ชาวญี่ปุ่นฟื้นชีวิต 'ร้านหนังสือ' - ผุดไอเดียสร้างชุมชนคนรักการอ่าน

กองบรรณาธิการ TCIJ 9 พ.ย. 2567 | อ่านแล้ว 8178 ครั้ง

ชาวญี่ปุ่นฟื้นชีวิต 'ร้านหนังสือ' - ผุดไอเดียสร้างชุมชนคนรักการอ่าน

ร้านหนังสือญี่ปุ่น' เปิดให้เช่าชั้นวางขายเล่ม สร้างคอมมูนิตี้คนรักการอ่าน ดึงลูกค้าออฟไลน์ ท้าชนแพลตฟอร์มออนไลน์ หวังฟื้นวัฒนธรรมการอ่านแบบจับต้องได้ | ภาพประกอบสร้างจากเทคโนโลยี AI โดย Claude

VOA รายงานเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ย. 2567 ว่า วงการคนรักหนังสือของญี่ปุ่นกำลังเห็นการนำแนวคิดใหม่ ๆ มาสร้างความตื่นตัวในธุรกิจร้านหนังสือ ขณะที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ากิจการลักษณะนี้มีปัจจัยท้าทายจากโลกยุคดิจิทัลมากมาย

เเนวคิดหนึ่งที่กำลังถูกพูดถึง คือการที่ร้านเปิดพื้นที่บนชั้นโชว์หนังสือให้เช่า สำหรับผู้ที่ต้องการนำหนังสือมาขาย

วิธีนี้นอกจากจะเปิดโอกาสให้คนได้จับหนังสือเป็นเล่มจริง ๆ แล้ว ยังจะช่วยคนในชุมชนทราบว่าเพื่อน ๆ ที่อยู่ในละเเวกนั้นอ่านหนังสือเรื่องอะไรกันบ้าง แทนที่จะถูกจูงใจโดยคำเเนะนำของระบบอัลกอริธึมส์โดยผู้ขายบนโลกออนไลน์

เมื่อเดือนเมษายน โชโก อิมามุระ วัย 40 ปีเจ้าของร้านแนวนี้ ที่เขตคานดะ จิมโบโช ในกรุงโตเกียวพูดพลางหัวเราะว่า "ที่นี่คุณจะได้พบว่ามีหนังสือที่คุณเห็นเเล้วอดสงสัยไม่ได้ว่ามีใครซื้อหนังสือแบบนี้ด้วยหรือ"

อิมามุระ ซึ่งเป็นนักเขียนหนังสือเกี่ยวกับนักรบซามูไรยุคศักดินาญี่ปุ่น บอกกับเอเอฟพีว่า ร้านหนังสือทั่วไปจะนำหนังสือมาขายตามสถิติความนิยม ทำให้หนังสือที่ขายไม่ได้ ไม่ได้รับความสนใจ

"เราไม่สนหลักการนั้น หรือจะพูดได้ด้วยว่าไม่สนทุนนิยม" เขากล่าว "ผมต้องการสร้างร้านหนังสือเเนวใหม่"

ร้านหนังสือ 'ฮอนมารุ' ของเขามีขนาดเพียง 570 ตารางฟุต และมีชั้นหนังสือ 364 ชั้น สำหรับขายหนังสือ งานเขียนบางเล่มเคยมีเจ้าของเเล้วแต่บางเล่มก็ใหม่เอี่ยม

สำหรับหัวข้อมีตั้งแต่ หนังสือที่ว่าด้วยการวางแผนทางธุรกิจ ไปจนถึงการ์ตูนมังงะ และศิลปะป้องกันตัว

ผู้เช่าจำนวนหลายร้อยรายยอมจ่ายค่าพื้นที่ชั้นหนังสือ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 1,000- 2,000 บาทต่อเดือน

คนเช่าเหล่านี้มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นคนรักการอ่านทั่วไป บริษัทไอที บริษัทก่อสร้าง หรือบริษัทขนาดเล็กในธุรกิจตีพิมพ์หนังสือ

คาชิวะ ซาโตะ วัย 59 ปี ผู้อำนวยการฝ่ายความคิดสร้างสรรค์ของร้านหนังสือเเห่งนี้กล่าวว่า "ชั้นหนังสือทุก ๆ ชั้นที่นี่เปรียบได้ว่าเป็นบัญชีโซเชียลมีเดียที่คุณแสดงตัวตนเหมือนบนอินสตาแกรมหรือเฟซบุ๊กนั่นเอง"

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: