Rocket Media Lab: 5 ปีไรเดอร์ไทย ต้องต่อสู้กับแพลตฟอร์มเรื่องใดบ้าง

กองบรรณาธิการ TCIJ 22 ม.ค. 2567 | อ่านแล้ว 31773 ครั้ง

Rocket Media Lab: 5 ปีไรเดอร์ไทย ต้องต่อสู้กับแพลตฟอร์มเรื่องใดบ้าง

Rocket Media Lab ชวนดูข้อมูลการต่อสู้ของไรเดอร์กับแพลตฟอร์มในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ผ่านข้อมูลการรวมตัวกันประท้วงของไรเดอร์แต่ละแพลตฟอร์มในช่วงปี 2562-2566 เพื่อดูว่าไรเดอร์ประท้วงเรื่องอะไร แพลตฟอร์มไหนมีการประท้วงมากที่สุด และการประท้วงสำเร็จหรือไม่

  • ระหว่างปี พ.ศ. 2562 – 2566 พบว่ามีการประท้วงของไรเดอร์เกิดขึ้นทั้งหมด 113 ครั้ง แบ่งเป็นปี 2562 จำนวน 4 ครั้ง ปี 2563 จำนวน 6 ครั้ง ปี 2564 จำนวน 45 ครั้ง ปี 2565 จำนวน 42 ครั้ง และปี 2566 จำนวน 16 ครั้ง
  • แพลตฟอร์มที่มีการประท้วงมากที่สุด คือไลน์แมน 62 ครั้ง ตามมาด้วย แกร็บฟู้ด 23 ครั้ง ฟู้ดแพนด้า 17 ครั้ง ลาล่ามูฟ 7 ครั้ง และอื่นๆ 4 ครั้ง เป็นการส่งเสียงจากไรเดอร์โดยไม่ได้ระบุแพลตฟอร์มผ่านการยื่นหนังสือถึงภาครัฐและพรรคการเมือง
  • ข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ของไรเดอร์จากการประท้วง ทั้ง 113 ครั้ง เป็นเรื่องค่ารอบและค่าตอบแทนมากที่สุด จำนวน 93 ครั้ง รองลงมาคือระบบรับงานและการจ่ายงาน จำนวน 42 ครั้ง ตามมาด้วยสวัสดิการและการคุ้มครองแรงงาน จำนวน 15 ครั้ง 
  • 5 ปีที่ผ่านมามีการปรับค่ารอบถึง 17 ครั้ง แบ่งออกเป็น ปี 2562 จำนวน 2 ครั้ง ปี 2564 จำนวน 5 ครั้ง ปี 2564 จำนวน 4 ครั้ง และปี 2566 จำนวน 6 ครั้ง โดยเป็นการลดค่ารอบถึง 15 ครั้ง พบว่าแกร็บฟู้ดเป็นแพลตฟอร์มที่มีการปรับลดค่ารอบมากที่สุดถึง 6 ครั้ง
  • จากการรวมตัวประท้วงของไรเดอร์ทั้ง 113 ครั้ง ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าแพลตฟอร์มยอมรับข้อเรียกร้องจากการประท้วงของไรเดอร์เพียง 20 ครั้ง โดยเป็นการยอมรับข้อเรียกร้องทั้งหมดที่ไรเดอร์เสนอ 7 ครั้ง และยอมรับข้อเสนอบางเรื่อง 13 ครั้ง 

อาชีพไรเดอร์เป็นอาชีพใหม่ในสังคมไทย หลังเกิดแพลตฟอร์มให้บริการด้านการขนส่งอย่างแกร็บในปี พ.ศ. 2556 เป็นเจ้าแรก และกลายมาเป็นอาชีพที่มีคนหันมาทำเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้มีคนตกงานและว่างงานเป็นจำนวนมาก จากผลสำรวจเรื่อง ‘ไรเดอร์ไทย เป็นอยู่ยังไง อยากได้อะไรบ้าง’ ของ Rocket Media Lab ในปี 2564 ซึ่งทำการสำรวจผู้ประกอบอาชีพไรเดอร์ส่งอาหารจำนวน 1,136 คน พบว่ามีคนที่ทำงานไรเดอร์ส่งอาหารเป็นอาชีพหลักสูงถึง 59.44% และทำเป็นอาชีพเสริม 40.56%

อย่างไรก็ตาม อาชีพไรเดอร์ยังคงอยู่บนฐานของการเป็น ‘พาร์ทเนอร์’ ไม่ได้ถูกนับว่าเป็นลูกจ้าง ซึ่งนอกจากจะไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์แล้ว ยังต้องทำงานภายใต้เงื่อนไขของแพลตฟอร์มโดยไม่อาจต่อรองได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าตอบแทนอย่างการกำหนดค่ารอบ หรือเรื่องสวัสดิการอื่นๆ ที่แพลตฟอร์มมีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงและปรับลดเรื่อยมา จนก่อให้เกิดการประท้วงของไรเดอร์มาอย่างต่อเนื่อง

Rocket Media Lab ชวนสำรวจการประท้วงของไรเดอร์ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ผ่านการรวบรวมข้อมูลในช่วงปี 2562 – 2566 เพื่อดูว่าไรเดอร์ประท้วงเรื่องอะไร แพลตฟอร์มไหนมีการประท้วงมากที่สุด และการประท้วงสำเร็จหรือไม่ 

5 ปี มีการประท้วงแพลตฟอร์ม 113 ครั้ง พบไลน์แมนมีการประท้วงมากที่สุด

จากการเก็บข้อมูลการประท้วงของไรเดอร์ผ่านการรายงานข่าวของสื่อมวลชนและช่องทางการสื่อสารในโซเชียลมีเดียของกลุ่มไรเดอร์ เป็นเวลา 5 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2562 – 2566 พบว่ามีการประท้วงของไรเดอร์เกิดขึ้นทั้งหมด 113 ครั้ง โดยปี 2562 จำนวน 4 ครั้ง ปี 2563 จำนวน 6 ครั้ง ปี 2564 จำนวน 45 ครั้ง ปี 2565 จำนวน 42 ครั้ง และปี 2566 จำนวน 16 ครั้ง

และเมื่อนำการประท้วงทั้งหมด 113 ครั้ง มาแยกว่าเป็นการประท้วงของไรเดอร์จากแพลตฟอร์มใดบ้าง พบว่าแพลตฟอร์มที่มีการประท้วงมากที่สุด คือไลน์แมน 62 ครั้ง ตามมาด้วย แกร็บฟู้ด 23 ครั้ง ฟู้ดแพนด้า 17 ครั้ง ลาล่ามูฟ 7 ครั้ง และอื่นๆ 4 ครั้ง เป็นการส่งเสียงจากไรเดอร์โดยไม่ได้ระบุแพลตฟอร์มผ่านการยื่นหนังสือถึงภาครัฐและพรรคการเมือง

หากพิจารณาตามสัดส่วนรายภาค ภาคที่มีการประท้วงมากที่สุดคือ ภาคกลาง 43 ครั้ง ตามมาด้วยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 26 ครั้ง ภาคใต้ 22 ครั้ง ภาคตะวันออก 12 ครั้ง ภาคเหนือ 7 ครั้ง และภาคตะวันตก 3 ครั้งหากพิจารณาตามสัดส่วนรายจังหวัด พบว่ามีการประท้วงเกิดขึ้นมาถึง 46 จังหวัดทั่วประเทศ โดยจังหวัดที่มีการประท้วงมากที่สุดคือ กรุงเทพฯ 27 ครั้ง ชลบุรี 8 ครั้ง นครศรีธรรมราช 6 ครั้ง เชียงใหม่และปัตตานี 4 ครั้งเท่ากัน

จากข้อมูลจะพบว่าในปี 2564 เป็นปีที่มีการประท้วงมากที่สุดถึง 45 ครั้ง เนื่องจากเป็นช่วงที่หลายแพลตฟอร์มปรับโครงสร้างค่ารอบครั้งใหญ่ โดยไรเดอร์ในหลายพื้นที่ระบุว่าในการปรับค่ารอบครั้งนี้ไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ทำให้ในปีนั้นเกิดการประท้วงของไรเดอร์กระจายทั่วประเทศ เช่น กรณีการปรับลดค่ารอบครั้งใหญ่ของไลน์แมนช่วงเดือนมิถุนายน 2564 ในพื้นที่ต่างจังหวัด จากเดิม 30-40 บาท เหลือเพียง 20-24 บาท ทำให้เกิดการประท้วงแพลตฟอร์มในหลายพื้นที่เพื่อเรียกร้องค่ารอบเดิม ก่อนจะยกระดับเป็นค่ารอบ 40 บาทต่องานทั้งประเทศ โดยในเดือนเดียวกันนี้มีการประท้วงมากถึง 16 ครั้ง ใน 13 จังหวัดทั่วประเทศ และในปี 2564 ยังพบว่าไลน์แมนเป็นแพลตฟอร์มที่มีการประท้วงมากที่สุดอีกด้วย จำนวน 25 ครั้ง 

ขณะที่ในปี 2562 – 2563 แกร็บฟู้ดเป็นแพลตฟอร์มที่ถูกไรเดอร์ประท้วงมากที่สุด เพราะเป็นแพลตฟอร์มแรกในตลาดที่เริ่มปรับลดค่ารอบและนโยบายเกี่ยวกับไรเดอร์ อันเนื่องมาจากการแข่งขันด้านการตลาดและราคาของแพลตฟอร์มในตลาดฟู้ดเดลิเวอร์ที่สูงขึ้นจากการที่มีเจ้าใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นที่แข่งกันทำราคาเพื่อดึงดูดการใช้แก่ผู้บริโภค ทำให้ไรเดอร์ของแกร็บฟู้ดไม่พอใจและเริ่มประท้วงแพลตฟอร์ม และกลับมาประท้วงอีกครั้งในช่วง 2565-2566 จากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างค่ารอบแบบใหม่ที่ทำให้รายได้ของไรเดอร์ลดลง

หลังมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างค่ารอบโดยเพิ่มค่ารออาหาร และลดค่ารอบพื้นฐานลง ซึ่งมีการทดลองในพื้นที่ต่างจังหวัดก่อนจะนำมาใช้ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จนเกิดการนัดหยุดงานและปิดแอปฯ ครั้งใหญ่ ทำให้แพลตฟอร์มต้องกลับไปพิจารณาเพิ่มค่ารอบพื้นฐานใหม่

ฟู้ดแพนด้าเป็นแพลตฟอร์มที่มีการประท้วงส่วนใหญ่เกิดขึ้นในต่างจังหวัดถึง 16 ครั้งจากทั้งหมด 17 ครั้ง โดยเป็นการประท้วงในช่วงปี 2564 สูงถึง 14 ครั้ง จากกระแสการลดค่ารอบในพื้นที่ต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ส่วนลาล่ามูฟนั้น ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มให้บริการขนส่ง แตกต่างจากแพลตฟอร์มอื่นที่ให้บริการการจัดส่งอาหารเป็นหลัก แต่ก็มีการรวมตัวประท้วงจากไรเดอร์ 7 ครั้ง และในทุกครั้งเป็นการประท้วงที่นำโดยกลุ่มสหภาพไรเดอร์ ซึ่งเป็นไรเดอร์ของลาล่ามูฟเองที่ไม่พอใจนโยบายการลดค่ารอบ

ค่ารอบน้อย ร้อยงานพ่วง ห่วงชีวิต : ข้อเรียกร้องหลักของไรเดอร์

จากนั้นเมื่อนำข้อเรียกร้องในการประท้วงของไรเดอร์ส่งอาหารในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ทั้ง 113 ครั้ง มาแยกประเภทของเรื่องที่ไรเดอร์เรียกร้อง สามารถแยกออกมาได้ 12 เรื่อง ได้แก่

1. ค่ารอบและค่าตอบแทน จำนวน 93 ครั้ง 

เป็นเรื่องที่ไรเดอร์ยื่นข้อเรียกร้องมากที่สุด และทุกครั้งที่แพลตฟอร์มประกาศปรับเปลี่ยนโครงสร้างค่ารอบ หรือลดค่ารอบโดยไม่ได้แจ้งไรเดอร์ล่วงหน้า ไรเดอร์จะนัดรวมกลุ่มกันทันทีโดยเฉพาะกลุ่มไรเดอร์ในต่างจังหวัด เนื่องจากได้ค่ารอบน้อยกว่าพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลและต้องวิ่งงานมากขึ้น การปรับค่ารอบจึงส่งผลอย่างมากต่อไรเดอร์ในต่างจังหวัด โดยเฉพาะกลุ่มไรเดอร์ที่ทำเป็นงานประจำ โดยในประเด็นนี้ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับเรื่องการปรับค่ารอบเริ่มต้นขั้นต่ำต่องาน การคำนวณค่าอินเซนทีฟ ตัวอย่างการประท้วง เช่น การขอขึ้นค่ารอบของไรเดอร์ จ.ภูเก็ต จาก 30 บาทเป็น 40 บาท เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 

2. ระบบรับงานและการจ่ายงาน จำนวน 42 ครั้ง 

เป็นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการกระจายงานและการรับงานของไรเดอร์ ซึ่งเริ่มมีปัญหาหลังจากแพลตฟอร์มเริ่มนำระบบอัลกอริทึมมาใช้ในการจ่ายงานแทนระบบกดรับงานแบบเดิมที่ไรเดอร์ต้องแย่งกันกด ส่งผลต่อจำนวนงานและรายได้ที่ลดลง เนื่องจากการกระจายงานโดยระบบอัลกอริทึมยังมีปัญหา ทำให้ไรเดอร์ที่อยู่ใกล้ร้านรับงานไม่ได้ หรือรอให้แพลตฟอร์มส่งงานนานเกินไป นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการกระจายงานอื่นๆ เช่น ไรเดอร์หน้าใหม่จะเห็นงานก่อนไรเดอร์หน้าเก่า ปัญหาระบบกะงานที่ยังไม่เพียงพอต่อไรเดอร์ นอกจากนี้มีเรื่องของการเอาระบบงานแบช-งานพ่วงเข้ามาใช้ เพิ่มภาระให้กับไรเดอร์ในขณะที่รายได้ต่องานเท่าเดิมหรือน้อยลง ทำให้ในการประท้วงมีการเรียกร้องให้ยกเลิกงานแบช-งานพ่วง หรือปรับปรุงระบบของงานให้เป็นธรรมกับไรเดอร์ ตัวอย่างการประท้วง เช่น การประท้วงของไรเดอร์ไลน์แมนใน จ.เชียงใหม่ เรียกร้องให้แพลตฟอร์มแก้ไขระบบจ่ายงานให้คนที่อยู่ใกล้เห็นก่อน และต้องกระจายงานให้ไรเดอร์หน้าเก่าและหน้าใหม่อย่างเท่าเทียม เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2566

3. สวัสดิการและการคุ้มครองแรงงาน จำนวน 15 ครั้ง 

เป็นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการจัดสรรสวัสดิการและการช่วยเหลือไรเดอร์ เนื่องจากระบบการเข้าถึงประกันอุบัติเหตุที่แพลตฟอร์มมีให้ไรเดอร์มีปัญหาในยามที่ไรเดอร์ประสบอุบัติเหตุ เช่น บางแพลตฟอร์มมีเกณฑ์ให้ไรเดอร์ต้องวิ่งงานตามจำนวนงานที่กำหนดถึงจะสามารถเข้าถึงประกันอุบัติเหตุของแพลตฟอร์มได้ หรือความล่าช้าของระบบในการเคลมประกันอุบัติเหตุให้ไรเดอร์ ทำให้ไรเดอร์สูญเสียรายได้และเวลาในระหว่างที่แพลตฟอร์มกำลังพิจารณาการให้ความช่วยเหลือกับไรเดอร์ ตัวอย่างการประท้วง เช่น การประท้วงของไรเดอร์ฟู้ดแพนด้าหน้าสำนักงานใหญ่ฟู้ดแพนด้า (ไทยแลนด์) เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องของไรเดอร์คือการเรียกร้องให้แพลตฟอร์มทำประกันอุบัติเหตุให้กับไรเดอร์ทุกคน

4. การบริการ Call Center และฝ่าย Support จำนวน 14 ครั้ง 

เป็นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับระบบการรับฟังและให้ความช่วยเหลือไรเดอร์ รวมถึงการอำนวยความสะดวกให้กับไรเดอร์ระหว่างปฏิบัติงาน โดยที่ผ่านมาไรเดอร์ประสบปัญหาการติดต่อสื่อสารผ่านช่องทาง call center ของแพลตฟอร์ม เช่น ไรเดอร์ไม่สามารถติดต่อหรือได้รับการช่วยเหลือจาก call center ได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของปัญหาการใช้งานแอปพลิเคชัน เช่น ปัญหาความแม่นยำของระบบ GPS ปัญหาหน้าอินเทอร์เฟซของแอปพลิเคชันที่ใช้งานยาก ตัวอย่างการประท้วง เช่น การประท้วงของไรเดอร์ฟู้ดแพนด้าหน้าสำนักงานใหญ่ฟู้ดแพนด้า (ไทยแลนด์) เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องของไรเดอร์คือเรียกร้องให้แพลตฟอร์มจัดอบรมฝ่าย support ไรเดอร์ของบริษัท เพื่อให้ช่วยเหลือไรเดอร์ได้ถูกประเด็น

5. การจ้างงานใหม่ของบริษัท จำนวน 9 ครั้ง 

เป็นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการรับไรเดอร์ใหม่ เนื่องจากหลายแพลตฟอร์มมีการเปิดรับไรเดอร์ใหม่อยู่ตลอดเวลา ทำให้มีไรเดอร์อยู่ในระบบเป็นจำนวนมาก หากยังไม่ปิดการรรับไรเดอร์ใหม่ชั่วคราวอาจส่งผลกระทบต่อจำนวนงานที่ไม่เพียงพอกับจำนวนไรเดอร์ และทำให้ไรเดอร์เก่ามีรายได้และจำนวนงานน้อยลง เพราะแพลตฟอร์มทำระบบให้ไรเดอร์ใหม่เห็นงานก่อนเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ไรเดอร์อยู่กับระบบต่อ ตัวอย่างการประท้วง เช่น กลุ่มไรเดอร์ฟู้ดแพนด้าใน จ.ลำพูน ยื่นหนังสือผ่านศูนย์ดำรงธรรม เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2564 เพื่อเรียกร้องให้แพลตฟอร์มปิดรับไรเดอร์ใหม่ เนื่องจากปัจจุบันมีไรเดอร์มากกว่าจำนวนงาน

6. ระบบการลงโทษ จำนวน 8 ครั้ง 

เป็นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการถูกระบบแบนโดยไม่เป็นธรรม โดยมีหลายกรณีที่ไรเดอร์ระบุว่าถูกระบบลงโทษโดยไม่มีการชี้แจงจากแพลตฟอร์ม หรือมีขั้นตอนการอุทธรณ์ที่นานเกินไปทำให้เสี่ยงต่อการขาดรายได้และโอกาสในการทำงาน นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการใช้ระบบอัลกอริทึมในการควบคุมการทำงานของไรเดอร์อย่างเข้มงวด ทำให้เสี่ยงถูกระบบแบนอย่างไม่เป็นธรรม ตัวอย่างการประท้วง เช่น กลุ่มไรเดอร์แกร็บฟู้ดในพื้นที่ จ.ระยองยื่นหนังสือถึงแพลตฟอร์ม เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องคือการเรียกร้องให้ชี้แจงเรื่องเกณฑ์การแบนไรเดอร์ เนื่องจากไรเดอร์หน้าใหม่ประสบปัญหาถูกแบนเป็นจำนวนมาก

7. ระบบจ่ายเงิน จำนวน 5 ครั้ง 

เป็นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการถอนเงินออกจากระบบ ซึ่งมีผลกับรายได้ของไรเดอร์โดยตรง เช่น การเก็บค่าธรรมเนียมในการถอน การขอคืนภาษีเงินได้ 3% คืนเมื่อสิ้นปีตามกฎหมาย ระยะเวลาที่จะถอนเงินออกจากระบบ หรือการเคลมค่าอาหารกรณีถูกยกเลิกงานระหว่างจัดส่ง ตัวอย่างการประท้วง เช่น การรวมตัวประท้วงของไรเดอร์ลาลามูฟ หน้าอาคารสาทรนครทาวเวอร์ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 หนึ่งในข้อเรียกร้องของไรเดอร์ คือ การเรียกร้องให้แพลตฟอร์มยกเลิกค่าธรรมเนียมในการถอนเงินออกจากระบบและแพลตฟอร์มต้องคืนเงินที่เคยหักจากการถอนเงินของไรเดอร์

8. ข้อเรียกร้องให้ร้านค้า จำนวน 4 ครั้ง 

เป็นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการเก็บค่า GP (Gross Profit) หรือส่วนแบ่งค่าคอมมิชชั่นที่ร้านค้าต้องจ่ายให้กับแพลตฟอร์ม ส่วนใหญ่เก็บที่ 30-35% ของรายได้ หากแพลตฟอร์มเพิ่มค่า GP อาจกระทบต่อรายได้ของร้านค้าและจำนวนงานของไรเดอร์ ตัวอย่างการประท้วง เช่น การรวมกลุ่มของไรเดอร์ฟู้ดแพนด้า จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 หนึ่งในข้อเรียกร้องของไรเดอร์ คือ เรียกร้องให้แพลตฟอร์มเก็บค่า GP ร้านค้า 30% เท่ากัน

9. ข้อเรียกร้องให้ผู้บริโภค จำนวน 4 ครั้ง 

เป็นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการลดค่าอาหารขั้นต่ำ โดยแพลตฟอร์มจะเรียกเก็บค่าคำสั่งซื้อขนาดเล็กเป็นค่าธรรมเนียม หากมีคำสั่งซื้อน้อยกว่า 70-80 บาท ไรเดอร์มองว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค บีบให้ต้องจ่ายสูงขึ้นเพื่อไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่ม ตัวอย่างการประท้วง เช่น การรวมกลุ่มของไรเดอร์ฟู้ดแพนด้า จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 หนึ่งในข้อเรียกร้องของไรเดอร์ คือ เรียกร้องให้แพลตฟอร์มปรับอัตราการสั่งอาหารขั้นต่ำจากเดิม 70 บาท เป็น 50 บาท

10. ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับนโยบายรัฐและกฎหมาย จำนวน 5 ครั้ง 

เป็นข้อเรียกร้องให้ภาครัฐออกกฎหมายและนโยบายคุ้มครองแรงงานแพลตฟอร์ม รวมถึงการออกนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวกับการขนส่ง เช่น การเรียกร้องให้มีการออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานแพลตฟอร์ม การแก้ปัญหาราคาน้ำมัน และการให้ภาครัฐเข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างไรเดอร์และแพลตฟอร์ม ตัวอย่างการประท้วง เช่น กลุ่มไรเดอร์และญาติไรเดอร์ที่เสียชีวิตรวมตัวยื่นหนังสือที่กระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 เรียกร้องให้ภาครัฐออกกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มในการจ่ายค่าจ้าง และมีการจัดสวัสดิการที่เป็นธรรมให้กับแรงงานไรเดอร์

11. การเข้ามามีส่วนร่วมของไรเดอร์ จำนวน 3 ครั้ง 

เป็นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการออกแบบนโยบายร่วมกันระหว่างไรเดอร์และแพลตฟอร์ม เนื่องจากปัจจุบันนโยบายต่างๆ ถูกออกแบบโดยแพลตฟอร์ม ไรเดอร์จึงมีการเรียกร้องเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย เช่น การให้ไรเดอร์เข้ามาเจรจากันอย่างเป็นทางการ และการเชิญตัวแทนของไรเดอร์เข้ามาหารือทุกครั้งที่มีการกำหนดนโยบายของแพลตฟอร์ม ตัวอย่างการประท้วง เช่น กลุ่มสหภาพไรเดอร์ จ.นครพนม ยื่นหนังสือถึงไลน์แมน เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 หนึ่งในข้อเรียกร้องคือขอให้แพลตฟอร์มเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการระหว่างแพลตฟอร์มกับไรเดอร์

12. ข้อเรียกร้องอื่นๆ 2 ครั้ง 

โดยเนื้อหาหลักของข้อเรียกร้อง คือ การสนับสนุนการประท้วงของไรเดอร์ในอีกพื้นที่ ตัวอย่างการประท้วง เช่น การชุมนุมของไรเดอร์ฟู้ดแพนด้าในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.ชุมพร เมื่อวันที่ 5 – 6 พฤศจิกายน 2564 ที่ออกมารวมตัวกันเพื่อสนับสนุนการยื่นข้อเรียกร้องของไรเดอร์ใน จ.ร้อยเอ็ด

ค่ารอบไรเดอร์ ยิ่งทำงานยิ่งได้เงินน้อยลง

จากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นได้ว่าเรื่องค่ารอบเป็นประเด็นที่ไรเดอร์มีการเรียกร้องมากที่สุด และเป็นแรงขับเคลื่อนในการประท้วงแพลตฟอร์มของไรเดอร์มาโดยตลอด เนื่องจาก 5 ปีที่ผ่านมามีการปรับค่ารอบถึง 17 ครั้ง แบ่งออกเป็น ปี 2562 จำนวน 2 ครั้ง ปี 2564 จำนวน 5 ครั้ง ปี 2564 จำนวน 4 ครั้ง และปี 2566 จำนวน 6 ครั้ง โดยเป็นการลดค่ารอบถึง 15 ครั้ง 

แกร็บฟู้ดเป็นแพลตฟอร์มที่มีการปรับเพิ่มค่ารอบ 1 ครั้ง และปรับลด 6 ครั้ง โดยมีการลดค่ารอบครั้งแรกในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562 ในพื้นที่ต่างจังหวัด เช่น ขอนแก่น อุดรธานี และชลบุรี จาก 55 บาทต่องาน เหลือ 30 บาทต่องาน และในหลายจังหวัดที่แกร็บเริ่มเข้าไปเปิดพื้นที่ให้บริการช่วงธันวาคม 2563 ค่ารอบเริ่มต้นที่ 15 บาทต่องาน ซึ่งในการประท้วงเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 ของไรเดอร์ ทางแกร็บชี้แจงว่าค่ารอบของไรเดอร์แต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับค่าครองชีพ อุปสงค์และอุปทานในแต่ละจังหวัดที่บริษัทต้องคำนวณ ในปัจจุบันค่ารอบในกรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ที่ 30-35 บาทต่องาน ในขณะที่ต่างจังหวัดต่ำสุดอยู่ที่ 15 บาทต่องาน      

แพลตฟอร์มไลน์แมน มีการปรับลดค่ารอบลง 4 ครั้ง เริ่มลดค่ารอบช่วงมีนาคม 2564 ในพื้นที่กรุงเทพฯ จากเดิม 62 บาทต่องาน เหลือ 51 บาทต่องาน ต่อมาช่วงกรกฎาคม 2564 มีการลดค่ารอบทั่วประเทศจนเกิดการประท้วงใหญ่ในหลายจังหวัด เช่นในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่จากเดิม 38 บาทต่องาน เหลือ 24.73 บาทต่องาน ต่อมาช่วงกุมภาพันธ์ 2565 มีการลดค่ารอบในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น จากเดิม 32.30 บาทต่องาน เหลือ 28 บาทต่องาน พื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จากเดิม 32 บาทต่องาน เหลือ 28 บาทต่องาน และช่วงต้นปี 2567 ไลน์แมนก็มีการปรับค่ารอบในต่างจังหวัดอีกครั้ง ทำให้หลายจังหวัดค่ารอบลดลงจากเดิม เช่น พื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ปรับค่ารอบจากเดิม 17 บาทต่องาน เหลือ 15 บาทต่องาน

แพลตฟอร์มฟู้ดแพนด้า เป็นแพลตฟอร์มที่ไม่มีการประกาศลดค่ารอบที่ชัดเจน ทำให้ไม่สามารถจัดเก็บข้อมูลการปรับค่ารอบของไรเดอร์ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการปรับลดค่ารอบของฟู้ดแพนด้าสะท้อนผ่านการประท้วงของไรเดอร์ โดยเฉพาะไรเดอร์ต่างจังหวัด คาดว่าการปรับลดค่ารอบของฟู้ดแพนด้าเริ่มขึ้นในช่วงสิงหาคม 2564 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จากเดิม 21 บาทต่องาน เหลือ 17 บาทต่องาน ในปี 2564 มีการลดค่ารอบอย่างต่อเนื่อง ช่วงกันยายนในพื้นที่จังหวัดนครนายก บุรีรัมย์ กระบี่ และลำปาง ช่วงพฤศจิกายนในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี

แพลตฟอร์มช้อปปี้ฟู้ดมีการปรับลดค่ารอบ 3 ครั้ง เพิ่ม 1 ครั้ง โดยเป็นการปรับเพิ่มค่ารอบในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจากเดิม 36 บาทต่องาน เป็น 40 บาทต่องาน แต่หลังจากนั้นมีการปรับลดค่ารอบในช่วงกรกฎาคม 2565 จากเดิม 40 บาทต่องาน เหลือ 39 บาทต่องาน และลดอย่างต่อเนื่องในเดือนตุลาคม 2565 จากเดิม 39 บาทต่อเดือน เหลือ 38 บาทต่อเดือน และอีกครั้งช่วงพฤษภาคม 2566 จากเดิม 38 บาทต่องาน เหลือ 33 บาทต่องาน

แพลตฟอร์มโรบินฮู้ด เป็นหนึ่งแพลตฟอร์มที่มีค่ารอบสูงกว่าหลายแพลตฟอร์มในตลาด ทำให้มีไรเดอร์หันมาทำงานให้กับโรบินฮู้ดเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ทางโรบินฮู้ดประกาศลดค่ารอบเป็นครั้งแรก จากเดิมค่ารอบเริ่มต้น 43 บาทต่องาน เหลือ 39 บาทต่องาน

จะเห็นได้ว่าค่ารอบของไรเดอร์ลดลงอย่างต่อเนื่องจากการลดค่ารอบพื้นฐาน การกำหนดโครงสร้างค่ารอบและค่าอินเซนทีฟใหม่ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา หลายครั้งที่ในการปรับเปลี่ยนไม่ได้มีการแจ้งไรเดอร์เดอร์ล่วงหน้า กลายเป็นหนึ่งในตัวจุดชนวนการประท้วงของไรเดอร์

ปัจจุบันค่ารอบของไรเดอร์ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง เร็วๆ นี้ วันที่ 23 มกราคม 2567 แพลตฟอร์มไลน์แมนเตรียมปรับลดค่ารอบในหลายจังหวัด ได่แก่ อุตรดิตถ์ สระบุรี กระบี่ สกลนคร ปัตตานี พะเยา ระยอง พิจิตร สมุทรสงคราม นครศรีธรรมราช สุรินทร์ น่าน และเพชรบูรณ์ โดยลดลงต่ำสุดเหลือเพียง 15 บาทต่องาน ทำให้ไรเดอร์เริ่มทำแคมเปญประท้วงแพลตฟอร์มผ่าน #หยุดเอาเปรียบไรเดอร์ 

หมายเหตุ : ข้อมูลการปรับลดค่ารอบยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์โดยเฉพาะพื้นที่ให้บริการในต่างจังหวัด เนื่องจากทางแพลตฟอร์มไม่ได้มีการแจ้งข้อมูลบนหน้าเว็บไซต์อย่างเป็นทางการ ทำให้ข้อมูลชุดนี้อ้างอิงจากกลุ่มโซเชียลมีเดียของไรเดอร์ และข่าวการประท้วงเป็นหลัก

ยื่นแล้ว เจรจาอยู่ ปิดแอปฯ ต่อ : หลากหลายวิธีต่อสู้ของไรเดอร์ 

เนื่องจากสถานะของไรเดอร์ที่เป็นเพียง ‘พาร์ทเนอร์’ ไม่ใช่ ‘ลูกจ้าง’ ทำให้อำนาจในการต่อรองของไรเดอร์กับแพลตฟอร์มในเรื่องต่างๆ มีน้อยมาก เมื่อเทียบกับสถานะการเป็นลูกจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน และ พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ การรวมตัวกันประท้วงของไรเดอร์เพื่อเรียกร้องให้แพลตฟอร์มรับฟังถึงปัญหาจึงเป็นกระบวนการสำคัญในการส่งเสียงของแรงงานอิสระที่ไรเดอร์สามารถทำได้ 

จากข้อมูลการรวมตัวประท้วงของไรเดอร์ 113 ครั้งในช่วงปีพ.ศ. 2562-2566 เมื่อนำมาแยกรายละเอียดว่าไรเดอร์รวมตัวกันที่ใดเพื่อเสนอข้อเรียกร้องต่างๆ ในการประท้วงครั้งนั้นๆ สามารถแบ่งออกเป็นการรวมตัวที่สำนักงานของแพลตฟอร์มทั้งสำนักงานใหญ่และศูนย์ประสานงานระดับจังหวัด 33 ครั้ง หน่วยงานรัฐ เช่น ศูนย์ราชการ ศาลาว่าการจังหวัด และศูนย์ดำรงธรรม 24 ครั้ง และสถานที่อื่นๆ เช่น สวนสาธารณะ ลานกิจกรรม ห้างสรรพสินค้า และตลาด 46 ครั้ง 

นอกจากนี้ยังพบว่าในการรวมตัวประท้วงตลอด 5 ปี ทั้ง 113 ครั้ง เป็นการยื่นหนังสือ 59 ครั้ง โดยเป็นการยื่นหนังสือถึงแพลตฟอร์มโดยตรงผ่านทางสำนักงานใหญ่และศูนย์บริการระดับจังหวัด จำนวน 30 ครั้ง การยื่นหนังสือถึงหน่วยงานรัฐผ่านศูนย์ดำรงธรรมและศูนย์ราชการประจำจังหวัด จำนวน 24 ครั้ง การยื่นหนังสือถึงพรรคการเมือง จำนวน 3 ครั้ง และการยื่นหนังสือถึงสื่อมวลชน 2 ครั้ง

ในการยื่นหนังสือถึงแพลตฟอร์มโดยตรงทั้ง 30 ครั้งนั้น พบว่ามีการรับหนังสือข้อเรียกร้องของไรเดอร์ 23 ครั้ง แบ่งออกเป็น ตัวแทนผู้บริหารและผู้จัดการสาขามารับด้วยตัวเอง 14 ครั้ง และเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ เช่น รปภ. พนักงานบริษัท และเจ้าหน้าที่ตำรวจ 9 ครั้ง และไม่มีคนมารับหนังสือข้อเรียกร้องของไรเดอร์เลย 7 ครั้ง ซึ่งแพลตฟอร์มไม่มีการเคลื่อนไหว มีการอ้างว่าวันดังกล่าวไม่มีใครอยู่บริษัท หรือปิดศูนย์บริการ หลายครั้งทำให้ไรเดอร์มีการยกระดับการชุมนุมเพื่อกดดันให้ส่งตัวแทนผู้บริหารลงมารับหนังสือ เช่น ขู่ปิดถนนหน้าสำนักงานใหญ่ชั่วคราว หรือเปลี่ยนไปยื่นหนังสือถึงหน่วยงานรัฐแทน

ในด้านการเจรจากับทางแพลตฟอร์มนั้น เกิดขึ้นเพียง 7 ครั้งเท่านั้น ตลอดการประท้วงในรอบ 5 ปี โดยพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีโอกาสที่จะได้เจรจาสูงกว่าพื้นที่ต่างจังหวัด เนื่องจากสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ในขณะที่การเจรจาในพื้นที่ต่างจังหวัดจะเป็นการเจรจาผ่านทางศูนย์ดำรงธรรมเป็นหลักและส่วนใหญ่จะไม่ประสบความสำเร็จจากปัญหาในการติดต่อตัวแทนของแพลตฟอร์มให้เข้ามาเจรจาร่วมด้วย

การประท้วงด้วยการปิดแอปฯ และนัดหยุดงาน เกิดขึ้นมากถึง 44 ครั้ง เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของไรเดอร์ที่นิยมใช้และมีประสิทธิภาพในการกดดันแพลตฟอร์ม ยกตัวอย่างกรณีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างค่ารอบใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลของ แกร็บฟู้ด เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566 ทำให้ค่ารอบขั้นต่ำจากเดิม 40 บาทต่องาน เหลือเพียง 28 บาทต่องาน ทำให้มีไรเดอร์บางส่วนนัดกันปิดแอปฯ ไม่รับงาน และไรเดอร์อีกจำนวนมากหันไปรับงานจากแพลตฟอร์มอื่น จนส่งผลกระทบต่อลูกค้าและรายได้ของแพลตฟอร์ม จนทำให้ทางแกร็บตัดสินใจปรับเปลี่ยนค่ารอบใหม่อีกครั้ง โดยเป็นการแบ่งโซนและเพิ่มค่ารอบขั้นต่ำจากเดิม 28 บาทต่องาน เป็น 30-35 บาทต่องาน 

แม้การปิดแอปฯ หรือหยุดรับงาน ถือเป็นหนึ่งในวิธีการประท้วงของไรเดอร์ที่ประสบความสำเร็จที่ทำให้แพลตฟอร์มยอมปรับเปลี่ยนนโยบายตามข้อเรียกร้องของไรเดอร์ อย่างไรก็ตาม การประท้วงโดยการหยุดรับงานของไรเดอร์ไม่สามารถทำได้ทั้งหมดและเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากไรเดอร์เป็นอาชีพที่ไม่มีหลักประกันทางรายได้ การประท้วงโดยการหยุดรับงานหรือปิดแอปฯ จึงทำให้ไรเดอร์ขาดรายได้ในการเลี้ยงชีพ นอกจากนี้แพลตฟอร์มยังมีวิธีรับมือการนัดหยุดงานของไรเดอร์อีกด้วย เช่น เปิดรับสมัครหรืออนุมัติไรเดอร์หน้าใหม่เข้าระบบมาทดแทน และการออกโปรโมชั่นค่ารอบพิเศษเพื่อชักจูงให้ไรเดอร์กลับมารับงาน

ประท้วง 113 ครั้ง แพลตฟอร์มยอมฟังและเปลี่ยนแปลงเพียง 20 ครั้ง 

จากการรวมตัวประท้วงและยื่นข้อเรียกร้องต่อแพลตฟอร์มของไรเดอร์ทั้ง 113 ครั้ง ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าแพลตฟอร์มยอมรับข้อเรียกร้องหลังจากการประท้วงของไรเดอร์เพียง 20 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 17.70 ของการประท้วงทั้งหมด โดยเป็นการยอมรับข้อเรียกร้องทั้งหมดที่ไรเดอร์เสนอ 7 ครั้ง และยอมรับข้อเสนอบางเรื่อง 13 ครั้ง ในขณะที่แพลตฟอร์มปฏิเสธข้อเรียกร้องของไรเดอร์ จำนวน 93 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 82.30 ของการประท้วงทั้งหมด 

ความน่าสนใจคือข้อเรียกร้องเกี่ยวกับค่ารอบ ซึ่งเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดการประท้วงของไรเดอร์มากที่สุด แต่กลับประสบความสำเร็จน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับข้อเสนออื่นๆ โดยข้อเสนอส่วนใหญ่ที่แพลตฟอร์มยอมรับคือเรื่องการปรับปรุงระบบ GPS ให้มีความแม่นยำมากขึ้น การปรับปรุงการกระจายงาน การยอมปิดรับไรเดอร์ใหม่ชั่วคราว และการอบรมฝ่าย Support ของแพลตฟอร์ม หากดูเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ จากการประท้วง 26 ครั้ง มีข้อเรียกร้องเกี่ยวกับค่ารอบ 17 ครั้ง แต่แพลตฟอร์มยอมที่จะทำตามข้อเสนอของไรเดอร์เพียง 2 ครั้งเท่านั้น 

ยกตัวอย่างกรณีกลุ่มไรเดอร์ไลน์แมนในพื้นที่พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และสิงห์บุรี เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564 เพื่อประท้วงแพลตฟอร์มไลน์แมน เรียกร้องให้มีการกลับมาใช้ค่ารอบเดิม คือ 40 บาทต่องาน หากเป็นไปได้ขอให้มีการปรับค่ารอบ 40 บาทเท่ากันทั้งประเทศ ปรับปรุงระบบการรับงาน ระบบ GPS และการทำงานของแอดมิน ซึ่งทางแพลตฟอร์มรับปากยอมรับข้อเสนอของไรเดอร์แต่กลับไม่มีการพูดถึงประเด็นค่ารอบ จนทำให้ไรเดอร์ตัดสินใจยกระดับเป็นการเรียกร้องค่ารอบ 40 บาททั้งประเทศ และให้บริษัทรับฟังไรเดอร์ในระบบก่อนจะตัดสินใจรับไรเดอร์ใหม่เพื่อลดปัญหางานไม่พอกับจำนวนไรเดอร์

ไม่มีใครช่วย ก็คงต้องช่วยกันเอง : การรวมกลุ่มของไรเดอร์ในไทย

เนื่องด้วยสถานะของไรเดอร์ในปัจจุบันไม่ได้เข้าข่ายการเป็นลูกจ้างตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ทำให้อำนาจการต่อรองของไรเดอร์น้อยลงตามไปด้วย ตลอดการประท้วงที่ผ่านมา ไรเดอร์เริ่มมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน เพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรองกับแพลตฟอร์มและง่ายต่อการขับเคลื่อนประเด็นที่ไรเดอร์ต้องการจะสื่อสารออกไป นอกจากนี้การรวมกลุ่มยังเป็นการตั้งเครือข่ายช่วยเหลือกันภายในของไรเดอร์ด้วยกัน ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของแต่ละกลุ่ม

เช่น กลุ่มสหภาพไรเดอร์ ที่แรกเริ่มเป็นการรวมตัวกันของไรเดอร์แพลตฟอร์มลาล่ามูฟที่ไม่พอใจแพลตฟอร์มที่เรียกเก็บเงินจากไรเดอร์ 200 บาท ทั้งที่ไม่มีระบุในหนังสือสัญญาของไรเดอร์ โดยกลุ่มสหภาพไรเดอร์เริ่มทำประเด็นในการสื่อสารและรวบรวมปัญหาของไรเดอร์ เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับไรเดอร์ในการยื่นข้อเรียกร้องและต่อรองกับแพลตฟอร์ม

สมาคมไรเดอร์ไทย เป็นกลุ่มไรเดอร์ที่มีการจดทะเบียนก่อตั้งเป็นสมาคม เนื่องจากปัจจุบันอาชีพไรเดอร์ไม่เข้าข่ายเป็นลูกจ้าง ไม่สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานตามกฎหมายได้ ทำให้ต้องหันมาจดทะเบียนเป็นสมาคม โดยสมาคมไรเดอร์ไทยจะเน้นไปที่การให้ความช่วยเหลือไรเดอร์ทุกแพลตฟอร์มและเป็นตัวกลางในการหารือกับแพลตฟอร์มและหน่วยงานต่างๆ เพื่อทางทางออกร่วมกัน

กลุ่ม G เคลื่อนที่เร็วเราช่วยกัน ที่ก่อตัวขึ้นเพื่อช่วยเหลือไรเดอร์แพลตฟอร์มแกร็บทุกกรณี เป็นช่วงที่ไรเดอร์เริ่มมีปัญหากับวินมอเตอร์ไซค์ และมีบทบาทสำคัญในการยื่นข้อเรียกร้องต่อแพลตฟอร์มเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 เพื่อขอให้ยกเลิกระบบจองรอบที่ไม่ตอบโจทย์การเป็นงานอิสระของไรเดอร์ และการปรับค่ารอบใหม่ ปัจจุบันมีผู้ติดตามเพจเฟซบุ๊ก 1.3 แสนคน และกดไลก์ 8.5 หมื่นคน

ในงานวิจัยเรื่อง ‘อุบัติเหตุและสุขภาพของคนขับรถจักรยานยนต์ส่งอาหารภายใต้การควบคุมของแพลตฟอร์ม’ ของพฤกษ์ เถาถวิล และวรดุลย์ ตุลารักษ์ ได้อธิบายเรื่องการรวมกลุ่มของไรเดอร์ในไทยว่า

“ในประเทศไทย การรวมกลุ่มของไรเดอร์มีลักษณะร่วมกับประเทศอื่นๆ คือ กลุ่มมีพื้นฐานจากการรวมตัวเพื่อช่วยเหลือกัน ประการต่อมาคือ การใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจของกลุ่ม สื่อออนไลน์มีบทบาท 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือการสื่อสารในหมู่สมาชิกไรเดอร์ในการให้ข่าวสาร แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนสร้างข้อตกลงร่วมกัน อีกด้านหนึ่งคือการให้ข่าวต่อสาธารณชน ทำให้สาธารณชนรับรู้และเข้าใจอาชีพไรเดอร์”

ผศ.ดร.พฤกษ์ เถาถวิล อาจารย์ประจำสาขาวิชานวัตกรรมการพัฒนาสังคม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้สัมภาษณ์อธิบายเรื่องภาพรวมการรวมกลุ่มของไรเดอร์ในประเทศไทยว่า 

“ถ้ามองในมุมของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความ solidarity มองว่านี่เป็นความสำเร็จ ก่อนหน้านี้ไรเดอร์จะรวมตัวกันไม่ได้ เพราะว่างานแพลตฟอร์มเป็นงานอิสระ ต่างคนต่างทำ และต้องแข่งกันเองด้วย แต่ปรากฏว่าเขาก็สามารถที่จะหันมาร่วมมือกัน ช่วยกัน เพื่อที่จะออกไปเรียกร้อง

“การรวมตัวของไรเดอร์ในไทยมีลักษณะของกลุ่มช่วยเหลือกัน หรือกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน มันเป็นลักษณะพื้นฐาน เป็นลักษณะของการรวมกลุ่มแบบไม่เป็นทางการ ยินดีที่จะร่วมมือกันแบบหลวมๆ ถ้าจะมากไปกว่านี้ เช่นการมีองค์กรที่มีกฎระเบียบชัดเจน มีโครงสร้างองค์กร มีการเก็บเงินสมาชิกแบบสหภาพ ถ้าเป็นทางการแบบนั้น เขาจะไม่ค่อยยินดีเท่าไร ถ้ายกระดับไปอีกขั้นหนึ่ง จะเริ่มคุยกันยาก เริ่มเสียงแตก

“ถ้าเราจะสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงจริงๆ ถ้าเราสู้ด้วยกฎหมาย สู้เรื่องสิทธิ สู้เรื่องสวัสดิการ มันจะต้องเป็นองค์กรที่จะสู้ได้ยาว เพราะมันไม่มีแบบจบม้วนเดียว ต้องตามต่อ เป็นเดือน เป็นปี ถ้าจะสู้เกมยาว ต้องมีการจัดตั้งถึงจะประสบความสำเร็จ แต่ของเรายังไม่ไปถึงตรงนั้น ถามว่าอยากชุมนุมไหม ชุมนุมเพราะว่าเดือดร้อน แต่ว่าถ้าจะทำองค์กรเข้มแข็ง ก็เริ่มมีเสียงแตก

“อีกอย่างในเชิงประเด็นก็มีปัญหา ถ้าแรงงานมีการจัดตั้ง มีการคุยกันชัด มันจะไม่เกี่ยงเลยว่า เราอยากจะได้รับการคุ้มครอง อยากจะเป็นลูกจ้าง อยากจะเข้าประกันสังคม แต่พอไม่มีองค์กร ไม่มีการให้การศึกษาให้การจัดตั้ง พอพูดออกไปปุ๊บ ก็จะเริ่มเถียงกัน คือส่วนหนึ่งเข้าใจว่าอยากจะอิสระ เขาเข้าใจว่าหากเข้าประกันสังคมหรือเป็นลูกจ้าง เขาจะไม่อิสระ จะสูญเสียสถานะการเป็นแรงงานอิสระ ซึ่งไม่จริง มันเป็นมายาคติ คุณสามารถเป็นลูกจ้างได้ มีประกันสังคมได้ แต่คุณก็ยังสามารถทำงานเลือกเวลาได้ อันนี้สะท้อนช่องว่างความเข้าใจในองค์กรซึ่งเกิดจากการที่ไม่มีการจัดตั้ง มีการศึกษาที่ดีพอ”

ผศ.ดร.พฤกษ์ พูดถึงโมเดลการรวมกลุ่มของไรเดอร์ในต่างประเทศด้วยว่า “ลักษณะพื้นฐานอย่างหนึ่ง คือ ไรเดอร์ทุกประเทศจะมีลักษณะเป็นการรวมกลุ่มแบบไม่เป็นทางการ กลุ่มช่วยเหลือกันขึ้นมาก่อน แล้วหลังจากนั้น พอคุณยืนได้ ในหลายประเทศ ในประเทศที่สหภาพของเขาเข้มแข็งซึ่งกลุ่มสหภาพได้ตกผลึกว่าเขาต้องขยายบทบาทออกจากโรงงานจากอุตสาหกรรม เขาต้องข้ามไปทำเรื่องแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งแรงงานแพลตฟอร์มด้วย ดังนั้นสหภาพจะมีบทบาทที่แอคทีฟออกมาช่วยสนับสนุนแรงงานแพลตฟอร์ม เช่น ในยุโรป กฎหมายเขาอนุญาตให้แรงงานแพลตฟอร์มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพได้ หรือในบางประเทศก็มีลักษณะที่แรงงานแพลตฟอร์มไม่ต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งก็ได้ แต่มาเป็น buddy กัน ทำงานร่วมกัน”

จากร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานนอกระบบ ถึงร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานอิสระ

จากการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มให้บริการด้านการขนส่ง ที่ก่อให้เกิดอาชีพใหม่ที่ถูกนิยามว่าเป็น ‘พาร์ทเนอร์’ ตลอดจนปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นซึ่งสะท้อนให้เห็นผ่านการประท้วงของไรเดอร์ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าภาครัฐเองก็มีความพยายามผลักดันกฎหมายคุ้มครองไรเดอร์ และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคส่วน เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2564 คณะรัฐมนตรีรับหลักการร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. … ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศใช้กฎหมายก่อนหมดวาระของรัฐบาล แต่ไม่สามารถผลักดันเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนได้ทันเวลา ทำให้กฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบต้องกลับพิจารณากันใหม่หลังการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่

วันที่ 12 ตุลาคม 2566 กระทรวงแรงงานได้ยกร่างพ.ร.บ. ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ. … โดยมีเนื้อหาสำคัญในการคุ้มครองแรงงานอิสระและกึ่งอิสระให้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานหรือการประกอบอาชีพ ความปลอดภัยในการทํางาน หลักประกันทางสังคม และการรวมตัวในการจัดตั้งองค์กรแรงงานอิสระ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการทํางาน โดยปัจจุบันได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นมาแล้ว 2 ครั้ง อยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไขเพื่อนำมาพิจารณาอีกครั้ง

ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับไรเดอร์ที่กำลังจะมีกฎหมายคุ้มครองพวกเขา อย่างไรก็ตามเนื้อหาและความคุ้มครองจาก ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องติดตามกันต่อไปว่าครอบคลุมสิทธิประโยชน์และสวัสดิการแรงงานอิสระมากน้อยแค่ไหน โดยในขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวยังคงอยู่ในระหว่างการเปิดรับความคิดเห็นครั้งที่สอง และยังมีปัญหาเรื่องการนิยามแรงงานอิสระและการควบคุมการรวมกลุ่มของแรงงานอิสระของอำนาจรัฐที่อาจจะมีมากเกินไป 

ผศ.ดร.พฤกษ์ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ว่า “ปัญหาของร่างนี้คือ กฎหมายจะทำให้เกิดการจำแนกแรงงานผิดประเภทเสียเอง ถ้าเราดูจากพฤติกรรมในเชิงพฤตินัย แพลตฟอร์มคุมไรเดอร์แบบลูกจ้างแน่นอน  เรื่องจ่ายงาน เรื่องควบคุมงาน เรื่องค่าตอบแทนอะไรต่างๆ ซึ่งในต่างประเทศที่เขาทันเกมของยุคแพลตฟอร์ม เขารู้ว่าที่แพลตฟอร์มลงทุนเรื่องเทคโนโลยีเพื่อเลี่ยงภาระของการเป็นนายจ้าง ในต่างประเทศมีหลายกรณีที่เขาไปฟ้องศาล แล้วศาลพิจารณาจากข้อเท็จจริง แบบนี้เป็นลูกจ้างนี่หว่า คุณก็ต้องจ่าย ต้องคุ้มครอง แต่ของไทย ถ้ากฎหมายฉบับนี้ผ่าน มันจะจัดให้ไรเดอร์เป็นอาชีพกึ่งอิสระ คือถ้าเราไปฟ้องกรณีว่าเป็นลูกจ้างคือจบไปเลยนะ เพราะเขาจะอ้างว่ากฎหมายเขาเขียนมาแล้วว่าพวกคุณเป็นแรงงานกึ่งอิสระ”

 

หมายเหตุ : ข้อมูลการประท้วงของไรเดอร์และค่ารอบ Rocket Media Lab รวบรวมข้อมูลจากการรายงานข่าวของสื่อมวลชนและโซเชียลมีเดียของกลุ่มไรเดอร์ในช่วงปี 2562-2566

ดูข้อมูลได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-rider-protest/

ขอความช่วยเหลือ : เนื่องจาก Rocket Media Lab กำลังรวบรวมข้อมูลค่ารอบขั้นต่ำ และค่างานแบชขั้นต่ำ (งานพ่วง) ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ของไรเดอร์ส่งอาหารแต่ละแพลตฟอร์ม เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการทำงานและเป็นฐานข้อมูลสาธารณะ จึงอยากขอความช่วยเหลือไรเดอร์หรือประชาชนในแต่ละจังหวัดช่วยกรอกข้อมูลค่ารอบขั้นต่ำ และค่างานแบชขั้นต่ำ (งานพ่วง) ของแต่ละแพลตฟอร์มส่งอาหารในจังหวัดของตน หรือพื้นที่มีตนเองมีข้อมูล ซึ่งหากเป็นประชาชนทั่วไปท่านสามารถสอบถามได้จากไรเดอร์ส่งอาหารในแต่ละแพลตฟอร์มที่ท่านใช้บริการ โดยสามารถเข้าไปกรอกข้อมูลได้ตามลิงก์นี้ https://forms.gle/u6e8rG5gKtJ4g2yt8

 

อ้างอิง

อุบัติเหตุและสุขภาพของคนขับรถจักรยานยนต์ส่งอาหารภายใต้การควบคุมของแพลตฟอร์ม ของพฤกษ์ เถาถวิล และวรดุลย์ ตุลารักษ์

ร่างพรบ. ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ. … โดยกระทรวงแรงงาน

ลำดับเหตุการณ์การประท้วงไลน์แมน โดยสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม

ไรเดอร์ไทย เป็นอยู่ยังไง อยากได้อะไรบ้าง, Rocket Media Lab

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: