ม.มหิดล ชี้ภัยจากโฆษณาชวนเชื่อ ตรวจสมดุลฮอร์โมน-รับยาเกินจำเป็น สูญทรัพย์-เสี่ยงมะเร็ง

กองบรรณาธิการ TCIJ 10 เม.ย. 2567 | อ่านแล้ว 13632 ครั้ง

ม.มหิดล ชี้ภัยจากโฆษณาชวนเชื่อ ตรวจสมดุลฮอร์โมน-รับยาเกินจำเป็น สูญทรัพย์-เสี่ยงมะเร็ง

อาจารย์แพทย์ประจำสาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แสดงความห่วงใยประชาชนถึงการตกเป็นเหยื่อความไม่รู้จากโฆษณาชวนเชื่อจนต้องเสียทรัพย์โดยไม่จำเป็นจากการซื้อโปรแกรมตรวจเพื่อรักษาสมดุลของฮอร์โมน ซึ่งโดยปกติไม่ได้อยู่ในรายการตรวจสุขภาพประจำปีโดยทั่วไป แพทย์จะสั่งตรวจเฉพาะรายที่มีอาการผิดปกติเท่านั้น

ไม่ว่าจะวัยรุ่น หรือวัยโรย หากแสดงอารมณ์แปรปรวน มักเข้าใจกันว่าเกิดจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง จนปัจจุบันเกิดเป็นธุรกิจใหม่ที่อาศัยความไม่รู้และความวิตกกังวลในเรื่องสุขภาพกอบโกยผลกำไรจากโปรแกรมตรวจพิเศษที่ไม่จำเป็น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงปวีณา ชุณหโรจน์ฤทธิ์ อาจารย์แพทย์ประจำสาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แสดงความห่วงใยประชาชนถึงการตกเป็นเหยื่อความไม่รู้จากโฆษณาชวนเชื่อจนต้องเสียทรัพย์โดยไม่จำเป็นจากการซื้อโปรแกรมตรวจเพื่อรักษาสมดุลของฮอร์โมน ซึ่งโดยปกติไม่ได้อยู่ในรายการตรวจสุขภาพประจำปีโดยทั่วไป แพทย์จะสั่งตรวจเฉพาะรายที่มีอาการผิดปกติเท่านั้น

ในบรรดาผู้มาตรวจฮอร์โมนด้วยอาการผิดปกติ อาการที่พบมากที่สุด ได้แก่ อาการผิดปกติของฮอร์โมนไทรอยด์ โดยเริ่มจากอาการใจสั่น หิวบ่อย กินจุ แต่น้ำหนักไม่ขึ้น นอกจากนี้ จากสาเหตุฮอร์โมนเพศหญิงเริ่มลดลง ส่งผลให้รอบเดือนมาไม่เป็นปกติ อย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงปวีณา ชุณหโรจน์ฤทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ในสตรีที่เข้าสู่วัยทอง และหมดประจำเดือนตามธรรมชาติ ไม่มีอาการของวัยทองรุนแรง แพทย์จะไม่แนะนำให้ได้รับยาฮอร์โมนเพิ่ม ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าการรับยาฮอร์โมนที่มากเกินอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ตลอดจนอาจเป็นสาเหตุทำให้ไขมันในเลือดสูงได้ ทางที่ดีที่สุดแนะนำให้พบสูตินรีแพทย์

ทั้งนี้ ยังมีผู้หญิงที่ขาดฮอร์โมนเพศหญิงและต้องรับยาฮอร์โมนก่อนเข้าสู่วัยทอง ได้แก่ ผู้ที่มีความผิดปกติด้วยโรคต่อมใต้สมอง และจากการผ่าตัดบริเวณดังกล่าว ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาด้วยยาฮอร์โมนจะเกิดโรคกระดูกพรุนก่อนวัยได้

ในผู้ชายที่เริ่มมีสมรรถภาพทางเพศลดลง ทำให้มีบุตรยาก อาจจะต้องตรวจฮอร์โมนเพิ่มเติม และพบแพทย์เฉพาะทางระบบปัสสาวะ แต่หากมีฮอร์โมนต่อมหมวกไตบกพร่อง จะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ไร้เรี่ยวแรง เกิดจากภาวะเกลือแร่ต่ำลง ซึ่งจะส่งผลให้ความดันโลหิตต่ำลงด้วย และหากฮอร์โมนต่อมหมวกไตทำงานมากเกิน จะอ้วนตรงบริเวณแกนกลางของลำตัว ในขณะที่แขนขาจะค่อนข้างลีบ และหน้าท้องมีรอยแตกสีม่วง ซึ่งเป็นผลจากความผิดปกติของฮอร์โมนดังกล่าว

ที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือการไปเข้าโปรแกรมตรวจสมดุลฮอร์โมนโดยไม่มีอาการผิดปกติ เพียงสงสัยว่ามีอาการผิดปกติ ได้รับผลตรวจทางห้องปฏิบัติการแล้วแต่ไม่สามารถอ่านค่าได้เอง กลับรับยาชุดเสริมฮอร์โมนซึ่งจะยิ่งทำให้เกิดปัญหาจากภาวะฮอร์โมนเกิน ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาจากการตรวจและรับยาฮอร์โมนแบบยาชุดมารับประทานเองโดยไม่จำเป็น

มหาวิทยาลัยมหิดล โดย สาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พร้อมทำหน้าที่ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ให้คำปรึกษาด้านการตรวจฮอร์โมนที่ผิดปกติ แนะนำ และส่งต่อเพื่อให้ผู้ป่วยรับการรักษาที่ตรงจุด ซึ่งการรักษาสมดุลฮอร์โมนสามารถทำได้ด้วยตัวเองจากการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง หมั่นออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ และที่สำคัญควรศึกษาและไตร่ตรองให้ดีก่อนตกเป็นเหยื่อโฆษณาชวนเชื่อ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: