สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สำรวจตลาดแรงงาน ทักษะ 'Soft Skill' มาแรงเป็นที่ต้องการของทุกอาชีพ ผ่านการใช้ Big Data จาก 15 เว็บไซต์จัดหางานของไทย และใช้ AI วิเคราะห์ทักษะของแรงงานที่นายจ้างต้องการ นอกจากนี้ยังเป็นครั้งแรกที่ทีมวิจัย Big Data ของ TDRI ทำการสำรวจโดยอ้างอิงฐานข้อมูลทักษะจากฐานข้อมูล Lightcast ซึ่งจัดเก็บข้อมูลประกาศรับสมัครงานทั่วโลก
ทีมวิจัย “โครงการวิเคราะห์การประกาศหางานออนไลน์” ของทีดีอาร์ไอ ได้พัฒนาระบบติดตามการจ้างงานในประเทศไทย โดยใช้ Big Data และการวิเคราะห์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ได้พัฒนาต่อยอดจากโครงการการจัดทำฐานข้อมูลความต้องการทักษะแรงงานด้วย Big Data เพื่อส่งเสริมการปฏิรูปการศึกษา ที่สนับสนุนโดยกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปี 2561
โครงการนี้มีจุดประสงค์เพื่อวิเคราะห์ความต้องการแรงงานและทักษะต่างๆที่นายจ้างต้องการ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วตามสภาวะทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี โดยใช้ Big Data จากประกาศรับสมัครงานซึ่งมีความละเอียดสูงและทันสมัย โดยผลการวิเคราะห์นี้เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ตลอดจนมหาวิทยาลัย สถาบันอาชีวะศึกษาและสถาบันฝึกอบรมต่างๆ ที่ผลิตบุคลากรป้อนตลาดแรงงาน
พบ “Soft Skill” เป็นทักษะที่นายจ้างต้องการ
ความพิเศษของการวิเคราะห์ประกาศหางานครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่ทีมวิจัยได้ใช้ประกาศหางาน โดยอ้างอิงข้อมูลทักษะจากฐานข้อมูล Lightcast ที่ได้ทำการจัดเก็บข้อมูลประกาศรับสมัครงานจากทั่วโลก ก่อนที่จะนำมาสกัดทักษะต่าง ๆ และได้จัดหมวดหมู่ทักษะออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1. กลุ่มทักษะที่พบได้ทั่วไป (common skill) เป็นกลุ่มทักษะที่พบในทุกกลุ่มอาชีพ 2. กลุ่มทักษะเฉพาะ (specialized skill) เป็นกลุ่มทักษะที่พบในเฉพาะกลุ่มอาชีพ และ 3. ใบประกาศนียบัตร (certification) เป็นกลุ่มทักษะที่ต้องมีการทดสอบเพื่อได้บัตรประกาศนียบัตร เช่น TOEIC
ในกลุ่มทักษะที่พบได้ทั่วไป (common skill) ในทุกตำแหน่งงานและสาขาธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็น Soft Skill พบว่าทักษะการประสานงานเป็นที่ต้องการมากที่สุด 354,758 ตำแหน่งงาน (27.31%) ตามมาด้วย ทักษะการขาย พบใน 324,272 ตำแหน่งงาน (24.96%) ทักษะการวางแผนงาน 283,399 ตำแหน่งงาน (21.81%) และ การสื่อสาร 180,920 ตำแหน่งงาน (13.93%)
ในกลุ่มทักษะเฉพาะ (specialized skill) พบว่าทักษะการบำรุงรักษา (maintenance) มากที่สุด 193,137 ตำแหน่งงาน (14.87%) การควบคุมเครื่องมือและเครื่องจักร 153,405 ตำแหน่งงาน (11.81%) ทักษะด้านบัญชี 134,062 ตำแหน่งงาน (10.32%) ทักษะจัดซื้อจัดจ้าง 70,266 ตำแหน่งงาน (5.41%) ทักษะด้านการติดตั้ง 58,820 ตำแหน่งงาน (4.53%)
ในกลุ่มใบประกาศนียบัตร (certification) พบว่ามีความต้องการผลสอบ TOEIC มากที่สุด 10,413 ตำแหน่งงาน (0.80%) ตามด้วยใบรับรองวิชาชีพเภสัชกรรมตามมาตรฐาน GMP (Pharmaceutical GMP Professional Certification) 7,410 ตำแหน่งงาน (0.57%) และ วุฒิบัตรผู้ตรวจสอบภายใน (Certified Internal Auditor) 3,336 ตำแหน่งงาน (0.26%)
เก็บข้อมูล 15 เว็บไซต์หางานในไทย เปิดรับกว่า 1.2 ล้านตำแหน่ง
นอกจากนี้ในปัจจุบันทีมวิจัยทำการปรับปรุงระบบอัตโนมัติในการเก็บข้อมูลประกาศหางาน จากระบบเดิมที่ใช้ประมวลผลในรายงานฉบับก่อนหน้า โดยมีการเปลี่ยนแปลงเว็บไซต์หางานที่จัดเก็บข้อมูล จำนวน 15 เว็บไซต์หางานในประเทศไทย ซึ่งเป็นเว็บไซต์หางานระดับประเทศทั้งหมด และทำให้ได้รับข้อมูลประกาศหางานที่มากขึ้น ทำให้ในรายงานฉบับนี้จะไม่เปรียบเทียบข้อมูลกับข้อมูลในอดีต เนื่องจากเป็นฐานข้อมูลที่ต่างกัน
ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 (1 ตุลาคม 2566–31 ธันวาคม 2566) พบว่า มีประกาศรับสมัครงานทั้งหมด 1,299,111 ตำแหน่งงาน เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามวุฒิการศึกษาขั้นต่ำที่ระบุในประกาศรับสมัครงาน พบว่า วุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี เป็นวุฒิการศึกษาขั้นต่ำที่นายจ้างต้องการมากที่สุด มีประกาศรับสมัคร 857,419 ตำแหน่ง (60.03%) รองลงมาคือ ปวช.156,449 ตำแหน่ง (12.05%) ปวส. 91,421 ตำแหน่ง (7.04%) มัธยมศึกษาปีที่หก 89,917 ตำแหน่ง (6.29%) ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา 39,932 ตำแหน่ง (3.08%) ไม่ระบุวุฒิการศึกษาขั้นต่ำมีจำนวน 36,969 ตำแหน่ง (2.85%) มัธยมศึกษาปีที่สาม 18,043 ตำแหน่ง (1.39%) และสูงกว่าปริญญาตรี 8,378 ตำแหน่ง (0.65%)
กลุ่มค้าส่ง-ค้าปลีกยังครองแชมป์ หาคนทำงานมากที่สุด ประกาศรับกว่า 2 แสนตำแหน่ง
เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามกลุ่มประเภทธุรกิจที่ระบุในประกาศรับสมัครงาน โดยอ้างอิงประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรม (TSIC) ปี 2552 และจากฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในการช่วยจำแนกข้อมูล พบว่าประกาศรับสมัครงาน ไม่สามารถระบุกลุ่มได้ 302,089 ตำแหน่งงาน (23.3%) ธุรกิจการขายส่งและการขายปลีก มีจำนวนมากที่สุด 201,645 ตำแหน่งงาน(15.5%) ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 163,185 ตำแหน่งงาน (12.6%) การผลิต 153,601 ตำแหน่งงาน (11.8%) การก่อสร้าง 95,501 ตำแหน่งงาน (7.4%) กิจกรรมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ 71,694 ตำแหน่งงาน (5.5%) กิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ 59,717 ตำแหน่งงาน (4.6%) กิจกรรมบริการด้านอื่นๆ 53,610 ตำแหน่งงาน (4.1%)
กิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย 48,269 ตำแหน่งงาน (3.7%) กิจกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ 46,578 ตำแหน่งงาน (3.6%) การศึกษา 24,201 ตำแหน่งงาน (1.9%) ข้อมูล ข่าวสารและการสื่อสาร 19,259 ตำแหน่งงาน (1.48%) การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 11,941ตำแหน่งงาน (1.47%) การทำเหมืองแร่ และเหมืองหิน 11,941 ตำแหน่งงาน (0.9%) กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน 10,332ตำแหน่งงาน (0.8%) ศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ 7,190 ตำแหน่งงาน (0.6%) เกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง 6,608 ตำแหน่งงาน (0.5%) การบริหารราชการ การป้องกัน ประเทศและการประกันสังคมภาคบังคับ 4,600 ตำแหน่งงาน (0.4%)
เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามกลุ่มอาชีพที่ระบุในประกาศรับสมัครงาน โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการช่วยจำแนกกลุ่มอาชีพ พบว่า ในกลุ่มอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการขายมีจำนวนมากที่สุด โดยมีจำนวนประกาศหางาน 282,710 ตำแหน่งงาน (21.7%) ตามมาด้วย อาชีพทางสำนักงานและสนับสนุนการดำเนินงาน 180,670 ตำแหน่งงาน (13.9%) อาชีพด้านธุรกิจและการดำเนินงานทางการเงิน 176,488 ตำแหน่งงาน (13.6%) อาชีพด้านคอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์ 134,414 ตำแหน่งงาน (10.3%) นอกจากนี้ อาชีพด้านวิศวกรรม 91,703 ตำแหน่งงาน (7.0%) งานการจัดการ 60,336 ตำแหน่งงาน (4.6%) งานจัดซื้อ/จัดจ้าง 55,675 ตำแหน่งงาน (4.3%) งานติดตั้งดูแล และการซ่อมแซม 53,489 ตำแหน่งงาน (4.1%) งานศิลปะ,การออกแบบ,ความบันเทิง,กีฬา และสื่อ 46,287 ตำแหน่งงาน (3.6%)
งานสุขภาพและเทคนิคทางการแพทย์ 31,582 ตำแหน่งงาน (2.4%) งานบริการและเตรียมอาหาร 29,426 ตำแหน่งงาน (2.3%) งานโปรดักชั่น/ผลิตองค์ประกอบภาพรวม 22,527 ตำแหน่งงาน (1.7%) งานด้านการป้องกัน 18,678 ตำแหน่งงาน (1.4%) งานด้านกฎหมาย 17,408 ตำแหน่งงาน (1.3%) งานล่าม/แปลภาษา 15,769 ตำแหน่งงาน (1.2%) งานทำความสะอาดและบำรุงรักษาสิ่งก่อสร้างและพื้นที่ 15,248 ตำแหน่งงาน (1.2%) งานขนส่งและเคลื่อนย้ายวัตถุ 14,797 ตำแหน่งงาน (1.1%) สถาปัตยกรรม 12,485 ตำแหน่งงาน (1.0%) งานอื่นๆ 12,087 ตำแหน่งงาน (0.9%) งานด้านการสอนและงานห้องสมุด 10,816 ตำแหน่งงาน (0.8%) งานก่อสร้างและการดึงออกวัสดุ 10,769 ตำแหน่งงาน (0.8%) งานด้านการดูแลและบริการส่วนบุคคล 3,129 ตำแหน่งงาน (0.2%) งานวิทยาศาสตร์ 2,945 ตำแหน่งงาน (0.2%) งานการเกษตร การประมง และการป่าไม้ 2,201 ตำแหน่งงาน (0.2%)
งานกระจุกตัวกทม.-ปริมณฑลกว่า 88 เปอร์เซ็นต์
เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามภูมิภาคที่ระบุในประกาศ พบว่าประกาศรับสมัครงานในกรุงเทพและปริมณฑล มีจำนวนมากที่สุด ด้วยประกาศหางาน 1,150,939 รายการ (88.6%) ตามด้วยภาคตะวันออกมีประกาศหางาน 50,466 รายการ (3.9%) ภาคใต้มีประกาศหางาน 40,989 รายการ (3.2%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีประกาศหางาน 20,746 รายการ (1.6%) ภาคเหนือมีประกาศหางาน 13,459 รายการ (1.0%) ภาคกลางมีประกาศหางาน 13,003 รายการ (1.0%) และ ภาคกลางมีประกาศหางาน 8,528 รายการ (0.7%)
จากกราฟจะเห็นว่าเมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามวุฒิการศึกษาและภูมิภาค จะเห็นว่า ตำแหน่งงานส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งนายจ้างต้องการผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี อีกทั้งทุกภูมิภาคยังต้องการบุคลากรที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งงานอีกไม่น้อยที่ไม่ระบุระดับการศึกษาและไม่ระบุภูมิภาค
ทั้งนี้โครงการวิเคราะห์การประกาศหางานออนไลน์จะวิเคราะห์และนำเสนอการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานไทยอย่างต่อเนื่องไปในทุกไตรมาส
“โครงการวิเคราะห์การประกาศหางานออนไลน์” โดย ดร.ทศพล ป้อมสุวรรณ วินิทร เธียรวณิชพันธุ์ นรินทร์ ธนนิธาพร และฐิติรัตน์ สีหราช ทีมBig Data สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
* เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เขียนโดย ฐิติรัตน์ สีหราช, ทศพล ป้อมสุวรรณ, นรินทร์ ธนนิธาพร, และวินิทร เธียรวณิชพันธุ์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ