ระยะทาง งบประมาณ การรอคอย: เครื่องช่วยความพิการและกายอุปกรณ์ของคนพิการศรีสะเกษ

กองบรรณาธิการ TCIJ 7 ก.ย. 2567 | อ่านแล้ว 16145 ครั้ง

ท้องถิ่นสร้าง สื่อสอบ

สารคดีข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนชุดนี้ผลิตภายใต้โครงการ สื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่น เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ประชาไท เพื่อบอกเล่าถึงเรื่องราวและปมปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นทั่วไทยในแง่มุมที่แตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่ปัญหาการบริหาร การเมือง การปกครอง สิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิคนพิการ คนไร้บ้าน ไร้ที่พึ่ง การศึกษา เด็กและเยาวชน กีฬา ไปจนถึงเรื่องธุรกิจ อันเกี่ยวเนื่องกับการทำงานของท้องถิ่นและชุมชน

คำว่าท้องถิ่นในที่นี้ได้รับการตีความอย่างกว้าง ว่าหมายถึงรูปแบบของความสัมพันธ์ที่ชุมชนในท้องถิ่นนั้นมีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้อง ไม่ได้หมายความเฉพาะรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นของกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น ถึงแม้ว่าสารคดีในชุดนี้จำนวนหนึ่งจะพูดถึงประเด็นปัญหาในกรอบขององค์กรเหล่านั้นก็ตาม

ธรรมาภิบาล (Good Governance) นั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่หน่วยการเมืองหรือการบริหารประเทศเท่านั้น หากหมายรวมถึงองค์กรภาคประชาชน ประชาสังคมหรือชุมชนต่างๆ ด้วยเหตุนี้เราจึงมีการตรวจสอบพฤติกรรมทางเพศของชุมชนนักกิจกรรมทางสังคม-การเมือง อยู่ในสารคดีชุดนี้ด้วย

  • ที่ศรีสะเกษ การเข้าถึงเครื่องช่วยความพิการและกายอุปกรณ์ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ด้วยข้อจำกัดทั้งด้านภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจ พื้นที่จังหวัดชายแดนที่ห่างไกลทำให้คนพิการ 63,973 คนในจังหวัดนี้ต้องเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึงบริการที่จำเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากกรณีของผู้พิการที่ต้องใช้รถเข็นและขาเทียม ซึ่งชี้ว่าความลำบากในการเข้าถึงเครื่องช่วยความพิการเป็นปัญหาที่เร่งด่วน ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของพวกเขาอย่างรุนแรง ซ้ำร้ายการเดินทางไกลเพื่อติดต่อศูนย์บริการกายอุปกรณ์สำหรับคนพิการ ยิ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูง
  • ทั้งหมดนี้เป็นความท้าทายกับการออกแบบนโยบายและการจัดการทรัพยากรเพื่อสนับสนุนคนพิการในพื้นที่ห่างไกล โดยมีข้อเสนอเชิงนโยบายอย่างการกระจายศูนย์ซ่อมและบริการเครื่องช่วยความพิการในชุมชน การสนับสนุนค่าเดินทางจากภูมิลำเนาเข้ามาติดต่อศูนย์บริการ การให้คนพิการเลือกเครื่องช่วยความพิการที่ตรงกับความต้องการ ซึ่งการเข้าถึงเครื่องช่วยความพิการและกายอุปกรณ์จะทำให้คนพิการสามารถมีชีวิตที่ดีขึ้นและเป็นอิสระได้มากขึ้น #ท้องถิ่นสร้างสื่อสอบ

หากกล่าวถึงดินแดนที่มีภูมิประเทศเป็นที่สูงแล้วลาดลงต่ำ อีกทั้งความหลากหลายทางภาษา อาทิ ภาษาลาว ภาษากูย ภาษาเยอ และภาษาเขมรถิ่นไทย รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติมรดกทางวัฒนธรรม ที่มีขนาดพื้นที่รวม 8,840 ตารางกิโลเมตร ประชากรราว 1.45 ล้านคน แบ่งเป็น 22 อำเภอ ซึ่งที่กล่าวมานี้คือจังหวัดศรีสะเกษในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของประเทศไทย

ด้วยความหลากหลายและความกว้างใหญ่ของพื้นที่ อีกทั้งจำนวนประชากรราวล้านกว่าคน ด้วยความสงสัย ถ้าว่าด้วยเรื่องของคนพิการกับการเข้าถึงเครื่องช่วยความพิการและกายอุปกรณ์ คนพิการในพื้นที่นั้นสามารถเข้าถึงได้ง่ายมากน้อยเพียงไร รวมถึงความเหมาะสมตรงตามความต้องการของคนพิการหรือไม่ และคุณภาพชีวิตนั้นจะเป็นอย่างไร ซึ่งในความหลากหลายไม่ว่าในมิติใด คนพิการต้องถูกกล่าวถึงเพราะเขาเหล่านั้นคือประชากรอีกกลุ่มของประเทศนี้ที่ไม่ควรหลงลืม

เมื่อดูสถิติรวมทุกประเภทความพิการที่จดทะเบียนคนพิการแล้วมีจำนวนรวมในพื้นที่มีถึง 63,973 คน แบ่งเป็น ชาย 32,315 หญิง 31,658 คน และจำนวนประเภทความพิการที่มีมากสุด เป็นความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกายรวม 35,175 คน แยกเป็นชาย 16,614 คน หญิง 18,561 คน อ้างอิงตามสถิติข้อมูลคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤจิกายน 2567 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 (ที่มา: กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ) เห็นได้ว่าความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือร่างกายมีจำนวนมากกว่าครึ่งของความพิการทุกประเภทที่อาจจะมีความจำเป็นในการใช้เครื่องช่วยความพิการและกายอุปกรณ์

เครื่องช่วยความพิการและกายอุปกรณ์สำหรับคนพิการนั้นอาจจะเป็นมากกว่าเครื่องช่วยหรืออุปกรณ์ แต่เปรียบเสมือนเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งที่มาทดแทนอำนวยความสะดวกและช่วยลดข้อจำกัดจากความพิการ ให้สามารถใช้ศักยภาพของตนเองในการดำรงชีวิตลดการเป็นภาระการพึ่งพิงคนอื่นๆ ให้ลดน้อยลง

เครื่องช่วยความพิการและกายอุปกรณ์ คืออะไร?

เครื่องช่วยความพิการ หมายถึงอุปกรณ์ภายนอกร่างกายที่ออกแบบสำหรับช่วยเหลือคนพิการในการดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างปกติหรือใกล้เคียงปกติตามศักยภาพ เช่น รถเข็นวีลแชร์ ไม้เท้า Walker เป็นต้น

กายอุปกรณ์ หมายถึงแขนขาเทียมที่ใช้ในความพิการแขนขาขาด ซึ่งมีชื่อเต็มคือกายอุปกรณ์เทียมและกายอุปกรณ์เสริม เช่น แขนขาเทียม เป็นต้น

Day 1 จากกรุงเทพสู่ศรีสะเกษ

ชานชาลาสถานีรถไฟศรีสะเกษ


ย่านร้านค้าหน้าสถานีรถไฟศรีสะเกษ

เราเริ่มต้นการเดินทางจากกรุงเทพผ่านถนนหมายเลข 24 มุ่งสู่ตัวเมืองศรีสะเกษ ร่วมเจ็ดชั่วโมงสี่สิบเจ็ดนาที ระยะทางรวม 565 กิโลเมตร ซึ่งดูเป็นการเดินทางที่ใช้เวลานานพอสมควร แต่นั่นเป็นหมุดหมายแรกของการเดินทางไปในครั้งนี้ เพื่อมาพบกับคนพิการหญิงสองคนแรกที่เดินทางมาจาก อ.เบญจลักษ์ เรานัดพบกันในตัวเมืองศรีสะเกษ หากจะกล่าวถึงการเข้าถึงสิทธิ์เครื่องช่วยความพิการ เช่น รถวีลแชร์ ที่นอนลมและเบาะลมกันแผลกดทับ ว่าเธอทั้งสองต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ถึงได้รับตามสิทธิ์ที่ควรได้ นั้นยาวนานเพียงใด และสิ่งที่ได้รับมีความเหมาะสมหรือไม่ รวมทั้งคุณภาพชีวิตนั้นเป็นอย่างไรหากมีเครื่องช่วยความพิการที่เหมาะสม และมีความต้องการอย่างไรในการสนับสนุนให้ชีวิตมีอุปสรรคน้อยลง

เครื่องช่วยความพิการ
รถเข็นคันแรกกว่าจะเข้าถึงได้
และหลายคนอาจไม่ได้ใช้เพราะไม่เหมาะสม

สมัย สวัสดีพ่อ

สมัย สวัสดีพ่อ ปัจจุบันอายุ 48 ปี ความพิการของเธอเริ่มเมื่อตอนอายุหนึ่งขวบ จากโรคโปลีโอทำให้ร่างกายช่วงใต้เอวลงไปลีบเล็ก จนไม่สามารถเดินเองได้ นับแต่วัยเด็กจนถึงอายุ 20 ปี เธอยังไม่เคยได้รับรถเข็น (wheelchair) จากที่ไหนสักคันเลย การใช้ชีวิตในช่วงนั้นต้องคลานจนเข่าด้าน แต่เธอสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ทำอาหารและงานบ้านได้ แต่ก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก 

เธอเล่าให้ฟังว่าได้รับรถเข็นคันแรกเมื่อมีอายุ 21 ปีและมีครอบครัวแล้วโดยทางองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นผู้ทำเรื่องส่งขอไปทางพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ส่วนจังหวัด (พมจ.) แต่กว่าจะได้ก็ต้องใช้เวลานานประมาณสองสามเดือน แต่เมื่อได้รับมาก็ไม่ได้ใช้เพราะคุณภาพไม่เหมาะสมกับตัวใช้ได้ไม่สะดวก มีน้ำหนักมาก คันใหญ่ ไม่สามารถเข็นเองได้ นั่งแล้วไม่มั่นใจ “คันนั้นที่ได้มาเข็นยากเป็นรถเข็นแบบของโรงพยาบาลที่เขาเข็นผู้ป่วย หนักเข็นเองไม่ได้นอกจากมีคนมาช่วย ไม่ค่อยสะดวกก็กลับมาคลานเหมือนเดิม เวลาใช้ก็ตอนที่มีธุระในเมืองถึงได้ใช้ต้องมีคนไปด้วยช่วยเข็น” สมัย กล่าว

ปัจจุบันนี้สำหรับ สมัย เป็นประธานชมรมการดำรงชีวิตอิสระคนพิการอำเภอเบญจลักษณ์ เวลาออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านเธอนั่งรถที่ได้รับบริจาคมาจากประเทศญี่ปุ่น ที่บริจาคผ่านทางชมรมคนพิการเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เธอสามารถมีชีวิตอิสระได้มากขึ้นสะดวกขึ้น เวลาไปไหนก็ไม่ต้องพึ่งพิงใครเข็นเองได้เพราะน้ำหนักเบา  การได้นั่งบนรถคันนี้ทำให้มั่นใจเวลาที่ต้องออกจากบ้าน ซึ่งนี่เป็นอีกภาพสะท้อนหากมีรถเข็นที่เหมาะสมกับสภาพความพิการ คุณภาพชีวิตสามารถเปลี่ยนแปลงไม่จมอยู่กลับที่เหมือนอดีตที่ผ่านมา 

อย่างไรก็ตามรถเข็นคันนี้ก็มีปัญหาซ่อมบ่อย โดยเฉพาะในส่วนของยางในล้อเข็นด้านหลังและลูกปืนล้อ การซ่อมแซมหากเล็กน้อยที่บ้านยังพอช่วยแก้ไขให้ได้ ถ้าหากชำรุดเสียหายมากต้องเดินทางไปซ่อมในตัวอำเภอที่ห่างออกไปกว่า 20 กิโลเมตรหรืออาจต้องไปเมืองศรีสะเกษที่อยู่ห่างจากบ้านถึง 120 กิโลเมตร ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มมาก ศูนย์ซ่อมรถเข็นพอมีในศรีสะเกษแต่การเดินทางลำบาก การที่ขนไปซ่อมไม่ได้ง่าย บางทียกไปแล้วไม่มีอะไหล่เสียเที่ยวเปล่า หรือบางทีต้องสั่งอะไหล่จากออนไลน์มา แล้วค่อยเอาไปซ่อมให้เขาเปลี่ยนอะไหล่ให้ ถึงตอนนั้นก็ไม่ได้นั่งรถต้องรอจนซ่อมเสร็จ

รถเข็นของสมัย สวัสดีพ่อ

ปัจจุบัน สมัย มีรถเข็นไว้ใช้งานสองคัน เธอยังไม่เคยไปขอรับใหม่ เนื่องจากข้อมูลที่เธอรับรู้รถเข็นตามสิทธิในปัจจุบันยังมีจำนวนน้อยไม่เพียงพอต่อคนพิการในจังหวัดจึงต้องการให้คนที่ไม่เคยรับสิทธิ์ได้เข้าถึงก่อน “เคยคิดอยู่จะไปขอเบิกใหม่ตามสิทธิคนพิการ แต่ยังไม่เคยไปขอใช้สิทธิตรงนั้นเลย ของเรายังพอใช้ได้อยู่เลยอยากแบ่งให้คนอื่นๆ เบิกไปใช้ก่อน” สมัย กล่าวและว่า เธอจะช่วยให้ข้อมูลคนอื่นๆ ว่าสามารถไปเบิกได้ที่ไหน แล้วต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง อีกทั้งคอยช่วยเหลืออำนวยความสะดวกของเพื่อนคนพิการด้วยกันเพื่อช่วยลดขั้นตอนลดเวลา

ที่นอนลมและเบาะลมกันแผลกดทับใบแรกได้มาตอนไหน 

สำหรับคนพิการทางการเคลื่อนไหวนอกเหนือจากรถเข็นดีๆ ที่น้ำหนักเบา ที่นอนลมและเบาะลมสำหรับกันแผลกดทับเวลานอนและเวลานั่งรถเข็น นับได้ว่าเป็นสิ่งของอีกชิ้นที่มีผลต่อคุณชีวิตคนพิการต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยของสองชิ้นนี้หากต้องซื้อเองราคาค่อนข้างสูง สำหรับคนพิการและครอบครัวที่มีรายได้ไม่เพียงพอคงไม่สามารถเข้าถึงได้ซึ่งมีผลกระทบต่อชีวิตอย่างแน่นอน อย่างกรณีของ

ณัฐนรี พงษ์บรรเทา เธอเป็นสมาชิกชมรมคนพิการหนองงูเหลือม อยู่ที่ตำบลหนองงูเหลือม อำเภอเบญจลักษณ์ ได้รับความพิการเนื่องจากถูกยิงกระดูกตัดไขสันหลังตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 ทำให้เป็นอัมพาตตั้งแต่ใต้หน้าอกลงมาไม่สามารถขยับและเดินไม่ได้ ปัจจุบันเธอมีแผลกดทับรอบที่สองที่ยังไม่หายและกำลังรักษาอยู่ โดยปัจจุบันเธออายุ 53 ปี ไม่มีอาชีพและใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่บ้าน เนื่องจากมีแผลกดทับทำให้ต้องนอนบนเตียงตลอดเวลา ไม่มีที่นอนลมจึงต้องพลิกตัวและนอนคว่ำเพื่อลดการกดทับ การล้างแผลทำด้วยตัวเองและต้องซื้ออุปกรณ์เองทั้งหมด ไม่สามารถเบิกได้ แต่เธอยังช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง เช่น ย้ายตัวลงจากเตียง กวาดบ้าน ถูบ้าน และซักผ้าหากนั่งบนรถเข็น แต่ไม่สามารถนั่งได้ตลอดวันเพราะจะทำให้แผลแย่ลง เธอมีรายได้จากเบี้ยความพิการเดือนละ 800 บาท โดยมีพี่สาววัย 54 ปีคอยช่วยดูแล

ณัฐนรี พงษ์บรรเทา

ในปี พ.ศ. 2562 เธอเคยเป็นแผลกดทับเต็มก้น ต้องนอนโรงพยาบาลเบญจลักษ์นาน 3 เดือน และโรงพยาบาลศรีสะเกษอีก 1 เดือน ใช้เวลาหลายปีกว่าแผลจะหาย แต่ปัจจุบันแผลกดทับกลับมาอีกครั้ง โดยเธอยังคงนอนบนที่นอนธรรมดาเช่นเดิม เธอเล่าว่าที่นอนลมและเบาะลมมีผลต่อการป้องกันแผลกดทับ หากไม่มีเบาะลมนั่ง แผลจะเละ ตั้งแต่ถูกยิงและเดินไม่ได้ เบาะลมใบแรกเพิ่งได้รับในปีนี้ พ.ศ. 2567 ซึ่งได้มาจากชมรมคนพิการหนองงูเหลือมที่ช่วยขอให้จากโรงพยาบาลศรีสะเกษ หากต้องทำเรื่องเองคงไม่ได้เพราะค่าเดินทางสูงและต้องไปหลายรอบ

เธอมีรายได้เพียง 800 บาทต่อเดือนจากเบี้ยยังชีพผู้พิการ ซึ่งไม่พอจ่ายค่าเดินทาง โดยค่าเหมารถในอำเภอเบญจลักษ์ประมาณ 300 บาท หากไปโรงพยาบาลศรีสะเกษจะสูงถึง 1,000 บาท ทำให้เธอไม่สามารถเดินทางไปขอเบาะลมเองได้

ปัจจุบันที่นอนลมและเบาะลมยังไม่ถูกจัดเป็นเครื่องช่วยความพิการที่สามารถเบิกได้ แต่เธอเห็นว่ามีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการป้องกันแผลกดทับ หากเกิดแผลกดทับแล้วจะทำให้การใช้ชีวิตยากขึ้น และเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือดที่อาจถึงแก่ชีวิตได้

ในส่วนของรถเข็น เธอเล่าว่าตั้งแต่พิการได้รับรถเข็นคันแรกจากโรงพยาบาล ซึ่งใช้ทั้งในบ้านและนอกบ้าน รวมถึงใช้สำหรับอาบน้ำ ทำให้รถเกิดสนิมและพังเร็ว เธอต้องเปลี่ยนรถเข็นทุกปี เนื่องจากไม่สามารถเบิกใหม่ได้หากไม่ครบ 5 ปี และการทำเรื่องเบิกใช้เวลานาน เธอจึงต้องซื้อรถเข็นเองหรือขอรับบริจาคจากผู้อื่น ซึ่งคุณภาพไม่คงทน

ณัฐนรี พงษ์บรรเทา

เธอหวังว่ารัฐบาลจะลดระยะเวลาการขอเบิกและปรับปรุงเงื่อนไขให้เหมาะสม เช่น เพิ่มความรวดเร็วในการดำเนินการ และจัดตั้งศูนย์เบิกและซ่อมแซมเครื่องช่วยความพิการในชุมชน เพื่อช่วยลดอุปสรรคและเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนพิการที่มีรายได้น้อยและอยู่ในพื้นที่ห่างไกลให้ดีขึ้น

Day 2 จากตัวเมืองสู่อำเภอขุนหาญและอำเภอกันทรลักษ์

ศาลหลักเมืองกันทรลักษ์

ระหว่างทางในศรีสะเกษ

วันต่อมาเราเดินออกจากตัวเมืองศรีสะเกษผ่านถนนหมายเลข 2111 และถนนหมายเลข 221 ไปเพื่อไปพบคนพิการอีกสองคนที่ความพิการขาขาด ที่อยู่ในอำเภอขุนหาญและอำเภอกันทรลักษ์ โดยสองอำเภอนี้มีพื้นที่กับชายแดนประเทศเพื่อนบ้านกัมพูชา โดยที่แรกเราเดินทางไปอำเภอขุนหาญระยะทางจากตัวเมืองศรีสะเกษ 75 กิโลเมตร และออกจากอำเภอขุนหาญไปอำเภอกันทรลักษ์ ระยะทางอีก 42 กิโลเมตร 

ในหลายจังหวัดอาจจะมีศูนย์บริการกายอุปกรณ์อย่างขาเทียม กระจายตัวครอบคุมถึงระดับอำเภอ แต่ในจังหวัดศรีสะเกษนั้นมีไม่ครอบคุมทุกอำเภอ อีกทั้งระยะทางถึงตัวจังหวัดก็ห่างไกลทำให้คนพิการในอำเภอที่อยู่ไกลจากตัวเมืองไม่ได้รับความสะดวกมากนัก หากแม้คนพิการบางรายมีรถส่วนตัว ค่าน้ำมันการเดินทางในปัจจุบันค่อนข้างสูง หรือการเช่าเหมารถก็แพงขั้นต่ำ 1,000 บาทต่อครั้ง เมื่อขาชำรุดอาจจะไม่ได้รับการปรับปรุงแก้ได้อย่างมีคุณภาพ อย่างกรณีของ สำรวย บุญลอด นั้นจึงกลายเป็นข้อจำกัด

เข้าถึงกายอุปกรณ์(ขาเทียม)ได้ แต่สู้ค่าเดินทางไม่ไหว

กรณีของสำรวย บุญลอด ซึ่งอาศัยอยู่ในบ้านหนองบัวเลน ตำบลบักดอง อำเภอขุนหาญ เธอเสียขาจากการเหยียบกับระเบิดในปี 2552 และได้รับขาเทียมครั้งแรกหลังจากรอประมาณ 3 เดือน ช่วงนั้นเธอต้องปรับตัวอย่างมากในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะในช่วงแรกที่ต้องใช้ไม้เท้าค้ำยันและเดินด้วยความลำบาก

สำรวย บุญลอด

ปัจจุบันสำรวยใส่ขาเทียมมาแล้ว 15 ปี และเปลี่ยนขาเทียมมาแล้วประมาณ 7 ครั้ง โดยในแต่ละครั้งต้องใช้เวลาสองเดือนในการปรับตัวและแก้ไขขาให้เข้ากับร่างกาย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปศรีสะเกษสูงถึง 1,000 บาทต่อครั้ง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีหน่วยบริการย่อยของมูลนิธิขาเทียมในอำเภอขุนหาญ ทำให้เธอสามารถขี่มอเตอร์ไซค์ไปใช้บริการได้ง่ายขึ้นและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

สำรวยเล่าว่าปัญหาหลักที่ทำให้ต้องเปลี่ยนขาเทียมบ่อยคือ การเสื่อมสภาพของฝ่าเท้ายาง ซึ่งส่งผลต่อการเดินและความสมดุล โดยเธอใช้ขาเทียมในการทำงานหนักทั้งในไร่และเป็นผู้ช่วยคนพิการในชุมชน ความมั่นใจของเธอเพิ่มขึ้นเมื่อขาเทียมมีรูปลักษณ์และสีสันที่ดีขึ้น ซึ่งช่วยให้เธอกล้าที่จะแต่งตัวและใช้ชีวิตอย่างมั่นใจมากขึ้น

เธอยังหวังว่าการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะช่วยลดอุปสรรคในการเข้าถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับคนพิการในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ศูนย์ซ่อมแซมกายอุปกรณ์เทียมในชุมชน ภาพฝันที่อยากเห็น

ด้วยระยะทางที่ไกลจากตัวเมือง หนึ่งในความต้องการหลักของกลุ่มคนพิการขาขาดคือการมีศูนย์ซ่อมแซมกายอุปกรณ์เทียมที่กระจายอยู่ในชุมชน แม้จะดูเป็นภาพฝันที่ห่างไกล แต่สำหรับวิชัย โภคพันธุ์ มันเป็นสิ่งที่เขาอยากเห็นจริงๆ

วิชัย โภคพันธุ์ อายุ 67 ปี อาศัยอยู่ที่บ้านภูมิซรอล ตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษ์ เขาเป็นอดีตทหารพรานรุ่นแรกและทหารผ่านศึก ความพิการเกิดจากการเหยียบกับระเบิดขณะทำไร่ปลูกมันใกล้ชายแดนในช่วงปี 2523 หลังจากปลดจากทหารแล้ว ปัจจุบันเขายังคงทำไร่ทำนา และมีอาชีพรับจ้างเป็นงานหลัก นอกจากนี้ยังเป็นนักกีฬายิงปืนคนพิการของจังหวัดและทำงานอาสาช่วยเหลือเพื่อนคนพิการให้เข้าถึงสิทธิ์ต่างๆ

วิชัย โภคพันธุ์

วิชัยเคยเปลี่ยนขาเทียมมาแล้วถึง 10 ขา โดยขาเทียมของเขายังมีส่วนประกอบจากไม้ซึ่งทนทานต่อการใช้งานในไร่และนา อย่างไรก็ตาม เมื่อไม้เสื่อมสภาพและผุพัง การซ่อมหรือเปลี่ยนขาใหม่แต่ละครั้งในอดีตต้องเดินทางไกลถึง 130 กิโลเมตรเข้าสู่ตัวเมือง แม้ว่าปัจจุบันจะมีศูนย์ซ่อมในอำเภอกันทรลักษ์ ทำให้เข้าถึงการซ่อมแซมได้ง่ายขึ้น แต่การเดินทางยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับคนพิการในพื้นที่ห่างไกล

วิชัย โภคพันธุ์ และขาเทียมของเขา

วิชัยสะท้อนว่าหากมีศูนย์ซ่อมและเบิกอุปกรณ์กายเทียมกระจายอยู่ในชุมชน โดยเฉพาะในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) จะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะหลายครอบครัวไม่มีรายได้มากพอจะรับภาระค่าเดินทางได้ บางคนไม่มีแม้แต่มอเตอร์ไซค์หรือรถส่วนตัว เขาเสนอว่า “ถ้าไม่มีช่างที่ทำขาเทียมได้ แค่มีช่างที่สามารถเปลี่ยนอะไหล่พื้นขา สายเข็มขัด หรือซ่อมแซมเล็กน้อย ก็ยังดีกว่าที่จะต้องเดินทางไกล” ความต้องการนี้เป็นการแสดงถึงความหวังที่จะปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนพิการในพื้นที่ห่างไกลให้ดีขึ้น

สถานการณ์การเข้าถึงสิทธิ์ ผ่านมุมมององค์กรคนพิการในศรีสะเกษ

ฤทธิชัย สดใส นายกสมาคมฟื้นฟูคนพิการ อำเภอกันทรลักษ์ ได้สะท้อนประสบการณ์จากการทำงานในพื้นที่ โดยหนึ่งในภารกิจหลักของสมาคมคือการให้ความสำคัญกับเครื่องช่วยความพิการและกายอุปกรณ์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้คนพิการสามารถเข้าถึงสิทธิ์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและตรงตามความต้องการของพวกเขา หากคนพิการสามารถเลือกเครื่องช่วยได้เอง ก็จะลดอุปสรรคในการใช้ชีวิต ส่งเสริมความมั่นใจ และช่วยลดการพึ่งพาครอบครัว ทำให้พวกเขามีชีวิตที่เป็นอิสระและมีศักดิ์ศรีมากขึ้น

ฤทธิชัย สดใส

ทางสมาคมฯ ให้ข้อมูลและช่วยเหลือคนพิการให้เข้าถึงสิทธิเฉลี่ย 20-30 คนต่อปี โดยใช้ 3 ช่องทางหลัก ได้แก่ 1. สนับสนุนให้ข้อมูลและคำแนะนำ หากคนพิการสามารถไปดำเนินการเองได้ 2. ประสานงานกับท้องถิ่นให้ช่วยส่งต่อและสนับสนุนการเข้าถึงสิทธิ และ 3. หากช่องทางแรกและสองไม่สำเร็จ สมาคมฯ จะดำเนินการพาคนพิการไปเอง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลักที่ทำให้คนพิการไม่สามารถเข้าถึงสิทธิได้ คือระยะทางและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เช่น จากอำเภอกันทรลักษ์ไปยังศรีสะเกษ มีระยะทางไปกลับ 130 กิโลเมตร ค่าน้ำมันอาจสูงถึง 800-1,000 บาท และหากเหมารถ ค่าใช้จ่ายอาจสูงถึง 1,500-1,700 บาท ซึ่งยังไม่รวมค่ากิน และยังไม่มีความแน่นอนว่าจะได้รับเครื่องช่วยกลับมาในวันนั้น ทำให้บางคนยอมที่จะไม่ไปหาหมอเพราะค่าใช้จ่ายสูงและความไม่แน่นอนนี้

ฤทธิชัยได้เสนอแนวทางการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น เช่น ให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) และโรงพยาบาลประจำอำเภอที่ใกล้บ้านเป็นผู้รับผิดชอบการเบิกและซ่อมอุปกรณ์กายอุปกรณ์ ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนและความลำบากในการเดินทาง โดยเฉพาะการวัดขนาดรถเข็นหรือการประเมินสภาพคนพิการที่สามารถทำได้ในระดับท้องถิ่น จากนั้นจึงส่งเรื่องต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ

นอกจากนี้ เขายังย้ำว่าคนพิการควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกเครื่องช่วยความพิการหรือกายอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของตนเอง เพราะการใช้งานของแต่ละคนแตกต่างกัน การให้พวกเขาเลือกเครื่องช่วยที่ตรงตามความต้องการจะช่วยให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่ได้รับสิ่งที่รัฐจัดให้เพียงอย่างเดียว

สถานการณ์การเข้าถึงสิทธิ ผ่านมุมมองสถาบันสิรินธร


แพทย์หญิง วิชนี ธงทอง 

หากเราย้อนไปดูต้นทางของคนทำงานเรื่องเครื่องช่วยความพิการและกายอุปกรณ์หลีกหนีไม่พ้นที่จะต้องคุยกับสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูซึ่งถือเป็นหน่วยงานหลักในประเทศในเรื่องของการแจกจ่าย เราคุยกับ พญ.วิชนี ธงทอง  รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ถึงทิศทางการทำงานในภาพรวมของนโยบายเรื่องเครื่องช่วยความพิการและกายอุปกรณ์สำหรับคนพิการว่าในมุมของคนทำงานเห็นปัญหาเรื่องไหนและอยากผลักดันในเรื่องอะไร

หมอสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างกายอุปกรณ์และเครื่องช่วยความพิการที่มีความแตกต่างกัน กายอุปกรณ์หมายถึงขาแขนเทียมที่ใช้ในผู้ป่วยแขนขาขาดส่วนรถวีลแชร์ปิดเครื่องช่วยความพิการเป็นอุปกรณ์ภายนอกที่ออกแบบสำหรับช่วยเหลือคนพิการในชีวิตประจำวันให้ใกล้เคียงปกติตามศักยภาพ การนิยามจึงสำคัญสำหรับการอ้างอิงรายการ อุปกรณ์การฟื้นฟูทางการแพทย์ แต่อุปกรณ์บางอย่างก็ไม่ได้อยู่ในรายการจึงทำให้เกิดอุปสรรคต่อการเบิกเช่นที่นอนเบาะลมที่ถูกจัดอยู่ในสิ่งอำนวยความสะดวกไม่ใช่อุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการในการดำรงชีวิตประจำวัน

“พอเป็นที่นอนลมก็จะถูกจัดเป็นสิ่งอำนวยความสะดวก แต่พอดีว่ามันเพิ่มคุณภาพชีวิตดันไม่ใช่  เราก็ต้องไปโต้แย้ง เพราะมันไม่ใช่อุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการในการดำรงชีวิตประจำวันเค้าก็มองว่าที่นอนลมมันถูกวางไว้มันไม่ได้ช่วยให้เขาลุกขึ้นมาออกไปใช้ชีวิตประจำวันแต่อย่างใดก็แล้วแต่หมวดนี้เราก็โต้แย้งว่ามันเป็นกลุ่มอื่นๆ พอมันมีคำจำกัดความแล้วมันต้องสัมพันธ์กับความพิการ” พญ.วิชนี กล่าว

เมื่อพูดถึงสถานการณ์ของกายอุปกรณ์และเครื่องช่วยความพิการในประเทศไทยหมอสะท้อนว่า จากสถิติปี 2565 ความต้องการของคนพิการที่ต้องใช้การอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลืออยู่ที่ร้อยละ 16.6 คิดเป็น 205,000 คน จากตัวเลขคนพิการที่จดทะเบียนและแฝงทั้งหมด 4,000,000 กว่าคน ซึ่งพิจารณาจากจำนวนตัวเลขพบว่าจำนวนที่มีความต้องการมากที่สุดเป็นกลุ่มเครื่องช่วยฟังรองลงมาคือกลุ่มไม้เท้าขาเดียวแว่นตาและรถเข็นวีลแชร์ ซึ่งโดยภาพรวมจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่หากพิจารณาจากงบประมาณสถาบันสิรินธรใช้งบประมาณ 17 ล้านบาทต่อปี โดยมีที่มามาจากการตั้งเบิกกับสามกองทุน อันได้แก่ กองทุน สปสช. กรมบัญชีกลาง และประกันสังคม เฉลี่ยตกคนหนึ่ง 4,000 – 5,000 บาท เฉพาะงานกายอุปกรณ์เป็นงบที่โรงพยาบาลตั้งงบแล้วไปซื้ออุปกรณ์เพื่อเบิกตามสิทธิ

งบประมาณที่ไม่พอ

ในด้านของการจัดหางบประมาณสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูหมออธิบายว่ายังคงขาดแคลน หากพิจารณาจากรายชื่อที่รอได้รับกายอุปกรณ์และเครื่องช่วยความพิการตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปี 2567 จะต้องต้องใช้งบประมาณอยู่ที่ประมาณ 30 ล้านบาท คิดเป็นประมาณเพียง 30% ของความต้องการทั้งหมด

พญ. วิชนี กล่าวอีกว่า “ย้อนหลังไปสามปีช่วงที่ไม่ใช่โควิดมันจะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 22 ถึง 25 ล้าน บาทต่อปีเพราะฉะนั้นตอนนี้เราได้มา 30% จากความต้องการที่ขอซึ่งมันก็จะเป็นยอดสะสมด้วยนะพูดง่ายง่ายก็คือได้ 30% จาก 100 มาทุกปี... ก็ต้องยอมรับว่างบประมาณเป็นข้อจำกัดเพราะถามว่านอกจากเรื่องรายการที่บอกว่ายังไม่ทั่วถึงและยังไม่เข้าถึงทั้งสามกองทุนเป็นรายการเฉพาะเรื่องมูลค่าสูงอีกเรื่องหนึ่งคือว่างบประมาณของโรงพยาบาลซึ่งไปตั้งซื้อจัดซื้อเรื่องนี้ก็มีปัญหาเหมือนกัน”

เงื่อนไขที่โรงพยาบาล(อื่น) ต้องเจอ

ปัญหาเรื่องเครื่องช่วยความพิการและกายอุปกรณ์ไม่ได้มีแต่สถาบันสิรินธรที่เผชิญเท่านั้นหากพิจารณาโรงพยาบาลใหญ่ใหญ่ตามจังหวัดต่างๆก็เผชิญเงื่อนไขเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างเช่นเดียวกับสถาบันสิรินธรไม่ว่าจะเป็นเรื่องของงบประมาณที่จะต้องจัดซื้อจัดจ้างเป็นจำนวนมากและรัฐไม่มีเงินมากพอที่จะสนับสนุน ซึ่งโรงพยาบาลอื่นๆมีเงื่อนไขต่างจากสถาบันสิรินธรตรงที่ไม่สามารถเบิกเงินจากกองทุนได้ เหมือนสถาบัน

รวมถึงปัญหาเรื่องการไม่มีพื้นที่ในการเก็บอุปกรณ์รวมถึงเจ้าหน้าที่ในการบริหารจัดการอุปกรณ์เหล่านั้นไม่มีหน่วยงาน Support เพราะโรงพยาบาลจะต้องตั้งหน่วยและบุคลากรขึ้นใหม่

เธอกล่าวว่า โรงพยาบาลส่วนใหญ่มักต้องใช้งบประมาณไปกับค่ายา ทำให้ไม่มีงบเพียงพอที่จะลงทุนในด้านการช่วยเหลือผู้พิการ เขาเสนอว่า รัฐควรเข้ามาสนับสนุนในเรื่องนี้ เนื่องจากการจัดหาเครื่องช่วยหรือกายอุปกรณ์จำเป็นต้องใช้งบประมาณมาก ซึ่งโรงพยาบาลไม่สามารถจัดหาได้เพียงพอ นอกจากนี้ เขายังกล่าวว่า การเพิ่มรายการอุปกรณ์อาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด แต่ควรมีการจัดตั้งหน่วยบริการเฉพาะทาง ที่คล้ายกับสถาบันสิรินธร แต่ควรกระจายตัวในหลายพื้นที่ เพื่อให้ผู้พิการในแต่ละพื้นที่สามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น

“สำหรับโรงพยาบาลทั่วไปถ้าเป็นสิ่งของพื้นฐานที่ไม่ได้อยู่ในสามกองทุนเค้าก็จะใช้วิธีว่ามีสต๊อกแล้วให้คนไข้ซึ่งก็ทำได้บางโรงพยาบาลซึ่งที่เหลือก็จะเป็นจากการไปตั้งซื้อทีละตัวหรือใช้วิธีสั่งแล้วไปเบิกข้างนอกมาซึ่งในสิทธิ์ของ สปสช ไม่ได้อำนวยเหมือนสิทธิ์ของราชการโดยระเบียบ” พญ. วิชนี กล่าว

เธอกล่าวว่า หากไปต่างจังหวัด จะเห็นว่าโรงพยาบาลไม่ได้สั่งซื้ออุปกรณ์ไว้ล่วงหน้า แต่ต้องเขียนลิสต์และรอการแจกจ่ายทีหลัง ซึ่งไม่สามารถตำหนิโรงพยาบาลได้เพราะยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่ายา ค่าผ่าตัด และค่าฉุกเฉินอีกมากมาย ทำให้การจัดสรรงบประมาณทั้งหมดมาใช้กับเรื่องนี้เป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ โรงพยาบาลหลายแห่งยังไม่มีพื้นที่สำหรับเก็บอุปกรณ์ จึงต้องมีเจ้าหน้าที่พัสดุคอยดูแลคลัง ซึ่งแตกต่างจากการผ่าตัดที่สามารถหยิบใช้ของได้ทันที

เธอเสนอว่าอาจจำเป็นต้องมีหน่วยพยาบาลเฉพาะทาง ที่ทำหน้าที่แทนโรงพยาบาลในการเก็บรักษาและจัดซื้ออุปกรณ์ เช่น ศูนย์สาธิตเครื่องช่วยความพิการที่มีอยู่ในบางสถาบัน หากโรงพยาบาลทุกแห่งมีหน่วยนี้ก็คงจะดี แต่การเชื่อมโยงหน่วยนี้กับบริการในกลุ่มงานฟื้นฟูอาจไม่เพียงพอ เพราะต้องใช้ระบบคลังเข้ามาดูแล ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่สำหรับโรงพยาบาลที่จะต้องตั้งหน่วยงานและบุคลากรขึ้นมาใหม่ เธอยอมรับว่าหน่วยฟื้นฟูสามารถช่วยได้บ้าง แต่โรงพยาบาลก็มีข้อจำกัดด้านงบประมาณ ซึ่งถือเป็นความท้าทายสำคัญในเรื่องนี้

รายการกายอุปกรณ์ที่มีความแตกต่างกัน

สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ จ.นนทบุรี

หนึ่งในเงื่อนไขสำคัญของการมีหน่วยกระจายกายอุปกรณ์และเครื่องช่วยคนพิการคือ แต่ละกองทุนมีเงื่อนไขในการสนับสนุนงบประมาณที่แตกต่างกันตัวอย่างเช่น ถ้าคนพิการที่มีบัตรคนพิการก็จะใช้ลิสต์ของกรมการแพทย์เป็นพื้นฐาน แต่ในกองทุนอื่นก็จะมีลิสต์เป็นของตัวเอง หมอสะท้อนว่าควรมีการจัดทำลิสต์ที่คนหลากหลายกลุ่มสามารถเข้าถึงได้โดยเฉพาะอุปกรณ์ มูลค่าสูงซึ่งเป็นข้อจำกัดของโรงพยาบาลจังหวัดในหลายที่ที่ไม่สามารถเบิกได้ รวมถึงลิสต์อุปกรณ์บางอย่างถูกจัดอยู่ในกลุ่มอาหารและยาเช่นรถเข็นวีลแชร์ที่ปัจจุบันถ้าจะนำเข้าก็ต้องผ่านเกณฑ์การประเมินขององค์การอาหารและยา (อย.)

พญ. วิชนี กล่าวอีกว่า “กลายเป็นว่ากายอุปกรณ์การแบ่งตามผู้ให้บริการที่เป็นผู้ที่มีความต้องการเฉพาะด้านขึ้นไปซึ่งไม่ควรมันควรจะเป็นเบสิคลิสต์ (basic list) วันลิสต์ (one list) เหมือนแพทย์ฟื้นฟูก็จะได้ใช้ลิสต์ อุปกรณ์มูลค่าสูงซึ่งควรมี ลิสต์กลางกลายเป็นว่าโรงพยาบาลเจอข้อจำกัดทั้งเรื่องลิสต์และราคา โรงพยาบาลชุมชนก็จะมีได้แค่ไม้เท้าวีลแชร์เบสิค”

แพทย์หญิง วิชนี กล่าวว่า “เพราะเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์แต่จริงๆไม่ใช่ อย่างไม้เท้าขาวก็เหมือนกันต้องไปผ่านระบบของ อย. ซึ่งจริงๆก็ไม่เกี่ยว ซึ่งต้องไปแก้ระเบียบก็ทำได้ ในความเห็นส่วนตัว อย. ต้องเป็นคนแก้โดยต้องมีผู้เชี่ยวชาญเข้าไปให้ความเห็น เขาเป็นองค์กรใหญ่เพราะฉะนั้นก็คิดว่าอาจจะต้องมีคนทำงานเจ้าภาพต้นเรื่อง เพราะไม่งั้นก็จะถูกรวมซึ่งอุปกรณ์ต้องมีระเบียบเฉพาะ”

“เรารู้สึกว่าควรเป็นนโยบายรวม เขาควรถามมาที่ผู้เชี่ยวชาญ หรือคนที่เขาทำงานเรื่องนี้ ไม่ควรเป็นคนจัดซื้อโดยคนกลุ่มนึง แต่ผ่านมาตรฐานอีกองค์กรหนึ่ง กลายเป็นเราต้องไปยุ่งกับระเบียบอีกองค์กร มีอีกหลายหลายอย่างที่ต้องผ่าน อย. มีหลายความละเอียดต้องไปแยกว่าเป็นยา เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์” เธอเสริม

ช่วงระหว่างรอจดทะเบียนความพิการ 

หนึ่งในอุปสรรคที่คนพิการต้องเผชิญคือช่วงระหว่างรอการประเมินความพิการ ซึ่งในช่วงนี้พวกเขายังไม่มีบัตรคนพิการ จึงไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการได้ ส่งผลให้เกิดความพิการซ้ำซ้อนหรืออาการแย่ลง หมอสะท้อนให้เห็นว่าปัญหานี้มีความสำคัญ และปัจจุบันมีความพยายามในการปรับเกณฑ์เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงสิทธิ์ได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความพิการถาวร

เธอกล่าวว่า "ถ้ายังไม่จดทะเบียนคนพิการ ก็เป็นปัญหา ในเชิงสุขภาพอาจส่งผลกระทบอย่างมาก จนอาจถึงขั้นต้องนอนติดเตียง เพราะอุปกรณ์เหล่านี้ช่วยในเรื่องการใช้ชีวิตประจำวันและการเข้าสู่สังคม ซึ่งจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตได้"
ในการแก้ไขปัญหา เธอเสนอว่าควรเร่งกระบวนการจดทะเบียนคนพิการให้เร็วขึ้น ปัจจุบันเกณฑ์การจดทะเบียนถูกปรับเป็นภายในสามเดือนแล้ว แต่เธอเสนอว่าสามารถทำได้เร็วกว่านั้นหากแพทย์ประเมินว่าการดำเนินของโรคไม่ดีพอ เธอยังกล่าวเสริมว่า การปรับระเบียบต่าง ๆ ถูกชะลอจากสถานการณ์โควิด แต่คาดว่าจะมีการประกาศใช้ในปี 2567

นอกจากปัญหาเรื่องงบประมาณที่ยังไม่เพียงพอและจำนวนความต้องการที่เพิ่มขึ้น ปัญหาอื่น ๆ เช่น การขาดแคลนหมอฟื้นฟูที่หายไปจากระบบแพทย์ของภาครัฐอย่างต่อเนื่องก็เป็นอุปสรรคสำคัญ แม้ว่าจะมีความพยายามในการผลิตหมอเพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากรายได้และค่าตอบแทนที่ไม่เพียงพอ จึงทำให้หมอจำนวนมากออกจากระบบ เธอเห็นว่าการปรับเกณฑ์การประเมินและเพิ่มค่าตอบแทนอาจช่วยรักษาหมอไว้ในระบบได้

แม้จะมีปัญหาหลายเรื่อง แต่หมอก็ยังไม่รู้สึกหมดหวัง เธอเชื่อว่ายังมีความสามารถและความพยายามในการสนับสนุนงานกลุ่มนี้ โดยเฉพาะเมื่อคนเห็นความสำคัญของงาน และยังมีหลายพื้นที่ที่สามารถสร้างประโยชน์และแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้มากขึ้น นอกจากนี้ เธอยังเห็นถึงความพยายามของชุมชนในการสนับสนุนเรื่องนี้ ซึ่งทำให้เธอรู้สึกว่ายังสามารถทำงานต่อไปได้

ประวัติศาสตร์ว่าด้วยการจดทะเบียนความพิการ

แพทย์หญิง ดลฤดี ศรีศุภผล

พญ.ดลฤดี ศรีศุภผล  หัวหน้ากลุ่มพัฒนาคุณภาพสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูกลุ่มงานพัฒนาคุณภาพ สะท้อนให้เห็นว่าบริบทของการประเมินความพิการในสังคมไทยมีต้นทางมาตั้งแต่ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ว่าด้วยเรื่องการจดทะเบียนคนพิการในปี 2534

โดยหลักแล้วพระราชบัญญัติฉบับนี้เน้นเรื่องการหายไปของอวัยวะหรือส่วนของร่างกายบางส่วนที่จะถูกนับว่าเป็นความพิการเท่านั้นแต่เมื่อกฎหมายเปลี่ยนในปี 2550 การประเมินความพิการก็เปลี่ยนไปเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางของยูเอ็นซีอาร์พีดี (The United Nations Convention on the Rights of Persons with Disabilities -UNCRPD) มากขึ้นคือเน้นไปในเรื่องของการประเมินสังคมมากขึ้นไม่ใช่แค่เรื่องของร่างกายเพียงอย่างเดียว

“ถ้าเป็นเมื่อก่อนเขาก็จะนับว่าคุณมีขากี่ขา แต่เราเปลี่ยนมาเป็นสมรรถนะการใช้ เช่น คุณเดินได้ไหมหรือเดินแล้วมีปัญหาแค่ไหน กับกลุ่มทางจิตที่เปลี่ยนไปคือพยายามที่จะประเมินสมรรถนะในการใช้ชีวิตประจำวันคือมีการประเมินในส่วนนี้มากขึ้น แต่ก็ไม่ได้สามารถทำได้ในทุกประเภทความพิการ เรียกว่าเราพยายามที่จะปรับแล้วกัน” พญ. ดลฤดี กล่าว

“ถามว่าแพทย์ประเมินเรื่องของร่างกายได้ประเมินเรื่องของการใช้ร่างกายในการทำงานในชีวิตประจำวันได้ แต่อันนึงที่แพทย์ประเมินไม่ได้เลยอยู่ในโรงพยาบาลคือเราประเมินไม่ได้หรอกว่าคนพิการเขาเข้าไปมีส่วนร่วมในสังคมมากแค่ไหน ระดับไหน อาจจะคนพิการบางคนที่สามารถออกมาทำงานได้แต่อาจจะมีคนพิการที่ประเภทเดียวกันความพิการเท่ากัน แต่ทำได้แค่อยู่บ้านอย่างเดียวนี่เป็นสิ่งที่พูดกันตรงตรงว่าหมอไม่มีปัญญาประเมิน ถ้าเป็นต่างประเทศเขาก็ต้องใช้บุคลากรด้านสังคม” เธอกล่าว และ เสริมว่า “ถ้าพูดกันจริงๆคือการประเมินความพิการในโลกนี้แต่ละประเทศมีการใช้วิธีที่ไม่เหมือนกันและก็ยังบอกไม่ได้มากว่าวิธีไหนเป็นวิธีที่ดีที่สุด”

คุณภาพอุปกรณ์ส่งผลถึงคุณภาพชีวิตคนพิการ

นอกจากเงื่อนไขเรื่องการประเมินความพิการแล้วความเหมาะสมและคุณภาพอุปกรณ์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คุณภาพชีวิตของคนพิการแตกต่างกันไป มองสะท้อนให้เห็นเครื่องช่วยและกายอุปกรณ์ความพิการควรเป็นสิ่งที่ปรับได้ตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล แต่ในบางครั้งหน้างานตัวเลือกของคนพิการก็ยังไม่มากนัก

“อย่างขาเทียมสมัยก่อนเป็นไม้ กับขาเทียมที่นักกีฬาวิ่งพาราลิมปิก คือดูด้วยตาก็รู้อยู่แล้วว่าอุปกรณ์มีความแตกต่าง ยังไงก็ส่งผลต่อสมรรถนะการใช้ชีวิตที่ต่างกันแน่นอน ขาเทียมบางอันก็นั่งขัดสมาธิพับเพียบหรือคุกเข่าได้ บางอันงอเข่าได้แค่ 90 องศา ส่งผลแน่นอนอยู่แล้วยังไม่ต้องพูดถึงวีลแชร์ วีลแชร์ที่หนักกับวีลแชร์ที่เบา ก็มีแรงส่งที่ไม่เหมือนกัน เพราะใช้แรงไม่เท่ากัน” พญ.ดลฤดี กล่าว

เธอกล่าวว่า "อย่างการพูดถึงรถวีลแชร์ ถ้าคุณมาที่สถาบันสิรินธร อย่างน้อยที่สุดเราก็มีขนาดให้เลือก แต่ถ้าคุณได้รถที่นั่งไม่พอดี มันก็เหมือนกับการใส่กางเกงที่ไม่ใช่ไซส์ของตัวเอง แต่ในต่างจังหวัด อาจไม่มีตัวเลือกมากนัก คนพิการที่ไปแล้วมีเพียงไซส์เดียวที่ใหญ่กว่าปกติ ก็ต้องยอมรับเพราะหากไม่เอาก็จะไม่มีอะไรนั่ง ซึ่งมันเหมือนกับการมีร้านตัดเสื้อทั้งจังหวัดเพียงร้านเดียว มีเพียงกางเกงตัวเดียว ถ้าไม่เอาก็ต้องกลับบ้านไปแบบไม่มีอะไรใส่ หลวมหรือคับหน่อยก็ต้องทนใส่ไปก่อน"

แพทย์หญิง ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “นี่เป็นข้อแตกต่างที่ชัดเจน ซึ่งในมุมมองของฉัน ไม่ใช่แค่คนภายนอกที่ไม่เข้าใจ แต่บุคลากรทางการแพทย์บางครั้งก็ไม่เข้าใจเช่นกัน ทำไมต้องเลือกขนาดของรถวีลแชร์กันขนาดนี้ พวกเขาอาจจะเห็นแค่รถวีลแชร์ที่จอดไว้หน้าโรงพยาบาลสำหรับรับคนไข้ ซึ่งเป็นแบบที่พับไม่ได้ และถ้าเอากลับบ้านไป ใครจะเข็นก็คงยาก จนกว่าจะได้ลองเข็นเองถึงจะเข้าใจ”

เธอยังเน้นว่า “การเลือกวีลแชร์ที่เหมาะสมมีผลต่อการใช้ชีวิต โดยเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องนั่งวีลแชร์ ถ้าไม่มีเบาะรองนั่งอาจยังพอทนได้ แต่ถ้าเป็นคนที่มีอาการอัมพาตหรือบาดเจ็บไขสันหลัง หากต้องนั่งรถที่ไม่มีเบาะลม จะเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับ ซึ่งในวงการเวชศาสตร์ฟื้นฟูจะรู้ว่ามันเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมี แต่ถึงเวลาหากจะหาได้หรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ปัญหาคือ รู้หรือไม่ว่าคนเหล่านั้นต้องได้เบาะลม และเมื่อรู้แล้ว สามารถหาให้พวกเขาได้หรือไม่ สิ่งเหล่านี้มีผลต่อการเข้าถึงอุปกรณ์ที่จำเป็น”

การเข้าถึงหมอฟื้นฟูที่เป็นเรื่องยาก

นอกจากการเข้าถึงการอุปกรณ์คนพิการที่ค่อนข้างยากลำบากแล้วส่วนหนึ่งหมอสะท้อนให้เราฟังว่าการเข้าถึงหมอฟื้นฟูเองก็ไม่ใช่เรื่องง่ายจากจำนวนหมอ ฟื้นฟูที่มีไม่มากแล้วยังมีปัญหาเรื่องเรื่องของแผนกฟื้นฟูที่ไม่ได้มีในทุกโรงพยาบาลและ ไม่ได้มีในหลายภูมิภาค

พญ.ดลฤดี กล่าวว่า “เวลาที่เราอยากจะได้อะไร เราไปถึงหน่วยบริการเวชศาสตร์ฟื้นฟูที่เราเจอคนที่ควรจะต้องเจอรึเปล่าอย่างที่บอก ถ้าเราเจอคนที่ควรที่จะต้องเจอแล้ว หลังจากนั้นเนี่ยเขาสามารถที่จะตะเกียกตะกายหาอุปกรณ์ที่จําเป็นต้องใช้มาให้ได้เราก็จะเข้าถึง ทีนี้ก็ต้องถามว่าแล้วในแต่ละโรงพยาบาลสมมติคนพิการอยู่ต่างจังหวัดอยากไปขอวีลแชร์หรืออยากจะไปเอาอุปกรณ์ คิดว่าส่วนใหญ่น่าจะเจอเวชศาสตร์ฟื้นฟูแต่ไม่แน่ใจว่า 100% หรือเปล่า เพราะหมอเวชศาสตร์ฟื้นฟูก็มีอยู่อย่างจำกัดมาก ถ้าเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดก็คิดว่าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ในประเทศไทย น้อยมากที่จะไม่มี แต่ในจังหวัดที่มีอาจจะเป็นเล็กๆหรืออาจจะมีคนเดียว ซึ่งเขาก็จะต้องตรวจแบบหามรุ่งหามค่ำ”

พญ.ดลฤดี กล่าวว่า ในระบบของโรงพยาบาลก็จะมีระบบที่เรียกว่าบายพาส เคสแบบนี้เจอกายภาพบำบัดแล้วกลับบ้าน เคสแบบนี้เจอหมอกระดูกแล้วกลับบ้าน ถ้าหากอยากจะได้บริการดีๆ อย่างมาสถาบันสิรินธรเจอหมอ เจอนักกายภาพ มีการมาตรวจตัดและบริการที่เหมาะสม แค่คงเป็นไปได้ยากที่จะมีทุกพื้นที่ เพราะว่าหน่วยฟื้นฟูในแต่ละจังหวัดเป็นหน่วยเล็กๆขาดแคลนทรัพยากร ถ้าวันหนึ่งคนไข้ต้องพบแพทย์สามคน เช่น ต้องไปเอายากับหมออายุรกรรม ต้องไปติดตามกับหมอผ่า แล้วต้องไปเจอหมอกายภาพ มีโอกาสสูงมากที่จะตัดแพทย์ด้านกายภาพเพราะอาจจะคิดว่ายังไม่จำเป็นหรือหมดเวลาแล้ว

“เรื่องกายอุปกรณ์เราคิดว่าอยากให้คนเข้าถึงสิ่งที่ตัวเองต้องใช้มากที่สุดให้ได้ก่อนสิ่งไหนที่เขาจำเป็นต้องใช้ก็ควรเข้าถึงวีลแชร์ไฟฟ้าวีลแชร์อาบน้ำหรือเครื่องยกสิ่งเหล่านี้ควรจะต้องถูกเพิ่มเข้าไป” พญ. ดลฤดี กล่าว

บทสรุปของเรื่องนี้เน้นถึงความท้าทายที่คนพิการในศรีสะเกษเผชิญในการเข้าถึงเครื่องช่วยความพิการและกายอุปกรณ์ ปัญหาหลักๆ ได้แก่ ระยะทางที่ไกลจากหน่วยบริการ งบประมาณที่ไม่เพียงพอ ความล่าช้าในการรับอุปกรณ์ และข้อจำกัดในการเลือกอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละบุคคล การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และศูนย์ซ่อมบำรุงในชุมชนยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้คนพิการไม่สามารถเข้าถึงการบริการที่จำเป็นได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยการปรับปรุงเกณฑ์การจดทะเบียนคนพิการให้เร็วขึ้น และการเสนอนโยบายเพิ่มหน่วยบริการเฉพาะทางในชุมชน รวมถึงการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงอุปกรณ์และการสนับสนุนที่เหมาะสมได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีความจำเป็นที่รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องพัฒนาและสนับสนุนระบบบริการให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดอุปสรรคในการใช้ชีวิตของคนพิการในพื้นที่ห่างไกล

 

ภาพประกอบโดย คชรักษ์ แก้วสุราช กราฟิกโดยกิตติยา อรอินทร์

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: