เมื่อระบบสุขภาพจิตไทยไม่อาจรอมือจิตแพทย์เพียงอย่างเดียว 'หน่วยบริการสุขภาพท้องถิ่น' จึงเป็นความหวังใหม่ในการดูแลสุขภาพจิตชุมชนแบบใกล้บ้านใกล้ใจ ต้นแบบความสำเร็จจาก รพ.สต.สมุทรสงคราม สู่การขยายผลทั่วประเทศ ด้วยพลังเครือข่ายชุมชนที่พร้อมเป็นที่พึ่งด้านสุขภาพจิตให้คนในท้องถิ่น
มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) เปิดเผยเมื่อช่วงปลายเดือน ต.ค. 2567 ว่า จากการดำเนินงาน โครงการพัฒนาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตตลอดช่วงชีวิต โดย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โรงพยาบาลศรีธัญญา และ มูลนิธิบุญยง-อรรณพ นิโครธานนท์ ชี้ชวนให้สังคมเล็งเห็นและตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินจัดระบบการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตเชิงรุก และการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพจิตให้กระจายอย่างทั่วถึงเพื่อยกระดับสุขภาวะของประชาชน ทั้งในมิติของพฤติกรรมการดำรงชีวิตและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพจิตที่ดี เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนครอบคลุมตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน และสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ
“ปัจจุบันจิตแพทย์ในประเทศไทย 1 คน ต้องดูแลประชากรมากถึง 100,000 คน ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วการดูแลประชากร 100,000 คน เขามีจิตแพทย์รองรับถึง 5 คน ไทยจึงต้องเร่งผลิตบุคลากรด้านนี้แต่การผลิตต้องอาศัยเวลา คาดว่านับจากนี้ไปอีกประมาณ 5 ปี สถานการณ์ขาดแคลนจะดีขึ้น ในส่วนของโรงพยาบาลศรีธัญญาเองจะมีวิทยากรออกไปอบรมให้ความรู้ให้กับชุมชนต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีการดำเนินงานด้านสุขภาพจิตไม่จำเป็นต้องรอกรมสุขภาพจิตหรือกระทรวงสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นภาคประชาสังคมหรือภาคประชาชน ก็สามารถขับเคลื่อนการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตโดยชุมชนท้องถิ่นร่วมกันเป็นคู่ขนานได้” พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีธัญญา หนึ่งในแกนนำขับเคลื่อนโครงการพัฒนาความร่วมมือฯ แนะอีกแนวทางที่จะช่วยแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตในประเทศไทยให้ดีขึ้น
ข้อแนะนำดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทางการส่งเสริมศักยภาพให้กับผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพจิตในชุมชนของโครงการพัฒนาความร่วมมือฯ ที่เปิดโอกาสให้แต่ละชุมชนได้พัฒนารูปแบบการส่งเสริมสุขภาพจิตด้วยกลไกท้องถิ่นของตัวเอง เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนในระดับพื้นที่ โดยมีหัวใจสำคัญคือเข้าถึงอย่างทั่วถึง และ “หน่วยบริการสุขภาพท้องถิ่น” ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) คือหนึ่งผลิตผลของการส่งเสริมศักยภาพให้กับผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพจิตในชุมชนที่มีความสำคัญต่อระบบสุขภาวะไทย เพราะเป็นหน่วยงานสาธารณสุขขนาดเล็กที่ใกล้ชิดกับชาวบ้านมากที่สุด
กระจายการเข้าถึงจาก “ศรีธัญญา” สู่หน่วยบริการสุขภาพท้องถิ่น “ลิ้นจี่โมเดล”
จากโรงพยาบาลจิตเวชระดับประเทศอย่างโรงพยาบาลศรีธัญญา มาสู่หน่วยบริการสุขภาพจิตที่ใกล้ตัวใกล้ใจ ที่ให้บริการสุขภาพจิตแก่คนทุกกลุ่มวัยผ่านความสำเร็จด้วยบันได 3 ขั้น ได้แก่ ขั้นที่ 1 การบูรณาการภาคีเครือข่ายและทรัพยากร ขั้นที่ 2 ความท้าทายในการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย และขั้นที่ 3 ความยั่งยืน อย่าง “ลิ้นจี่โมเดล” ที่ดำเนินการโดย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปากคลองเหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ด้วยเพราะข้อมูลปัญหาสุขภาพจิตใน จ.สมุทรสงคราม ปรากฏตัวเลขเชิงสถิติที่ต้องเร่งเยียวยาแก้ไข เนื่องจากพบผู้ที่มีความพยายามคิดฆ่าตัวตายเฉลี่ย 3 คน/สัปดาห์ และฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ย 1 คน/เดือน ขณะที่ในพื้นที่ ต.คลองเหมืองใหม่ที่มีประชากรประมาณ 4,000 กว่าคน แต่กลับพบผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตจำนวนมาก และไม่สามารถรอให้ฝ่ายใดมาช่วยเหลือได้ จึงคิดพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง ใช้คนในชุมชนเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตในพื้นที่
นิพนธ์ เงินคงพันธ์ ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านคลองเหมืองใหม่ กล่าวว่า ภายใต้การดูแลของเทศบาลตำบลเหมืองใหม่ที่มีทีมงานชุมชนเข้มแข็ง และได้ร่วมดำเนินโครงการเหมืองใหม่สุขภาพจิตดีกับ มสช.ตั้งแต่ปี 2564 มาถึงวันนี้ผลลัพธ์ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ จนสามารถถ่ายทอดและขยายพื้นที่ดำเนินงานในลักษณะกลุ่ม เขตพื้นที่ และภูมิภาคได้ กระทั่งในปี 2567 ได้พัฒนาแนวทางการทำงานในเชิงลึกที่เน้นดูแลสุขภาพจิตให้ประชากรทุกช่วงวัย และบูรณาการการป้องกันการฆ่าตัวตายด้วยแนวคิดบวร หรือ บ้าน วัด โรงเรียน ที่ทุกภาคส่วนจะร่วมด้วยช่วยกันดูแลคนในชุมชน เช่น พระสามารถพูดคุยเยียวยาจิตใจคนในชุมชน ขณะที่นักส่งเสริมสุขภาพจิตระดับชุมชนท้องถิ่น หรือ นสช. ก็มีบทบาทในการรับฟังปัญหาและเสริมสร้างกำลังใจ ช่วยส่งต่อข้อมูลความรู้ สืบค้นปัญหา ร่วมกับทีมสหวิชาชีพจากโรงพยาบาล ส่วนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ก็จะช่วยดูแลสุขภาพกาย เป็นดั่งม้าเร็วเยี่ยมติดตามผู้ป่วยและประเมินสุขภาพเบื้องต้น ด้านฝ่ายบริหารทั้งกำนันและผู้ใหญ่บ้านก็ร่วมกันทำแผนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเชิงนโยบาย และยังมีที่ปรึกษาเป็นนายอำเภอเพื่อให้เกิดการขยายผลทั้งพื้นที่อีกด้วย
“สำหรับหน่วยบริการสุขภาพท้องถิ่น เรามีนวัตกรรมคือศูนย์เยียวยาจิตใจที่พัฒนาต่อยอดเป็นศูนย์อุ่นรักปันยิ้ม ทำหน้าที่พัฒนาร่างกาย จิตใจ รวมถึงให้ความรู้ด้านเศรษฐกิจและรายได้แก่ชาวบ้านทุกช่วงวัย ทั้งเด็ก เยาวชน วัยทำงาน และผู้สูงอายุ และมีกิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์คนทุกวัยในชุมชน เช่น 3 วัย เข้าใจวัยใส พื้นที่เปิดใจให้ทุกคนในชุมชนได้พูดคุยเพื่อหาสาเหตุของปัญหาต่าง ๆ และวางแนวทางแก้ไขร่วมกัน เกิดเป็นความเท่าเทียมด้านบำบัดรักษาและเรียนรู้ถึงปัจจัยที่มีผลกระทบต่อสุขภาพจิต” ผอ.รพ.สต.บ้านคลองเหมืองใหม่ ให้ข้อมูลเพิ่มเติม
นิพนธ์ ยังย้ำถึงเป้าหมายการดำเนินงานของลิ้นจี่โมเดลด้วยว่า ประชาชนต้องสามารถดูแลสุขภาพจิตของตนเองได้ ทั้งในมิติของ Community Care Family Care และ Self Care ผ่านทรัพยากรหลากหลายของทุกภาคีเครือข่าย ที่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ด้วยการบูรณาการทั้งการป้องกันโรคและการส่งเสริมสุขภาพจิตไปพร้อมกัน
ต้นธารลิ้นจี่โมเดลขยายผลสู่ “รพ.สต.หมู่ที่ 5 ต.บางบัวทอง”
เกศชัย บุญธรรม ผู้อำนวยการ รพ.สต.หมู่ที่ 5 ต.บางบัวทอง จ.นนทบุรี กล่าวว่า จากดำเนินการร่วมกับ โรงพยาบาลศรีธัญญา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี เทศบาลเหมืองใหม่ จ. สมุทรสงคราม และ มสช. ทางรพ.สต.ได้จัดอบรม นสช.ของ ต.บางบัวทอง จำนวน 50 คน ซึ่งเป็นการเสริมศักยภาพ อสม.ที่มีอยู่เดิม จากนั้นให้ลงพื้นที่ออกเยี่ยมผู้ป่วยร่วมกับทางโรงพยาบาลศรีธัญญาเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่า อสม.ที่ผ่านการอบรมหลักสูตร นสช. สามารถคัดกรองภาวะสุขภาพจิตชุมชนได้ และนำข้อมูลที่ได้มาประมวลผล วางแผนแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกับท้องถิ่น โดยมีเทศบาลเหมืองใหม่เป็นแกนหลักการดำเนินงาน ในเบื้องต้นถือว่าประสบผลสำเร็จตามเป้าที่วางไว้ แต่มีข้อเสนอเพิ่มเติมคืออยากให้ผู้นำชุมชน เช่น ผู้ใหญ่บ้านเป็น นสช.ด้วย ขณะที่การออกเยี่ยมอยากให้เป็นทีมสหวิชาชีพ นอกจากนี้ได้ตั้งเป้าเพิ่มเติมคือให้มี นสช.ในทุกครัวเรือน หรืออย่างน้อยมี สนช.ในทุกหมู่บ้าน มีคณะทำงานระดับตำบล มีฐานข้อมูลกลางในการออกเยี่ยมผู้ป่วย และมีการบรรจุแผนสุขภาพจิตในแผนสุขภาพตำบล เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดสรรงบประมาณให้สนับสนุนตอนออกเยี่ยมบ้าน และให้มีการเข้าถึงกองทุนบริการจิตเวช เป็นต้น
ด้าน ชาญวิทย์ โวหาร เลขาธิการมูลนิธิบุญยง-อรรณพ นิโครธานนท์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลังการจัดเวทีขับเคลื่อนเชิงนโยบายของภาคีเครือข่ายในการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตโดยชุมชนท้องถิ่นหัวข้อ “เวทีสานพลังเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตโดยชุมชนท้องถิ่น” (Community Mental Health Forum) ของโครงการพัฒนาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตตลอดช่วงชีวิตที่จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางทีมดำเนินงานได้สรุปความสำคัญและแปรเป็น “ข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะด้านการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในชุมชนท้องถิ่นตลอดช่วงชีวิต 6 ข้อ” ที่จะขยายผลการทำงานพื้นที่ต้นแบบให้ขับเคลื่อนสู่ระดับประเทศต่อไป ดังนี้ 1.นำเครื่องมือดัชนีสุขภาพจิตชุมชนท้องถิ่น (Community Mental Health Index) ไปใช้สำหรับเป็นเครื่องมือในการประเมินสถานะสุขภาพจิตในระดับชุมชน และขยายผลต่อยอดไปสู่การเป็นเครื่องมือหลักในการประเมินสุขภาพจิตชุมชนในทุกๆ ชุมชนทั่วประเทศในอนาคต 2.สนับสนุนการขยายผลการสร้างและพัฒนานักส่งเสริมสุขภาพจิตชุมชน (นสช.) ให้กระจายไปทุกชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยหนุนเสริมพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้แก่อาสาสมัครสาธารณหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีอยู่เดิม และพัฒนาศักยภาพตัวแทนประชากรกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ 3.สนับสนุนและจัดให้มีให้มีคลินิกสุขภาพจิตในทุกโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต) พร้อมสนับสนุนทรัพยากรดำเนินงาน
4.สนับสนุนให้กลไก อปท.ระดับต่าง ๆ ขับเคลื่อนงานส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในชุมชนท้องถิ่น โดยกำหนดเป็นแผนงานและงบประมาณของหน่วยงาน 5.สนับสนุนให้มีหน่วยงานและบุคลากรทำหน้าที่การส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในสถานศึกษาโดยจัดตั้งเป็นคลินิกสุขภาพจิต และสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาต่าง ๆ บูรณาการกิจกรรมด้านสุขภาพจิตเข้ากับหลักสูตร และกิจกรรมการเรียนการสอนนักเรียนและนักศึกษา และ 6.สนับสนุนงบประมาณและความรู้วิชาการเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ นสช. และชุมชนท้องถิ่นขับเคลื่อนงานส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต
ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) กล่าวว่า มสช.มีพันธกิจหลัก คือ การเชื่อมโยงความรู้เข้ากับกระบวนการพัฒนานโยบาย และเชื่อว่าการพัฒนานโยบายที่ดีควรมาจากระดับพื้นที่และสังคมที่ร่วมด้วยช่วยกำหนดนโยบายจากองค์ความรู้และข้อเท็จจริง โดยในช่วงปีที่ผ่านมา มสช.มีโอกาสนำเสนอประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ไขเกี่ยวกับสุขภาพจิตในหลายเวที ซึ่งเป็นการดำเนินงานในโครงการพัฒนาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตตลอดช่วงชีวิต ที่มุ่งเน้นการควบคุมหรือลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ และจากการทำงานกับภาคีเครือข่ายของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง และปริมณฑล รวมจำนวน 15 พื้นที่ องค์กรที่ร่วมดำเนินการประกอบด้วยโรงพยาบาลศรีธัญญา รพ.สต. องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม พบว่าโมเดลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านสุขภาพจิตนั้นได้ทำงานบนฐานของความเป็นวิชาการ เช่น การสร้างดัชนีตัวชี้วัดสุขภาพจิตในชุมชนอย่างเป็นระบบ การสร้าง นสช.ในทุกพื้นที่ สามารถเป็นพื้นที่ตัวอย่างให้แก่ชุมชนอื่นทั่วประเทศได้อย่างน่าชื่นชมไม่ว่าจะเป็น ลิ้นจี่โมเดลของ จ.สมุทรสงคราม หรือเสมาโมเดลของ จ.เลย ก็ตาม
“ระบบบริการสุขภาพจิตอาศัยแต่จิตเวชหลักไม่ได้ แต่จิตแพทย์ยังต้องเป็นแกน เพราะชาวบ้านจะไม่มีความมั่นใจว่าถ้าดูแลสุขภาพจิตแล้วไม่มีโอกาสได้รับคำแนะนำหรือความรู้ นอกจากนี้หากต้องการให้คนไทยมีสุขภาพจิตดีสิ่งที่ต้องดำเนินการคือระบบสังคม ที่จะไม่ใช่เรื่องของแพทย์ ของโรงพยาบาล ไม่ใช่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป” ประธาน มสช. ระบุ
สถานการณ์ความรุนแรงในสังคมไทยที่มีการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นได้ทุกที่และทุกช่วงวัย พญ.มธุรดา ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า คนที่ทำความรุนแรงในสังคมส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นคนไข้ในโรงพยาบาลจิตเวช แต่หากเป็นคนที่อยู่ในชุมชนที่บางครั้งมีอาการทางจิตเวชซ่อนเร้นของอยู่ เมื่อถูกกระตุ้นก็จะแสดงความรุนแรงออกมา แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการสร้างระบบสนับสนุนที่เข้มแข็ง เพื่อช่วยลดปัญหาและเพิ่มการเข้าถึงบริการที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยและผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังต้องให้ความรู้และสร้างความเข้าใจในชุมชนเพื่อลดอคติและสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการฟื้นฟูสุขภาพจิตของผู้ป่วยต่อไป
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ