จับตา: รู้จัก ‘เจน อัลฟ่า’ แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ของสหรัฐฯ

กองบรรณาธิการ TCIJ 9 มิ.ย. 2567 | อ่านแล้ว 31873 ครั้ง


'เจน อัลฟ่า' (Gen Alpha) ได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นกลุ่มช่วงอายุที่มีหลากหลายเรื่องราวของคำว่าที่สุด ทั้งจำนวนประชากรมากที่สุดในประวัติศาสตร์ และการเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ของสหรัฐฯ | ที่มาภาพ: YR Media

ที่ผ่านมาเราพูดถึงเจนเนอร์เรชั่นต่าง ๆ อย่าง เบบี้บูมเมอร์ เจนเอ็กซ์ เจนวาย หรือ มิลเลเนียล และเจน Z กันมามากแล้ว คราวนี้ถึงเวลาเปิดตัว เจน อัลฟ่า (Gen Alpha) ที่ได้รับการจับตามองว่ากำลังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่น่าสนใจในขณะนี้

เจน อัลฟ่า (Gen Alpha) หรือ ผู้ที่เกิดในช่วงปีคริสต์ศักราช 2010-2024 ได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นกลุ่มช่วงอายุที่มีหลากหลายเรื่องราวของคำว่าที่สุด ทั้งจำนวนประชากรมากที่สุดในประวัติศาสตร์ และการเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างน่าสนใจ แม้ว่าผู้ที่อายุมากที่สุดในรุ่นนี้จะอยู่ที่ 14 ปีก็ตาม

มาร์ค แมคครินเดิล นักประชากรศาสตร์และนักวิเคราะห์ด้านสังคม กล่าวกับวีโอเอว่า “พวกเขามีการใช้จ่ายเงิน และใช้ในปริมาณที่มีนัยสำคัญ ไม่เพียงแค่นั้น คนรุ่นนี้มีอิทธิพลต่อพ่อแม่ผู้ปกครองในการตัดสินใจซื้อของอย่างมีนัยสำคัญด้วย” และว่า “เราประเมินว่าการจับจ่ายโดยตรงและจากอิทธิพลของคนรุ่นอัลฟ่านั้น พุ่งไปถึง 5.5 ล้านล้านดอลลาร์แล้วในตอนนี้ นี่คือร่องรอยทางเศรษฐกิจที่คนรุ่นนี้ได้สร้างประวัติศาสตร์ไว้เหนือคนรุ่นก่อน ๆ ”

อะไรคือปัจจัยของการจับจ่ายที่พุ่งสูงในคนรุ่นนี้ และอะไรคือสินค้าและบริการที่น่าดึงดูดใจสำหรับพวกเขา?

คนรุ่นสุดท้ายของเจนอัลฟ่าจะลืมตาดูโลกในปี 2024 นี้ แต่คนเจนอัลฟ่ารุ่นแรกเกิดในปีเดียวกันกับที่ไอแพดถือกำเนิดขึ้น โดยที่ทั้งรุ่นนี้ล้วนเกิดขึ้นในยุคสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์อินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อกันหมด ผลักดันให้คนรุ่นอัลฟ่ากลายเป็นผู้บริโภคได้รวดเร็วกว่าเจนอื่น ๆ เนื่องจากรูปแบบการชำระเงินค่าสินค้าและบริการต่างผูกติดกับบัญชีบัตรเครดิตของพ่อแม่หรือผ่านสกุลเงินดิจิทัลกันเสียหมดแล้ว จึงทำให้ง่ายต่อการซื้อเกมหรือสินค้าออนไลน์ได้แค่ปลายนิ้ว

แมคครินเดิล เสริมว่า “คนรุ่นนี้ซื้อสินค้าในโลกเสมือนจริงด้วยสกุลเงินดิจิทัลกันมากขึ้น” แต่มีอยู่ตลาดหนึ่งที่เจนนี้ไม่สามารถซื้อหาบนโลกเสมือนจริงได้ในตอนนี้ คือ ตลาดเครื่องสำอาง แต่ก็ไม่ได้ทำให้กำลังซื้อของพวกเขาชะลอลงเลย

อย่างเช่น Sephora พบสัดส่วนคนอายุ 10-14 ปีเข้าไปซื้อสินค้าที่ร้านเพิ่มขึ้นมากกว่า 22% ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2023 ถึงเดือนมีนาคมปี 2024 อ้างอิงจากข้อมูลของทีมวิเคราะห์ด้านค้าปลีก pass_by

เจมส์ เอเวน รองประธานฝ่ายการตลาดจาก pass_by กล่าวว่ากับวีโอเอผ่านอีเมลว่า “ประเด็นเรื่องความยั่งยืนกลายเป็นสิ่งน่าดึงดูดใจสำหรับคนรุ่นนี้ แม้ว่าเราไม่สามารถบอกได้จากข้อมูลที่มีโดยสรุปทั้งหมด”

เจนอัลฟ่ามีจุดเด่นดิจิทัล แล้วทักษะอื่น ๆ จะพัฒนารวดเร็วเหมือนกันหรือไม่?

จริงอยู่ที่คนที่เกิดในยุคเทคโนโลยีจะเรียนรู้ทักษะนี้ได้เร็วกว่ารุ่นอื่น แต่การพัฒนาทักษะอื่น ๆ เช่น การเล่น ค้นหาสิ่งใหม่ การบันทึกจดจำ และการผจญภัย ที่ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้และเข้าใจโลก จะพัฒนารวดเร็วเหมือนเทคโนโลยีด้วยหรือไม่นั้น แมคครินเดิล กล่าวว่า “สำหรับเด็ก ๆ แล้ว มุมมองต่อโลกลดขนาดลงมาเหลือแค่ 5 ส่วนใหญ่ ๆ ในสิ่งที่เคยเป็น สนามเด็กเล่น ลานกีฬา พื้นที่กลางแจ้ง ธรรมชาติ และพื้นที่ละแวกใกล้เคียงกับบ้าน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ลดขนาดลงมาในรูปแบบสิ่งแวดล้อมเสมือนจริง”

ด้านเชลลี เมเลีย ที่ปรึกษาด้านอาชีพ เสริมในประเด็นนี้ว่า การต้องอยู่ในโลกเสมือนที่เชื่อมต่อกับผู้อื่นตลอดเวลา อาจลดทอนการจัดการเรื่องกระทำของพวกเขาเอง “สิ่งหนึ่งที่เด็กที่อยู่ห่างจากพ่อแม่ หรือคนที่สามารถช่วยแก้ปัญหาให้ได้ ทำให้พวกเขาต้องอยู่อย่างไม่สบายใจและลำบาก ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ทำให้คนเติบโตขึ้น คือ รู้จักจัดการการกระทำของตนเอง แต่เด็กรุ่นนี้อาจพึ่งพาสมาร์ทโฟนหรืออินเตอร์เน็ตในการแก้ปัญหามากเกินไป แทนที่จะกลับมามองว่าสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยตัวเองได้หรือไม่”

อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ เจนอัลฟ่าเป็นกลุ่มช่วงอายุที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในประวัติศาสตร์ และจะมีอายุยืนยาวและมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากกว่ารุ่นอื่น ๆ พวกเขาจะได้รับการศึกษาที่มากกว่า มีชีวิตอยู่ที่บ้านนานกว่า และทำงานนานกว่าคนรุ่นก่อนอยู่มาก คือ อาจจะทำงานยาวไปจนถึงช่วงอายุ 70 ปีขึ้นไป และราว 2 ใน 3 ของคนรุ่นอัลฟ่าจะทำงานในสาขาอาชีพที่ยังไม่ถือกำเนิดขึ้นในยุคนี้ อ้างอิงจากข้อมูลของ World Economic Forum

แมคครินเดิล กล่าวถึงเรื่องนี้ด้วยว่า “คนรุ่นนี้จะกลายเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต ดังนั้นจึงคิดว่าการสร้างรากฐานด้านการศึกษาที่แข็งแกร่งและลงทุนกับสิ่งที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ .. มันอาจทำให้การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ล่าช้าลงได้ หากพวกเขาอยู่กับบ้านนานขึ้น และเราอาจลงเอยด้วยการมีคนกลุ่มที่เรียกว่า ‘คิดดัลท์’ (kidult) หรือผู้ใหญ่ที่ยังคงพึ่งพ่อแม่อยู่ก็ตามที”

อะไรที่ควรให้ความใส่ใจกับคนรุ่นนี้บ้าง?

ด้านเมเลีย กล่าวว่า เมื่อคนรุ่นนี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ การพึ่งพาเทคโนโลยีอย่างหนัก อาจทำให้เจนอัลฟ่าเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพจิตได้ เพราะพวกเขามีแนวโน้มจะเติบโตมาโดยพ่อแม่ที่ต้องสมดุลชีวิตการทำงานและชีวิตที่บ้านซึ่งแทบจะไม่มีเส้นแบ่งแยกชีวิตเหล่านี้แล้ว โดยเฉพาะกับพ่อแม่ที่ทำงานจากบ้าน

เมเลีย อธิบายว่า “การเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเหล่านี้จึงเป็นเรื่องน่าเจ็บปวดสำหรับลูกหลานรุ่นนี้ และมันยากที่จะรู้สึกแบบนั้นในโลกเสมือนจริงปัจจุบัน เราจึงเสพติดบางสิ่งที่ไม่สามารถมอบสิ่งที่เราต้องการได้จริง ๆ ” เพราะท้ายที่สุดแล้ว “พวกเขาก็ต้องการจะอยู่ในสายตา ต้องการเป็นที่รู้จัก ต้องการความรัก ต้องการสบตาผู้คน ต้องการบทสนทนาแบบเห็นหน้ากัน ต้องการมื้อเย็นกับครอบครัวแบบไม่ถูกรบกวน ซึ่งช่วยให้พวกเขาเรียนรู้ทักษะด้านอารมณ์และสังคม”

ทบทวนแต่ละรุ่นมีที่มาที่ไปอย่างไร?

มาร์ค แมคครินเดิล นักประชากรศาสตร์และนักวิเคราะห์ด้านสังคม บอกกับวีโอเอว่า เบบี้ บูมเมอร์ หรือ บูมเมอร์ คือ คนที่เกิดช่วงปี 1946-1964 มีสัดส่วนประชากรสูงขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ส่วนเจนเอ็กซ์ คือ ผู้คนที่เกิดช่วงปี 1965-1980 มิลเลเนียล หรือ เจนวาย คือ คนที่ปัจจุบันมีอายุ 28-43 ปี ได้รับชื่อรุ่นนี้มาเนื่องจากว่าคนที่อายุมากที่สุดในรุ่นนี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่หลังจากก้าวข้ามสหัสวรรษใหม่นั่นเอง ส่วนเจน Z ได้ชื่อนี้มาจากการเกิดตามหลังเจนเอ็กซ์ ไป 2 รุ่น

เจน อัลฟ่า (Gen Alpha) หรือ ผู้ที่เกิดในช่วงปีคริสต์ศักราช 2010-2024 มีการถูกพูดถึงว่าจริง ๆ แล้วควรเรียกว่า คนรุ่นโควิด หรือ Covidians มากกว่า เพราะชีวิตส่วนใหญ่ที่ติดอยู่กับบ้านในช่วงการระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ ยังมีการผุดแนวคิดการตั้งชื่อรุ่นนี้ว่า i-Gen หรือ Digital Gen เนื่องจากความเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีของคนรุ่นนี้

ท้ายสุดแล้ว แมคกริดเดิล ยังมองว่า เจนอัลฟ่าจะถูกกำหนดด้วยเทคโนโลยีที่รุดหน้าไป “เหมือนกับเป็นอากาศที่หายใจ” และการมีอำนาจและศักยภาพที่จะขับเคลื่อนทิศทางของโลกได้ตั้งแต่วัยเยาว์ ซึ่งสิ่งนั้นคืออำนาจที่ไร้ขีดจำกัดของคนรุ่นนี้ เหมือนกับชื่อของเจนเนอร์เรชัน อัลฟ่า ที่เป็นตัวอักษรแรกของกรีก ซึ่งสื่อถึงคนรุ่นนี้ได้ชัดเจนว่า “จุดเริ่มต้นของความจริงใหม่ทั้งหมด”

ทั้งนี้ หลังจากรุ่นอัลฟ่าแล้ว เด็กที่เกิดช่วงปี 2025-2040 จะเรียกว่าเจนเบต้า ตามมาด้วยเจนแกมมา และเจนเดลต้า ตามลำดับ

ที่มา: VOA

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: