'ทหารไทยธนชาต-ออมสิน' คะแนนสูงสุด ESG ธนาคารไทยปี 66 โดย Fair Finance Thailand

กองบรรณาธิการ TCIJ 8 ก.พ. 2567 | อ่านแล้ว 2519 ครั้ง

'ทหารไทยธนชาต-ออมสิน' คะแนนสูงสุด ESG ธนาคารไทยปี 66 โดย Fair Finance Thailand

'ทหารไทยธนชาต-ออมสิน' สองธนาคารรับรางวัลคะแนนสูงสุดจากการประเมิน ESG ธนาคารไทย ปี 2566 โดยแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand)

7 ก.พ. 2567 แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) ประกอบไปด้วย บริษัท ป่าสาละ จำกัด มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และ International Rivers จัดเวทีสาธารณะ “เปิดคะแนน ESG ธนาคารไทย ปีที่ 6 : โอกาสและความท้าทายสำคัญ”

สฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าคณะวิจัยแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) กล่าวว่า แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) เป็นองค์กรสมาชิกเครือข่ายแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ (Fair Finance International) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายคือ การผลิตชุดดัชนีและเครื่องมือให้ภาคประชาสังคม และประชาชนในประเทศต่างๆ ได้ใช้ในการติดตาม และขับเคลื่อนการทำงานด้านการธนาคารที่ยั่งยืนของสถาบันการเงินในแต่ละประเทศ

โดยมีหมวดที่ใช้ในการประเมิน 13 หมวด ได้แก่ 1. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2. การทุจริตคอร์รัปชัน 3. ความเท่าเทียมทางเพศ 4. สุขภาพ 5. สิทธิมนุษยชน 6. สิทธิแรงงาน 7. ธรรมชาติ 8. ภาษี 9. อาวุธ 10. การคุ้มครองผู้บริโภค 11. การขยายบริการทางการเงิน 12. นโยบายค่าตอบแทน และ 13. ความโปร่งใสและความรับผิด

สฤณี กล่าวว่า การประเมินคะแนนจะพิจารณาจากเนื้อหานโยบายและแนวปฏิบัติในการลงทุนและการให้บริการทางการเงินของสถาบันการเงินที่เปิดเผยต่อสาธารณะของแต่ละธนาคาร เปรียบเทียบกับมาตรฐานสากลด้านความยั่งยืนที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจะส่งร่างการประเมินอย่างละเอียดไปที่ธนาคารแต่ละแห่ง และมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากธนาคารต่างๆ โดยปีนี้เป็นปีแรกที่คณะวิจัยได้เข้าพบธนาคารทั้ง 11 แห่ง เพื่อหารือในช่วงรับฟังความคิดเห็น ประกอบด้วยสถาบันการเงินพาณิชย์ 8 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารเกียรตินาคินภัทร และธนาคารทิสโก้ และสถาบันการเงินของรัฐอีก 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย

สำหรับผลการประเมินธนาคาร ปี 2566 คณะวิจัยฯ ได้พิจารณามอบรางวัลประจำปี พ.ศ. 2566 ประกอบด้วย รางวัลคะแนนสูงสุด หมวดธนาคารพาณิชย์ แก่ ธนาคารทหารไทยธนชาต และรางวัลคะแนนสูงสุด หมวดสถาบันการเงินเฉพาะกิจ แก่ ธนาคารออมสิน

โดยในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ธนาคารทหารไทยธนชาตได้คะแนนโดดเด่นกว่าธนาคารอื่นในหลายหมวด ได้แก่ ความเท่าเทียมทางเพศ สุขภาพ สิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน และธรรมชาติ ขณะที่ธนาคารออมสินได้คะแนนโดดเด่นกว่าธนาคารอื่นของรัฐในหมวดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน การคุ้มครองผู้บริโภค และความโปร่งใสและการรับผิด

นอกจากนี้ ในการเสวนาในหัวข้อ ธนาคารไทยกับสิทธิมนุษยชน : จากคำมั่นสัญญาสู่การลงมือทำ สฤณี เล่าถึงการหยิบยกหมวดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็น 1 ใน 13 หมวดของการประเมินคะแนนมาเป็นหัวข้อการเสวนาว่า เนื่องจากสิทธิมนุษยชนเป็นหมวดที่ธนาคารพาณิชย์ของไทยมีคะแนนเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ แม้ว่าเกณฑ์ของปีนี้จะเข้มข้นมากขึ้นก็ตาม ขณะเดียวกันประเด็นธุรกิจและสิทธิมนุษยชนก็เป็นประเด็นสำคัญด้าน ESG ที่กำลังมาแรง รวมไปถึงเป็นกระแสโลกด้วย ทางสหภาพยุโรปเองก็กำลังพิจารณาว่าจะออกกฎหมายบังคับการทำ Human rights due diligence หรือการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านจากบริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นสัญชาติยุโรปและทำธุรกิจในยุโรป แนวโน้มต่างๆ นั้นเริ่มเป็นกระแสที่กำลังมาแรงคล้ายคลึงกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงอยากจะปักธงในประเด็นนี้

ส.รัตนมณี พลกล้า ผู้ประสานงานบริหาร มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า ธนาคารไม่สามารถที่จะตัดขาดจากความรับผิดชอบต่อสิทธิมนุษยชนได้ เพราะโครงการต่างๆ ที่มีการไปลงทุนหรือพัฒนาในพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย มักไม่สามารถใช้ทุนตัวเองลงทุนได้ทั้งหมดจึงต้องไปขอเงินกู้จากธนาคาร ซึ่งปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้น คือ โครงการพัฒนาหลายแห่งส่งผลกระทบต่อประชาชน ไม่ว่าประเด็นการก่อให้เกิดปัญหาเรื่องการใช้ชีวิตอย่างปกติสุขในพื้นที่ การแย่งชิงทรัพยากร หรือการสร้างมลพิษในพื้นที่ ตลอดจนกระทบสิทธิแรงงาน

อีกปัญหาสำคัญที่พบ คือ โครงการพัฒนาต่างๆ ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลเรื่องแหล่งทุน ไม่สามารถตรวจสอบการรับทุนจากธนาคาร ประชาชนจึงไม่มีส่วนร่วมในการตรวจสอบเพื่อเรียกร้องให้ธนาคารเหล่านั้นทบทวนในการลงทุนไม่ให้เกิดโครงการที่ส่งผลกระทบ ทั้งที่ผู้ที่ควรมีความรับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมต้องไม่ใช่เฉพาะเจ้าของโครงการ แต่ควรเป็นผู้ให้ทุน แหล่งทุน และสถาบันทางการเงินด้วย

นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลได้มอบหมายให้มีการผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมองค์ความรู้และพัฒนามาตรการต่างๆ ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ โดยปัจจุบันกระทรวงยุติธรรม มี แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566 – 2570) หรือเรียกสั้นๆว่า “แผน NAP” ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินธุรกิจที่มี 4 ประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข ได้แก่ ด้านแรงงาน (Labour) ด้านชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ (Environment) ด้านปกป้องสิทธิมนุษยชน (Defender) และด้านการลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ (Investment) แต่ละด้านจะมีการกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน และยังมีเรื่องของมาตรการบังคับ มาตรการสมัครใจของภาคธุรกิจ

นรีลักษณ์ กล่าวว่า สิ่งที่ภาคธุรกิจจะต้องดำเนินการ คือ การทบทวนกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ นโยบายขององค์กรตนเองว่าสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ทั้งนี้ การที่จะทำให้ธนาคารไทยและภาคธุรกิจตระหนักเรื่องสิทธิมนุษยชน อาจจะต้องช่วยกันส่งเสริมเผยแพร่ความรู้ รวมไปถึงการออกมาตรการในการเข้าถึงเงินกู้ที่คำนึงถึงผลกระทบเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมมิติด้านแรงงาน ด้านสิ่งแวดล้อม อาจจะต้องเพิ่มแรงจูงใจอย่างการให้อัตราเงินกู้ดอกเบี้ยพิเศษ และต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างธนาคารขนาดใหญ่ที่ปฏิบัติได้ดีกับธนาคารอื่นๆ ที่ยังไม่พัฒนาเรื่องนี้ และที่สำคัญก็คือธนาคารที่มีส่วนสำคัญในการให้เงินกู้ในโครงการที่สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ควรมีส่วนรับผิดชอบด้วย

วินิตา กุลตังวัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมความยั่งยืน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า regulator ในยุคนี้ไม่ใช่ทำหน้าที่แค่การกำกับ แต่ต้องทั้งกำกับ พัฒนา และส่งเสริมระบบนิเวศของตลาดทุนให้ยั่งยืน ทั้งนี้ ลำพังกฎหมายอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ สถาบันการเงินหรือตลาดทุนต้องดำเนินการด้วยตัวเองด้วย เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมไปให้คนอื่นหรือเป็นแรงที่ผลักดันอีกทางหนึ่ง

โดยยกตัวอย่างการออกนโยบายให้บริษัทจดทะเบียนมีการจัดทำแบบ 56-1 ONE REPORT เนื่องจาก ก.ล.ต.ไม่สามารถกำกับเรื่องวิธีการทำธุรกิจ แต่สิ่งที่จะเป็นกรอบคือ บริษัทต้องเปิดเผยข้อมูล เปิดเผยวิธีปฏิบัติที่คำนึงเรื่องสิทธิมนุษยชน ผลกระทบสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม

บาร์บารา อูสเตอร์ส ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินอาวุโส ของ Oxfam Novib ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการ Fair Finance Guide Netherlands เล่าว่า หนึ่งในเหตุผลที่ธนาคารเนเธอร์แลนด์ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน มีจุดเริ่มต้นจากอุบัติเหตุตึกถล่มที่โรงงาน Rana Plaza บังกลาเทศ เมื่อปี 2556 มีผู้เสียชีวิตกว่าพันคน ส่งผลให้ธนาคารเนเธอร์แลนด์ตื่นตัวและหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ประกอบกับการเรียกร้องภาคประชาสังคม

นอกจากนี้ เธอชี้ว่า คะแนนของธนาคารต่างๆ ในเนเธอร์แลนด์ที่ Fair Finance Netherlands ให้คะแนนนั้นหลายแห่งได้คะแนนถึง 100 คะแนนเต็ม ซึ่งสิ่งนี้เกิดจากการทำงานต่อเนื่องและพูดคุยกับธนาคารมากว่า 15 ปี ของ Fair Finance Netherland ซึ่งเป็น Fair Finance ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก (ก่อตั้งปี 2552)

บาร์บารายังตั้งข้อสังเกตถึงนโยบายของธนาคารไทยกับเนเธอร์แลนด์ด้วยว่า แม้ธนาคารไทยจะมีนโยบายค่อนข้างมาก แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นเรื่องตัวธนาคารเอง ควรต้องเพิ่มนโยบายส่วนที่เป็นนโยบายที่ใช้กับลูกค้า เพราะปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนมักจะเกิดที่ต้นน้ำหรือกิจการของลูกค้า จึงอยากจะเห็นธนาคารมีการยกระดับไปข้างหน้าเพื่อจะได้เห็นความยั่งยืนมากขึ้น

ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดรายงานการประเมินธนาคารไทย ปีที่ 6 ได้ที่นี่

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: