ท้องถิ่นสร้าง สื่อสอบสารคดีข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนชุดนี้ผลิตภายใต้โครงการ สื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่น เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ประชาไท เพื่อบอกเล่าถึงเรื่องราวและปมปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นทั่วไทยในแง่มุมที่แตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่ปัญหาการบริหาร การเมือง การปกครอง สิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิคนพิการ คนไร้บ้าน ไร้ที่พึ่ง การศึกษา เด็กและเยาวชน กีฬา ไปจนถึงเรื่องธุรกิจ อันเกี่ยวเนื่องกับการทำงานของท้องถิ่นและชุมชน คำว่าท้องถิ่นในที่นี้ได้รับการตีความอย่างกว้าง ว่าหมายถึงรูปแบบของความสัมพันธ์ที่ชุมชนในท้องถิ่นนั้นมีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้อง ไม่ได้หมายความเฉพาะรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นของกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น ถึงแม้ว่าสารคดีในชุดนี้จำนวนหนึ่งจะพูดถึงประเด็นปัญหาในกรอบขององค์กรเหล่านั้นก็ตาม ธรรมาภิบาล (Good Governance) นั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่หน่วยการเมืองหรือการบริหารประเทศเท่านั้น หากหมายรวมถึงองค์กรภาคประชาชน ประชาสังคมหรือชุมชนต่างๆ ด้วยเหตุนี้เราจึงมีการตรวจสอบพฤติกรรมทางเพศของชุมชนนักกิจกรรมทางสังคม-การเมือง อยู่ในสารคดีชุดนี้ด้วย |
พูดคุยกับชัชวาลย์ ทองดีเลิศ จากสภาลมหายใจเชียงใหม่ เมื่อภาคประชาสังคมในเชียงใหม่รวมตัวเรียกร้องสิทธิที่จะมีอากาศสะอาดหายใจ นำมาซึ่งข้อเสนอแก้ปัญหาเชิงรุก ทั้งข้อเสนอ พ.ร.บ. อากาศสะอาด ที่เพิ่งผ่านเข้าสภา การให้ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมวางแผนก่อนถึงฤดูฝุ่นควัน และข้อเสนอให้เปลี่ยนจากงดการเผาสิ้นเชิง (Zero Burning) มาเป็นการควบคุมไฟ (Fire Management) โดยยอมรับว่าไฟนั้นจำเป็น ระบบนิเวศของป่าผลัดใบจำเป็นต้องใช้ไฟ ปล่อยให้สะสมมากไปก็ไม่ดี ขณะที่การใช้ไฟในการทำเกษตรต้องบริหารจัดการไฟแบบควบคุม
สถานการณ์ฝุ่นควัน PM2.5 หลายปีที่ผ่านมาอยู่ในขั้นเลวร้ายและกระจายไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน ที่ฤดูแล้งทุกปีวัดค่าคุณภาพอากาศเข้าขั้นมลพิษสูงติดอันดับโลก ที่ผ่านมามีการเรียกร้องรัฐบาลให้มีมาตรการป้องกัน และดูแลประชาชนให้มากยิ่งขึ้น อย่างที่จังหวัดเชียงใหม่มีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิที่จะมีอากาศที่สะอาดหายใจติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี อีกทั้งยังมีภาคประชาสังคมที่ออกมาทำบางอย่างเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง
เมื่อครั้งที่เชียงใหม่เจอปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 มีค่าสูงติดอันดับโลก เมื่อปี 2562 วัดค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ได้สูงถึง 588 กลุ่มประชาสังคม กลุ่มวิชาการต่างๆ กลุ่มธุรกิจ และกลุ่มสิ่งแวดล้อม มาคุยกันแล้วเห็นพ้องกันว่าคงจะปล่อยให้ภาครัฐทำงานอยู่ฝ่ายเดียวไม่ได้แล้ว จึงได้ลุกขึ้นมาประกาศเป็นสภาลมชายใจเชียงใหม่ เมื่อปี 2562 เพื่อที่จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ไปด้วยกัน ในฐานะที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบและเป็นผู้สร้างฝุ่นควันด้วย
ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า การแก้ปัญหาที่ผ่านมาตั้ง 14 ปีแล้วไม่ตรงจุด ยกตัวอย่างเช่น การแก้ปัญหาบนพื้นฐานของพระราชบัญญัติบรรเทาสาธารณภัย คือ เมื่อเกิดภัยแล้วจึงค่อยแก้ปัญหา จึงค่อยใช้งบ ใช้คน ใช้เครื่องจักรในการแก้ปัญหา ซึ่งเป็นลักษณะการแก้ปัญหาเชิงรับ
“แต่เรามองว่าการแก้ปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ต้องเป็นการแก้ปัญหาเชิงรุก ต้องมีแผนการป้องกัน แผนระยะสั้น กลาง และยาว ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน” ชัชวาลย์ กล่าว
จากการประมวลความคิดเห็นของทุกภาคส่วน จึงมีการเสนอหลักคิดและการแก้ปัญหาแบบใหม่ คือเสนอว่า อย่างแรก ต้องมีการออกกฎหมายใหม่ นั่นก็คือ พ.ร.บ. อากาศสะอาด ซึ่งเป็นกฎหมายเชิงรุกที่จะแก้ปัญหาทุกสาเหตุ โดยมีกลไกในการดูแลอย่างต่อเนื่อง คณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไปเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566
ประการที่สอง เสนอให้มีการเปลี่ยนการทำงาน จากการสั่งการเพียงอย่างเดียว มาเป็นกระบวนการการมีส่วนร่วมขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการให้ชุมชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการวางแผน
ประการที่สาม เราเสนอให้เปลี่ยนจากงดการเผาโดยสิ้นเชิง (Zero Burning) เป็นการควบคุมไฟ (Fire Management) คือการยอมรับว่าไฟนั้นจำเป็น ระบบนิเวศของป่าผลัดใบจำเป็นต้องใช้ไฟ ปล่อยให้สะสมมากไปก็ไม่ดี อีกทั้งมีชาวบ้านที่อยู่ในป่าเยอะแยะไปหมด ชาวบ้านก็ยังจำเป็นต้องใช้ไฟในการทำการเกษตร เมื่อยอมรับการใช้ไฟแล้วก็ต้องบริหารจัดการไฟแบบควบคุม
ปีนี้สภาลมหายใจเชียงใหม่ได้เสนอหลักการมีส่วนร่วมที่ชัดเจนมากขึ้น มีคณะทำงานจากหลายฝ่ายที่มาร่วมช่วยกันวางแผน ซึ่งแบ่งเป็น 7 ป่า โดยที่จังหวัดให้เงินสนับสนุนในการทำแผน ถือว่าเป็นการยกระดับที่ค่อนข้างชัดเจน
นอกจากนี้ยังร่วมมือกับทางทุกฝ่ายรวมถึงทางจังหวัดในการเข้ามาดูแลดอยสุเทพอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับพี่น้องชาติพันธุ์ม้ง 12 หมู่บ้าน และขยายพื้นที่มาเป็นรอบดอยสุเทพรวมกัน 7 อำเภอ
โซนแนวกันไฟรอบดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ (ที่มา: แฟ้มภาพ)
การทำแนวกันไฟในพื้นที่ป่ารอบดอยสุเทพ (ที่มา: แฟ้มภาพ)
ปีนี้มีกระบวนการที่เข้มข้นขึ้น โดยโซนหน้าดอยสุเทพจะเน้นเป็นการป้องกัน มีการทำแนวกันไฟร่วมกัน เนื่องจากเป็นพื้นที่ใกล้เมือง ส่วนโซนหลังตั้งแต่โซนสะเมิง โซนบ้านปง โซนน้ำบ่อหลวง จะเป็นเขตการบริหารการจัดการเชื้อเพลิง คือ หากตรงไหนจำเป็นต้องใช้ไฟก็จะมีการทำแผนและทำแนวกันไฟไว้ให้ชัดเจน เรียกว่า “การจัดการไฟจำเป็นแบบควบคุมไม่ให้เกิดการลุกลามแบบไร้การควบคุม” ชัชวาลย์ กล่าว
หลังจากที่จัดทำแผนเสร็จเรียบร้อยแล้วจะเสนอเข้าไปที่แอพพลิเคชั่น FireD ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่นักวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้พัฒนาขึ้น และทดลองใช้มาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว เป็นเครื่องมือที่ทำให้การบริหารไฟป่าชัดเจนยิ่งขึ้น
สำหรับความคาดหวังต่อสถานการณ์นี้ แน่นอนว่าทางสภาลมหายใจเชียงใหม่อยากเห็น PM2.5 ลดลง ต้องลดไฟที่ไร้การควบคุมลงทั้งหมดให้ได้ เหลือเฉพาะไฟที่จำเป็นจริงๆ ต้องยอมรับว่ามีความจำเป็นต้องใช้ไฟ แต่พยายามลดให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงพืชเชิงเดี่ยว เวลาที่พืชเหล่านี้ขึ้นมาบนที่สูง นอกจากจะทำลายทรัพยากรแล้ว แต่ยังสร้างเรื่องมลภาวะด้วย เราจึงอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นการผลิตอย่างยั่งยืนมากขึ้นที่เข้ามาทดแทนพืชเชิงเดี่ยว
“เรายังอยากเห็นระบบประกันสุขภาพที่ดี ควรจะมีสวัสดิการที่ประชาชนได้สามารถป้องกันตนเอง ไม่ว่าจะเป็น เช่น หน้ากากอนามัย เครื่องกรองอากาศ หรือบริการตรวจปอดฟรี เป็นต้น และสุดท้ายเราอยากจะเห็นการแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืน ต้องมีแผนหรือข้อตกลงกับประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าทำสิ่งเหล่านี้ได้ทั้งหมดคิดว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น” ชัชวาลย์ กล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ