ความท้าทายของซีรีส์วาย ในยุคที่ไทยมี พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม

กองบรรณาธิการ TCIJ 9 ก.ย. 2567 | อ่านแล้ว 11286 ครั้ง


รายงานพิเศษโดย The Story Thailand ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ชี้ซีรีส์วายในยุคที่ไทยมี พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมจึงไม่ได้มีแค่ความท้าทาย แต่ยังมีโอกาสอีกมากที่รออยู่

ชัดเจนอยู่แล้วว่าซีรีส์วายไทยมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเท่าเทียมและเพิ่มความเข้าใจในประเด็น LGBTQ+ ของสังคมไทยตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยซีรีส์วายไทยที่ได้รับความนิยมสูง มักจะมีองค์ประกอบ 2 ส่วน คือ การนำเสนอความสัมพันธ์และความจิ้น รวมถึงการสอดแทรกประเด็นทางสังคมและการต่อสู้เพื่อสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ ตัวอย่าง เช่น ประเด็นความยากลำบากในการยอมรับตนเอง การได้รับการยอมรับจากครอบครัวและสังคม

 ข้อสงสัยที่น่าสนใจ คือ เนื้อหาของซีรีส์เหล่านี้ อาจไม่ได้เน้นสะท้อนการต่อสู้เพื่อสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ อย่างจริงจัง อาจเลือกที่จะนำเสนอฉากจิ้นฟินจิกหมอนเพื่อเอาใจแฟนซีรีส์เป็นหลัก Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงสนใจศึกษาวิเคราะห์เนื้อหาซีรีส์วายไทย เพื่อหาคำตอบว่า ซีรีส์วายไทยนำเสนอเนื้อหาหรือสอดแทรกแง่มุมใดที่น่าสนใจ โดยเลือกศึกษาซีรีส์วายไทย 6 เรื่อง ที่มีจำนวนยอดการสืบค้นใน Google Search สูงสุด จาก 2 แพลตฟอร์ม OTT ได้แก่ iQIYI และ VIU ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่มีซีรีส์แนวเอเชียเป็นหลัก หน่วยการศึกษา 6 เรื่องนี้ ได้แก่ (1) ความรักเขียนด้วยความรัก (2) รักไม่รู้ภาษา และ (3) อย่าเล่นกับอนล จากแพลตฟอร์ม iQIYI  กับ  (4) Cherry Magic 30 ยังซิง (5) ชอกะเชร์คู่กันต์ A Boss and a Babe และ (6) เลิฟ @ นาย Oh! My Sunshine Night จากแพลตฟอร์ม VIU

ผลการศึกษา พบว่า ซีรีส์แต่ละเรื่องให้เวลากับบทและฉากที่ส่งเสริมเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศด้วยความสั้นยาวมากน้อยแตกต่างกันไป โดยบางเรื่องเท่านั้นที่ “ปรากฏ” หรือมีฉากที่ให้ความรู้เรื่องสุขภาวะทางเพศ หรือเกร็ดความรู้เรื่องอาชีพของตัวละครหลัก รวมถึงการยอมรับเกี่ยวกับรสนิยม/ความชมชอบทางเพศ (Sexual Orientation) จากพ่อแม่ของตัวละครหลัก

รศ.ดร.นัทธนัย ประสานนาม อาจารย์ประจำภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิทยาการขั้นสูงด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ประยุกต์ สถาบันวิทยาการขั้นสูงแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมวาย ให้ความเห็นทางวิชาการต่องานการศึกษาครั้งนี้ เริ่มจากความเห็นต่อหน่วยการศึกษา

“ซีรีส์วายในงานศึกษานี้ เก็บข้อมูลจาก 2 แพลตฟอร์ม และคัดเลือกจากเรื่องที่มีการค้นหามากที่สุด แต่ไม่ได้เก็บบนแพลตฟอร์มที่คนเข้าถึงได้มากอย่างยูทูบ ซึ่งเป็นแหล่งรวมซีรีส์หลายเรื่อง กรณีการดูซีรีส์แบบเต็มเรื่องในแพลตฟอร์มเหล่านี้ จะเป็นการสมัครสมาชิก ดังนั้นผู้สมัครเพื่อดูซีรีส์ตั้งแต่ต้นจนจบ จะมีเพียงผู้ชมกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ยังมีอีกจำนวนมากที่ดูบนยูทูบและแพลตฟอร์มอื่น ผมจึงไม่ค่อยแน่ใจว่าข้อมูลที่ได้มาจากการเลือก 6 เรื่อง จะเป็นตัวแทนความคิดที่เกิดในช่วงเวลานี้ได้ทั้งหมด”

รศ.ดร.นัทธนัย ตั้งข้อสังเกตอีกว่าซีรีส์วาย 6 เรื่องที่ศึกษา บางเรื่องไม่ปรากฏชัดในบทสนทนาของกลุ่มแฟนหรือผู้ติดตามซีรีส์วาย เช่น เรื่องความรักเขียนด้วยความรัก นอกจากนี้ โหมดการดูซีรีส์วายนั้นไม่ได้ทำผ่านสื่อแขนงอย่างเดียว แต่จะทำผ่านการเล่าเรื่องข้ามสื่อ หรือ “transmedia storytelling” ซึ่งในแง่ออกแบบเนื้อหา จะต้องใช้หลากหลายแพลตฟอร์มประกอบกัน จึงจะสามารถวัดเอ็นเกจเมนต์ (Engagement) ซึ่งทวีความสำคัญมากกว่าระบบเรตติ้ง (Rating) แบบดั้งเดิม

“ซีรีส์วายจะมีเอ็นเกจเมนต์ (Engagement) อื่นที่เกิดทั้งระหว่างและหลังจากซีรีส์  เช่น กลุ่มแฟนนำเนื้อหาไปทำมีม (Meme) หรือทำคลิปรีแอ็ก ซึ่งอยู่ในโลกดิจิทัล พวกนี้มีส่วนในการสร้างและวัดเอ็นเกจเมนต์ รวมทั้งการวัดเอ็นเกจเมนต์ผ่านแฮชแท็กที่เกี่ยวข้องในทวิตเตอร์ก่อนและหลังซีรีส์ออกอากาศ เอ็นเกจเมนต์จะมีประโยชน์ในเชิงการตลาดมากกว่าเรตติ้ง”

รศ.ดร.นัทธนัย ยังให้ความเห็นว่า ข้อค้นพบของงานศึกษายังไม่ถือว่านำเสนอประเด็นใหม่เท่าใดนัก นอกจากนั้นยังไม่ได้สนทนากับงานวิชาการที่มีมาก่อน รวมทั้งมุมมองที่ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของซีรีส์วายที่คลี่คลายตามช่วงเวลา นั้บตั้งแต่ พ.ศ.2557 ที่เริ่มมีกระแสวายบูมในสังคมไทย โดยมีซีรีส์ Love Sick เป็นจุดเริ่มต้น

“ยกตัวอย่างเช่น ประเด็นข้อค้นพบในรายงานที่ลูกบอกพ่อแม่ถึงตัวตนที่เป็นเกย์ พล็อตเรื่องแบบนี้มีมาก่อนแล้ว เช่นในซีรีส์เรื่อง บังเอิญรัก (พ.ศ.2561) ก่อนจะเกิดการถกเถียงเรื่องการสมรสเท่าเทียมแล้ว แต่การศึกษานี้ไม่ได้พูดถึง” รศ.ดร.นัทธนัย กล่าว “ซีรีส์เรื่องบังเอิญรัก ที่เคยจะได้ฉายทางช่อง 9 MCOT HD แต่ต้องไปฉายในช่อง GMM25 และ LineTV แทน ดังนั้น การที่เราจะบอกว่าเนื้อหาไม่ก้าวหน้านั้น ต้องดูแพลตฟอร์มด้วย เราจะวิจารณ์ว่าซีรีส์วายไม่ก้าวหน้า หรือเป็นที่โครงสร้างสื่อในช่วงเวลาที่ผ่านมากันแน่ที่ยังไม่ก้าวหน้า”

รศ.ดร.นัทธนัย ชี้ว่า การปรากฏของเนื้อหาซีรีส์วายเรื่องสิทธินั้น เกิดจุดเปลี่ยนที่สำคัญมาแล้วในปี 2563  ซึ่งเป็นช่วงที่มีแฟลชม็อบ (Flash Mob) และมีกระแสเรียกร้องทางการเมืองมาก เวลานั้นประเด็นสิทธิเรื่องเพศ ผู้หญิง และเรื่องสมรสเท่าเทียมเป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย เนื้อหาของซีรีส์วายจึงเริ่มเปลี่ยนและหลากหลายมากขึ้นตั้งแต่ช่วงเวลานั้น โดยหลังจากนั้นเป็นต้นมา ซีรีส์วายก็ไม่ได้สร้างจากนวนิยายเท่านั้น แต่มีบางเรื่องที่เริ่มมีการพัฒนาบทสำหรับซีรีส์ขึ้นเอง หรือดัดแปลงเนื้อหาของนวนิยายต้นฉบับให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของสังคมโดยเฉพาะประเด็น LGBTQ+ มากขึ้น

อีกปัจจัยเสริมที่ รศ.ดร.นัทธนัย มองเห็น คือ การขยายตัวของวัฒนธรรมดิจิทัล (Digital Culture) ซึ่งทำให้กิจกรรมที่ทำผ่านพื้นที่ดิจิทัลถูกทำให้เข้มข้นมากขึ้น เพราะทุกคนถูกขังไว้ด้วยการระบาดของโควิด หนึ่งในนั้นคือการเล่าเรื่องข้ามสื่อของซีรีส์วายที่เริ่มมีการทำกิจกรรมที่สร้างเอ็นเกจเมนต์ เช่น กิจกรรมการล้อมวงกินข้าวกับดาราซีรีส์วายแบบออนไลน์ หรือแม้แต่กิจกรรมแฟนมีตแบบออนไลน์ ที่นำไปสู่การขยายตัวของการบริโภคซีรีส์วายไทยโดยแฟนนานาชาติ เป็นต้น

จิ้น” ในซีรีส์วาย

รศ.ดร.นัทธนัย อธิบายว่า “จิ้น” นั้นเป็นคำย่อของคำว่า “Imagine” หรือการจินตนาการ  ดังนั้น

จิ้นจึงเป็นการสร้างจินตนาการเกี่ยวกับความสัมพันธ์แบบโรแมนติกระหว่างนักแสดง ยังมีคำอื่นที่นิยมใช้แทนการจิ้นด้วย เป็นต้นว่า “ชิป” ที่มาจาก “relationship” ก่อนหน้านี้ จิ้น เคยเป็นกระบวนการรับสาร แต่ตอนนี้จิ้นขยายมาครอบคลุมภาคปฏิบัติจากฝั่งนักแสดงด้วย นั่นคือสิ่งที่เรียกว่าแฟนเซอร์วิส (Fan Service) หรือการสร้างโมเมนต์ โดยคนดูหรือแฟนจะสามารถถอดรหัสได้ การจิ้นในซีรีส์วายยังเป็นเรื่องที่ “ต้องมี” เพราะเป็นส่วนที่ผู้ชมให้ความสำคัญมาตั้งแต่แรกเริ่ม นับตั้งแต่การกำเนิดของผลงานประเภทนี้ในประเทศญี่ปุ่น

“ถ้าดูซีรีส์วายแล้วไม่จิ้น จะเข้าใจแค่เนื้อหา แต่ไม่เข้าถึงประสบการณ์ เพราะตั้งแต่ทศวรรษ 1970-1980 ก็มีความนิยมนำตัวละครในสื่อดังมาจิ้น การจิ้นจะเป็นส่วนหนึ่งในคอนเทนต์ของซีรีส์ และต้องทำต่อในพื้นที่อื่นด้วย เนื่องจากผู้ชมซีรีส์วายไม่ได้ดูเนื้อเรื่องเท่านั้น แต่จะดูคู่แสดงหลักที่ไปปรากฏในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ในงานอิเวนต์  ที่นักแสดงหรือคู่วายไปปรากฏตัว หรือในงานแฟนมีต จะมีการจิ้นตลอดเวลา และเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักแสดงกับแฟนๆ เพราะนี่คือไวยากรณ์ของมัน”

รศ.ดร.นัทธนัย ยังมองว่า การศึกษาเรื่องซีรีส์วายจะต้องประเมินศักยภาพของเนื้อหาอย่างรอบด้าน โดยยกแนวคิดเรื่อง “Politics of Visibility” หรือการเมืองของการทำให้เรื่องที่ต้องการขับเคลื่อนเป็นที่ประจักษ์ชัดผ่านเนื้อเรื่องภายในซีรีส์วาย เช่น การมองเห็นความเป็นไปได้ของความรักความสัมพันธ์ของคนรักเพศเดียวกัน หรือความหลากหลายทางเพศรูปแบบอื่นๆ หรือแม้แต่ประเด็นเรื่องการเมืองวัฒนธรรมของกลุ่ม LGBTQ+ การทำให้ประจักษ์ชัดเป็นการเมืองในแง่ที่ว่า ประเด็นเหล่านี้ไม่ใช่ความผิดบาปอับอาย ไม่จำเป็นต้องปิดบังหรือเซ็นเซอร์อีกต่อไป แต่นำเสนอเพื่อสร้างบทสนทนาในกลุ่มผู้ชมได้

“กลุ่มคนดูซีรีส์วายมักจะมีเรื่องเล่ากันว่า การได้ดูซีรีส์วายกับแม่ จะพบว่าคุณแม่มีความเข้าใจมากขึ้น เปิดใจมากขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้กำกับซีรีส์จำนวนหนึ่งก็เคยเล่ากันว่า ทุกวันนี้เมื่อกลุ่มพ่อแม่เห็นผู้ชายจับมือกัน หลายคนเริ่มรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องแปลกและเห็นว่าน่ารักดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ Politics of Visibility ที่ทำให้เรื่องนี้พบเห็นได้ทั่วไป ไม่ต้องหลบซ่อน”

แม้การจิ้นจะเป็นหัวใจของซีรีส์วาย แต่ฉากรักที่โจ่งแจ้งอาจเป็นความท้าทายของซีรีส์วาย เพราะมีกลุ่มคนที่วิพากษ์ว่าซีรีส์วายบางเรื่องยัดเยียดฉากโป๊หรือฉากร่วมรักมากเกินไป จุดนี้ รศ.ดร.นัทธนัยเชื่อว่าทางออกของปัญหา คือ การสร้างสมดุลระหว่างการใส่ฉากจิ้นซึ่งเป็นไวยากรณ์สำคัญกับสุนทรียภาพโดยรวมของซีรีส์ ต้องออกแบบฉากรักให้สื่อความหมายได้ดี มีความจำเป็นหรือสร้างผลกระทบต่อการดำเนินเรื่อง อย่างไรก็ตาม สำหรับ รศ.ดร.นัทธนัย แล้ว แม้ในกระแสความเคลื่อนไหวทางสังคมซีรีส์วายยังคงต้องเน้นความนักโรแมนติก หากไม่มีความรักและความสัมพันธ์ตัวละครเป็นแกนหลักที่ขับเคลื่อนโครงเรื่อง เนื้อหาของซีรีส์อาจเป็นเพียงสารคดีที่มีการรณรงค์ความเท่าเทียมทางเพศ

 

ความแยบยล” ในซีรีส์วายไทย

รศ.ดร.นัทธนัย มองว่า ปัจจุบันการสร้างซีรีส์วายไทยมีความระมัดระวังมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการหาทางไกล่เกลี่ยระหว่างประเด็นที่ต้องการขับเคลื่อนในเชิงอุดมการณ์ กับการนำเสนอเนื้อหาความรักโรแมนติก คาดว่าซีรีส์ที่มุ่งขายโรเมนติกโดยไม่คำนึงถึงประเด็นทางสังคมเลยจะลดจำนวนลงเรื่อยๆ เนื่องจากมีกระแสเรียกร้องจากกลุ่มผู้ชมและกระแสสังคม

 “อย่างน้อยต้องมีการขับเคลื่อนเชิงอุดมการณ์ให้เห็นบ้าง นี่อาจจะเป็นการสร้างไวยากรณ์ใหม่ของ

ซีรีส์วายไทย ที่จะต้องไปแตะอุดมการณ์หรือประเด็นทางสังคม อาจจะมีตัวละครที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับเพศวิถีของตัวเอง เช่น  ในซีรีส์เรื่องวันดีวิทยา  จะมีตัวละครชื่อปลาเก๋า เป็นเพื่อนของนายเอก ที่ทำงานในโรงพยาบาล ปลาเก๋าชอบนำเสนอคอสตูมที่ช่วยสร้างแฟนตาซีทางเพศ แต่ตัวเขาเป็นคนที่ไม่มีความรู้สึกสนใจใครเชิงพิศวาสหรือเกิดความปรารถนาทางเพศ ปลาเก๋าอาจอยู่ในสเปกตรัมที่เรียกว่า Asexual ซึ่งเป็นตัวอักษร A ใน LGBTQIA+ ตัวละครแบบ Asexual ปรากฏแล้วในสื่อ LGBTQ+ ในบริบทอื่น นับเป็นอีกเฉดของความหลากหลายทางเพศที่นำเสนอได้อย่างแยบยล ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนเชิงอุดมการณ์นอกจากประเด็นสมรสเท่าเทียม”

ในผลการศึกษาของ Media Alert ที่ชี้ว่าซีรีส์วายไทยมีการนำเสนอตัวละครผ่านอาชีพที่หลากหลาย ซึ่งทำให้เนื้อหาในซีรีส์มีความเหมือนชีวิตจริงมากขึ้น รศ.ดร.นัทธนัย  มองว่า ซีรีส์วายทุกวันนี้เสนอว่าความสัมพันธ์แบบรักโรแมนติกระหว่างผู้ชายนั้นสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ไม่ต้องเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเหมือนในซีรีส์วายยุคก่อน หากพิจารณาภาพรวมตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ซีรีส์วายไทยยังนำเสนอประเด็นทางสังคมอื่นๆ เช่น ตัวละครที่มีอายุมากกว่าวัยรุ่นทั่วไป ตัวละครที่มีความบกพร่องทางร่างกาย ตัวละครที่มีปัญหาสุขภาพจิต หรือบาดแผลฝังจำ (PTSD) โดยเชื่อมประเด็นเหล่านี้เข้ากับความรักโรแมนติก

ด้านการรณรงค์เรื่องสุขภาวะทางเพศ รศ.ดร.นัทธนัย มั่นใจว่า ซีรีส์วายไทยมีบทบาทในส่วนนี้มากกว่า เมื่อเทียบกับซีรีส์วายจากวัฒนธรรมอื่น เช่น ญี่ปุ่นหรือเกาหลี ซีรีส์วายไทยมีฉากจูงมือกันไปตรวจเลือด ฉากฉีกซองและสวมถุงยางอนามัย หรือแม้แต่ฉากขอความยินยอมและแสดงความยินยอมในการมีเพศสัมพันธ์ หรือ consent ซีรีส์วายในวัฒนธรรมอื่นที่ยังสามารถนำเรื่องสิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศมาถกเถียงอย่างกว้างขวางได้จึงยังไม่สามารถไปสัมผัสประเด็นดังกล่าวได้

สมรสเท่าเทียม ในซีรีส์วาย และกฎหมายไทย

กฎหมายสมรสเท่าเทียมของไทยนั้นประกาศหลังจากที่ประเด็นการแต่งงานระหว่างผู้ชายเผยแพร่มาก่อนแล้วในซีรีส์วาย โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ตั้งแต่ช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 เราจะเห็นฉากขอแต่งงาน การสวมแหวน หรือแม้แต่การฉลองมงคลสมรส

“ในซีรีส์วาย ความหวังของตัวละครเอกได้จากการสมรักสมรส อันเป็นองค์ประกอบหนึ่งของโรมานซ์ เป็นสัญลักษณ์ว่าความรักนี้เป็นไปได้ ถือเป็น Agenda หรือวาระสำคัญของซีรีส์วายยุคใหม่ที่เล่าพัฒนาการความสัมพันธ์ การครองคู่ ปัญหาที่ตัวละครต้องแก้ไขในชีวิตคู่ งานวายเองก็ไม่ได้สร้างโดยผู้หญิงเพื่อผู้หญิงเท่านั้นแล้ว ผู้กำกับในวงการซีรีส์วายไทยจำนวนมากเป็น LGBTQ+  ส่วนชุมชนแฟนเองก็มีการผลักดันผ่านแพลตฟอร์ม X ต่อไปผู้ชมก็น่าจะจับตาดูว่าซีรีส์วายจะเล่าประเด็นนี้ให้แหลมคมยิ่งขึ้นได้อย่างไร เพราะแฟนซีรีส์วายจำนวนมากเป็นกลุ่มคนที่ร่วมเคลื่อนไหวทางสังคมผ่านพื้นที่ดิจิทัลด้วย”

แต่ในภาพรวม รศ.ดร.นัทธนัย ย้ำว่า เรายังไม่เห็นผลกระทบโดยตรงจาก พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมในการก่อร่างแนวทางใหม่ของเนื้อหาซีรีส์วายไทยในอนาคต

“ตอนนี้กฎหมายเพิ่งผ่าน เราจึงทำได้แค่พยากรณ์เท่านั้น สำหรับผม ในเมื่อซีรีส์วายเล่าเรื่องการแต่งงานอยู่แล้ว หรือปัญหาที่เกิดจากการไม่มีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว สิ่งที่จะปรากฏในเนื้อหาในอนาคต คือโจทย์ที่ท้าทายกว่า หรือวิธีการที่จะขยายวงแนวร่วมในการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ผ่านซีรีส์วาย รวมทั้งความท้าทายอื่นที่จะเกิดขึ้นในเวลาที่คนอยู่ในความสัมพันธ์” รศ.ดร.นัทธนัยกล่าว

รศ.ดร.นัทธนัยย้ำอีกว่า การที่กฎหมายผ่านนั้นต่างกับการที่สังคมยอมรับโดยทั่วกัน ดังนั้นจึงไม่อาจสรุปว่าพ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมคือจุดที่จะเปลี่ยนทัศนคติของสังคมทั้งสังคมได้ในทันที ตัวอย่างเช่น ไต้หวัน ชื่อทางการว่าสาธารณรัฐจีน ที่แม้จะผ่านร่างกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2562 แต่ล่าสุดปี 2565 ซีรีส์เรื่อง My Tooth Your Love ที่มีพระเอกเป็นหมอฟันและนายเอกเป็นเจ้าของร้านอาหารในไทเป ยังเล่าเรื่องพระเอกถูกพ่อทำร้ายร่างกายเมื่อขอให้พ่อยอมรับนายเอกก่อนจะพาไปพบกัน พระเอกถูกทำร้ายหลายครั้งและใช้เวลานานกว่าที่พ่อจะยอมรับได้ หรือในภาพยนตร์เรื่อง Marry My Dead Body ที่เผยแพร่ในปี 2566 พระเอกแต่งงานกับนายเอกที่เสียชีวิตและกลายเป็นวิญญาณ ในชีวิตก่อนความตาย นายเอกและย่าของเขาร่วมในขบวนการเคลื่อนไหว แสดงให้เห็นว่าแม้กฎหมายผ่านแล้ว แต่ไม่ได้แปลว่าการต่อสู้หรือการเคลื่อนไหวทางสังคมจะสิ้นสุดลง

ปัจจุบัน รศ.ดร.นัทธนัย มองว่า สังคมไทยโอบรับการรักเพศเดียวกัน แต่ไม่สามารถตอบได้ว่าช่องว่างระหว่างการที่ พ.ร.บ. ผ่านและการโอบรับของสังคมไทยนั้นกว้างหรือแคบขนาดไหน เพราะยังมีความเห็นในทำนองว่ากฎหมายนี้จะไปกดให้ชายหญิงต่ำลง เบื้องต้นเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับประสบการณ์แต่ละบุคคล ทั้งนี้การโอบรับของสังคมนั้นไม่ได้มีนัยเพียงแค่กฎหมายสมรสเท่าเทียม แต่ยังต้องขยายผลไปยังการเลือกปฏิบัติในรูปแบบอื่นๆ ด้วย ทั้งเรื่องกีดกันการรับเข้าทำงาน หรือการประทุษร้ายกลุ่มคนที่มีความหลากหลาย ในบางประเทศมีกฎหมายแล้ว แต่ก็ยังมีอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังที่มุ่งเป้ากลุ่ม LGBTQ+  ดังนั้น ประเทศที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมกับประเทศที่ปลอดภัยสำหรับ LGBTQ+ อาจไม่ใช่ประเทศเดียวกันในทุกกรณี

“สมรสเท่าเทียมเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แต่ก็จะเป็นอีกขั้นที่ยังมีความท้าทายอื่นรออยู่ การได้มาซึ่งกฎหมายนี้ ไม่ได้แปลว่าจะไปเปลี่ยนมุมมองของคนในสังคมได้แบบสิ้นเชิง” รศ.ดร.นัทธนัย กล่าว

รศ.ดร.นัทธนัย ยกตัวอย่างประเด็นอื่นที่อ่อนไหวทางสังคม เช่น การเหยียดในรูปแบบต่างๆ ซีรีส์ที่มีเนื้อหา LGBTQ+ ในหลายวัฒนธรรมพยายามไกลเกลี่ยกับการเหยียดด้วยการเสนอกลุ่มคนที่หลากหลายทั้งในเชิงลักษณะร่างกาย ชนชั้น และชาติพันธุ์ ความน่าสนใจคือ ในการผลิตซีรีส์วายไทยที่ต้องคำนึงถึงธุรกิจ ผู้ผลิตจะไกล่เกลี่ยต่อรองกับประเด็นนี้อย่างไร เพราะยังคงมีเสียงวิพากษ์ว่า นักแสดงในซีรีส์วายมักมีหน้าตารูปร่างคล้ายกัน หรือแม้แต่การสร้างร่างกายให้กำยำเหมือนๆ กัน แต่อันที่จริง หากพิจารณาที่เนื้อหาที่ไหลวนในภูมิทัศน์สื่อ เราจะพบว่ากลุ่มคนดังหรืออินฟลูเอนเซอร์ในอินเทอร์เน็ตที่เป็น LGBTQ+ ก็เลือกนำเสนอตัวเองในลักษณะที่ไม่ตายตัว เป็นต้นว่า มีจริตหญิงแต่ไว้หนวด หรือเป็นผู้หญิงข้ามเพศที่ยืนกรานว่ายังคงแสวงหาความสุขทางเพศได้จากอวัยวะเพศชายของตน

จากงานวิจัยที่ รศ.ดร.นัทธนัย เพิ่งทำเสร็จไปพบว่า เนื้อหาในภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไปสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงในเนื้อหาซีรีส์วายที่อาจจะนับว่าก้าวหน้า หรือก้าวทันภูมิทัศน์สื่อ LGBTQ+ ในระดับนานาชาติ ยกตัวอย่างเช่นประเด็นเรื่อง “ความสาว” ของชายรักชาย แต่เดิมความสาวถูกเบียดขับผลักไสจากวัฒนธรรมเกย์ แต่หลังปี 2563 เป็นต้นมา ความสาวได้รับการเฉลิมฉลองมากขึ้นในนามของความหลากหลาย ปรากฏการณ์นี้พบได้ในการสร้างดาราวาย ตัวละครในซีรีส์ รวมทั้งตัวละครในนวนิยายวายอันเป็นแหล่งเนื้อหาหลักของซีรีส์วาย ในภาพรวมเนื้อหาซีรีส์วายไทยก็ยังอาจนับได้ว่าก้าวหน้ากว่าซีรีส์วายญี่ปุ่น หรือซีรีส์วายเกาหลี

“ช่วงการเรียกร้องเรื่องสมรสเท่าเทียม ก็มีการเรียกร้องให้นักแสดงซีรีส์วายออกมาร่วมแสดงจุดยืน  ส่วนที่ญี่ปุ่น  การสมรสเท่าเทียมเป็นบทสนทนาของบางกลุ่มก็จริง แต่ยังไม่โยงเข้ากับอุตสาหกรรมวาย เนื้อหาของซีรีส์วายญี่ปุ่นเกือบทั้งหมดมาจากมังงะ กรณีที่น่าสนใจคือเรื่อง Cherry Magic ของญี่ปุ่น เวอร์ชันภาพยนตร์ที่ต่อขยายจากซีรีส์ มีฉากแต่งงานก็จริง แต่เล่าผ่านความคิดของตัวละครเอกที่กำลังอ่านเทพนิยาย ทำให้สงสัยว่าการแต่งงานเกิดขึ้นในความจริงหรือเป็นเพียงจินตนาการ เมื่อเราดัดแปลง Cherry Magic เป็นฉบับไทย กรอบของเทพนิยายถูกยกออกไป ฉากฉลองพิธีแต่งงานมีทั้งช่วงกลางวันกลางคืน เพื่อนและครอบครัวมาร่วมฉลองพร้อมหน้า มีแม้แต่ฉากเต้นรำในงานแต่งงานด้วย ซึ่งเข้ากันกับกระแสสมรสเท่าเทียมในประเทศไทยพอดี”

 

เปิดรับความหลากหลาย (Inclusivity) คือ ซอฟต์พาวเวอร์และจุดขายของซีรีส์วายไทย

“ถ้าจะต้องพูดเรื่องซอฟต์พาวเวอร์กันอีกครั้ง ขออธิบายสั้นๆ ว่า ซอฟต์พาวเวอร์กับสินค้าวัฒนธรรมไม่ใช่อย่างเดียวกันในทุกกรณี  ซอฟต์พาวเวอร์คือความคิด คุณค่า หรือ values และการสร้างการรับรู้ ยกตัวอย่างเช่น  เวลาดูซีรีส์เกาหลี แล้วหลงใหลใฝ่ฝันถึงโอปป้าผู้อ่อนโยน” รศ.ดร.นัทธนัย กล่าว “ตัวนักแสดงโอปป้าอาจไม่ใช่ซอฟต์พาวเวอร์เสียทีเดียว แต่ความเชื่อว่าสังคมเกาหลีน่าหลงใหลเพราะเต็มไปด้วยโอปป้าผู้อ่อนโยน นั่นต่างหากที่คืออำนาจโน้มนำหรือซอฟต์พาวเวอร์  เกาหลีผลิตซ้ำคุณค่าความเป็นชายที่นุ่มนวล  จะเห็นได้ในซีรีส์เกาหลีตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา แม้แต่ในเรื่องอิงประวัติศาสตร์อย่างแดจังกึมก็มี ตัวซีรีส์ในฐานะสินค้าวัฒนธรรมเป็นแหล่งหนึ่งของซอฟต์พาวเวอร์ แต่ไม่ใช่ซอฟต์พาวเวอร์

เพราะคุณค่าความเป็นชายที่นุ่มนวลยังเห็นได้จากบอยแบนด์ การโฆษณา และอื่นๆ การปรากฏซ้ำเรื่อยๆ ทำให้ผู้บริโภคเชื่อว่านั่นคือตัวแทนของผู้ชายเกาหลี  ทั้งที่จริงแล้วปัญหาเรื่องความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดจากผู้ชายในสังคมเกาหลียังมีอยู่มาก นักวิชาการบางกลุ่มแปลซอฟต์พาวเวอร์ว่าอำนาจโน้มนำ เพราะมันคือการทำให้เชื่อหรือรู้สึกคล้อยตาม มีความรู้สึกที่ดีกับประเทศเกาหลีสังคมเกาหลี ทำให้บริโภคซีรีส์ต่อ และซีรีส์ก็จะผลิตความเชื่อนั้นต่อไปเรื่อยๆ”

สำหรับรศ.ดร.นัทธนัย  ซอฟต์พาวเวอร์ที่หลายคนพูดถึงอยู่นั้นยังคงมีเงาของโอท็อปหรือความคิดแบบสินค้าวัฒนธรรมพาดทับอยู่ ทั้งแนวคิดการเอาผ้าขาวม้า กระติ๊บข้าวเหนียว หรือกางเกงช้างมาทำให้ “แมส” มีเรื่องการขาย เรื่องเอกลักษณ์ไทย แต่ไม่มีประเด็นเรื่องความคิด คุณค่าหรือการสร้างการรับรู้อยู่ในบทสนทนามากนัก หากกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างซอฟต์พาวเวอร์กับซีรีส์วาย สิ่งที่ซีรีส์วายสามารถทำได้ คือนำเสนอระบบคุณค่าว่าสังคมไทยนั้นเปิดกว้างหรือโอบรับความแตกต่าง แต่ถ้ากล่าวอย่างเคร่งครัดที่สุด ความคิดหรือคุณค่าแบบใดที่จะนับเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้ รัฐต้องชูให้เห็นจริง และเลือกใช้แหล่งหรือเครื่องมือหลายๆ อย่างที่ช่วยผลิตซ้ำความคิดหรือคุณค่านั้นให้เกิดความต่อเนื่องและมีเอกภาพ

“ซอฟต์พาวเวอร์ควรขายไอเดียและความคิด ทำให้คนเชื่อว่าประเทศไทยน่าหลงใหลและดี” รศ.ดร.นัทธนัย กล่าว “ปัญหาของประเทศไทยเราถูกตั้งคำถามเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง ทั้งยังมีภาพลักษณ์ในสังคมโลกว่าคนไทยถูกจำกัดสิทธิการแสดงออก กลายเป็นภาพที่ขัดแย้งถ้าเราจะเลือกความคิดที่เป็นจุดขายว่าประเทศไทยโอบรับความต่างเต็มที่  เพราะฉะนั้น เราไม่น่าจะไปตั้งต้นที่สินค้า แต่จะต้องตีโจทย์ก่อนว่าอะไรคือความคิดหรือคุณค่าที่ต้องการผลิตซ้ำ”

ในอีกด้าน รศ.ดร.นัทธนัย ไม่เห็นด้วยที่จะสรุปว่าซีรีส์วายจะต้องขายความเป็นไทยในฐานะซอฟต์พาวเวอร์ เพราะอาจตั้งเริ่มตั้งแต่การพินิจพิจารณาก่อนว่าความเป็นไทยคืออะไร หรืออันที่จริงแล้ว ความเป็นไทยไม่ได้มีภาพเดียว และไม่น่าแทนด้วยสินค้าวัฒนธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีผ้าขาวม้าไปปรากฏในซีรีส์วายแล้วบอกว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ มองแบบนั้นก็อาจง่ายเกินไป

“ผมยังเชื่อว่าอำนาจโน้มนำเป็นเรื่องของความคิด เช่น ประเทศจีนทำซอฟต์พาวเวอร์ด้วยการสร้างสถาบันขงจื๊อทั่วโลก และส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนให้ทุกคนที่สนใจ ทำให้เห็นว่าภาษาจีนเป็นประตูไปสู่ความเข้าใจวัฒนธรรมและเพิ่มโอกาสให้ชีวิตอย่างไร ซอฟต์พาวเวอร์ต้องขายความหวังและพลังบวก อีกกรณีคืออินเดีย ที่เสนอซอฟต์พาวเวอร์ผ่านวัฒนธรรมร่วม กรณีประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีวัฒนธรรมอินเดียไปปรากฏอยู่ทุกที่ เช่น ศาสนา การขับเน้นการมีวัฒนธรรมร่วมกันเช่นนี้สุดท้ายก็ย้อนกลับมายืนยันให้คนรู้สึกดีกับอินเดียในฐานะอู่อารยธรรม”

รศ.ดร.นัทธนัย ยังชวนให้ลองนำเอาประเทศไทยมาวางเทียบกับประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยยกตัวอย่างข้อสังเกตจากการบรรยายสาธารณะ ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2567 โดย ดร.โธมัส บอดิแน็ต (Thomas Baudinette) นักวิชาการออสเตรเลียผู้สนใจศึกษาอุตสาหกรรมวาย ดร.โธมัส อธิบายกรณีสังคมฟิลิปปินส์ในปัจจุบันว่า ด้วยความทรงพลังของศาสนาคริสต์นิยายโรมันคาทอลิก การหย่าร้างระหว่างคู่สมรสชายหญิงในฟิลิปินส์ยังไม่ถูกกฎหมาย จึงเป็นการยากที่จะถกกันเรื่องสมรสเท่าเทียมในปัจจุบัน

รศ.ดร.นัทธนัย ยกตัวอย่างเสริมจากประเทศอื่นนอกจากฟิลิปปินส์ เช่น สิงคโปร์และมาเลเซีย ความสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกันยังไม่สามารถแสดงออกอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะได้ เพราะอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย หรือกรณีบรูไน ที่เคยปรากฏว่าคนรักเพศเดียวกันอาจเสี่ยงที่จะได้รับโทษประหาร ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยจึงถือว่าเปิดกว้างมากกว่าประเทศอื่น

รศ.ดร.นัทธนัย อธิบาย “ขอยกตัวอย่างเว็บซีรีส์ของสิงคโปร์ชื่อ Getaway ที่เผยแพร่ทาง YouTube ตั้งแต่ พ.ศ.2565 ผู้สร้างซีรีส์เรื่องนี้เป็นนักเคลื่อนไหวที่ต้องการผลักดันสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ ในสิงคโปร์ร่วมกับผู้กำกับชาวไทย เนื้อเรื่องคือลูกชายเดินไปบอกพ่อว่าเป็นเกย์  เป็นเหตุให้ลูกต้องออกจากบ้าน  ปรากฏว่าลูกชายมาเมืองไทย เมื่อมาแล้วก็ได้พบรัก มีประสบการณ์ทางเพศ ได้ตามหาญาติที่เป็นเกย์เหมือนกันและมาตั้งรกรากในไทย แม้จะเป็นเนื้อหาที่เล่ามุมบวกด้านเดียว แต่สำหรับผมถือเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า อย่างน้อยสำหรับเกย์สิงคโปร์ ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งความหวัง เป็นที่ลี้ภัย ที่พักพิงทางอารมณ์ ความรักที่เป็นไปไม่ได้ในบ้านเกิด เป็นไปได้แน่นอนในประเทศไทย”

แม้ประเทศไทยจะไม่ใช่ประเทศปลอดอาชญากรรม แต่การเป็น LGBTQ+ อาจไม่ใช่เงื่อนไขที่จะทำให้ถูกขับออกจากสังคมไทย ไม่ถูกปฏิเสธการให้บริการ หรือในมิติการทำงาน ปัจจุบันก็มีนโยบายควบคุมการแบ่งแยกกีดกันรูปแบบต่างๆ นอกจากนั้นยังมีการจัดสถานที่ทำงานให้รองรับความหลากหลายทางเพศด้วย คุณค่าว่าด้วยการโอบรับความแตกต่างหลากหลายนี้เองที่น่าจะมีศักยภาพเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทย โดยเฉพาะถ้ามองว่าซีรีส์วายจะเป็นแหล่งหนึ่งในการผลิตซ้ำอำนาจดังกล่าวได้

“ตอนนี้เริ่มมีการขยายตัวของซีรีส์หญิงรักหญิงหรือ Girls Love หรือซัฟฟิกด้วย ตัวอย่างเช่นเรื่อง ใจซ่อนรัก ของช่อง 3 เป็นซีรีส์หรือละครที่ทำให้ตัวละครหญิงเปล่งประกายได้มากกว่าตอนที่เธอแสดงเป็นตัวรองในละครเรื่องก่อนหน้า ผู้กำกับเป็นเลสเบียน สำหรับผม ถ้าเป็นการโอบรับความหลากหลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ จะพบว่าเราไม่ได้ทิ้ง L หรือเลสเบียน และเราไม่ได้แค่โอบรับเฉพาะ G หรือเกย์อีกต่อไปแล้ว”

ที่สุดแล้ว เมื่อไทยมีคุณค่าที่การเป็นสังคมเปิดกว้าง ผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจก็จะเกิดขึ้นได้ เช่นภาคท่องเที่ยวที่เราได้เห็นแล้วจากกรณีเทศกาลต่างๆ ที่มีนักท่องเที่ยวผู้มีความหลากหลายทางเพศหลั่งไหลเข้ามาจำนวนมาก รวมถึงการดึง LGBTQ+ ระดับหัวกะทิจากนานาชาติให้สามารถอยู่เมืองไทยได้ในระยะยาว  ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ล่าช้ามากหากยังยึดมั่นกับการทำโปรเจ็กต์ซอฟต์พาวเวอร์ด้วยการหาสินค้ามาจำหน่าย เนื่องจากสินค้าที่จำหน่ายอาจเสื่อมความนิยมได้เร็ว เช่นเดียวกับซุ้มโอท็อปทิ้งร้างตามต่างจังหวัด  ต่างกับการเสนอความคิดหรือคุณค่า ที่แม้จะไม่อาจเห็นผลได้ในเวลาอันสั้น แต่น่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่าหากมองให้ไกล  

“ถ้ารัฐแน่ใจในความเปิดกว้างได้เมื่อไหร่ ไม่จำกัดว่าต้องเป็นภาคส่วนไหน ไทยเสนอเลยว่าประเทศเราเป็นที่ที่มีความหวังให้ โดยไม่ต้องเริ่มที่การขายสินค้าใดๆ ถ้าคุณถูกกีดกันในสังคมเดิมเพียงเพราะเป็น LGBTQ และมีความพร้อม มาพบชีวิตใหม่ที่ประเทศเราได้” รศ.ดร.นัทธนัย กล่าวทิ้งท้าย

ดังนั้น ซีรีส์วายในยุคที่ไทยมี พ..สมรสเท่าเทียมจึงไม่ได้มีแค่ความท้าทาย  แต่ยังมีโอกาสอีกมากที่รออยู่

 

ที่มา:
ความท้าทายของซีรีส์วาย ในยุคที่ไทยมี พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม (The Story Thailand, กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, 1 ส.ค. 2567)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: