พบ 'นาโนพลาสติก' ในน้ำดื่มบรรจุขวด แต่ไม่ฟันธงผลลบต่อสุขภาพ

กองบรรณาธิการ TCIJ 8 เม.ย. 2567 | อ่านแล้ว 25373 ครั้ง

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียและมหาวิทยาลัยรัทเกอร์ส ตรวจพบ “นาโนพลาสติก” ในน้ำดื่มบรรจุขวด แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่า ชิ้นส่วนอนุภาคของนาโนพลาสติกเหล่านี้ เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่

ช่วงต้นเดือน เม.ย. 2024 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่านักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียและมหาวิทยาลัยรัทเกอร์ส ตรวจพบ “นาโนพลาสติก” ในน้ำดื่มบรรจุขวด โดยนักวิจัยใช้กล้องจุลทรรศน์เลเซอร์คู่ ตรวจน้ำดื่มขนาดหนึ่งลิตร พบว่ามีอนุภาคของนาโนพลาสติกขนาดเล็กที่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ในจำนวนมหาศาล

การศึกษาในรายงานการประชุมขององค์กรไม่แสวงผลกำไรด้านวิทยาศาสตร์ National Academy of Sciences (NAS) ระบุว่า นักวิจัยได้ศึกษาตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวดทั่วไปจำนวน 5 ตัวอย่าง จากทั้งหมด 3 ยี่ห้อ พบว่ามีระดับอนุภาคของนาโนพลาสติกอยู่ที่ระหว่าง 110,000 ถึง 400,000 ชิ้นต่อลิตร หรือคิดเฉลี่ยอยู่ที่ราว 240,000 ชิ้นโดยอนุภาคที่ตรวจพบมีขนาดเล็กกว่าหนึ่งไมครอน ซึ่งเส้นผมของมนุษย์มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 83 ไมครอน

ก่อนหน้านี้ มีการศึกษาเกี่ยวกับ “ไมโครพลาสติก” ที่มีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย ตั้งแต่ขนาดที่มองเห็นได้ 5 มิลลิเมตรไปจนถึงขนาดระดับหนึ่งไมครอน จากการศึกษาล่าสุดนี้พบว่า ในน้ำดื่มบรรจุขวดมีอนุภาคของนาโนพลาสติก มากกว่าไมโครพลาสติกประมาณ 10 ถึง 100 เท่า

ไนชิน เคียน นักเคมีจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ผู้นำในการเขียนงานวิจัยนี้ ชี้ว่าดูเหมือนพลาสติกส่วนใหญ่มาจากขวด และไส้กรองเมมเบรนรีเวอร์สออสโมซิส (reverse osmosis membrane filter) ที่ใช้เพื่อกรองสิ่งปนเปื้อนต่าง ๆ แต่ไม่มีการเปิดเผยยี่ห้อของน้ำดื่มที่ใช้ในการทดสอบ นักวิจัยต้องการที่จะเก็บข้อมูลจากตัวอย่างน้ำดื่มเพิ่มเติม รวมถึงทดสอบกับน้ำดื่มยี่ห้ออื่น ๆ อีกด้วย โดยทั้ง 3 ยี่ห้อในการทดลองนี้ เป็นน้ำดื่มที่หาได้ทั่วไป และซื้อมาจากห้างค้าปลีกวอลมาร์ท (WalMart)

อย่างไรก็ดี นักวิจัยยังไม่สามารถระบุได้ว่า ชิ้นส่วนอนุภาคของนาโนพลาสติกเหล่านี้ เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่

ฟีบี สเตเปิลตัน ผู้เชี่ยวชาญสาขาพิษวิทยา จากมหาวิทยาลัยรัทเกอร์ส ผู้ร่วมเขียนงานวิจัย ให้ความเห็นว่า “ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ เราไม่รู้ว่ามันเป็นอันตราย หรือมีความอันตรายอย่างไร” สเตเปิลตันเสริมว่า อนุภาคเหล่านี้สามารถเข้าสู่เนื้อเยื่อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งรวมถึงร่างกายของมนุษย์ การวิจัยในปัจจุบันพยายามค้นหาว่าสิ่งนี้ทำปฏิกริยาอย่างไรต่อเซลล์ต่าง ๆ

สมาคมน้ำดื่มบรรจุขวดระหว่างประเทศ (IBWA) ระบุในแถลงการณ์ว่า “ปัจจุบันนี้ เรายังขาดวิธีการ (ตรวจวัด) ที่ได้มาตรฐาน และไม่มีความเห็นพ้องทางวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากอนุภาคของนาโนและไมโครพลาสติก ดังนั้นรายงานของสื่อ ที่เกี่ยวข้องกับอนุภาคเหล่านี้ในน้ำดื่ม จึงเป็นการทำให้ผู้บริโภคหวาดกลัวโดยไม่จำเป็น”

สภาเคมีแห่งอเมริกา ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ผลิตพลาสติกในสหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นต่อประเด็นนี้

ตามรายงานของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ให้รายละเอียดว่า โลกกำลังจมอยู่ภายใต้มลพิษของพลาสติก มีการผลิตพลาสติกมากกว่า 430 ล้านตันต่อปี โดยพบอนุภาคไมโครพลาสติกในมหาสมุทร อาหารและน้ำดื่ม ซึ่งบางส่วนอาจปนเปื้อนมาจากเสื้อผ้าและไส้กรองก้นบุหรี่

ภายหลังการศึกษานี้ ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยทั้ง 4 คน เผยว่าพวกเขากำลังลดการบริโภคน้ำดื่มบรรจุขวดแล้ว

เวย มิน นักเคมีจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ผู้บุกเบิกเทคโนโลยีกล้องจุลทรรศน์เลเซอร์คู่ ได้ลดการบริโภคน้ำดื่มบรรจุขวดลงครึ่งหนึ่งแล้ว

ไบแซน แยน นักเคมีด้านสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย หันไปเพิ่มการบริโภคน้ำประปา แต่มองว่าปัญหาอาจจะมาจากตัวกรอง ที่ก่อให้เกิดอนุภาคพลาสติกในน้ำดื่ม

ผู้เชี่ยวชาญที่ไม่มีความเกี่ยวข้องต่อการวิจัยนี้ ต่างแสดงความกังวลเกี่ยวกับอันตรายของอนุภาคพลาสติกขนาดเล็กที่ตรวจพบ แต่ชี้ว่ายังเร็วเกินไปที่จะสรุปในเรื่องนี้

เจสัน โซมาเรลลี อาจารย์ด้านการแพทย์และผู้อำนวยการกลุ่มมะเร็งวิทยาเปรียบเทียบจากมหาวิทยาลัยดุ๊ก ที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัย ให้ความเห็นว่า “อันตรายจากพลาสติกยังคงเป็นคำถามที่ไร้คำตอบ สำหรับตนเอง สารเติมแต่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลมากที่สุด” โซมาเรลลี อธิบายว่า เรารู้ว่าอนุภาคของนาโนพลาสติกสามารถเข้าสู่ระดับเซลล์ พวกมันเป็นตัวนำพาของสารเติมแต่ง ที่อาจเพิ่มความเครียดต่อเซลล์ สร้างความเสียหายให้กับดีเอ็นเอ และเปลี่ยนการเผาผลาญหรือการทำงานของเซลล์ได้

อาจารย์ด้านการแพทย์ จากมหาวิทยาลัยดุ๊ก ยังอ้างถึงผลงานของเขาที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ ซึ่งพบว่ามีสารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็งในพลาสติกเหล่านี้มากกว่า 100 ชนิด

โซอี้ ไดอาน่า นักชีววิทยาด้านวิวัฒนาการจากมหาวิทยาลัยโตรอนโต ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษาข้างต้น เผยว่าสิ่งที่น่ากังวลก็คือ “อนุภาคขนาดเล็ก สามารถปรากฏได้ในอวัยวะต่างๆ และอาจจะทะลุเยื่อหุ้มที่ไม่ควรข้ามไป อย่างเช่น ตัวกั้นระหว่างเลือดและสมอง (blood-brain barrier – BBB)”

เทคโนโลยีกล้องจุลทรรศน์เลเซอร์คู่ ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อราว 15 ปีก่อน โดยมิน นักเคมีกายภาพจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เป็นอุปกรณ์ที่สามารถช่วยระบุสารประกอบจำเพาะตามคุณสมบัติทางเคมี และวิธีที่พวกมันสะท้อนกลับเมื่อสัมผัสกับแสงเลเซอร์

เดนิส ฮาร์เดสตี นักสมุทรศาสตร์ของรัฐบาลออสเตรเลีย ที่ศึกษาเรื่องขยะพลาสติก แสดงความกังวลน้อยกว่าคนอื่น ๆ เกี่ยวกับอนุภาคนาโนพลาสติกในน้ำดื่มบรรจุขวด โดยกล่าวเชิงเปรียบเทียบว่า น้ำหนักรวมของนาโนพลาสติกที่ตรวจพบ เท่ากับน้ำหนักของเหรียญเพนนีเพียงเหรียญเดียว ในปริมาตรของสระว่ายน้ำขนาดโอลิมปิก จำนวนสองสระ

แยน นักเคมีด้านสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าวว่าเขากำลังเริ่มศึกษา เพื่อตรวจดูว่ามีพลาสติกปนเปื้อนอยู่ในน้ำประปามากแค่ไหน ทั้งในเมืองบอสตัน เซนต์หลุยส์ ลอสแองเจลิส และที่อื่นๆ ซึ่งการศึกษาก่อนหน้านี้ระบุว่า อาจมีอนุภาคนาโนพลาสติกในน้ำประปา น้อยกว่าที่พบได้ในน้ำดื่มบรรจุขวด

แม้จะยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ผู้เกี่ยวข้องแนะนำให้บุคคลที่กังวลในประเด็นนี้ เลือกใช้ขวดน้ำพลาสติกแบบนำกลับมาใช้ซ้ำ แทนการใช้ขวดน้ำพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง

ที่มา: VOA https://www.voathai.com/a/scientists-find-about-a-quarter-million-invisible-nanoplastic-particles-in-a-liter-of-bottled-water/7436816.html

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: