แทนหนังสือผ่านแดนชั่วคราว มาตรา 64 ในระหว่างที่ประเทศต้นทางยังไม่สามารถออกเอกสารหนังสือผ่านแดนชั่วคราว มาตรา 64 เสนอให้มีการดำเนินการจัดทำทะเบียนประวัติ เพื่อขออนุญาตทำงาน โดยมีระยะเวลาการอนุญาต 1 ปี
2. ขอเสนอให้กรมการจัดหางานพิจารณาถึงการเพิ่มรายละเอียดประเภทที่อนุญาตให้มีการจ้างงานตามมาตรา 64 โดยปัจจุบัน ระบุเพียง กรรมกร และรับใช้ในบ้าน

ระยะกลาง
1. เสนอให้มีการพิจารณาถึงการทำความเข้าใจกับประเทศต้นทาง เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาการออกเอกสารหนังสือผ่านแดนชั่วคราว มาตรา 64
2. เสนอให้มีการพิจารณาถึงการทำความเข้าใจกับประเทศต้นทาง ในบันทึกข้อตกลงการแก้ไขข้อตกลงการข้ามแดน และ การขยายพื้นที่อนุญาตให้ทำงานบริเวณชายแดน พื้นที่เพิ่มเติมในเขตพบพระ แม่ระมาด อุ้มผาง
3. เสนอให้มีการพิจารณาถึงการทำความเข้าใจกับประเทศต้นทาง ในบันทึกข้อตกลงการแก้ไขข้อตกลงการข้ามแดน และ ระยะเวลาในการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร ให้เป็นไปตามการอนุญาตทำงาน และ พิจารณาขยายการอนุญาตทำงาน จากเดิม 3 เดือน เป็น 6 เดือน

ทั้งนี้เพื่อบรรเทาปัญหาทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบการ และ เพื่อลดความเสี่ยงในอัตรากำลังแรงงานในภาพเศรษฐกิจ การเแก้ไขปัญหาของแรงงานข้ามชาติ ที่ยังไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์ที่มีซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การเดินทางและความปลอดภัยของประชาชนทุกฝ่ายในพื้นที่ชายแดน จนกว่าสถานการณ์ในประเทศพม่าจะดีขึ้น

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: