ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน
4 มี.ค. 2567 ณ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ผู้เขียนได้ร่วมสานเสวนา ในหัวข้อ ร่วมหามุมมองใหม่ ‘ประวัติศาสตร์ชายแดนใต้’ เพื่อสังคมสมานมิตร เรียนรู้ เคารพความต่างซึ่งปาฐกถาเปิดโดย...จาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร และร่วมสานเสวนาโดย
• รศ.ดร.โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล
• มะยุ เจ๊ะนะ ผอ.สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP)
• ดร.เฉลิมชัย พันธ์เลิศ ผอ.สถาบันสังคมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
• อับดุลสุโก ดินอะ (ผู้เขียน) ที่ปรึกษาสมาคมโรงเรียนเอกชนศาสนาอิสลามจังหวัดสงขลา
• วลัยลักษณ์ ทรงศิริ นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
• ผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล อาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
• ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ นักเขียน นักประวัติศาสตร์
• พล.อ. ดร.ชินวัฒน์ แม้นเดช ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาการป้องกันและแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ฯ วุฒิสภา
• ฮาซัน ยามาดีบุ ประธานกลุ่มบุหงารายาเพื่อการศึกษา จ.ยะลา และเลขาธิการสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP)
ดำเนินการสานเสวนาโดยผศ.ดร.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์, ติชิลา พุทธสาระพันธ์ และณาตยา แวววีรคุปต์ในเวทีสานเสวนาฯ เชื่อว่า ประวัติศาสตร์ชายแดนใต้ ต้องสามารถถกเถียงได้ ผู้คนร่วมออกแบบการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ขณะที่ สพฐ. ยอมรับ ต้องสร้างสมดุล หาวิธีการสร้างความเข้าใจนักเรียน จุดเริ่มต้นไปสู่การลดความขัดแย้งชายแดนใต้
ผศ.ดร.ซัมซู สาอุ หัวหน้าโครงการ ซึ่งเป็นอาจารย์ สาขาวิชาการบริหารและการจัดการการศึกษาอิสลาม คณะวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้เปิดเผยว่า “โครงการสานเสวนาประวัติศาสตร์ชายแดนใต้มีวัตุประสงค์ 1. เพื่อประชาสัมพันธ์แนวทางการแปลงเปลี่ยนคลี่คลายความขัดแย้งอันเนื่องมาจากมิติทางประวัติศาสตร์ด้วยวิธีการสานเสวนาทางประวัติศาสตร์และ 2.เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการร่วมแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งด้วยกระบวนการสานเสวนาพูดคุยบนฐานการเคารพในสิทธิทางวัฒนธรรมประวัติศาสตร์ และเรื่องเล่าที่แตกต่างหลากหลายเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมโดยไม่ใช้ความรุนแรง “
- ประวัติศาสตร์ชายแดนใต้/ปาตานี:มุมมองที่แตกต่างหลากหลาย
ผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล อาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
กล่าวโดยสรุปได้ดังนี้
- การเขียนประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับปัต(ปา)ตานี/ชายแดนใต้เป็นพื้นที่ของสนามสู้รบที่สู้กันด้วยการตีความอดีตที่แตกต่างกันระหว่างจุดยืนหรือมุมมองของผู้ที่ยึดกรอบการศึกษาประวัติศาสตร์แบบรัฐไทยกับมุมมองของประวัติศาสตร์ชาตินิยมมลายูปาตานี
- รัฐไทยมีมุมมองว่าปัต(ปา)ตานีเป็นเมืองขึ้นหรือเมืองประเทศราชอยู่ภายใต้อำนาจของไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย การผนวกดินแดนปัตตานีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทยนั้นมีความชอบธรรม เป็นการอธิบายเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ดังกล่าวในโครงเรื่องของการสร้างชาติ การบูรณการอำนาจของรัฐ และการจัดการรูปแบบการปกครองบ้านเมืองที่เหมาะสมประวัติศาสตร์ปัตตานีถูกหยิบยกมาใช้ในการต่อต้านรัฐไทยโดยขบวนการแบ่งแยกดินแดน (กอบกู้เอกราช)
- ประวัติศาสตร์ของชาวมลายูปาตานีมีโครงเรื่องอยู่ที่การเน้นย้ำว่าปาตานีเป็นรัฐที่มีเอกราชและอธิปไตยมาช้านาน และถูกยึดครองโดยรัฐไทยอย่างไม่ชอบธรรม
- การที่รัฐไทยกับนักชาตินิยมมลายปาตานียึดถือ "ประวัติศาสตร์" คนละชุดซึ่งนำเสนอ "ความจริง" คนละแบบนำไปสู่การที่ไม่สามารถเริ่มต้นพูดคุยกันได้อย่างสันติ
- ประวัติศาสตร์ของทั้งสองฝ่ายเป็นประวัติศาสตร์แช่แข็งและตายตัวเป็นความจริงที่ว่าเป้าหมายของ "ประวัติศาสตร์" คือการค้นหาความจริง แต่ความจริงทางประวัติศาสตร์หาได้มีเพียงหนึ่งเดียวไม่ ข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ไม่ใช่ความเป็นจริงสูงสุดที่โต้เกียงหรือโต้แย้งไม่ได้ ไม่มีประวัติศาสตร์ฉบับไหนที่มีความสมบูรณ์ ถูกต้อง จริงแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์ในตัวของมันเอง หากแต่เราผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ต้องยอมรับ เปิดใจว่าประวัติศาสตร์มีหลายมุมมองได้ และสามารถมีการตีความแบบอื่นที่ไม่ตรงกับการตีความของเราได้
ในขณะที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร สะท้อน ว่า
“การศึกษาประวัติศาสตร์ชายแดนใต้ ต้องไม่กำหนดว่าให้ศึกษาเนื้อหาแบบนั้น และห้ามศึกษาเนื้อหาแบบนี้ แต่ต้องส่งเสริมให้เกิดการจัดความสัมพันธ์ที่ดีที่สุด ต้องยอมรับความต่าง เคารพความเห็น เปิดพื้นที่รับฟัง เปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยน ถึงจะเกิดการสมานมิตร ลดความขัดแย้ง”
ส่วนผู้เขียนเสนอทางออกโดยใช้ช่องทางพรบ.การศึกษา ที่เปิดโอกาสให้โรงเรียนในการออกแบบจัดการเรียนรู้ วิชา ประวัติศาสตร์ชาติกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ในเชิงโครงสร้างที่สามารถแก้ได้ทั้งระบบในอนาคตรวมทั้งการจัดเรียนประวัติศาสตร์ส่งเสริมให้เกิดการจัดความสัมพันธ์ที่ดีที่สุด สามารถยอมรับความต่าง เคารพความเห็น สามารถเปิดพื้นที่รับฟัง เปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยน ถึงจะเกิดการสมานมิตร ลดความขัดแย้งในอนาคตเช่นกันคือการกระจายอำนาจทางการศึกษาสำหรับหัวใจของการกระจายอำนาจทางการศึกษานั้นต้องกระจายทั้งอำนาจการบริหารจัดการ คนและงบประมาณ เพื่อสามารถร่วมออกแบบการศึกษาที่เหมาะสมกับบริบทเฉพาะของพื้นที่ มิใช่เฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้นแต่ทุกพื้นที่การศึกษาในทุกภูมิภาคของประเทศไทยอันจะนำไปสู่พื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษามากมายและจะตอบโจทย์การพัฒนาประเทศที่เท่ากับสถาการณ์โลกในอนาคตที่สำคัญสุดมันจะเป็นรากฐานการกระจายอำนาจการปกครองต่อไป
วันที่ 6 มี.ค. 2567 เวลา 13.30 น.ณ ห้องประชุมห้องประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ห้องN 402)ชั้นที่4 อาคารรัฐสภา กรุงเทพมหานคร ผู้เขียนและตัวแทนคณะทำงานโครงการสานเสวนาประวัติศาสตร์ชายแดนใต้ ได้ยื่นเอกสารสรุปการจัดกิจกรรมและข้อข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับการเสวนาประวัติศาสตร์เพื่อสร้างสังคมสมานมิตรชายแดนภาคใต้ ต่อนายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานและคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีข้อสรุปและ ข้อเสนอเชิงนโยบาย 4ข้อเบื้องต้น คือ 1.กรรมาธิกรจัดกิจกรรมสานเสวนาประวัติศาสตร์ทุกพื้นที่ เปิดพื้นที่รับฟังความทุกข์ เพื่อเยียวยา ความเจ็บปวด คืนความยุติธรรม และยอมรับความจริง 2.ศอ.บต. จัดทำรายวิชา/กิจกรรรมเพื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์สมานมิตรให้กับข้าราชการในพื้นที่ ชายแดนภาคใต้ 3.กระทรวงศึกษาธิการจัดพิมพ์เนื้อหาประวัติศาสตร์สมานมิตรเพื่อการเรียนรู้รายวิชาประวัติศาสตร์ทุกระดับชั้น 4.โรงเรียนออกแบบจัดการเรียนรู้รายวิชาประวัติศาสตร์ชาติกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดความสัมพันธ์ที่ ดีที่สุดสามารถยอมรับความต่าง เคารพความเห็น สามารถเปิดพื้นที่ รับฟังเปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนระหว่างกัน ในการนี้ คณะผู้จัดโครงการจึงขอให้คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นทีจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้พิจารณาข้อมูลและแนวทางการการนำไปใช้เพื่อดำเนินการต่อไป”
หมายเหตุ
ดาวน์โหลดเอกสารประกอบเวทีสานเสวนาประวัติศาสตร์เพื่อสังคมสมานมิตร “ประวัติศาสตร์ชายแดนใต้ในหลายกระแส” ณ สถานีโทรทัศน์ Thaipbs เมื่อ 4 มี.ค. 2567ได้ที่นี่ https://url.in.th/suDrj
องค์กรร่วมจัด
• คณะวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
• สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
• มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์ปัตตานี
• ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ (The Active) ไทยพีบีเอส
ชมเสวนา ช่วงที่ 1 “ก้าวให้พ้นกับดักประวัติศาสตร์กับความขัดแย้งชายแดนใต้” http://youtu.be/uz5sGWFKqPQ
ชมเสวนา ช่วงที่ 2 “ประวัติศาสตร์ชายแดนใต้ในหลายกระแส” http://youtu.be/H4GSR9xtht4
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ