แอมเนสตี้เปิดตัวแคมเปญ ‘เขียน เปลี่ยน โลก’ ประจำปี 2567

กองบรรณาธิการ TCIJ 10 ธ.ค. 2567 | อ่านแล้ว 1927 ครั้ง

แอมเนสตี้เปิดตัวแคมเปญ ‘เขียน เปลี่ยน โลก’ ประจำปี 2567

แอมเนสตี้เปิดตัวแคมเปญ ‘Write for Rights’ หรือ ‘เขียน เปลี่ยน โลก’ ประจำปี 2567 เปล่งเสียงเพื่อเปลี่ยนโลก ด้วยปลายปากกาของคนธรรมดา

10 ธ.ค. 2567 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดตัวแคมเปญ ‘Write for Rights’ หรือ ‘เขียน เปลี่ยน โลก’ ประจำปี 2567 เชิญชวนคนไทยร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงไปกับคนทั่วโลกเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้ถูกละเมิดสิทธิผ่านการเขียนจดหมายถึงพวกเขา โดยมีจุดประสงค์เพื่อยืนหยัดเคียงข้างผู้ถูกละเมิดสิทธิและครอบครัวของพวกเขาไม่ให้เกิดความรู้สึกว่ากำลังต่อสู้เพียงลำพัง นอกจากนี้ ยังสามารถเขียนจดหมายถึงผู้มีอำนาจที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนและนำมาสู่ความยุติธรรม และสื่อสารไปทั่วโลกว่า ประชาชนพร้อมที่จะยืนหยัดต่อสู้กับการใช้อำนาจโดยมิชอบ ไม่ว่าการใช้อำนาจนั้นจะเกิดที่ใดบนโลกก็ตาม โดยแคมเปญนี้ได้จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 23 แล้ว

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดตัวแคมเปญประจำปีอย่าง ‘Write for Rights’ หรือ ‘เขียน เปลี่ยน โลก’ ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเดือน พ.ย. ถึง ก.พ. เพื่อต่อสู้กับความอยุติธรรมและยืนหยัดเคียงข้างผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ระเบียบโลกกำลังถูกท้าทายและสิทธิมนุษยชนกำลังเผชิญกับภัยคุกคามอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า แคมเปญ ‘Write for Rights’ หรือ 'เขียน เปลี่ยน โลก’ เริ่มต้นเมื่อ 23 ปีที่แล้วที่กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ จากกลุ่มเพื่อนที่ตัดสินใจเฉลิมฉลองวันสิทธิมนุษยชนสากล ด้วยการเขียนจดหมายมาราธอนติดต่อกัน 24 ชั่วโมง โดยเขียนจดหมายทั้งวันทั้งคืนในนามของผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ จนแคมเปญนี้ได้เติบโตเป็นกิจกรรมรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนประจำปีที่ใหญ่ที่สุดของแอมเนสตี้ ที่ผู้คนจากทั่วโลกมาร่วมกันปกป้องสิทธิมนุษยชนให้กับผู้ที่เผชิญความเสี่ยง

“การที่ประชาชนที่ออกมาพูดเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือออกมาชุมนุมประท้วงเพื่อแสดงความกังวลต่อสถานการณ์โลกที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่ แต่พวกเขากลับถูกจับกุมคุมขัง ถูกยิง ถูกทรมาน ถูกบังคับให้สูญหาย และถูกสังหาร ถือเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้”

ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ ประเทศไทยเน้นย้ำว่า ในยุคที่ความขัดแย้งยังคงดำเนินต่อไป แต่พื้นที่ภาคประชาสังคมกำลังหดตัวลง และภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศกำลังทวีความร้ายแรงมากขึ้นกว่าเดิม เสียงของผู้ที่ออกมาปกป้องสิทธิมนุษยชนจึงมีความสำคัญมากกว่าที่เคย พวกเขาต้องได้รับการสนับสนุนและยืนหยัดเคียงข้าง

“การเขียนจดหมาย การลงชื่อสนับสนุน และการแบ่งปันเรื่องราว เป็นวิธีที่ทรงพลังที่เราสามารถสนับสนุนนักกิจกรรมที่กำลังเผชิญความเสี่ยงได้ เราสามารถใช้เสียงของเราเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการปราบปรามสิทธิเสรีภาพ ตรวจสอบการกระทำของผู้ที่มีอำนาจ และเรียกร้องความยุติธรรมสำหรับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ผู้ที่รับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนเติบโตขึ้นได้ ท่ามกลางความเงียบและความเพิกเฉย แต่อำนาจของเขาจะหดตัวลง ถ้าพวกเราร่วมมือกัน พูดเสียงดัง มีการจัดตั้ง และมีความสามัคคี ท่ามกลางความแตกแยกที่พวกเขาสร้างขึ้นมา มาร่วมมือกับเรา มาแสดงจุดยืนเพื่อสิทธิมนุษยชนไปด้วยกัน”

“คนธรรมดาเปลี่ยนแปลงโลกได้ด้วยข้อความสั้นๆ ที่จะร่วมกันยืนยันในหลักการของผู้ที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิมนุษยชนและจะเป็นแรงหนุนให้ผู้ที่ถูกคุกคามมีกำลังใจในการทำหน้าที่ต่อไป บอกเขาว่า ยังมีพวกเราอยู่เคียงข้าง ไม่มีใครทอดทิ้งเขา และพร้อมที่จะสู้ไปกับเขา อย่าดูถูกดูแคลนตัวอักษร อย่าดูถูกดูแคลนพลังของจดหมาย หรือพลังของคนตัวเล็ก และเชื่อมั่นในพลังของตัวเอง ‘พลังของคนธรรมดานี่แหละที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้’” ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ ประเทศไทยกล่าวทิ้งท้าย

สำหรับเคสผู้ถูกละเมิดสิทธิทั่วโลกที่แอมเนสตี้ ประเทศไทยรณรงค์ในปีนี้ นอกจากกรณีของ “อานนท์ นำภา” ทนายความสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังมีอีก 9 กรณีทั่วโลกที่ต้องการเสียงสนับสนุนของทุกคน เช่น “พัค คยองซอก” นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนพิการ จากประเทศเกาหลีใต้ ถูกดำเนินคดีหลังชุมนุมประท้วงโดยสงบที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินกรุงโซล “โจเอล ปาเรเดส” ช่างเซรามิกที่สูญเสียดวงตาข้างหนึ่งจากการสลายการชุมนุมประท้วงในประเทศอาร์เจนตินา และ “มานาฮีล อัล-โอตัยบี” จากประเทศซาอุดีอาระเบียที่ถูกตัดสินโทษจำคุก 11 ปีจากการสนับสนุนสิทธิผู้หญิงและถูกทำร้ายในระหว่างการถูกคุมขัง เป็นต้น

แอมเนสตี้ ประเทศไทย เชิญชวนเข้าร่วมกับแคมเปญ ‘Write for Rights’ หรือ ‘เขียน เปลี่ยน โลก’ ในปีนี้ และเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการระดับโลกที่เชื่อมั่นในโลกที่ยุติธรรมและเปี่ยมด้วยการเคารพในสิทธิมนุษยชน ร่วม “เขียน เปลี่ยน โลก” ร่วมลงชื่อได้ที่ https://bit.ly/3Zn4PqW เพื่อสร้างความหวังและความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตของผู้คนทั่วโลก

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: