'กสศ.' ชวนฟังเสียงเด็ก ๆ เมื่อโรงเรียนอยู่ไหนก็ได้ เข้าถึงการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา

กองบรรณาธิการ TCIJ 7 ส.ค. 2567 | อ่านแล้ว 7717 ครั้ง

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ชวนฟังเสียงเด็ก ๆ เมื่อโรงเรียนอยู่ไหนก็ได้ เข้าถึงการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา แม้ต้องฟันฝ่าข้อแม้และอุปสรรคใดก็ตาม

เมื่อช่วงเดือน ก.ค. 2567 เว็บไซต์กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เผยแพร่รายงานพิเศษ 'ชวนฟังเสียงเด็ก ๆ เมื่อโรงเรียนอยู่ไหนก็ได้ เข้าถึงการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา แม้ต้องฟันฝ่าข้อแม้และอุปสรรคใดก็ตาม' โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

“คิดว่าการเรียนแบบนี้เหมาะกับเรา เหมือนทำให้มีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น ที่สำคัญคือทำให้มีเวลาปรับตัวด้วย… ตอนนี้คิดว่าถ้าได้วุฒิ ม.3 จากตรงนี้ก็จะกลับไปเรียนแบบปกติค่ะ” น้องฟ่าง ภัชราวดี อายุ 15 ปี

“เราอาจไม่ได้เหมาะกับการเรียนเต็มเวลาเหมือนคนอื่น ๆ ทีนี้พอได้เข้าเรียนในเวลาที่พร้อม กลายเป็นว่าเราทำได้ดีกว่า แล้วเรามีเวลากับสิ่งที่สนใจมากขึ้น สำหรับหนูการเรียนกับโรงเรียนมือถือจึงดีมากสำหรับการค้นหาสิ่งที่ตัวเองอยากทำไปด้วย” น้องกัส กานต์สิรี อายุ 13 ปี

“พอออกจากโรงเรียนหนูมาช่วยงานที่บ้าน เริ่มสนุก กลายเป็นว่าถ้าให้เอาเวลาทั้งหมดไปอยู่ที่โรงเรียนเหมือนเมื่อก่อนเราทำไม่ได้แล้ว และพอเรียนผ่านโทรศัพท์ เรื่องยุ่งยากเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายการศึกษาที่เคยกังวลก็หายไปหมด เราเลยมีสมาธิที่จะมุ่งไปกับบทเรียนมากกว่า” น้องพลอย สิริเนตร อายุ 13 ปี

เหล่านี้คือเสียงจากน้อง ๆ ที่เคยมีเหตุให้หลุดจากระบบการศึกษา ก่อนกลับมาสู่เส้นทางเรียนรู้อีกครั้งด้วย Mobile School เข้าเรียนไม่ได้ ให้โรงเรียนไปหา การศึกษายืดหยุ่นตอบโจทย์ชีวิต โครงการเชิงรุกที่จะพา “การเรียนรู้” “วุฒิการศึกษา” ไปให้ถึงเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาในพื้นที่ทั่วประเทศ โดยความร่วมมือของ กสศ. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเครือข่ายศูนย์การเรียนโดยสถาบันทางสังคม ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 และสำหรับน้อง ๆ ทั้งสามคน ได้กลับเข้าสู่การศึกษาด้วย ‘โรงเรียนมือถือ’ ที่ศูนย์การเรียน CYF จังหวัดนครพนม ร่วมกับ กสศ. คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดนครพนม สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครพนม และภาคีเครือข่ายพัฒนาเด็กนอกระบบจังหวัดนครพนม พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับนักเรียนที่ไม่พร้อมเรียนในระบบปกติด้วยสาเหตุต่างกัน กับแนวคิดการ ‘เคลื่อนโรงเรียนไปหาเด็ก ๆ’

ในวันเปิดตัวโครงการ Mobile School เข้าเรียนไม่ได้ ให้โรงเรียนไปหา การศึกษายืดหยุ่นตอบโจทย์ชีวิต ที่เรานำการศึกษาไปหาเด็ก ๆ ในชุมชนคลองเตย กรุงเทพมหานคร เมื่อวันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม 2567 กสศ. ได้พูดคุยกับน้อง ๆ ที่กลับมาสมัครเรียนอีกครั้ง และน้อง ๆ ที่มีประสบการณ์การศึกษาแบบยืดหยุ่นมาแล้ว โดยที่เราได้เปิดบูธรับสมัครนักเรียนอายุระหว่าง 7-24 ปี ซึ่งมีข้อจำกัดในชีวิตที่ทำให้ไม่สามารถเรียนในโรงเรียนหรือในสถานศึกษา ให้สามารถเข้าเรียนในช่วงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 เพื่อนำวุฒิการศึกษาพาตัวเองให้ไปต่อได้ทั้งในเส้นทางการศึกษาต่อและการประกอบอาชีพ ชวนผู้อ่านมาฟังเสียงของน้อง ๆ จากจังหวัดนครพนม ที่ผ่านการเรียนรู้กับ ‘โรงเรียนมือถือ’ มาแล้ว ว่าประสบการณ์ของแต่ละคนนั้นน่าสนใจอย่างไร

เพิ่มทางเลือกในชีวิต และให้เวลากับการปรับตัวเพื่อกลับไปเรียนในระบบปกติ

‘น้องฟ่าง’ ภัชราวดี อายุ 15 ปี ออกจากโรงเรียนกลางเทอมขณะอยู่ ม.3 เทอมแรก ด้วยจำเป็นต้องย้ายตามครอบครัวจากสระบุรีไปนครพนม น้องฟ่างบอกว่าการย้ายโรงเรียนกลางเทอมเป็นเรื่องที่ทำได้ยากถึงยากที่สุด เนื่องจากบางวิชาต้องมีการสอบซ่อม แก้เกรด หรือต้องมีการเทียบโอนวิชาที่เรียนไปแล้ว กับรายการวิชาที่เหลือต้องไปเก็บต่อเนื่องให้ครบตามหลักสูตร ซึ่งอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ถ้าครูไม่ช่วยอำนวยความสะดวก การจะย้ายจากที่หนึ่งไปเรียนอีกที่หนึ่งก็แทบเป็นไปไม่ได้เลย     

“ครูบางคนช่วยเราเต็มที่ แต่บางวิชาครูเขามองว่ายุ่งยาก พอเราส่งเรื่องไปก็นิ่ง ไม่เดินหน้าต่อ สุดท้ายไปไหนไม่ได้ก็ต้องยอมค่ะ ต้องออกมาทั้งแบบนั้น ทีนี้พอจะไปสมัครเรียนที่ใหม่ โรงเรียนถามหาวุฒิ เราไม่มีก็ต้องติดค้างอยู่อย่างนั้น”   

จนได้รับคำชวนจากเครือข่ายการศึกษาจังหวัดนครพนม ให้เข้าเรียนกับโรงเรียนมือถือ หลายสิ่งที่เคยเป็นอุปสรรคขวางไว้จากการศึกษาก็คลี่คลายลง ซึ่งน้องฟ่างบอกว่า “ตอนแรกที่เข้ามาเรียนก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นยังไง จะเรียนจบได้จริงไหม แต่ตอนนี้มั่นใจแล้วค่ะว่าจบแน่ ๆ

“การเรียนผ่านโรงเรียนมือถือ อย่างแรกเลยคือจะช่วยนักเรียนที่มีปัญหาได้ดีมาก อย่างตัวหนูชอบที่ครูเขาเข้าใจสถานการณ์ของเรา และเข้าใจสิ่งที่เราเป็น พยายามสนับสนุนให้เรียนรู้เพิ่มเติมในเรื่องที่เราสนใจ

สำหรับแผนการในอนาคต น้องฟ่างเผยว่า “ตอนนี้คิดว่าถ้าได้วุฒิ ม.3 ก็ตั้งใจจะกลับไปเรียนในระบบต่อจนจบ ม.6 ซึ่งตอนนั้นจะอายุ 18-19 แล้ว ถึงตรงนั้นเราจะหางานทำแล้วเรียนไปด้วยก็ได้ หนูมองว่าการเรียนแบบนี้เหมาะกับเรา ทำให้มีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น ที่สำคัญคือทำให้เรามีเวลาปรับตัวด้วย จากคิดว่าไม่อยากกลับไปเรียนในโรงเรียนแล้ว แต่พอเรียนกับโรงเรียนมือถือมาสักพัก เราก็คิดว่าพร้อมกลับไปเรียนในโรงเรียนปกติได้แล้วค่ะ”

พบช่วงเวลาที่ดีสำหรับการค้นหาตัวเอง

‘น้องกัส’ กานต์สิรี อายุ 13 ปี เล่าว่า ตอนออกจากโรงเรียนเป็นช่วงกลางเทอมแรกของชั้น ม.1 พอย้ายมาอยู่นครพนมแล้วติดปัญหาเข้าเรียนในโรงเรียนใหม่ไม่ได้ ก็คิดไปแล้วว่าตัวเองต้องเรียนช้าไปอีกหลายปี หรือแย่กว่านั้นคืออาจไม่มีโอกาสกลับไปเรียนอีกเลย

แต่พอสมัครเข้าเรียนผ่านโรงเรียนมือถือ นอกจากความกังวลจะหมดไป น้องกัสยังพบว่าตารางเรียนที่ยืดหยุ่นไม่ตายตัว ยังช่วยให้มีเวลากับตัวเองมากขึ้น จากที่ไม่เคยสนใจว่าอนาคตจะไปทางไหน ก็กลับกลายเป็นเรื่องที่เธอให้ความสำคัญมากที่สุดในตอนนี้

“ชอบค่ะ เรียนที่นี่ไม่ต้องตื่นเช้าไปโรงเรียนทุกวัน เรากำหนดได้ว่าตื่นสัก 8-9 โมง แล้วเข้าเรียนช่วง 10 โมงถึงเที่ยง เวลาที่เหลือก็เอาไปช่วยแม่ทำงาน …คือพอได้เรียนแบบนี้ หนูเพิ่งมาคิดว่าเราอาจไม่ได้เหมาะกับการเรียนเต็มเวลาเหมือนคนอื่น ๆ ซึ่งทีนี้พอเราได้มาปรับตารางชีวิตใหม่ เข้าเรียนในเวลาที่พร้อม กลายเป็นว่าเราทำได้ดีกว่า แล้วมันทำให้มีเวลาทำสิ่งอื่น ๆ ด้วย อย่างตอนเรียนในโรงเรียนปกติ เราไม่เคยรู้เลยว่าตัวเองชอบอะไร อยากเรียนอะไร หรือสนใจอาชีพอะไร ช่วงที่เรียนกับโรงเรียนมือถือจึงเป็นเวลาที่ดีมากสำหรับการค้นหาตัวเองสำหรับหนูค่ะ”

ไม่ต้องกังวลกับค่าใช้จ่ายเรื่องการศึกษา

‘น้องพลอย’ สิริเนตร อายุ 13 ปี ออกจากโรงเรียนขณะเรียนชั้น ม.1 เทอมสอง บอกว่าครอบครัวของเธอทำเกษตร ทั้งปลูกสับปะรดและกรีดยางพารา น้องเลยสนใจทำงานกับที่บ้าน เพราะนอกจากได้เงิน ยังได้เรียนรู้ทักษะงานที่ยกระดับรายได้ได้รวดเร็ว ซึ่งความตั้งใจของเธอคืออยากทำงานหาเงินเพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของคนในครอบครัว อย่างไรก็ตามน้องพลอยยังอยากเรียนหนังสือไปด้วย เพื่อให้ได้วุฒิไปศึกษาต่อในสายงานที่เธอตั้งใจจะทำเป็นอาชีพในอนาคต จึงตัดสินใจเรียนกับโรงเรียนมือถือ

“พอออกจากโรงเรียนหนูมาช่วยงานที่บ้าน เริ่มสนุก กลายเป็นว่าถ้าให้เอาเวลาทั้งหมดไปอยู่ที่โรงเรียนเหมือนเมื่อก่อนเราทำไม่ได้แล้ว การไปโรงเรียนหนูมองว่ามันมีรายละเอียดเยอะมาก เราต้องเดินทาง ต้องซื้อเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า มีค่าใช้จ่ายประจำวัน ค่ากิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งรวมแล้วมันเป็นค่าใช้จ่ายที่เยอะมาก

“การเรียนกับโรงเรียนมือถือ …ชอบค่ะ เรื่องที่ไม่มีกรอบเวลาตายตัว เพราะบางทีติดทำงาน เราส่งงานทีหลังก็ได้ หรือที่ดีมาก ๆ คือเราสามารถเสนอกิจกรรมที่สนใจให้ครูไปออกแบบเป็นบทเรียนก็ได้ แล้วพอเรียนแบบนี้เราไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายเล็ก ๆ น้อย ๆ อีกแล้ว เลยมีสมาธิกับการเรียนเต็มที่ เหมือนเรื่องต่าง ๆ ที่ยุ่งยากมันหายไปหมดเลย แต่ที่หนูคิดว่าดีที่สุดจริง ๆ เลยสำหรับโรงเรียนนี้ คือเมื่อเรียนจบเราจะได้วุฒิการศึกษาเหมือนเพื่อน ๆ ที่เรียนปกติ ซึ่งเราอยากได้ที่สุด เพราะหนูวางแผนไว้ว่าจะไปเรียนเสริมสวยต่อเพื่อจะเปิดร้านของตัวเองค่ะ”  

หลากความคิดเห็นของน้อง ๆ ถือเป็นส่วนหนึ่งจากประสบการณ์ของนักเรียน ‘Mobile School’ ที่สะท้อนให้เห็นว่า ‘การศึกษายืดหยุ่น ตอบโจทย์ชีวิต’ คือหนทางหนึ่งของการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อให้เด็กเยาวชนทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา แม้ต้องฟันฝ่าข้อแม้และอุปสรรคใดก็ตาม

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: