ท้องถิ่นสร้าง สื่อสอบสารคดีข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนชุดนี้ผลิตภายใต้โครงการ สื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่น เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ประชาไท เพื่อบอกเล่าถึงเรื่องราวและปมปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นทั่วไทยในแง่มุมที่แตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่ปัญหาการบริหาร การเมือง การปกครอง สิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิคนพิการ คนไร้บ้าน ไร้ที่พึ่ง การศึกษา เด็กและเยาวชน กีฬา ไปจนถึงเรื่องธุรกิจ อันเกี่ยวเนื่องกับการทำงานของท้องถิ่นและชุมชน คำว่าท้องถิ่นในที่นี้ได้รับการตีความอย่างกว้าง ว่าหมายถึงรูปแบบของความสัมพันธ์ที่ชุมชนในท้องถิ่นนั้นมีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้อง ไม่ได้หมายความเฉพาะรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นของกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น ถึงแม้ว่าสารคดีในชุดนี้จำนวนหนึ่งจะพูดถึงประเด็นปัญหาในกรอบขององค์กรเหล่านั้นก็ตาม ธรรมาภิบาล (Good Governance) นั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่หน่วยการเมืองหรือการบริหารประเทศเท่านั้น หากหมายรวมถึงองค์กรภาคประชาชน ประชาสังคมหรือชุมชนต่างๆ ด้วยเหตุนี้เราจึงมีการตรวจสอบพฤติกรรมทางเพศของชุมชนนักกิจกรรมทางสังคม-การเมือง อยู่ในสารคดีชุดนี้ด้วย |
สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ของภาคเหนือตอนบนวิกฤตมาตั้งแต่มีนาคม เมษายน เริ่มคลี่คลายหลังฝนตกติดต่อกันหลายวันในเดือนพฤษภาคม ขณะที่ข้อมูลจากสถานีวัดอากาศ 36T รร.ยุพราชวิทยาลัย พบว่าวันที่ PM2.5 เกินค่ามาตรฐานอยู่ที่ 80 วัน น้อยกว่าปี 2566 ที่นับได้ 101 วัน แต่ก็ยังมากกว่าปี 2565 ที่มีวันอากาศไม่ดี 43 วัน ขณะเดียวกันเมื่อย้อนทบทวนมาตรการรับมือภาครัฐพบว่าจังหวัดเชียงใหม่เปลี่ยนแปลงแนวทางและวิธีการในการรับมือ PM2.5 ใหม่ ด้วยการเปิดพื้นที่ เปิดข้อมูล จัดโซนใหม่ ตั้งเป้าหมายลดจุดฮอตสปอต ลดพื้นที่เผาไหม้ ลดจำนวนวันที่อากาศเสีย และลดจำนวนผู้ป่วยทางเดินหายใจ
สถานการณ์ฝุ่นควัน PM2.5 หลายปีที่ผ่านมาอยู่ในขั้นเลวร้ายและกระจายไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน ที่ฤดูแล้งทุกปีวัดค่าคุณภาพอากาศเข้าขั้นมลพิษสูงติดอันดับโลก ที่ผ่านมามีการเรียกร้องรัฐบาลให้มีมาตรการป้องกัน และดูแลประชาชนให้มากยิ่งขึ้น อย่างที่จังหวัดเชียงใหม่มีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิที่จะมีอากาศที่สะอาดหายใจติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี อีกทั้งยังมีภาคประชาสังคมที่ออกมาทำบางอย่างเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง
โดยรายงานข่าวภายใต้โครงการ “ท้องถิ่นสร้างสื่อสอบ” ชวนอ่านบทสนทนากับภาคประชาสังคม เอกชน และส่วนราชการในเชียงใหม่และจังหวัดภาคเหนือตอนบน เรื่องการรับมือปัญหามลพิษทางอากาศ รวมไปถึงมุมมองต่อการแก้ไขปัญหา ซึ่งจะแบ่งนำเสนอทั้งหมด 5 ตอน
สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เมื่อถึงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคม 2567 ภาคเหนือตอนบนเริ่มคลี่คลายหลังมีฝนตกหลายวันติดต่อกัน รวมทั้งการไหลเวียนของอากาศ จากข้อมูลในเพจ PM2.5 aqi Thailand พบว่าจนถึงเดือนพฤษภาคมปี 2567 เชียงใหม่มีคุณภาพอากาศเกินเกณฑ์มาตรฐาน (เกณฑ์ US.EPA วัดจาก PM2.5 มากกว่า 35.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร) โดยนับเฉพาะสถานี 36T โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย พบว่าตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงขณะนี้นับวันอากาศไม่ดีได้ 80 วัน น้อยกว่าปี 2566 ที่มีวันอากาศไม่ดี 101 วัน แต่ก็ยังมากกว่าปี 2565 ที่มีวันอากาศไม่ดี 43 วัน
เมื่อย้อนกลับไปดูวิธีการรับมือของทางจังหวัด พบว่าตั้งแต่ปลายปี 2566 จังหวัดเชียงใหม่เปลี่ยนแปลงแนวทางและวิธีการในการรับมือกับฝุ่น PM2.5 ใหม่ ด้วยการเปิดพื้นที่ เปิดข้อมูล จัดโซนใหม่ ตั้งเป้าหมายลด 50 เปอร์เซ็นต์ให้ได้ 4 ด้าน ได้แก่ ลดพื้นที่ hotspot ลดพื้นที่เผาไหม้ ลดจำนวนวันที่อากาศเสีย และลดจำนวนผู้ป่วยทางเดินหายใจ
ทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนธันวาคม 2566 ในช่วงเตรียมการรับมือฝุ่น PM2.5 ระบุถึงนโยบายในการรับมือกับฝุ่น PM 2.5 ของปี 2567 จะมีการ “ถอดบทเรียน” หลังจากปี 2566 ที่ผ่านมาเกิดจุดเผาไหม้หรือ Hotspot สูง มีพื้นที่เผาไหม้สูง วันที่คุณภาพอากาศเกินเกณฑ์ได้เกิดขึ้นหลายวัน หลังจากสถานการณ์สิ้นสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ได้มีการปรับแผนงานกันใหม่ 3 ด้านด้วยกันคือ
ประการแรก รัฐเองจำเป็นต้องเปิดพื้นที่การทำงาน ต้องเอาภาคีเครือข่าย ภาคประชาชน ภาควิชาการ เอาสิ่งที่ศึกษาวิจัยวิเคราะห์มาใช้
ประการที่สอง รัฐต้องเปิดข้อมูลข่าวสาร ประชาชนต้องรู้ข้อมูลข่าวสารเหมือนที่รัฐรู้ ต้องมีระบบสื่อสารให้รู้ทันทีเหมือนกัน และปีนี้เราจะขับเคลื่อนด้วย Data Driven คือ การเอาข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเป็นตัวตั้ง จากนั้นวิเคราะห์มัน เพื่อทำแนวทางแก้ไขและป้องกัน
ประการสุดท้าย จะมีการแบ่งกลุ่มการทำงานใหม่ จากเดิมมีการใช้เขตปกครองในการแบ่ง คือ ตำบล อำเภอ จังหวัด แต่ปีนี้เราแบ่งเป็น 7 กลุ่มป่า เนื่องจากว่าจังหวัดเชียงใหม่เรามีป่าเยอะ และในกลุ่มป่านี้มีหลายอำเภอ หลายตำบล หลายหมู่บ้านทับซ้อนกัน อีกทั้งยังบวกหนึ่งพื้นที่พิเศษ ซึ่ง 7 กลุ่มป่านี้มีหัวหน้าทีมหรือที่ปรึกษาที่ไม่ใช่ราชการอย่างเดียว แต่จะเป็นราชการและกลุ่มประชาสังคม สื่อมวลชน มานั่งเป็นหัวหน้าทีมแต่ละชุด แบ่งความรับผิดชอบกัน หัวหน้าทีมจะมีหน้าที่ทำแผนออกมา โดยในรายละเอียดต้องระบุว่าการป้องกันต้องทำอย่างไร การบริหารต้องทำอย่างไร หรือมีคำแนะนำอย่างไร จากนั้นแผนนี้ก็จะถูกส่งไปยังหมู่บ้าน ชุมชน ให้แต่งเติมหรือแสดงความคิดเห็น
ในปี 2567 นี้มีการตั้งเป้าหมายร่วมกัน คือ สถานการณ์ปีที่แล้วเป็นอย่างไร ปีนี้ขอให้ลดลง 50% ซึ่งมี 4 เป้าหมายที่สำคัญได้แก่
- ลด Hotspot ซึ่งในปี 2566 เกิด Hotspot ขึ้นประมาณ 13,000 จุด
ลดพื้นที่เผาไหม้ ซึ่งต้นปี 2566 ได้เกิดการไหม้ 1.1 ล้านไร่
ลดวันที่คุณภาพอากาศเกินเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งต้นปี 2566 เกินไป 99 วัน
ลดจำนวนผู้ป่วยทางเดินหายใจ ในปี 2566 นับได้ประมาณ 35,000 ราย
ในการบริหารสถานการณ์ของฤดูแล้งปี 2567 จังหวัดเชียงใหม่จะเน้นการป้องกันให้มาก ทำงานให้เร็ว ทำงานวันนี้ตอนนี้เลย โดยในบริบทแต่ละพื้นที่จะต่างกัน จึงให้แต่ละพื้นที่ออกแบบการป้องกันขึ้นมาเองเลย ซึ่งตอนนี้ได้มีแผนครบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับห้องปลอดฝุ่นนั้น ในขณะนี้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดูแลเรื่องนี้ โดยปีที่แล้วตั้งเป้าหมายให้มีห้องปลอดฝุ่น 3,500 จุด แต่ทำไปได้เพียง 600 จุดเท่านั้น จึงกลับมาถอดบทเรียนว่าเป็นเพราะอะไร
รองผู้ว่าเชียงใหม่ บอกว่า ข้อสรุปของสาเหตุคือ ตัวแอพพลิเคชั่นที่ให้บริการนั้นยุ่งยาก มีคำถามที่เยอะ ประชาชนจึงไม่ให้ความสนใจ ประชาชนและภาคเอกชนยังไม่ตื่นตัวหรือไม่สนใจที่จะทำ ปีนี้จึงจะทำให้แอพพลิเคชั่นใช้งานได้ง่ายมากยิ่งขึ้น มีการให้ตราสัญลักษณ์และประชาสัมพันธ์ให้สำหรับภาคเอกชนที่ทำห้องปลอดฝุ่น เพื่อให้ประชาชนมาใช้บริการ เช่น ร้านกาแฟ หรือห้างสรรพสินค้าที่ได้รับตราสัญลักษณ์มาตรฐานห้องปลอดฝุ่นจากหน่วยงานรัฐ
ส่วนหน้ากากอนามัยมีการมอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดสำรวจเครื่องกรองอากาศหรือหน้ากากอนามัย และหามาตรการ เพื่อไม่ให้ราคาสูงเกินจริง เพื่อเตรียมรับมือในช่วงวิกฤต
นวัตกรรมใหม่ในปี 2567 ที่ยังไม่เคยใช้มาก่อน คือ เดิมจะใช้มาตรการ 60 วันห้ามเผา ใครเผาถูกจำคุก แต่จากสถิติที่ปรากฎ มีการเผาที่สูงแต่ก็จับใครไม่ได้ จึงเปลี่ยนแนวทางใหม่ คือ ไม่ห้ามเผา ไม่มีเวลาห้ามเผา แต่ต้องแจ้งก่อนเผาผ่านแอพพลิเคชั่น FireD ซึ่งทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นผู้ทำ เมื่อมีการแจ้งมายังแอพพลิเคชั่นแล้วทางการจะทำการวิเคราะห์ ว่าหากจุดไฟวันดังกล่าวจะรุนแรงหรือไม่ ถ้าไม่รุนแรงหรือกระทบมากนักก็สามารถดำเนินการได้ แต่ยังต้องทำตามหลักวิชาการ คือ การทำแนวกันไฟ เตรียมคนดับ ไม่ปล่อยให้ลุกลาออกไป ปีนี้จึงได้นำวิธีนี้มาใช้เป็นปีแรก
“สุดท้ายนี้อยากให้ผู้คนตระหนัก ตื่นรู้แต่ไม่ตื่นตูม เข้าใจเรื่องนี้อยากมากขึ้น มีทัศนคติค่านิยม และมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ทุกคนมีส่วนร่วมกับเรื่องนี้ คนในเมืองต้องเข้าใจคนบนดอย คนบนดอยก็ต้องเข้าใจคนในเมือง” ทศพล กล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ