สวรส. ถอดรหัสต้นแบบถ่ายโอน รพ.สต. สู่ อบจ. 11 จังหวัดนำร่อง พบแนวทางบูรณาการเครือข่ายคือทางออกสำเร็จ

กองบรรณาธิการ TCIJ 9 ธ.ค. 2567 | อ่านแล้ว 33 ครั้ง

วิจัย สวรส. ถอดรหัสการสร้างต้นแบบถ่ายโอน รพ.สต.ด้วยเครือข่าย พร้อมส่งความรู้สู่ผู้ใช้ประโยชน์ และพัฒนาศักยภาพคนทำงานในพื้นที่ เดินหน้าพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิเข้มแข็ง-ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด

แม้ว่าสถานการณ์การถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จะมีการชะลอตัวลง โดยปี 2568 มีการถ่ายโอน 256 แห่ง จากปี 2567 ที่มีการถ่ายโอน 933 แห่ง ปี 2566 ถ่ายโอน 3,263 แห่ง แต่สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในฐานะองค์กรด้านวิชาการในระบบวิจัยสุขภาพของประเทศ ยังคงเดินหน้าสนับสนุนข้อเสนอแนะทางด้านวิชาการเพื่อให้เกิดการบริการสุขภาพปฐมภูมิอย่างต่อเนื่อง และเกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด

สวรส. จึงร่วมกับวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหน่วยงานเครือข่าย จัดการสัมมนาวิชาการ ส่งคืนข้อมูลงานวิจัย และถ่ายทอดความรู้ให้แก่พื้นที่ ภายใต้หัวข้อ “สร้างต้นแบบด้วยเครือข่าย: สู่ก้าวย่างที่มั่นคงของระบบสุขภาพปฐมภูมิ กรณีการถ่ายโอนขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)” เพื่อนำเสนอผลการศึกษาวิจัย การถอดบทเรียนประสบการณ์การของพื้นที่ต้นแบบ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทั้งผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ที่ถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปแล้ว และยังไม่ได้ถ่ายโอน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ควบคู่กับการเสริมองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ไปในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ในเวทีสัมมนาฯ ยังได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และกรรมาธิการสาธารณสุขในสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 เป็นประธานในพิธีเปิดและปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ การบูรณาการความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการยกระดับบริการสุขภาพปฐมภูมิ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่มีส่วนในการขับเคลื่อนการกระจายอำนาจด้านสุขภาพของประเทศ อาทิ นายบุญชอบ สะสมทรัพย์ สมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการสาธารณสุข น.ส.สิริลภัส กองตระการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สวรส. นพ.โกเมนทร์ ทิวทอง รองผู้อำนวยการ กองสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร ประธานราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย ฯลฯ รวมทั้งมีผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ทั้งจากสังกัด อปท. และหน่วยงานด้านสาธารณสุข ร่วมสัมมนากว่า 450 คน เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2567 ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

ระบบสุขภาพปฐมภูมิจำเป็นต้องเชื่อมโยงนโยบาย

รศ.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และกรรมาธิการสาธารณสุขในสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 กล่าวปาฐกถาพิเศษช่วงหนึ่งว่า การพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิจำเป็นต้องเชื่อมโยงนโยบาย ทั้งรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2560 ที่ระบุว่าให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต แผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข พรบ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 เพื่อยกระดับบริการสุขภาพปฐมภูมิ โดยคำนึงถึงประชาชนเป็นศูนย์กลาง และมุ่งเน้นให้เกิดการบริการสุขภาพปฐมภูมิที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ภายใต้แนวคิด การให้บริการแบบองค์รวม และการให้บริการทั้งด้านส่งเสริม ควบคุม และป้องกันโรค ตลอดจนการตรวจรักษาและฟื้นฟู โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน

ทั้งนี้การจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ ไม่ใช่แค่เพียงกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น หากแต่ยังมีหน่วยบริการสุขภาพในสังกัดของกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร/พัทยา เอกชน และสังกัดอื่นๆ ที่สามารถจัดบริการได้ จึงควรมีการบูรณาการความร่วมมือกัน และดำเนินงานตามที่กฎหมายกำหนด โดยกระทรวงสาธารณสุขควรทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านคุณภาพและมาตรฐาน โดยแต่ละหน่วยงานภายใต้สังกัดที่หลากหลายควรมีเป้าหมายเดียวกันคือ เพื่อประชาชนมีสุขภาพที่ดี ภายใต้การได้รับบริการ อาทิ มีที่ปรึกษาสุขภาพ รู้ข้อมูลสุขภาพของตนเอง สามารถจัดการสุขภาพตนเองได้ ลดเวลารอคอย สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพ ฯลฯ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการลดค่าใช้จ่ายของประชาชน ลดความแออัดของโรงพยาบาล และลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของภาครัฐตามมา ถือเป็นการยกระดับการบริการสุขภาพปฐมภูมิ ซึ่งเป็นบริการพื้นฐานที่คนไทยควรได้รับ

การบูรณาการแบบเครือข่าย เป็นทางออกของการแก้ไขปัญหาในกระบวนการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ

ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า สวรส. มีการสนับสนุน ทุนวิจัย เพื่อขับเคลื่อนการกระจายอำนาจด้านสุขภาพมาโดยตลอด ปัจจุบันมีจำนวนทั้งหมด 49 โครงการวิจัย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือโครงการรูปแบบการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพปฐมภูมิได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิจัย และทดลองการยกระดับการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิของ อบจ. นำร่อง ด้วยหลักเวชศาสตร์ครอบครัว และทดลองขับเคลื่อนมาตรฐานการจัดบริการสาธารณะขั้นต่ำด้านสาธารณสุขปฐมภูมิ ภายใต้กลไกคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) แผนพัฒนาสุขภาพระดับพื้นที่ ตลอดจนประเมินผล ถอดบทเรียน และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายจากการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิด้วยหลักเวชศาสตร์ครอบครัวในพื้นที่ 11 อบจ.นำร่อง ได้แก่ ระยอง ปราจีนบุรี กำแพงเพชร ปัตตานี น่าน เชียงใหม่ อุบลราชธานี สกลนคร ลำปาง สุโขทัย เพชรบูรณ์ ด้วยแนวทางการประเมินเชิงพัฒนา (Developmental Evaluation) และทฤษฎีว่าด้วยการเปลี่ยนแปลง (Theory of Change)

รศ.ดร.ธัชเฉลิม สุทธิพงษ์ประชา หัวหน้าโครงการวิจัยรูปแบบการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพปฐมภูมิได้ดีขึ้น เครือข่ายนักวิจัย สวรส. จากวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอว่า จุดเด่นของงานนี้คือ การวิจัยเชิงปฏิบัติการ โดยมีการสร้างระบบนักวิจัยพี่เลี้ยง หนุนเสริมให้เกิดนักวิจัยและผู้ช่วยปฏิบัติการวิจัยในพื้นที่ จำนวนกว่า 90 คน ซึ่งเป็นแนวทางการยกระดับงานวิจัยด้านการกระจายอำนาจที่สร้างความยั่งยืนให้กับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม และมีเครื่องมือในการศึกษาวิจัย อาทิ Train the Changemakers การประชุมเชิงปฏิบัติการ การคิดค้นและดำเนินการโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาของพื้นที่ (โครงการเรือธง) การส่งเสริมและแนะนำให้พื้นที่นำแนวทางการทำงานแบบบูรณาการและโครงการเรือธงเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายของ กสพ. อบจ. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) การสำรวจสถานการณ์และความคิดเห็นของผู้ให้บริการและผู้รับบริการ การติดตามการรับบริการสุขภาพปฐมภูมิของประชาชนในเรื่องต่างๆ

ซึ่งผลการศึกษาพบว่า แนวทางการบูรณาการความร่วมมือการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิแบบเครือข่าย เป็นทางออกของการแก้ไขปัญหาในกระบวนการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ, ส่วนราชการภูมิภาคและหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในการศึกษานี้ อบจ. และ รพ.สต.ถ่ายโอน มีพัฒนาการทางการเรียนรู้ที่ดีมากถึงดีเยี่ยม โดยมีความพยายามในการขับเคลื่อนการสร้างและพัฒนาเครือข่าย อบจ. และสาธารณสุข เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน, อบจ. ขนาดเล็ก และพื้นที่ที่มีการถ่ายโอนไม่ครบทั้งพื้นที่ มีความเสี่ยงที่จะประสบปัญหาและอุปสรรคในการขับเคลื่อนการบริการสุขภาพปฐมภูมิตามกฎหมายว่าด้วยระบบสุขภาพปฐมภูมิ ดังนั้นงานวิจัยเชิงขับเคลื่อนความรู้สู่การใช้ประโยชน์ ก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านวิชาการ และช่วยส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ได้อย่างชัดเจน นอกจากนั้น โครงการวิจัยนี้ยังได้มีการจัดทำคู่มือแนวทางการสร้าง จัดการ และพัฒนาเครือข่ายการให้บริการประชาชนด้านสุขภาพปฐมภูมิตามทฤษฎีการจัดการเครือข่ายและเวชศาสตร์ครอบครัว ซึ่งแต่ละพื้นที่สามารถนำไปเป็นแนวทางในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง

รศ.ดร.ธัชเฉลิม กล่าวถึงข้อเสนอแนะจากงานวิจัยว่า 1) รัฐบาลควรพิจารณาระบบเงินอุดหนุนเป็นกรณีเฉพาะให้แก่พื้นที่ อบจ. ขนาดเล็กที่มีงบประมาณน้อย และรับถ่ายโอน รพ.สต.หลายแห่ง 2) หน่วยบริหารส่วนกลางควรเน้นการขับเคลื่อนเพื่อผลักดันกฎหมายและนโยบายให้มีผลในทางปฏิบัติ 3) หน่วยบริหารส่วนกลางควรใช้กลไกมหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัยของรัฐมาช่วยในการพัฒนาและยกระดับศักยภาพในการทำวิจัยเชิงพื้นที่ รวมทั้งเน้นการพัฒนาศักยภาพของหน่วยบริหารส่วนภูมิภาคให้มีภาวะผู้นำ รวมทั้งมีการบูรณาการและการสร้างเครือข่าย เพื่อให้สามารถเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ อปท. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

องค์ประกอบสำคัญของการถ่ายโอน 6 เรื่องสำคัญ

ทั้งนี้ช่วงหนึ่งของการสัมมนาได้มีการถ่ายทอดประสบการณ์จากพื้นที่ที่มีนวัตกรรมและแนวทางการปฏิบัติที่เป็นเลิศ เพื่อเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ ได้นำไปประยุกต์ใช้ โดยมีประเด็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของการถ่ายโอน 6 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1) การพัฒนาเครือข่ายเวชศาสตร์ครอบครัว 2) การพัฒนาเครือข่ายทันตสาธารณสุขและเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่อง (COC) 3) การพัฒนาระบบการเงินและบัญชีของ รพ.สต.ถ่ายโอน 4) การบูรณาการตัวชี้วัดยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขด้วยเทคโนโลยีการจัดการและแสดงผลข้อมูล 5) การพัฒนาระบบบริหาร รพ.สต. สังกัด อบจ. ในระดับพื้นที่

6) การพัฒนากลไกส่งเสริมและสนับสนุน อบจ. ในระดับพื้นที่ นอกจากนี้ ในการสัมมนาดังกล่าว ยังได้มีการมอบโล่รางวัลให้กับพื้นที่ต้นแบบที่มีการดำเนินงานโดดเด่นและเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างชัดเจน และมีการรับมอบโล่ร่วมกันทั้ง อบจ. และ สสจ. สะท้อนให้เห็นถึงการทำงานร่วมกันอย่างมีเอกภาพ โดยแบ่งเป็นระดับ Platinum ได้แก่ ระยอง ปราจีนบุรี ระดับ Gold Plus ได้แก่ เชียงใหม่ ระดับ Gold ได้แก่ น่าน ลำปาง ปัตตานี สกลนคร กำแพงเพชร สุโขทัย อุบลราชธานี และระดับ Silver ได้แก่ เพชรบูรณ์ รางวัลโครงการเรือธงที่แสดงถึงความเป็นเลิศด้านสาธารณสุขเชิงรุก ได้แก่ โครงการกองทุนส่งใจถึงไตหมออนามัยปราจีนบุรี และรางวัลบุคลากรต้นแบบของกระบวนการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่ อบจ. เพื่อเป็นกำลังใจและเสริมพลังให้กับคนทำงานและพื้นที่ที่มุ่งมั่น สานต่อ และพัฒนาการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิมาอย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: