องค์กร CIVICUS Monitor เพิ่ม 'ประเทศไทย' ในบัญชีเฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชน

กองบรรณาธิการ TCIJ 10 ก.ค. 2567 | อ่านแล้ว 4251 ครั้ง

องค์กร CIVICUS Monitor เพิ่ม 'ประเทศไทย' ในบัญชีเฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชน

องค์กร CIVICUS Monitor ได้เพิ่มประเทศไทยในรายการเฝ้าระวังประเทศที่เผชิญปัญหาการลดลงของเสรีภาพพลเมืองอย่างรวดเร็ว หลังนักกิจกรรมและฝ่ายค้านตกเป็นเป้าและถูกเพ่งเล็ง

10 ก.ค. 2567 องค์กร CIVICUS Monitor เปิดเผยว่าได้เพิ่มประเทศไทยในรายการเฝ้าระวังประเทศที่เผชิญปัญหาการลดลงของเสรีภาพพลเมืองอย่างรวดเร็ว โดยการที่นักกิจกรรม ผู้วิพากษ์วิจารณ์ และการคัดค้านถูกเพ่งเล็งโดยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลฯยังคงใช้บทบัญญัติหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือมาตรา 112 เพื่อจับกุมและตัดสินลงโทษนักกิจกรรม นักวิจารณ์ และนักการเมืองในข้อหาดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ศาลมักปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหา หรือกําหนดเงื่อนไขที่เข้มงวดในกรณีที่อนุญาตให้ประกันตัว จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) ตั้งแต่ต้นปี 2563 มีผู้ถูกตั้งข้อหาละเมิดกฎหมายนี้มากกว่า 270 คน และอย่างน้อย 17 คนได้ถูกควบคุมตัวก่อนการพิจารณาคดี

ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยชื่อดัง อานนท์ นําภา ถูกตัดสินจําคุกเพิ่มอีก 2 ปีในเดือนเมษายน 2567 ขณะที่ในเดือนพฤษภาคม 2567 ชลธิชา แจ้งเร็ว นักการเมืองฝ่ายนิติบัญญัติและนักกิจกรรมฝ่ายค้านจากพรรคก้าวไกลถูกตัดสินจําคุกสองปี นักกิจกรรม เนติพร 'บุ้ง' เสน่ห์สังคม ผู้เคยรณรงค์ให้ยกเลิกบทบัญญัติหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวในเดือนพฤษภาคม 2567 หลังจากประสบภาวะหัวใจหยุดเต้น  แต่ไม่มีใครรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของเธอ

แม้ว่าเมื่อเร็ว ๆ คนเพศเดียวกันสามารถแต่งงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนยังคงหยิบยกข้อกังวลเกี่ยวกับนักกิจกรรมผู้หญิง และ LGBTQI+ ที่ตกเป็นเป้าอย่างผิดกฎหมายโดยการติดตามจับตาเฝ้ามองทางดิจิทัล รวมถึงสปายแวร์เพกาซัส และการล่วงละเมิดทางออนไลน์โดยรัฐและที่ไม่ใช่รัฐ เพื่อพยายามปิดปากพวกเขา

"ทางการไทยต้องยกเลิกคดีของผู้ที่ถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทั้งหมด และปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังก่อนการพิจารณาคดี หรือถูกตัดสินว่ามีความผิดทั้งหมด มาตรา 112 ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของประเทศไทย และต้องมีการแก้ไขทันที เจ้าหน้าที่ทางการต้องเริ่มดำเนินการสอบสวนที่เป็นอิสระ ละเอียดถี่ถ้วน และอย่างมีประสิทธิภาพเกี่ยวกับการใช้สปายแวร์เพกาซัส ที่สร้างความหวาดกลัวในหมู่นักกิจกรรม" โจเซฟ เบเนดิกต์ นักวิจัยของ CIVICUS Asia กล่าว

นอกจากนี้ CIVICUS Monitor ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการปราบปรามข้ามชาติในประเทศไทย กลุ่มสิทธิมนุษยชนรายงานว่ามีการปราบปรามชาวต่างชาติที่แสวงหาการคุ้มครองเป็นผู้ลี้ภัยในประเทศไทยเพิ่มขึ้น รัฐบาลประเทศต่างๆได้มีการกระทำต่อผู้เห็นต่างและนักกิจกรรมที่ต้องลี้ภัยมาประเทศไทย โดยการคุกคาม การจับตาเฝ้ามอง และการทำร้ายร่างกาย โดยมักได้รับความร่วมมือและความรู้เห็นจากทางการไทย ล่าสุด  Y Quynh Bdap นักเคลื่อนไหวชาวเวียดนามถูกควบคุมตัวในประเทศไทยเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2567 และมีความเสี่ยงที่จะถูกเนรเทศกลับไปประเทศต้นทาง ซึ่งเขาอาจถูกประหัตประหารอย่างรุนแรง

"เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่งเมื่อประเทศที่กําลังสมัครตําแหน่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกําลังเอื้ออํานวยการคุกคาม การจับตาเฝ้ามอง และการทำร้ายร่างกาย ของนักกิจกรรมจากต่างประเทศที่เข้ามาลี้ภัยในประเทศไทย

ทางการต้องยุติการกระทําดังกล่าวและสร้างที่หลบภัยที่ปลอดภัยสําหรับนักกิจกรรมที่หลบหนีการประหัตประหารจากประเทศเพื่อนบ้านแทน" เบเนดิกต์กล่าวเสริม

พรรคก้าวไกลซึ่งเป็นฝ่ายค้าน ได้รับที่นั่งมากสุดในการเลือกตั้งรัฐสภาในปี 2566 มีความเสี่ยงที่จะถูกศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค และฝ่ายบริหารของพรรคอาจถูกสั่งห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี เนื่องจากการให้คำมั่นที่จะแก้ไขบทบัญญัติหมิ่นประมาทพระราชวงศ์ โดยที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาล

การยุบพรรคก้าวไกลจะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการสมาคม และมีผลเสียต่อความคืบหน้าในการฟื้นฟูประชาธิปไตยภายหลังการรัฐประหารและการปกครองของทหาร

 

เกี่ยวกับ CIVICUS Monitor

องค์กรกว่า 20 แห่งร่วมมือกันในการจัดทำ CIVICUS Monitor เพื่อเป็นฐานหลักฐานสําหรับการดําเนินการเพื่อปรับปรุงพื้นที่พลเมืองในทุกทวีป เสรีภาพของพลเมืองใน 198 ประเทศและดินแดนถูกจัดประเภทเป็น 'ปิด' 'ถูกกดขี่' 'ถูกขัดขวาง' 'แคบลง' หรือ 'เปิด' ตามวิธีการรวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่งเกี่ยวกับเสรีภาพในการสมาคม การชุมนุมอย่างสงบ และการออกเสียง

ปัจจุบันประเทศไทยได้ถูกจัดให้อยู่อันดับ 'ถูกกดขี่' โดย CIVICUS Monitor ซึ่งมีทั้งหมด 50 ประเทศในโลกที่อยู่ในอันดับนี้ (ดูทั้งหมด)

โดยทั่วไป อันดับนี้จะมอบให้ประเทศที่พื้นที่พลเมืองถูกพิพาทอย่างหนักโดยผู้ที่มีอํานาจกําหนดข้อจํากัด ทางกฎหมายและทางปฏิบัติ ในการที่ประชาชนจะมีโอกาศได้ใช้สิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเต็มที่ (ดูคําอธิบายทั้งหมดของการให้คะแนน)

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: