แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องไทยอย่าส่งตัวนักกิจกรรมชนเผ่าพื้นเมืองชาวมองตานญาดกลับเวียดนาม เสี่ยงถูกทรมาน
11 ก.ค. 2567 ก่อนจะมีการไต่สวนเรื่องการส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนในสัปดาห์หน้า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้ทางการไทยต้องไม่บังคับส่งตัวนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนผู้เป็นชนเผ่าพื้นเมืองชาวมองตานญาด (Montagnard) และเอดี (Ede) กลับไปเวียดนาม เพราะมีความเสี่ยงอย่างร้ายแรงว่าจะเขาอาจถูกทรมาน
อี ควิน เบอดั้บ (Y Quynh Bdap) เป็นผู้ลี้ภัยที่ได้รับรองสถานะจากองค์การสหประชาชาติ และอาศัยอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2561 เขาถูกทางการไทยจับกุมที่กรุงเทพฯ ในข้อหา "อยู่เกินกำหนด" เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 หลังทางการเวียดนามมีคำขอให้ส่งตัวเขาเป็นผู้ร้ายข้ามแดน
มีรายงานข่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ระบุว่า คำขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ดังกล่าว เป็นผลมาจากการที่ศาลเวียดนามได้ตัดสินลงโทษจำคุก เบอดั้บ เป็นเวลา 10 ปีในข้อหาก่อการร้าย ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567
ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ทางการเวียดนามมีประวัติ ที่ยาวนานในการประหัตประหารกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองชาวมองตานญาดอย่างรุนแรงและมีลักษณะที่เหยียดเชื้อชาติ หากประเทศไทยยอมดำเนินการตามคำขออันเหลวไหลนี้ ก็จะถือเป็นการละเมิดพันธกรณีของประเทศตามหลักการไม่ส่งกลับ (non-refoulement)
"ศาลเวียดนามขาดความเป็นอิสระ เบอดั้บ ได้เคยถูกดำเนินคดี และตัดสินว่ามีความผิดข้อหาก่อการร้าย โดยเป็นการพิจารณาคดีลับหลังจำเลย ซึ่งเป็นการละเมิดต่อสิทธิของเขาที่จะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรมอย่างชัดเจน"
อี ควิน เบอดั้บ เป็นคนชาติพันธุ์เอดี ที่หนึ่งในกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองชาวมองตานญาดในที่ราบสูงภาคกลางของเวียดนาม ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม "มองตานญาดสู้เพื่อความยุติธรรม" (Montagnards Stand for Justice) เขามีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่รณรงค์เพื่อสิทธิของชาวมองตานญาด โดยการคอยส่งเสียงต่อต้านการประหัตประหารด้านศาสนาที่เกิดขึ้นกับชุมชนของเขา
เขาเป็นหนึ่งในหกชนเผ่าพื้นเมืองชาวมองตานญาด ซึ่งทางการเวียดนามดำเนินคดีในข้อหาก่อการร้าย ตามมาตรา 299 ของประมวลกฎหมายอาญาเวียดนาม จากเหตุโจมตีที่ทำการของรัฐบาลเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ในจังหวัดดั๊กลัก (Dak Lak) ของเวียดนาม
สำนักข่าวของรัฐในเวียดนามรายงานว่า ทางการต้องการตัวเขาในฐานะผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการโจมตี ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 9 คน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในคอมมูนดังกล่าว อี ควิน เบอดั้บ ซึ่งปัจจุบันถูกควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพในประเทศไทย ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว การไต่สวนคำขอเพื่อส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนจะเกิดขึ้นในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้
"ทางการเวียดนามมีแบบแผนการโจมตีที่ชัดเจนต่อชนชาติพันธุ์และชนกลุ่มน้อยด้านศาสนา รวมทั้งชาวมองตานญาด ในลักษณะที่เข้าขั้นการประหัตประหาร"
"หากมีการส่งตัวอี ควิน เบอดั้บ กลับไปเวียดนาม มีแนวโน้มสูงอย่างยิ่งที่เขาจะถูกทรมาน และจะมีการใช้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายอย่างมิชอบเพื่อเล่นงานเขา ประเทศไทยห้ามส่งตัวเขากลับไปเวียดนาม เมื่อรู้แล้วว่าเขาจะต้องเผชิญชะตากรรมอย่างไรบ้าง" ชนาธิปกล่าว
การต่อสู้เพื่อความยุติธรรมอย่างยาวนานของชาวมองตานญาด
ทางการเวียดนามได้ดำเนินการปราบปรามอย่างเป็นระบบต่อคนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และทางศาสนา ที่ได้ออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ โดยเฉพาะสมาชิกกลุ่มศาสนาอิสระ ซึ่งไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากรัฐบาล
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้พูดคุยกับชาวมองตานญาดหลายคน ซึ่งหลบหนีมาจากภูมิภาคดั๊กลัก หรือยังคงอาศัยอยู่ที่นั่น ภายหลังเหตุโจมตีซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 บางส่วนบอกว่าได้หลบหนีออกจากประเทศ หลังตกเป็นเหยื่อการจับกุมโดยพลการและการทรมานของตำรวจ โดยมักเดินทางข้ามพรมแดนอย่างผิดกฎหมาย ในช่วงกลางคืน และเป็นการเดินผ่านป่า ส่วนคนอื่นๆ บอกว่ามีการสั่งล็อกดาวน์ทั้งจังหวัดเป็นเวลาหลายเดือน เพื่อปราบปรามชนเผ่าพื้นเมืองชาวมองตานญาด
ในปี 2566 ผู้ลี้ภัยชาวมองตานญาดบอกกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า เขาถูกตำรวจจับและถูกลากตัวเข้าไปในห้องมืด จากนั้นมีการฉีดสารบางอย่างเข้าไปในตัวเขา และควบคุมตัวเขาไว้ในห้องเป็นเวลาสองวัน ในช่วงเวลาสองวันนั้น ตำรวจได้เข้ามาสอบปากคำเขาเกี่ยวกับเหตุโจมตีข้างต้น และใช้กระบองยางตีที่ขา ไหล่ มือ และศีรษะของเขา
"ผมสลบไป รู้สึกมึนงง และไม่กลับมามีอาการปกติอีกเลย จนกระทั่งวันที่เขาปล่อยตัวผมออกมา ผมรู้สึกสับสนกับทุกอย่างที่เกิดขึ้น" ผู้ลี้ภัยชาวมองตานญาดกล่าว
ในการให้สัมภาษณ์กับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 อี ควิน เบอดั้บ กล่าวว่า เขาถูกจับไปโรงพักและถูกทรมานเมื่อปี 2553
การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายในเรือนจำเวียดนาม
แม้จะให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมานในปี 2558 แต่รัฐบาลเวียดนามแทบไม่ได้ดำเนินการใดๆ เพื่อให้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลง และยังคงทรมานนักโทษต่อไป ใ
รายงานปี 2559 เรื่อง "เรือนจำในเรือนจำ: การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายต่อนักโทษด้านความคิดในเวียดนาม" แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้บันทึกข้อมูลการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบในเรือนจำของเวียดนาม โดยเป็นการกระทำต่อนักกิจกรรมและนักโทษทางความคิด รวมทั้งสมาชิกชนกลุ่มน้อยด้านชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง
ดาร์ (นามแฝง) อดีตนักโทษชาวมองตานญาดซึ่งถูกจับเมื่อปี 2551 ถูกจับขังเดี่ยวในห้องขังขนาดเล็กมากในช่วง 10 เดือนแรกที่ถูกควบคุมตัว เขาให้ข้อมูลเช่นกันว่าได้ถูกตีด้วยไม้และสายยาง ถูกต่อย เตะ และช็อตด้วยไฟฟ้า และกล่าวว่ามีการจุดไฟใส่กระดาษเพื่อลนที่ขาของเขา เขาบอกว่าบางครั้งเขาถูกจับแขวนโดยการผูกเชือกไว้ที่แขน จากนั้นตำรวจก็ทุบตีจนเขาสิ้นสติไป
ในเดือนมีนาคม 2564 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังได้รับรายงานเพิ่มเติมว่า เหงียนวันดุกดอ (Nguyen Van Duc Do) นักกิจกรรมซึ่งปัจจุบันใช้โทษจำคุก 11 ปี ถูกจับขังเดี่ยวเป็นเวลากว่า 300 วัน ซึ่งถือเป็นการทรมานตามกฎหมายระหว่างประเทศ ในช่วงแรกของการขังเดี่ยว เขาบอกว่าเจ้าหน้าที่เรือนจำเอาโซ่ล่ามขาทั้งสองข้างไว้เป็นเวลา 10 วันติดต่อกัน และเอาน้ำสกปรกและอาหารที่เจือปนด้วยอุจจาระมาให้เขากิน
ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ
ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องเคารพกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ รวมทั้งหลักการไม่ส่งกลับ และอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ในฐานะรัฐภาคีของอนุสัญญานี้ ประเทศไทยต้องไม่ส่งตัวบุคคลกลับไปยังรัฐอีกแห่งหนึ่ง กรณีที่มีเหตุผลอย่างหนักแน่นว่าเขาอาจถูกการทรมาน
นอกจากนี้ หลักการนี้ได้รับการรับรองในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายของไทย ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มาตรา 13 ของ พ.ร.บ. นี้ระบุว่า "ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐขับไล่ ส่งกลับ หรือส่งบุคคล เป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้น จะไปตกอยู่ในอันตรายที่จะถูกกระทำทรมาน ถูกกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือถูกกระทำให้สูญหาย"
"กรณีของอี ควิน เบอดั้บสะท้อนอย่างชัดเจนถึงความพยายามของทางการเวียดนามที่จะยื่นมือมาจัดการและปราบปรามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน แม้กระทั่งผู้ที่อยู่นอกพรมแดนของเวียดนามเอง"
"ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศและในประเทศ โดยต้องป้องกันไม่ให้มีการส่งกลับบุคคลที่ขอลี้ภัยในประเทศไทย หากพวกเขามีความเสี่ยงต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง"
"ทางการไทยต้องปล่อยตัวเบอดั้บ ทันที ต้องยุติกระบวนการส่งตัวเขาเป็นผู้ร้ายข้ามแดน และรับประกันให้มีการคุ้มครองเบอดั้บ และสมาชิกชนเผ่าพื้นเมืองและชนกลุ่มน้อยด้านศาสนาอื่นๆ ซึ่งหลบหนีการประหัตประหารในเวียดนามมายังประเทศไทย" ชนาธิป กล่าวทิ้งท้าย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ