‘ชาติพันธุ์ปลดแอก’ จัดวงรื้อประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ผ่านมรดกสงครามเย็น ส่งเสียงสะท้อนถึงรัฐธรรมนูญ

เรื่อง: ผกามาศ ไกรนรา | ภาพ: วชิรญาณ์ วิรัชบุญญากร 10 ส.ค. 2567 | อ่านแล้ว 7851 ครั้ง

เครือข่ายชาติพันธุ์ปลดแอก จัดวงเสวนา “รื้อประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์: กระบวนการสร้างและจัดความสัมพันธ์ของรัฐไทยต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในไทยผ่านมรดกสงครามเย็น” ส่งเสียงสะท้อนถึงรัฐธรรมนูญ ออกแถลงการณ์รื้อชำระประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ มุ่งสู่โครงสร้างสังคม ที่เห็นคนอย่างเท่าเทียม

เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2567 เครือข่ายชาติพันธุ์ปลดแอก จัดวงเสวนา “รื้อประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์: กระบวนการสร้างและจัดความสัมพันธ์ของรัฐไทยต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในไทยผ่านมรดกสงครามเย็น” ณ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เนื่องในวันสากลว่าด้วยชนพื้นเมืองดั้งเดิมของโลก (International Day Of the World's Indigenous Peoples) และวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ ให้เห็นกระบวนการสร้างและจัดความสัมพันธุ์ของรัฐไทยต่อกลุ่มชาติพันธุ์ตั้งแต่ช่วงล่าอาณานิคมมาจนถึงปัจจุบัน ผ่านมรดกสงครามเย็นที่ยังคงมีบทบาทและส่งผลต่อกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อทำความเข้าใจปัจจัยและบริบททางประวัติศาสตร์ที่ส่งผลต่อกระบวนการสร้างและจัดความสัมพันธุ์ของรัฐไทยต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย รวมไปถึงการระดมข้อเสนอของกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อนำไปจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ผ่านการเสวนา 3 หัวข้อ ได้แก่ ‘ชาติพันธุ์กับความมั่นคงและโครงการพัฒนาชาวเขา’ โดย ผศ.ดร.ประสิทธิ์ ลีปรีชา ‘ชาติพันธุ์กับสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยบนพื้นที่สูง’ โดย ผศ.ดร.ขวัญชีวัน บัวแดง และ ‘ชาติพันธุ์กับการจัดการทรัพยากร (ที่ดิน-ป่าไม้)’ โดย ศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี

ชาติพันธุ์กับความมั่นคงและโครงการพัฒนาชาวเขา

ผศ.ดร.ประสิทธิ์ ลีปรีชา อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์กับการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เน้นย้ำให้มีการแก้ไขมายาคติเกี่ยวกับ ‘ชาติพันธุ์’ ในประเทศไทย และกล่าวถึงความจำเป็นในการแก้ไขความเข้าใจผิดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และที่มาของกลุ่มคนเหล่านี้ โดยชี้ให้เห็นว่า คำว่า ‘ชาวเขา’ (Hill tribe) สะท้อนถึงมุมมองที่มองว่า กลุ่มคนเหล่านี้เป็น ‘คนอื่น’ เป็นผู้ที่อพยพข้ามชายแดนมายังประเทศไทยในภายหลัง ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากแนวคิดเรื่องเขตแดนที่ชัดเจนเป็นเรื่องที่ถูกกำหนดขึ้นมาภายหลังการมีอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ กล่าวคือ กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้มาเป็นเวลายาวนานก่อนที่จะมีการกำหนดเส้นเขตแดนในปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงนัยของความเป็น ‘ชนพื้นเมือง’ (Indigenous peoples) ที่มีสิทธิและอำนาจในการต่อรองทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ ดังนั้น การเรียกร้องให้เป็นที่ยอมรับในฐานะ ‘ชนพื้นเมือง’ จึงเป็นการปลดแอกจากการถูกนิยามโดยผู้อื่น และเป็นการแสดงออกถึงสิทธิในการนิยามตนเอง (self-identification) และการกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง (self-determination) กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ต้องการให้สังคมรับรู้และยอมรับว่าพวกเขาคือ ‘คนท้องถิ่นดั้งเดิม’ ที่มีรากเหง้าและความผูกพันกับพื้นที่นี้มาอย่างยาวนาน ไม่ใช่เพียงแค่ ‘ชาวเขา’ ตามที่คนอื่นนิยาม

นโยบายเกี่ยวกับชาวเขาเพิ่งเกิดขึ้นในปี 2502 โดยมีมติคณะรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการชาวเขาขึ้นเพื่อพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา ซึ่งนำไปสู่การก่อตั้งสถาบันวิจัยชาวเขา ก่อนหน้านั้นรัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับชาวเขา และใช้คำว่า ‘ประชาชนไกลคมนาคม’ เพื่ออ้างถึงกลุ่มคนเหล่านั้น นโยบายเกี่ยวกับชาวเขาในประเทศไทยเกิดขึ้นจากบริบททางการเมืองและประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อน สาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐบาลเริ่มให้ความสนใจต่อชาวเขาในปี 2502 คือผลกระทบจากสงครามเย็น ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตส่งผลให้เกิดความตึงเครียดและความไม่มั่นคงในภูมิภาคต่าง ๆ รวมถึงภาคเหนือของไทย ส่งผลทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ถูกมองว่าเป็นทั้ง ‘ตัวการในการทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ’ อาทิ ภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ การปลูกฝิ่น การทำลายป่า รวมถึงการเป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายคอมมิวนิสต์ จึงอาจกล่าวได้ว่า ภาพลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์จึงมักถูกนำเสนอในด้านเดียวมาโดยตลอด

ความพยายามในการนำเอาโครงการพัฒนาเข้าไปยังพื้นที่สูงของรัฐบาลไทยเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2502 โดยมีนโยบายนิคมพัฒนาชาวเขาที่เรียกว่า ‘นิคมสร้างตนเองบนพื้นที่ราบ’ (2502-2503) ซึ่งได้รับอิทธิพลจาก Indian Reservation Center ในอเมริกาเหนือ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมาในปีเดียวกัน รัฐบาลประกาศให้ฝิ่นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและเศรษฐกิจของชาวเขาที่เคยปลูกฝิ่นอย่างถูกกฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โครงการหลวงจึงเกิดขึ้นในปี 2512 โดยดำเนินงานพัฒนาต่าง ๆ ในพื้นที่ และในช่วงต้นทศวรรษที่ 2540 โครงการหลวงเริ่มส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ โดยการฝึกอบรมชาวบ้านเกี่ยวกับการท่องเที่ยว การสร้างสถานที่อำนวยความสะดวกสำหรับการท่องเที่ยว เช่น ร้านอาหาร ร้านกาแฟ นอกจากนี้ยังมีความพยายามในการส่งเสริมหมู่บ้านให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และการส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เป็นกิจกรรมบันเทิงสำหรับนักท่องเที่ยวอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในปี 2558 เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญเมื่อรัฐบาลมีการปรับเปลี่ยนกรรมการบริหารนโยบาย ประกอบกับการมีนโยบายทวงคืนผืนป่า จึงส่งผลทำให้โครงการหลวงยกเลิกนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่จนสร้างปัญหาและความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับรัฐบาลมาจนถึงปัจจุบัน

ชาติพันธุ์กับสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยบนพื้นที่สูง

ผศ.ดร.ขวัญชีวัน บัวแดง อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  กล่าวถึงเรื่องของศูนย์วิจัยชาวเขา โดยระบุว่า ศูนย์วิจัยชาวเขาซึ่งก่อตั้งในปี 2508 และยกเลิกไปในปี 2545 มีบทบาทสำคัญในการสร้าง ‘ความเป็นชาวเขา’ สร้างตัวตนของชาวเขาในประเทศไทย โดยทำหน้าที่เป็นสถาบันหลักในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับชาวเขามาอย่างยาวนาน ทั้งนี้ ก่อนการก่อตั้งศูนย์วิจัยชาวเขา การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับชาวเขามักทำอย่างไม่เป็นระบบและขาดความเข้มงวดในการเก็บข้อมูล นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่จะมองชาวเขาจากมุมมองของคนศูนย์กลางที่มองคนชายขอบ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คนบนพื้นที่สูง

การก่อตั้งศูนย์วิจัยชาวเขา เป็นผลสืบเนื่องมาจากการสำรวจชาวเขาครั้งแรกในปี 2503 เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การก่อตั้งศูนย์วิจัยชาวเขาในปี 2508 ซึ่งนำไปสู่การดำเนินนโยบาย “รวมพวก” และ “พัฒนา” ชาวเขา รวมถึงข้อเสนอแนะในการใช้ประโยชน์จากนิคมชาวเขาเพื่อเป็นศูนย์สาธิตการเกษตร การจัดตั้งหน่วยพัฒนาเคลื่อนที่ และการจัดตั้งศูนย์วิจัยชาวเขา โดยปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการจัดตั้งศูนย์วิจัยชาวเขา ได้แก่ ปัญหาคอมมิวนิสต์และการปลูกฝิ่นของกลุ่มคนบนพื้นที่สูง การขาดแคลนงานนักวิจัยและงานวิจัย ‘ชาวเขา’ รวมถึงการสนับสนุนทางการเงินจำนวนมากจากสหรัฐฯ ในการจัดตั้งศูนย์วิจัยฯ เพื่อป้องกันการกลายเป็นคอมมิวนิสต์ของไทย ดังนั้น ศูนย์วิจัยชาวเขาจึงเกิดขึ้นมาในช่วงปี 2508

ศูนย์วิจัยชาวเขา ก่อตั้งขึ้นจากความต้องการของรัฐในการควบคุมกลุ่มชาติพันธุ์และแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับชาวเขา ซึ่งมักถูกมองว่าเป็นปัญหาของสังคม ทั้งในเรื่องการทำลายป่า การปลูกฝิ่น และภัยคอมมิวนิสต์ โดยได้รับการออกแบบและวางแผนโดยนักมานุษยวิทยาต่างประเทศ เช่น Mandoff (ออสเตรีย) Geddes (ออสเตรเลีย) Hinton (ออสเตรเลีย) มุ่งเน้นงานวิจัยประยุกต์เพื่อแก้ปัญหาโดยตรง และการศึกษาเชิงลึกแต่ละเผ่า ซึ่งนำไปสู่การสร้างผู้เชี่ยวชาญประจำเผ่า อย่างไรก็ตาม การศึกษาแบบแยกเผ่าอาจทำให้มองไม่เห็นความสัมพันธ์ในภาพรวมที่กว้างขึ้น และอาจทำให้อัตลักษณ์ตัวตนของแต่ละกลุ่มถูกมองแยกกัน เป็นการผลิตสร้างความรู้ที่ค่อนข้างที่จะตายตัว เป็นภาพแบบหยุดนิ่ง ไม่ได้บ่งบอกถึงอะไร ไม่ได้กล่าวถึงองค์ความรู้พื้นถิ่น การสร้างตัวตน จึงทำให้ผลของการศึกษาชาวเขาโดยสถาบันวิจัยชาวเขา ทำให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ชุดหนึ่งที่มองกลุ่มต่าง ๆ อย่างหยุดนิ่งตายตัว โดยไม่ได้มองศักยภาพหรือพลวัตใด ๆ ถึงแม้ว่ายุคสมัยของการศึกษาในรูปแบบเช่นนี้จะหมดไปแล้ว แต่ปัญหาชาวเขาก็ยังคงอยู่ในใจของคนเป็นจำนวนมาก และยังคงเป็นความท้าทายที่สำคัญในปัจจุบัน

ชาติพันธุ์กับการจัดการทรัพยากร (ที่ดิน-ป่าไม้)

ศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เปิดเผยถึงวิวัฒนาการของทัศนคติและนโยบายของรัฐไทยที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นปัญหา “วาทกรรมชาวเขา” และ “ไร่เลื่อนลอย” ซึ่งได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างภาพลักษณ์และกำหนดนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและสิทธิของคนกลุ่มนี้ ก่อนวาทกรรม ‘ชาวเขา’ เดิมทีรัฐสยามไม่ได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มคนเหล่านี้มากนัก โดยเรียกรวมกันว่า ‘ชาวป่า’ และบางกลุ่ม เช่น กะเหรี่ยงและลัวะ ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองเพื่อช่วยปกป้องชายแดน แต่ในยุคสงครามเย็นและการสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ ความคิดเกี่ยวกับคนกลุ่มนี้เริ่มเปลี่ยนไป มีการตั้งคำถามถึงชาติพันธุ์และจัดกลุ่มคนเหล่านี้ว่าแตกต่างจากคนพื้นราบ โดยมีความเจริญน้อยกว่า จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อคำว่า ‘ชาวป่า’ หายไป และถูกแทนที่ด้วยคำว่า ‘ชาวเขา’ ในปี 2502 ซึ่งเป็นผลจากการนิยามของรัฐไทยฝ่ายความมั่นคง และได้รับอิทธิพลจากคำว่า ‘Hill Tribe’ ของสยามสมาคม

วาทกรรม ‘ชาวเขา’ ไม่ได้มีผลพวงจากสงครามเย็นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นผลผลิตของรัฐเผด็จการด้วยเช่นกัน ซึ่งมีรากฐานมาจากการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของรัฐไทยจาก ‘ชาวป่า’ สู่ ‘กลุ่มคนที่สร้างปัญหา’ ซึ่งต้องได้รับการจัดการ วาทกรรมนี้ได้สร้างภาพลักษณ์ของคนกลุ่มนี้ว่าเป็นภัยคุกคาม ทั้งในประเด็นการตัดไม้ทำลายป่า การปลูกฝิ่น และการเป็นคอมมิวนิสต์ นำไปสู่การลดทอนคุณค่าของคนกลุ่มนี้ มองว่าไม่เป็นคน หรือต่ำกว่ามนุษย์

ปัญหาสิทธิของคนบนพื้นที่สูงไม่ได้เกิดขึ้นจากแค่ “วาทกรรมชาวเขา” เท่านั้น แต่ยังรวมถึง “วาทกรรมไร่เลื่อนลอย” ที่ตีตราและสร้างปัญหาให้คนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง วาทกรรมนี้ส่งผลกระทบต่อสิทธิที่ดินของคนบนที่สูง และเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ความจริงแล้ว การทำไร่เป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนไทยทั่วประเทศ ไม่เฉพาะแต่คนบนพื้นที่สูงเท่านั้น หลักฐานทางประวัติศาสตร์ เช่น นิราศไทรโยค ของรัชกาลที่ 5 ยืนยันว่า การทำไร่เป็นที่รับรู้และยอมรับของผู้นำไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ การทำไร่เป็นการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์และเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่หลากหลายของประเทศไทย การตีตราการทำไร่ด้วยวาทกรรมเชิงลบไม่เพียงแต่เป็นการบิดเบือนความจริงทางประวัติศาสตร์ แต่ยังส่งผลกระทบต่อสิทธิและความเป็นอยู่ของคนบนพื้นที่สูง

วาทกรรม ‘ไร่เลื่อนลอย’ มีรากฐานมาจากยุครัชกาลที่ 5 ซึ่งมีการจัดตั้งกรมป่าไม้ และให้ความสำคัญกับไม้สักมากขึ้น ฉะนั้นการทำไร่จึงเริ่มขัดแย้งกับนโยบายอนุรักษ์ป่าของรัฐ โดยเฉพาะในภาคเหนือที่มีทรัพยากรป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์ ประกอบกับการได้รับอิทธิพลจากองค์กรระหว่างประเทศอย่าง องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้ไร่กลายเป็นไร่เลื่อนลอย มองว่าการทำไร่เป็นภัยคุกคามต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจของป่าไม้ และ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature: IUCN) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สำคัญซึ่งริเริ่มคำว่า ‘พื้นที่ป่าอนุรักษ์’ ส่งผลทำให้การทำไร่กลายเป็นปฏิปักษ์ต่อพื้นที่ป่า เป็นครั้งแรกที่ ‘ไร่’ ถูกทำให้กลายเป็น ‘สิ่งคุกคามของชาติ’

นอกจากนี้ ‘ไร่เลื่อนลอย’ ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะในช่วงสงครามเย็น การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติและเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าหลายแห่งมีนัยสำคัญในการสร้างเขตกันชนเพื่อสกัดกั้นการเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์  วาทกรรมดังกล่าวสร้างภาพจำเชิงลบให้กับคนบนพื้นที่สูงที่ทำไร่หมุนเวียน ทำให้พวกเขาถูกมองว่าเป็นคนไม่รักชาติ ไม่จงรักภักดี และเป็นภัยต่อทรัพยากรธรรมชาติ วาทกรรมนี้ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมในการตั้งนิคมพัฒนาชาวเขาเพื่ออพยพคนออกจากพื้นที่ป่า ส่งผลให้กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงจำนวนมากสูญเสียที่ทำกินและวิถีชีวิตดั้งเดิม

ชาติพันธุ์ปลดแอกแถลงชำระประวัติศาสตร์ที่ถูกกดทับ

ในช่วงท้ายของกิจกรรมมีการอ่านแถลงการณ์ชาติพันธุ์ปลดแอก (Free Indigenous People: FIP) เรื่อง รื้อชำระประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ มุ่งสู่โครงสร้างสังคม ที่เห็นคนอย่างเท่าเทียม โดยมีเนื้อหาดังนี้

เป็นเวลากว่าทศวรรษที่ประวัติศาสตร์ของชาติพันธุ์ ถูกกดทับ จำกัดสิทธิให้อยู่ใต้พรหม ไม่ถูกสื่อสารต่อสังคมด้วยข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมาถึงประวัติศาสตร์ปมปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ส่งผลให้กลายเป็นผู้ถูกทำให้เป็นกลุ่มชายขอบของสังคม จากยุคที่ขีดเขียนขอบเขตดินแดนการปกครอง สถาปนารัฐส่วนกลาง ออกกฎหมาย นโยบายควบคุม กดทับจำกัดสิทธิ และติดป้ายให้กลุ่มชาติพันธุ์เป็นภาพตัวแทนปัญหา ทั้งภัยความมั่นคง เป็นมวลชนของคอมมิวนิสต์ ตัดไม้ทำลายป่า สร้างมายาคติทางสังคม โจมตีให้กลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์เรา “กลายเป็นแพะ” เป็นจำเลยทางสังคมอยู่ทุกยุคสมัย กลายเป็นกลุ่มคนนอกกฎหมายที่น่าหวาดระแวงในสายตารัฐในขณะที่เหล่าชนชั้นนำ ชนชั้นปกครองที่ต่างผูกขาดอำนาจและช่วงชิง สะสมความมั่งคั่งจากฐานทรัพยากรส่วนรวม แต่กลับเป็นพวกเราที่ถูกกีดกันออกจากชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี แม้กระทั่งสิทธิปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต การทำมาหากินในฐานะประชาชนคนไทยยังคงถูกกดไว้เพื่อรอรับการสงเคราะห์ และปัญหาประการสำคัญที่กดครอบพวกเราไว้ คืออำนาจทางประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยถูกชำระ ถูกรื้อถอนอย่างถึงรากถึงโคน ให้เห็นถึงต้นตอปัญหาเพื่อคืนสิทธิความเป็นคน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้เสมอภาคทัดเทียม

พวกเราในฐานะ ชาติพันธุ์ปลดแอก คือคนรุ่นใหม่ผู้มุ่งหวังเห็นการเปลี่ยนแปลง ถึงสังคมที่เป็นประชาธิปไตย เคารพสิทธิเสรีภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ถูกเลือกปฏิบัติมองเห็นความเป็นมนุษย์ร่วมกัน เราร่วมกันศึกษาและรื้อชำระประวัติศาสตร์เพื่อเห็นถึงบทเรียนการกดทับของรัฐไทย อย่างตรงไปตรงมา จากยุคการไล่ล่าอาณานิคมสู่การสถาปนารัฐไทยหลังสยาม หรือในยุคสมัยการต้อสู้ของขบวนการพรรคคอมมิวนิสต์ เราต่างถูกทำให้กลายเป็นอื่น ตกอยู่ภายใต้การแย่งชิงทรัพยากรโดยรัฐ ทั้งการใช้กฎหมายป่าไม้-ที่ดิน บังคับใช้แนวคิดการอนุรักษ์จากรัฐส่วนกลาง ที่ทำให้เรากลายเป็นผู้บุกรุก สร้างวาทกรรมทำลายป่าและมายาคติการทำเกษตรแบบไร่เลื่อนลอย มุ่งกดทับสิทธิคนที่อยู่กับป่ามาก่อนกฎหมาย แต่ให้อภิสิทธิ์การพัฒนาเพียงบางโครงการหรือบางองค์ บางสถาบันที่ล้วนแต่เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดการสงเคราะห์ การสงสาร แต่ไม่เคยแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมจากต้นตอ

พวกเรากลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ ในนาม “ชาติพันธุ์ปลดแอก” ได้พยายามศึกษาเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ ที่เป็นอุปสรรคและข้อจำกัด เพื่อลุกขึ้นมาต่อสู้ ปลดพันธนาการการกดขี่ชาติพันธุ์ ทั้งพยายามส่งเสียงผ่านข้อเสนอ หวังถึงสังคมที่เห็นคนเท่ากัน ว่าเราไม่ใช่ ‘ชาวเขา’ ดั่งรัฐกดทับไว้ทางประวัติศาสตร์ แต่เราคือ กลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ชีวิตในสังคมไทย มีวิถีวัฒนธรรม ความเชื่อที่หลากหลาย มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีความเป็นคน ภายใต้การสร้างสรรค์สังคมที่เป็นธรรมและเป็นประชาธิปไตย

เนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองสากล ปีนี้ พวกเราในนาม ‘ชาติพันธุ์ปลดแอก’ เป็นอีกวันที่พวกเราพยายามออกมาเคลื่อนไหว เพื่อตอกย้ำ ส่งเสียงควบคู่ไปกับการชำระทางประวัติศาสตร์ ว่าสังคมโลก สังคมใหม่ได้เคลื่อนไหวไปอย่างไม่หยุดนิ่ง แต่สิ่งที่สังคมไทยกระทำ กลับสวนทางและตอกย้ำปัญหาของชาติพันธุ์อย่างต่อเนื่องง แช่แข็งชาติพันธุ์ ไม่ให้เราพัฒนาไปร่วมกับสังคม เราในฐานะ ชาติพันธุ์ปลดแอก ไม่อาจทนต่อสภาวะต่อการกดทับเช่นนี้ได้อีกต่อไป จึงขอส่งเสียงของพวกเราด้วยความหวัง ต่อทุกภาคส่วนของสังคมที่เกี่ยวข้อง เพื่อปลดเปลื้องพันธนาการกดทับ ปลดแอก ของกลุ่มชาติพันธุ์
ดังนี้

1. ถึงรัฐไทย ชนชั้นปกครองและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ต่อปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ ตามเจตนารมณ์ต้องเร่งให้เกิดการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน และกลุ่มชาติพันธุ์ทุกชั้นชน โดยเร่งด่วน ที่เชื่อมั่นอธิปไตยเป็นของประชาชน เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมทุกระดับและมุ่งเน้นถึงการกระจายสู่อำนาจของประชาชน เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมและความเท่าเทียมต่อกลุ่มชาติพันธุ์

2. ถึงกระทรวง ทบวง กรมและส่วนที่เกี่ยวข้อง ต่อปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ ผู้มีอำนาจ ชนชั้นนำ ชนชั้นปกครอง ถึงกฎหมายและนโยบายที่เกิดขึ้นหลังจากมรดกสงครามเย็นที่เกี่ยวข้องทุกฉบับ ที่กดขี่กระทำต่อกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ ให้นำไปสู่การยกเลิก……. ทบทวน……… และรื้อถอนต่อนโยบายและกฎหมาย……….ที่เป็นปัญหาต่อกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อปลดปล่อย สู่ความเสมอภาคที่เห็นคนเท่ากัน คืนสิทธิ คืนศักดิ์ศรี คืนเสรีภาพให้กลุ่มชาติพันธุ์

3. ถึงกลุ่มชาติพันธุ์ประเทศไทย เราต่างเป็นพี่น้องกันบนพื้นฐานชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ร่วมกันสนับสนุนลุกขึ้นต่อสู้ เพื่อทวงคืนสิทธิ ที่ดิน ที่อยู่อาศัย ผืนป่า อาหาร การศึกษา สาธารณูปโภค เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความยุติธรรม และสันติภาพ เพื่อปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของชาติพันธุ์

4. เร่งผลัดดันให้เกิดกฎหมาย ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ตรงตามเจตนารมณ์ของประชาชน เพื่อถือเป็นประตูขั้นแรกสู่การรื้อถอนประวัติศาสตร์ เพื่อคืนสิทธิให้กลุ่มชาติพันธุ์อย่างเท่าเทียม ที่เห็นคนเท่ากัน

เพื่อชำระประวัติศาสตร์ ปลดแอกการกดขี่กลุ่มชาติพันธุ์ เราจะเร่งขยายขอบเขตการศึกษาเพื่อชำระประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ที่ตรงไปตรงมา ให้คนทุกรุ่นเข้าใจถึงข้อเท็จจริง และสร้างขบวนการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่ง สิทธิเสรีภาพ เสมอภาคและภราดรภาพ ของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างเข้มแข็ง สู่การเขียน รณรงค์รัฐธรรมนูญใหม่ที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง

ประกาศปลดแอกชาติพันธุ์
เนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองโลก 9 ส.ค. 2567
ณ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: