'แพทยสภา' เผยเหตุฟ้องปม 'ร้านยาชุมชนอบอุ่น' จ่ายยา 16 อาการโรค ย้ำไม่ค้านเภสัชจ่ายยา

กองบรรณาธิการ TCIJ 14 พ.ย. 2567 | อ่านแล้ว 1953 ครั้ง

กรรมการ 'แพทยสภา' เผยสาเหตุฟ้องปม สปสช. ให้ 'ร้านยาชุมชนอบอุ่น' จ่ายยา 16 อาการโรคแก่ผู้ป่วยบัตรทองฟรี! ชี้เป็นการเข้าข่ายวินิจฉัยโรค แนะทางออกจ่ายยารูปแบบ OTC ส่วนผู้ป่วยบัตรทองยังรับบริการได้ เพราะศาลปกครองสูงสุดรับฟ้องคำร้อง แต่ยังไม่สิ้นสุดกระบวนการ - ด้าน 'สภาเภสัชกรรม' ออกแถลงการณ์ยืนยันว่ามาตรฐานการบริการโดยร้านยาที่เข้าร่วมโครงการทุกร้าน ได้ผ่านการประเมินร้านยาคุณภาพ เภสัชกรทุกท่านมีความรู้และความสามารถในการจ่ายยากลุ่มยาอันตราย และยาที่จ่ายเป็นยาที่ไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ ตามพระราชบัญญัติยา

เว็บไซต์ Hfocus รายงานเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2567 ว่า จากกรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้รับฟ้องคำร้องของแพทยสภา ประเด็นการจ่ายยาตาม 16 กลุ่มอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ซึ่งเป็นโครงการร้านยาคุณภาพของฉัน ระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสภาเภสัชกรรม เป็นอีกหนึ่งบริการรองรับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว

พญ.ชัญวลี ศรีสุโข กรรมการแพทยสภา ให้สัมภาษณ์กับ Hfocus ถึงกรณีดังกล่าวว่า จริงๆไม่ได้ฟ้องสภาเภสัชกรรม แต่ฟ้องคำสั่งของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ซึ่งโยงกับสภาเภสัชกรรม เพราะเป็นผู้รับดำเนินการ ตามโครงการจ่ายยา 16 อาการของโรค ที่ร้านยาชุมชนอบอุ่น ไม่เสียค่าใช้จ่าย กลายเป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรม แม้ที่ผ่านมาการจ่ายยาของร้านยาจะทำตามปกติ ไม่ใช่การประกอบวิชาชีพเวชกรรม เพราะคนไข้เป็นคนสั่งซื้อยา เป็นการรักษาตนเอง จ่ายเงินเอง แต่การตรวจวินิจฉัยโรค และให้การรักษา เป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม 2525 หมวด 5 มาตรา 26 ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือแสดงด้วยวิธีใดๆว่าพร้อมที่จะประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม

ไม่ได้ค้านเภสัชฯจ่ายยาเจ็บป่วยเล็กน้อย

พญ.ชัญวลี กล่าวอีกว่า แพทยสภา ไม่ได้มีปัญหาเรื่องเภสัชกรจ่ายยากรณีเจ็บป่วยเล็กน้อย ตรงนี้เราเห็นด้วย เพราะจะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล ไม่ต้องไปหาหมอเมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อย แต่ปัญหาคือ 16 กลุ่มอาการที่มีลิสต์ยาที่สามารถจ่ายได้นั้น พบว่ามียาที่ต้องจ่ายต่อเมื่อมีการวินิจฉัยแล้ว ซึ่งมีรายการยาออกมา เมื่อทางแพทย์เห็นก็กังวล ยกตัวอย่าง เรื่องสูตินรีเวช อย่างมีอาการตกขาว จะจ่ายยากิน ต้องวินิจฉัยก่อน แม้จะเป็นอาการเล็กน้อย แต่เมื่อตรวจภายในพบว่า มีอาการเบาหวานร่วม หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ร่วมก็มี

ห่วงปมจ่ายยาต้องผ่านการวินิจฉัยโรค

ดังนั้น การจ่ายยา 16 กลุ่มโรค ถือว่ามีการวินิจฉัยแล้ว ตรงนี้คือข้อห่วงใยของแพทยสภา อย่างไรก็ตาม เคยหารือร่วมกันแล้วแต่ไม่ได้ข้อสรุป สุดท้ายจึงต้องดำเนินการฟ้องร้อง แต่ก่อนหน้านี้ ศาลชั้นต้นบอกว่าขาดอายุความเพราะต้องฟ้องภายใน 90 วัน ที่ประชุมกรรมการแพทยสภามีมติ เสนอให้อุทธรณ์และปรึกษานักกฎหมายทางการแพทย์ผู้มีความรู้ความชำนาญด้านศาลปกครองนักกฎหมายเสนอว่าต้องให้เหตุผล การฟ้องเกี่ยวกับการควบคุมการประกอบวิชาชีพและคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนเป็นประโยชน์ของสาธารณะ จะฟ้องเมื่อไหร่ก็ได้ไม่มีอายุความ เมื่อยื่นอุทธรณ์ด้วยเหตุผล เพื่อประโยชน์สาธารณะ ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งกลับคำตัดสิน ของศาลปกครองชั้นต้น ให้รับคำฟ้องไว้พิจารณา พิพากษาตามรูปคดี

“ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะศาลปกครองสูงสุดรับคำฟ้อง ยังต้องมีการดำเนินการต่ออีก ดังนั้น ปัจจุบันยังจ่ายยา 16 อาการได้ ซึ่งปัจจุบันทางสปสช.ได้ขยายเป็น 32 กลุ่มอาการ และไม่ให้ลงคำวินิจฉัยเพื่อหลีกเลี่ยงเข้าองค์ประกอบของการประกอบวิชาชีพเวชกรรม แต่ก็ยังเสี่ยงต่อประชาชนอยู่เพราะการไม่วินิจฉัย และใช้ยาอาจจะไม่สอดคล้องกันยาที่ใช้บางชนิดเป็นยาที่อันตราย ไม่ตรงโรค ทำให้เกิดการดื้อยา ฯลฯ” พญ.ชัญวลี กล่าว

เสนอปรับรูปแบบจ่ายยา OTC

พญ.ชัญวลี กล่าวอีกว่า ตนเสนอว่า หากเภสัชกรร้านยาจ่ายยา ควรปรับรูปแบบการจ่ายยาเป็น over-the-counter drug: OTC ซึ่งไม่ใช่แค่ยาสามัญประจำบ้าน แต่สามารถมาหารือร่วมกันได้ว่า ควรจ่ายยาแบบใด แต่ปรากฎว่า รายการยาที่ออกมาให้จ่ายกลับเป็นยาที่ต้องได้รับการวินิจฉัยก่อน ซึ่งที่น่ากังวลคือ ยาตา ยาไมเกรน เรื่องนี้แพทยสภาได้หารือกับราชวิทยาลัยต่างๆ ก็มีความเห็นถึงปัญหายาอะไรบ้างที่ต้องผ่านการวินิจฉัย ดังนั้น การจ่ายยา OTC จะเป็นอีกทางเลือกที่ดี เพราะสามารถจ่ายให้ผู้บริโภคได้โดยตรงไม่จำเป็นมีใบสั่งยาจากการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งตรงข้ามกับ prescription drug ซึ่งหมายถึงยาที่จะสามารถจ่ายให้ผู้บริโภคก็ต่อเมื่อมีใบสั่งยาจากแพทย์เท่านั้น

16 อาการ ขยายเป็น 32 อาการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ 16 กลุ่มอาการ คือ 1. ปวดหัว (HEADACHE) 2. เวียนหัว (Dizziness) 3. ปวดข้อ (PAIN IN JOINT) 4. เจ็บกล้ามเนื้อ(MUSCLE PAIN) 5. ไข้ (FEVER) 6. ไอ (COUGH) 7. เจ็บคอ (SORE THROAT) 8. ปวดท้อง (STOMACHACHE) 9. ท้องผูก (CONSTIPATION) 10. ท้องเสีย (DIARRHEA) 11. ถ่ายปัสสาวะขัด,ปัสสาวะลำบา,ปัสสาวะเจ็บ (DYSURIA) 12. ตกขาวผิดปกติ(VAGINAL DISCHARGE) 13. อาการทางผิวหนัง ผื่น คัน (SKIN RASH/LESION) 14. บาดแผล (WOUND) 15. ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตา(EYE DISORDER) และ 16. ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับหู (EAR DISORDER) แต่ปัจจุบันได้มีการขยายเป็น 32 กลุ่มอาการ

สภาเภสัชกรรม' ออกแถลงการณ์ยืนยันว่ามาตรฐานการบริการโดยร้านยาที่เข้าร่วมโครงการทุกร้าน

วันที่ 12 พ.ย. 2567 เพจสภาเภสัชกรรม : The Pharmacy Council เผยแพร่แถลงการณ์ 'กรณีการฟ้องศาลปกครองเกี่ยวเนื่องกับโครงการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการโดยเภสัชกรร้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ' ความว่า

สืบเนื่องจากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดรับคำฟ้องของแพทยสภาเกี่ยวกับโครงการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการโดยเภสัชกรในร้านยาที่อยู่ในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทางสภาเภสัชกรรมขอขอบคุณแพทยสภาในความห่วงใยต่อความปลอดภัยของผู้ป่วย โดยสภาเภสัชกรรมขอเน้นย้ำว่า ความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสิ่งที่เภสัชกรทุกคนให้ความสำคัญสูงสุดเสมอ หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วยที่ต้องได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์ เภสัชกรทุกท่านยินดีที่จะส่งต่อผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยสูงสุดของผู้ป่วย

สภาเภสัชกรรมขอยืนยันว่า มาตรฐานการบริการโดยร้านยาที่เข้าร่วมโครงการทุกร้าน ได้ผ่านการประเมินร้านยาคุณภาพ เภสัชกรทุกท่านมีความรู้และความสามารถในการจ่ายยากลุ่มยาอันตราย และยาที่จ่ายเป็นยาที่ไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ ตามพระราชบัญญัติยา การจ่ายยาตามอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพเภสัชกรรมในการให้บริการด้านยา โดยเภสัชกรต้องมีการซักประวัติของผู้มารับบริการเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยจริง รวมถึงสอบถามถึงโรคประจำตัว ยาที่ใช้ ประวัติการแพ้ยาเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาด้านยา หรืออันตรกิริยาของยาที่จะใช้ร่วมกันเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชน

นอกจากนี้ ปัจจุบันมีผู้ป่วยรับบริการที่ร้านยาแล้วจำนวน 1.74 ล้านคน รวมเป็นการรับบริการทั้งสิ้น 4.8 ล้านครั้ง ซึ่งการรับบริการนี้ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาที่จำเป็นได้ทันท่วงที และช่วยประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปสถานพยาบาล ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น ลดปัญหาการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมในชุมชน ในโครงการนี้เภสัชกรชุมชนได้ให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพถึง 1.05 ล้านครั้ง ซึ่งถือเป็นการดูแลสุขภาพเบื้องต้นที่แท้จริงของประเทศ ผลลัพธ์จากการดูแลพบว่าผู้ป่วยมีอาการทุเลาและหายจากอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยถึงร้อยละ 90 สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่ดีขึ้น เภสัชกรจะให้คำแนะนำและส่งต่อผู้ป่วยเพื่อปรึกษาแพทย์ในอัตราร้อยละ 1.57 นอกจากนี้ ทางสภาเภสัชกรรมยังได้ทำการวิจัยภาคประชาชน และพบว่าผู้ป่วยมีความพึงพอใจในระดับมากที่สุดต่อการรับบริการที่ร้านยา

ท้ายนี้ สภาเภสัชกรรมขอขอบคุณประชาชน และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ให้การสนับสนุนโครงการนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน จึงขออนุญาตนำเรียนข้อมูลให้สาธารณะได้รับทราบด้วยความขอบคุณอย่างยิ่ง

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: