จับตา: คนไทยกลุ่ม Pet Parent มีค่าใช้จ่ายรายสัตว์เลี้ยงเฉลี่ยถึง 1-2 หมื่นบาทต่อปี

กองบรรณาธิการ TCIJ 7 เม.ย. 2567 | อ่านแล้ว 20765 ครั้ง


ข้อมูลจาก The 1 Insight และ CRC VoiceShare พบคนไทยกลุ่ม Pet Parent มีค่าใช้จ่ายรายสัตว์เลี้ยงเฉลี่ยถึง 1-2 หมื่นบาทต่อปี ยอดขายผลิตภัณฑ์สำหรับแมวนั้นคิดเป็น 63 % ของยอดขายผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์ทั้งหมด

ข้อมูลจาก The 1 Insight และ CRC VoiceShare พบว่า หลังโควิดการเลี้ยงสัตว์ขยายตัว สวนทางกับอัตราการเกิดของเด็ก ยอดขายผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยงมีการเติบโตเลข 2 หลักต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 และในปี 2566 เติบโต 14%

จากฐานข้อมูล The 1 บ่งชี้ว่าผู้เลี้ยงสัตว์ในบ้านมักมีแนวโน้มที่จะมีฐานะและเป็นกลุ่มลูกค้ามูลค่าสูง (High-value users: HVUs) โดย 65% เป็นกลุ่ม Pet Parent ที่มีพฤติกรรมเลี้ยงสัตว์เหมือนลูก มีค่าใช้จ่ายรายเดือนต่อสัตว์เลี้ยงแต่ละตัวเฉลี่ยถึง 1-2 หมื่นบาทต่อปี

เจาะลึกพฤติกรรมการเลี้ยงสัตว์ตามแต่ละช่วงวัย พบว่า

Gen Y ขึ้นแท่นทาสแมวอันดับ 1
Gen Z ใช้จ่ายกับผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงเติบโตสูงสุด 46%

เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของพฤติกรรมการใช้จ่าย พบว่า ตัวเลขยอดขายผลิตภัณฑ์สำหรับแมวนั้นคิดเป็น 63 % ของยอดขายผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์ทั้งหมด เนื่องจาก สินค้าสำหรับแมวมีความหลากหลายที่ตอบโจทย์ความต้องการของเหล่า Pet Parent กว่าสัตว์เลี้ยงประเภทอื่นๆ

โดยสินค้าที่มียอดขายสูงสุดในทุกหมวดสัตว์เลี้ยง ได้แก่ อาหารและขนมสำหรับแมว ทรายแมว และห้องน้ำแมว

นอกจากนี้ ยังพบแนวโน้มการขยายตัวของจำนวนผู้เลี้ยงสัตว์ Exotic อาทิ ปลา กระต่าย และนก เป็นต้น สะท้อนผ่านตัวเลขการใช้จ่ายผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง Exotic ที่เติบโตสูงกว่า 50% ในขณะที่ยอดขายผลิตภัณฑ์สำหรับแมวเติบโตอยู่ที่ 8% ยอดขายผลิตภัณฑ์สำหรับสุนัขเติบโตอยู่ที่ 6%

ในส่วนของแบรนด์ที่มียอดขายสูงสุดยังคงเป็นกลุ่มแบรนด์ยอดนิยม ได้แก่ วิสกัส เพดดิกรี สมาร์ทฮาร์ท สมาร์ทเตอร์ และมีโอ

ขณะเดียวกัน ด้วยเทรนด์ Pet Parent ที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ผู้เลี้ยงสัตว์บางกลุ่มเริ่มให้ความสำคัญและลงทุนกับ ‘อาหารสัตว์เกรดโฮลิสติก’ ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยงในระยะยาวมากกว่า แบรนด์ในกลุ่มนี้จึงมียอดขายเติบโตกว่า 20 เท่าในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น โอริเจน คานาแกน โยร่า แฮปปี้ ด็อก นูเทรียนซ์ เป็นต้น

โดยแบรนด์เหล่านี้มักพบได้ใน ‘ร้านขายของสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ’ อาทิเช่น เพ็ทแอนด์มี (Pet ’n Me) ซึ่งมีการเติบโตอย่างโดดเด่นในปี 2566 ในขณะที่ยอดขายสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปและช่องทางอี-คอมเมิร์ซต่างๆ ยังคงมีการเติบโตคงที่

จากผลสำรวจพฤติกรรมการเลี้ยงสัตว์ในบ้านโดย CRC VoiceShare ชี้ว่า คนไทยส่วนใหญ่ 65% เลี้ยงสัตว์เหมือนลูกหรือสมาชิกในครอบครัว หรือที่เรียกว่า Pet Parent ในขณะที่ 33% เลี้ยงสัตว์เป็นเพื่อนคลายเหงา และ 2% เลี้ยงสัตว์เพื่อการบำบัดเยียวยาจิตใจ

นอกจากนี้ อันดับสัตว์เลี้ยงยอดนิยมยังคงเป็นไปตามคาด
63% เลือกเลี้ยงสุนัข
49% เลือกเลี้ยงแมว
12% เลือกเลี้ยงสัตว์ Exotic โดยสัตว์เลี้ยง Exotic ที่เป็นที่นิยม 3 อันดับแรก ได้แก่ ปลา กระต่าย และนก

นอกจากนั้น ยังพบว่าผู้เลี้ยงในไทยยังคงได้สัตว์เลี้ยงมาจากการซื้อจากร้านหรือฟาร์ม ยกเว้นเหล่าทาสแมว ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 50% ที่ได้สัตว์เลี้ยงมาจากการรับอุปการะแมวจรจัด การเปลี่ยนแปลงนี้สอดคล้องกับเทรนด์ “Adopt, Don’t Shop” ซึ่งเป็นแคมเปญระดับโลกที่ทั้งองค์กรและคนดังต่างร่วมกันรณรงค์ให้คน ‘รับเลี้ยง’ สัตว์จรจัดมากกว่าการ ‘ซื้อ’ จากฟาร์ม

เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างแต่ละช่วงวัยกับพฤติกรรมการเลี้ยงสัตว์ พบว่าในภาพรวม Gen Z เลี้ยงสุนัขมากที่สุด ทั้งยังมีการใช้จ่ายเติบโตสูงสุดจากทุกช่วงวัยถึง 46%

ส่วน Gen Y มีสัดส่วนผู้เลี้ยงแมวสูงสุดจากสัตว์ทุกชนิด เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่ใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบและนิยมในการอาศัยอยู่คอนโดฯ การเลี้ยงแมวจึงเป็นทางเลือกที่ลงตัวสำหรับคนรักสัตว์ในวัยสร้างตัว

ในส่วนของ Gen X มีสัดส่วนผู้เลี้ยงปลาและนกสูงสุดจากสัตว์เลี้ยงทุกชนิด เพราะเป็นสัตว์เลี้ยงที่เสริมให้บ้านมีชีวิตชีวาได้โดยไม่สร้างภาระให้ผู้เลี้ยงมากนัก อีกทั้งยังอาจช่วยเสริมความสิริมงคลตามความเชื่อได้อีกด้วย และ Baby Boomer นั้นเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มที่เลี้ยงสัตว์น้อยที่สุดจากทุกช่วงวัย

นอกจากนี้ ผู้เลี้ยงสัตว์ในปัจจุบันยังใช้จ่ายกับ ‘บริการ’ เพื่อสัตว์เลี้ยงต่างๆ ในทุกเดือน โดยบริการที่ได้รับความนิยมสูงสุด 3 อันดับได้แก่ บริการอาบน้ำ-ตัดขน-สปา, บริการรับฝากเลี้ยง, บริการสระว่ายน้ำและสถานที่ออกกำลังกาย

พร้อมทั้งยังเผยว่า กว่า 65% ของผู้เลี้ยงสัตว์ต้องการใช้บริการ ‘Pet Wellness Center’ หรือบริการดูแลและรักษาสัตว์เลี้ยงแบบครบวงจร ที่มีพร้อมทั้งการดูแลทั่วไปไปจนถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะช่วยผ่อนภาระให้ผู้เลี้ยงสามารถฝากดูแลเหล่าสัตว์เลี้ยงแสนรักได้อย่างไร้กังวลเมื่อมีเหตุจำเป็น

นอกจากนี้ ยังมีผู้เลี้ยง 40% ที่ต้องการให้มี ‘คลินิกเฉพาะทาง’ มากขึ้น และ 27% ที่ต้องการให้มี ‘Pet Park สถานที่ออกกำลังกาย’ มากขึ้น โดยที่บริการเหล่านี้ยังไม่แพร่หลายในประเทศไทยมากนัก เมื่อประกอบกับเทรนด์ Pet Parent ที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นได้ชัดว่าธุรกิจสินค้าและบริการเพื่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยงนับว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจทีเดียว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: