ท้องถิ่นสร้าง สื่อสอบสารคดีข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนชุดนี้ผลิตภายใต้โครงการ สื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่น เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ประชาไท เพื่อบอกเล่าถึงเรื่องราวและปมปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นทั่วไทยในแง่มุมที่แตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่ปัญหาการบริหาร การเมือง การปกครอง สิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิคนพิการ คนไร้บ้าน ไร้ที่พึ่ง การศึกษา เด็กและเยาวชน กีฬา ไปจนถึงเรื่องธุรกิจ อันเกี่ยวเนื่องกับการทำงานของท้องถิ่นและชุมชน คำว่าท้องถิ่นในที่นี้ได้รับการตีความอย่างกว้าง ว่าหมายถึงรูปแบบของความสัมพันธ์ที่ชุมชนในท้องถิ่นนั้นมีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้อง ไม่ได้หมายความเฉพาะรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นของกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น ถึงแม้ว่าสารคดีในชุดนี้จำนวนหนึ่งจะพูดถึงประเด็นปัญหาในกรอบขององค์กรเหล่านั้นก็ตาม ธรรมาภิบาล (Good Governance) นั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่หน่วยการเมืองหรือการบริหารประเทศเท่านั้น หากหมายรวมถึงองค์กรภาคประชาชน ประชาสังคมหรือชุมชนต่างๆ ด้วยเหตุนี้เราจึงมีการตรวจสอบพฤติกรรมทางเพศของชุมชนนักกิจกรรมทางสังคม-การเมือง อยู่ในสารคดีชุดนี้ด้วย |
- เมืองพัทยาเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รูปแบบพิเศษแห่งที่ 2 ของไทยต่อจากกรุงเทพมหานคร ต่างจากที่อื่นๆ ตรงที่มีอำนาจในการควบคุมและส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้วยลักษณะเฉพาะของพื้นที่ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมาก คนทั่วไปอาจจะคิดว่าพัทยาคล้ายกับกรุงเทพฯตรงที่มีการแก้กฎหมายเมื่อปี 2542 ให้มีการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา แต่หากดูให้ลึกไปกว่ารูปแบบ เมืองพัทยาอาจจะไม่ต่างจากเทศบาลนครใหญ่ๆทั่วไป เพราะยังเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองส่วนภูมิภาคคือจังหวัดชลบุรี อยู่ภายใต้กำกับของผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี
- รายงานพิเศษชิ้นนี้สำรวจพื้นที่ที่ได้ชื่อว่า ‘เมืองพิเศษแห่งที่ 2’ โดยมุ่งเน้นธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งเป็นลักษณะเด่นของเมืองนี้เพื่อค้นหาว่า ภาคส่วนเศรษฐกิจที่ประเทศไทยสนับสนุนส่งเสริมออกหน้าออกตามานานนี้กำลังเผชิญกับข้อจำกัดอย่างไร เมื่อตกอยู่ในสภาพของการกระจายอำนาจที่เป็นแค่ภาพลวงตา
โซนนิ่ง-ชายหาด: จำกัดพื้นที่ จำกัดอำนาจ จำกัดโอกาส
“ถ้าเกิดเมืองพัทยาสามารถปกครองพิเศษได้จริง ในเรื่องของโซนนิ่งสามารถขยายได้เอง แล้วก็บังคับใช้กฎหมายของได้เอง ผมว่าก็น่าจะน่าจะเป็นอะไรที่ดีกว่านี้”
ดำรงเกียรติ พินิจการ หรือที่คนมักรู้จักกันในชื่อ ‘บอย ฮอลลิวูด’ ผู้บริหารผับฮอลลิวูด พัทยา ในฐานะเลขานุการของสมาคมอุตสาหกรรมบันเทิงและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา เล่าถึงปัญหาการจัดโซนนิ่งสถานบันเทิงที่ไม่สอดคล้องกับสภาพเมืองที่ขยายตัว
“ร้านเหล้าหรือร้านกลางคืนมีการเปิดอยู่นอกโซนนิ่งเยอะมาก ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการควบคุมเสียง เพราะว่าไปกระทบต่อชุมชน ผู้พักอาศัย ทีนี้การอยู่ในโซนนิ่ง ทุกคนอยากมีใบอนุญาตแหละ เขาอยากทำให้ถูกต้อง แต่คราวนี้เขาอยู่นอกโซนนิ่ง เขาไม่สามารถขอใบอนุญาตได้”
ดำรงเกียรติมีข้อเสนอในเรื่องของเวลาเปิด-ปิดสถานบริการก็อยากให้การเก็บภาษีเป็นตัวชี้วัดด้วย หากร้านไหนปิดเที่ยงคืนก็จ่ายภาษีในราคาต่ำกว่า ส่วนที่ปิดดึกกว่าแล้วคนไปอยู่กันมากก็ควรจ่ายสูงกว่า รวมทั้งต้องยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวด้วย
ด้าน ปรเมษฐ์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา กล่าวว่าเรื่องโซนนิ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งก็เป็นผลมาจากกฎหมายตั้งแต่เมื่อปี 2547 หรือ 20 ปีที่แล้ว ถ้าต้องการขยายโซนนิ่งอาจจะต้องทำเป็นข้อเสนอจากท้องถิ่นเข้าไปยังมหาดไทย “การขยายโซนนิ่งไม่ง่ายเลย เพราะเท่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็ได้รับเรื่องร้องเรียนอยู่ เพราะเราไม่ใช่เป็นเมืองใหม่ เมืองใหม่เราจะขีดเลยว่าตรงนี้คุณเป็นสถานบริการ สถานบันเทิง ตรงนี้คุณเป็นบ้านพัก ของเรามันเป็นเมืองอยู่แล้ว แล้วเราก็มาขีด (โซนนิ่ง)”
ทั้งนี้ ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมปี 2566 เป็นต้นมา เมืองพัทยาเป็นหนึ่งในพื้นที่นำร่องเปิดผับถึงตี 4 จากการออกกฎกระทรวงขยายเวลาเปิดปิดสถานบริการที่ลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวมีผลแค่สถานบันเทิงเฉพาะในโซนนิ่งเท่านั้น
ดำรงเกียรติ ยังเล่าถึงอีกหนึ่งปัญหา นั่นก็คือการจัดการพื้นที่ชายหาด ที่ถึงแม้ว่าจะมีการปรับภูมิทัศน์ด้วยโครงการถมทรายแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถใช้พื้นที่ได้อย่างเต็มศักยภาพ
“(หาดพัทยา) น่าจัดงานมากเลยนะ บีชคลับ เป็นมีเวที EDM (ย่อมาจาก Electronic Dance Music หมายถึงดนตรีประเภทอิเล็กทรอนิกส์แดนซ์มิวสิค นิยมเปิดในผับหรือเฟสติวัล) มาเปิด…มีคนพร้อมลงทุนจัด แต่ติดปัญหาที่ที่ทางสาธารณะห้ามจำหน่ายบัตร ทีนี้คนที่จะลงทุนเขาก็ต้องมีการลงทุนระดับหลายร้อยล้านในการที่จะตั้ง Production เวที จ้างศิลปิน แต่ต้องกลายเป็นงานฟรีอย่างพัทยามิวสิคเฟสติวัล”
ข้อจำกัดหลักๆ ที่ทำให้ไม่สามารถขายบัตรได้ คือกฎหมายที่สาธารณะที่ระบุว่าห้ามนำพื้นที่มาหาผลประโยชน์ในการเช่าหรือเอาของมาขาย ส่งผลให้การจัดงานใดๆ ก็ตามจึงต้องเป็นไปในลักษณะ “งานฟรี” ทั้งหมด โดยการออกบูธขายของ เมืองพัทยาก็จะเปิดให้คนในชุมชนและพ่อค้าแม่ค้าที่อยู่ในพื้นที่มาลงทะเบียนรับสิทธิ์ จากนั้นก็จับฉลากกันว่าใครจะได้ขาย ซึ่งจะไม่มีการเก็บค่าเช่าพื้นที่แต่อย่างใด ส่วนที่เทศกาลดนตรีที่มีการเปิดขายบัตรจะไปจัดที่พื้นที่ของเอกชนแทน
“สิงคโปร์มีจัดแข่งรถ F1 (การแข่งรถสูตรหนึ่งหรือฟอร์มูลาวัน) คนแห่ไปดูเยอะมาก ปิดถนนทั้งเมือง เขาก็อยู่ที่อัฒจรรย์ดื่มเหล้าดื่มเบียร์ แล้วก็มีการเสริมโดยเอาดีเจ EDM มาปาร์ตี้ระหว่างที่แข่งรถ F1 ไปด้วย เขาต้องการดึงตลาดแข่งขันการท่องเที่ยว มีการขายบัตร ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ผมมองว่าตรงนี้เมืองพัทยาเราควรที่จะมีการแก้กฎหมายเฉพาะ”
เขามองว่าถ้าชายหาดพัทยาสามารถจัดงานระดับโลกได้ก็จะดึงดูดลูกค้ากลุ่มไฮเอนด์เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งส่งผลดีกับธุรกิจท่องเที่ยวทั้งวงจร “เราต้องตามการท่องเที่ยวเมืองอื่นให้ทัน เราอย่าไปคิดว่าคนมาของเราเยอะ แต่คือมันต้องปรับ ถ้าเกิดเขาไม่มาวันหนึ่งมันก็กระทบ”
สนามบิน-ขนส่งไม่หนุนท่องเที่ยว
สิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานในภาคตะวันออกที่น่าจะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองพัทยาได้ดีมากอย่างหนึ่งคือ สนามบินอู่ตะเภา เพราะอยู่ใกล้กว่าสนามบินหลักคือสุวรรณภูมิ แต่น่าเสียดายที่การลงทุนพัฒนาสนามบินแห่งนี้กลับไม่ได้คำนึงถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่นี้เลย แน่นอนว่าสนามบินอู่ตะเภาสร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ทางทหารเป็นหลัก แต่เมื่อสงคราม(เวียดนาม) สิ้นสุดลง การพัฒนาเศรษฐกิจก้าวเข้ามาแทนที่ความคิดในการใช้ประโยชน์สิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้กลับไม่เคยเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปเลย
“ผมเข้าใจว่าคิดแบบทหารคือ คิดเรื่องความปลอดภัย ความมั่นคง แต่ถ้าเรามองในมุมที่เราเป็นนักท่องเที่ยว อู่ตะเภาเป็นสนามบินที่ปลอดภัยที่สุด แต่มันไม่ได้สะดวกกับนักท่องเที่ยวเลย”
บุญอนันต์ พัฒนสิน นายกสมาคมนักธุรกิจการท่องเที่ยวเมืองพัทยา เล่าว่าทางภาคธุรกิจพยายามผลักดันสนามบินอู่ตะเภาให้มาเป็นบริหารงานแบบภาคธุรกิจ ไม่ใช่ภาครัฐ เนื่องจากว่าเกตเวย์ของเมืองพัทยาคือสนามบินอู่ตะเภา แล้วอู่ตะเภาก็มีศักยภาพที่ดีมาก มีอาคารผู้โดยสารพร้อมที่จะรับนักท่องเที่ยวได้แต่ติดที่การบริหารจัดการยังเน้นหนักไปกับการตอบโจทย์ด้านความมั่นคง จึงทำให้ไม่ตอบโจทย์เชิงพาณิชย์
“เราต้องรอชาร์เตอร์ ไฟลต์ (เที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำ) มีค่าบริหารการจัดการค่อนข้างจะสูงกว่าที่อื่น เพราะฉะนั้นก็ทำให้ไฟลท์เข้ามาน้อย ทั้งๆ ที่เป็นเกตเวย์ ไม่ใช่แค่เมืองพัทยา อย่าลืมว่าภาคตะวันออกเรามีชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด อู่ตะเภาเป็นเกตเวย์เข้าสู่เมืองท่าภาคตะวันออกเลยด้วยซ้ำ” บุญอนันต์ กล่าว
ฉะนั้นการคิดแค่ว่าพัฒนาแค่สนามบินจึงไม่เพียงพอ แต่ต้องทำไปถึง “ระบบขนส่งเข้าเมืองเต็มรูปแบบ” ที่จะเพิ่มความสะดวกให้นักท่องเที่ยว
“อย่างระบบการคมนาคมขนส่ง นักท่องเที่ยวไม่มา เราจะกล้าลงทุนไหม ถ้าเอารถแท็กซี่ไปจอดรอ จำนวนมันน้อย แปลว่าค่าใช้จ่ายต้องสูง ค่าโดยสารก็ต้องแพงตามมา แต่ถ้าเกิดมาพัฒนาแล้วระบบขนส่งเข้าเมืองเต็มรูปแบบพร้อม จำนวนเยอะ ค่าโดยสารถูก ไฟลท์บินแน่นอน ทุกคนกล้าไปลงทุน ก็จะเติบโตไปทั้งระบบ” บุญอนันต์ กล่าว
ไม่ว่าจะมีการพัฒนาระบบขนส่งเข้าเมืองเต็มรูปแบบเกิดขึ้นหรือไม่ เมืองพัทยาเองก็ควรพัฒนาระบบขนส่งภายในด้วย ออกแบบโดยใช้หลัก Universal Design อย่างที่เมืองท่องเที่ยวในระดับนานาชาติควรจะเป็น
ความฝันที่บุญอนันต์อยากเห็นคือระบบขนส่งที่สะดวกและปลอดภัย “ชนิดที่ซื้อบัตรใบเดียวเราไปที่ไหนก็ได้ ฝากล็อกเกอร์ก็ได้ เช่ารถก็ได้ ขึ้นรถไฟความเร็วสูงก็ได้ รถไฟท้องถิ่นก็ได้ ขึ้นรถเมล์ก็ได้” คล้ายๆ กับการใช้บัตรแจแปนเรลล์พาส หรือ JR Pass ซึ่งเป็นบัตรโดยสารครอบคลุมการเดินทางทั่วประเทศญี่ปุ่น
เขามองว่าโครงการพัฒนาขนส่งภายในควรริเริ่มโดยเมืองพัทยาเองก่อน แล้วถ้าหากว่าในอนาคตส่วนกลางจะมีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมหัวเมืองชายทะเลตะวันออก ก็ค่อยมาเชื่อมกับระบบที่เมืองพัทยามีอยู่
“การเรียกเมืองพัทยาว่าเป็นเมืองพิเศษ จริงๆ แล้วไม่ได้พิเศษเลย ภาคเอกชนอยากจะผลักดันให้เมืองเป็นเมืองพิเศษจริงๆ ที่เราสามารถจัดการตัวเองด้วยตัวเอง ไม่ใช่จัดการตัวเองโดยพึ่งคนอื่น ทั้งๆ ที่เราเป็นเมืองพิเศษนะครับ มีงบประมาณสามารถจัดการเองได้ แต่เราทำอะไรไม่ได้เลยนอกจากว่าจะต้องขออนุญาต”
คำกล่าวของบุญอนันต์ สอดคล้องกันกับ พัชรศณัสม์ อัศวชัยโสภณ อุปนายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา ผู้ประกอบการโรงแรม ที่บอกว่าเมืองพัทยาได้รับงบประมาณอุดหนุนจากรัฐกว่าพันล้านบาท ซึ่งถือว่าค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับ อปท. อื่นๆ ทั่วประเทศ แต่กลับผิดหวังเมื่อเทียบกับคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ ที่ได้รับ ในความที่เป็นเมืองพิเศษ เธอก็คาดหวังให้พัทยาต้องปลอดภัยพิเศษ หรือทันสมัยพิเศษ แต่สิ่งที่ต้องพึ่งเป็นพิเศษคือตัวเองและคอนเนคชันส่วนตัว
ขณะที่ วสันต์ สงวนถ้อยคำ อุปนายกสมาคมนักธุรกิจท่องเที่ยวเมืองพัทยา ผู้ประกอบการภาคกลางคืน กล่าวถึงผลการเลือกตั้งเมื่อปีที่ผ่านมา สะท้อนว่าคนพัทยาเบื่อกับการบริหารแบบเดิมๆ ที่เน้นผูกขาดอำนาจ เพราะรู้ซึ้งถึงการที่ผู้มีอำนาจไม่ใส่ใจปัญหาของประชาชน กระตุ้นให้คนสนใจเรื่องการกระจายอำนาจมากขึ้น ซึ่งมีนโยบายหลายพรรคที่นำเสนอเรื่องนี้ และคงเป็นเรื่องดีถ้าทำได้ในรุ่นเรา
สำหรับผลการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 ชลบุรีเป็นหนึ่งในหลายจังหวัดที่มีปรากฎการณ์ก้าวไกลล้มบ้านใหญ่ พรรคก้าวไกลได้ ส.ส.เขต ถึง 7 ที่นั่งจากทั้งหมด 10 ที่นั่ง ส่วนของคะแนน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลก็นำทุกเขต
จากแต่เดิมที่คนทั่วไปมักจดจำการเมืองในจังหวัดชลบุรีทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น ว่าเป็นเวทีในการห้ำหั่นกันของตระกูลการเมืองและเครือข่ายผู้อิทธิพลกลุ่มเดิม หรือที่เรียกว่า “บ้านใหญ่”
ย้อนไปดูผลการเลือกตั้งทั่วไปของปี 2562 ในจังหวัดชลบุรี พรรคพลังประชารัฐกวาด ส.ส.เขต ไปถึง 5 ที่นั่ง ขณะที่พรรคส้ม หรือพรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้นได้เพียง 3 ที่นั่ง
ทำให้พัทยาพิเศษจริงๆ
“ถ้าเป็นเมืองพิเศษในประเทศอื่น ตัวนายกเมืองเขาจะสามารถคอนโทรลได้ทั้งหมด แต่ของเราจะเป็นการขอความร่วมมือ” ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ หรือเบียร์ นายกเมืองพัทยา กล่าวว่าคนทั่วไปมักเข้าใจว่าตำแหน่งนี้มีอำนาจมาก แต่บางครั้งอำนาจก็มีการทับซ้อนกันกับส่วนกลาง สืบเนื่องมาจากการกระจายอำนาจที่ยังไม่เต็มที่ แรกเริ่มในสนามการเมือง ปรเมศวร์ทำงานการเมืองท้องถิ่นตามรอยคุณพ่อ จากนั้นเข้าสู่การเมืองระดับชาติ แจ้งเกิดเป็น ส.ส. ชลบุรีหลายสมัย ตำแหน่งสุดท้ายในการเมืองระดับชาติคือผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
“สมมติว่าปัญหาเรื่องรถสองแถวที่คนร้องเรียนมากๆ เราก็ได้แต่ขอความร่วมมือ เพราะว่าคนออกใบอนุญาตให้คือขนส่งจังหวัด เวลาขอความร่วมมือก็จะเป็นแบบนี้ ส่วนประเด็นที่เราดูแลเอง เช่น เรื่องร่มเตียงเองที่เป็นใบอนุญาตของเรา เราก็จะมีการบอกว่า ถ้าคุณทำ หนึ่ง สอง สาม ผิดอย่างไร เราก็จะมีมาตรการให้หยุด 15 วัน หยุด 1 เดือน หรือยึดใบอนุญาตไปเลย นี่ อันนี้คืออำนาจ”
ตามพระราชบัญญัติระเบียบการบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เมืองพัทยามีอำนาจหน้าที่มาก แต่งบประมาณในการจัดทำบริการสาธารณะมีจำนวนน้อย สวนทางกับที่เมืองพัทยาสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นจำนวนมาก
ในปี 2562 ก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 เมืองพัทยาสร้างรายได้เป็นเงินจำนวน 276,328 ล้านบาทต่อปี แต่มีรายได้จากการจัดสรรของรัฐบาลไม่ถึง 2,000 ล้านบาท ซึ่งไม่ถึงร้อยละ 1 ของรายได้ที่เมืองพัทยาจัดหาได้ ขณะที่จำนวนประชากรตามทะเบียนบ้านในเขตเมืองพัทยามีประมาณ 120,000 คน แต่ประชากรแฝงอาจมีถึง 4-5 เท่า รวมถึงนักท่องเที่ยวที่คิดเป็นจำนวนเกือบ 18 ล้านคนต่อปี สภาพเมืองเช่นนี้
เขามองว่าพัทยา “เหมือนบ้านที่สาธารณูปโภคก็ไม่เพียงพอ” โดยมีข้อเสนอว่าควรจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นให้เพียงพอต่อการจัดทำบริการสาธารณะ และขยายฐานภาษี รวมไปถึงการเปิดช่องทางให้เมืองพัทยาสามารถจัดหารายได้ และทำการพาณิชย์ เพิ่มการจัดเก็บภาษีจากประชากรแฝงและภาษีสิ่งแวดล้อมจากนักท่องเที่ยว
อีกหนึ่งปัญหาหลักที่ อปท.อื่นๆ ก็เผชิญเหมือนกัน คือการขาดแคลนบุคลากรท้องถิ่นทั้งตำแหน่งสายงานบริหารแล้วก็ผู้ปฏิบัติ ในกรณีของพัทยา ปรเมศวร์ระบุว่ามีตำแหน่งว่างเกือบ 100 อัตรา ปัญหาขาดแคลนบุคลากรท้องถิ่นเป็นผลมาจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 8/2560 ที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการรวบอำนาจการคัดเลือกบุคลากรของท้องถิ่นไปไว้ที่ส่วนกลาง นายกเมืองพัทยาเสนอว่าควรคืนอำนาจการสอบคัดเลือกบุคลากรให้กลับมาเป็นของท้องถิ่น ด้วยการยกเลิกคำสั่งดังกล่าว รวมถึงควรเปลี่ยนคำนิยามจาก “พนักงานเมืองพัทยา” เป็น “ข้าราชการเมืองพัทยา” เพื่อการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการอย่างเท่าเทียม
ความเป็นไปของภาคท่องเที่ยวอันเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจเมืองพัทยาดังที่สาธยายมาข้างต้นคงจะพอบอกได้ส่วนหนึ่งว่า การกระจายอำนาจแบบครึ่งๆ กลางๆ ในประเทศไทยดูจะเป็นผลเสียและเป็นอุปสรรคสำหรับการพัฒนาโดยรวม พัทยาเป็นเมืองท่องเที่ยวทำรายได้จากการท่องเที่ยวให้กับระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวมได้มากมายมหาศาล เมืองพัทยาในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็จัดเก็บรายได้จากผู้ประกอบการและประชาชนในเมืองไม่น้อยเช่นกัน ในทางกลับกันก็ได้รับการจัดสรรงบประมาณกลับคืนจากส่วนกลางถ้าคิดต่อหัวประชากรก็มากที่สุดในประเทศไทย
อาจจะยังไม่มีบทสรุปอะไรที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม แต่คำถามสำหรับการกระจายอำนาจคือ พัทยาจะดีและพัฒนาได้มากกว่านี้หรือไม่ ถ้ามีอำนาจที่จะจัดการตัวเองได้มากกว่านี้ ใช้งบประมาณจากการจัดเก็บของตัวเองได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ในทำนองเดียวกัน ถ้าส่วนกลางจ่ายเงินอุดหนุนให้พัทยาน้อยลงก็น่าจะมีเหตุผลอันสมควรที่จะลดอำนาจในการควบคุมเมืองพัทยาให้น้อยลงไปด้วย ให้ได้สัดส่วนที่พอเหมาะพอสมต่อกัน
หมายเหตุ: รายได้และรายจ่ายของเมืองพัทยาสามารถดูได้ที่เอกสารงบแสดงฐานะการเงินของเมืองพัทยา ( ปี 2564, 2565, 2566 )
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ