สนับสนุนพรรคประชาชนฟ้อง มิใช่เพื่อพรรค แต่ปกป้องศักดิ์ศรีคนชายแดนใต้ถูกกล่าวหาอย่างเหมารวมแม้แต่สื่อ

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) 12 พ.ย. 2567 | อ่านแล้ว 2285 ครั้ง


ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

จากข่าวดังเป็นกระเเสทั้งคนเห็นด้วยหรือเห็นต่างการที่พรรคประชาชน ใช้สิทธิดำเนินคดี ผู้กล่าวหาเป็น BRN นั้นมิเพียงเป็นข้อถกเถียงที่ส่วนกลาง แต่ ก็เป็นประเด็นที่พูดถึงเช่นกันที่ชายแดนใต้เพราะกระทบกับคนชายแดนใต้ไม่แพ้กัน โดยเฉพาะญาติที่ออกมาฟ้องคดีตากใบและผู้คนที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องกระบวนยุติธรรมในประเด็นนี้ ซึ่งการด้อยค่า ด้วยวาทกรรมนี้ ท้ายสุด ทำให้สังคมแม้มิใช่ทั้งหมด ละเลย ประเด็นสำคัญใน กระบวนการยุติธรรมในสังคมไทยในที่สุด

รศ.ดร.ไฟซอล หะยีอาหวัง กล่าวว่า “"ความยุติธรรม" คือกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ความยุติธรรมจะไม่สถิตอยู่ที่ศาล(ไม่)ยุติธรรม หากมนุษย์ไม่เข้ากระบวนการยุติธรรม”

ความเป็นจริงการถูกด้อยค่าด้วยประเด็น BRN มิใช่ครั้งแรก

- วันนอร์และพรรคประชาชาติ ก็เคยโดน จากอัยย์ เพชรทอง: เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2566 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ในฐานะโจทก์ ได้มอบหมายให้นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ทนายความ ฟ้องนายอัยย์ เพชรทอง เป็นจำเลยในข้อหาหมิ่นประมาท คดีหมายเลขดำที่ อ370/2566 ซึ่งเป็นคดีที่ 2 ที่ถูกฟ้อง โดยจำเลยได้โพสต์ใส่ร้ายในเฟซบุ๊ก ว่าโจทก์เป็นหัวหน้าโจร และกล่าวหาพรรคประชาชาติว่าเป็นพรรคโจร ซึ่งเป็นการปลุกปั่นสังคมด้วยข้อมูลเท็จ โดยได้โพสต์เผยแพร่ซ้ำๆ แม้จะถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุกรวม 8 ปีในคดีหมิ่นประมาท (อ่านข่าวนี้)

- ผู้รู้ศาสนา ผู้บริหารโรงเรียน ก็โดน: ในเว็บไซต์ pulony (คาดว่าเป็นของรัฐ)ถ้าเป็นของรัฐจริงก็เสมือนเอาภาษีประชาชนโจมตี สร้างปีศาจให้คนเข้าใจผิดผู้รู้ศาสนา(คนชายแดนใต้เรียกว่าโต๊ะครู) คนทำการศึกษา (โปรดดู) (อ่านข่าวนี้)

- ชาวบ้านที่เรียกร้องสิทธิชุมชนก็โดน: น้องไครียะห์ และชาวบ้านจะนะ หรือแต่หมอสุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ที่ออกมาเคลื่อนไหวต้านจะเมืองอุตสาหกรรมก็โดนจนกสม. แนะ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า หยุดการเผยแพร่สื่อที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวบ้านจะนะในนามกลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น กล่าวคือ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ระบุว่า เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2565 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า) จัดกิจกรรม “พบปะกลุ่มผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” ณ สโมสรนายทหารสัญญาบัตร กองพลทหารราบที่ 15 ค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี โดยมีผู้แทนส่วนราชการและผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าร่วมประมาณ 500 คน กิจกรรมดังกล่าวมีการฉายวีดิทัศน์เกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีเนื้อหาเรื่องการเคลื่อนไหวของขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (BRN) โดยมีการนำภาพของบุคคลที่เป็นสมาชิกเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นมาประกอบ และใช้คำบรรยายภาพว่า “BRN ใช้กลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมต่อต้านโครงการพัฒนาพื้นที่ของรัฐ ควบคู่กับการลิดรอนอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายของรัฐ” ซึ่งการจัดทำและเผยแพร่วีดิทัศน์ที่มีเนื้อหาดังกล่าว เป็นการนำภาพเครือข่ายฯ ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตและเป็นการใช้ปฏิบัติการข่าวสร้างทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง อันอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเครือข่ายฯ เกี่ยวข้องกับกลุ่ม BRN และเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เครือข่ายฯ ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง และเป็นการด้อยค่านักปกป้องสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. พิจารณาแล้ว เห็นว่า สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว ได้รับการรับรองและคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 32 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) โดยบุคคลจะถูกแทรกแซงความเป็นส่วนตัว ครอบครัว เคหสถาน หรือการติดต่อสื่อสารโดยพลการหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายมิได้ ภาพบุคคลย่อมเป็นข้อมูลส่วนบุคคลอันเกี่ยวด้วยสิทธิในความเป็นส่วนตัว การถ่ายหรือนำภาพบุคคลไปใช้จะกระทำได้จะต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลนั้นโดยชัดแจ้งเสียก่อน และรัฐจะต้องไม่ละเมิด จำกัด หรือแทรกแซงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ รวมทั้งงดเว้นการกระทำที่รบกวน สร้างอุปสรรค ชี้นำ หรือบิดเบือนการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระของประชาชน ตลอดจนงดเว้นการตรวจตรา เฝ้าระวัง หรือตรวจสอบการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ไม่คำนึงถึงหลักกฎหมาย หลักความจำเป็น และหลักความได้สัดส่วน (อ่านข่าวนี้)

- ประชาสังคม นักเรียกร้องสิทธิ ก็โดน: ประชาสังคม นักเรียกร้องสิทธิ ที่ทำงานเพื่อเรียกร้องกระบวนการยุติธรรมในพื้นที่ชายแดนใต้ หลายท่านโดน จน ต้องลุกขึ้นมาฟ้องร้องรัฐ เช่น 'นางอังคณา นีลไพจิตร นางสาวอัญชนา หีมมีนะ 2 ได้ยื่นอุทธรณ์คดี IO ฟ้องสำนักนายกฯ – กองทัพบก ซึ่งถือเป็นคดีแรกในไทยที่ศาลยุติธรรมรับรองการต่อสู้ของทั้งคู่ในบทบาทของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตามกติกาสากล โดยทนายเชื่อพยานหลักฐานมีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอให้รับฟังได้ว่าเจ้าหน้าที่ของ กอ.รมน. ภาค 4 และกองทัพบก กระทำละเมิดสิทธิมนุษยชนจริง

- สื่อก็โดน: สื่อมวลชนก็โดนกล่าวหาแม้แต่สื่อมาจากส่วนกลาง เช่น แยม ฐปณีย์ เอียดศรีไชย (ชมคลิปย้อนหลังฉบับเต็ม)

ผลของการวาทกรรมด้อยค่า

การกล่าวหาดังกล่าวเพื่อต้องการลดคุณค่าของผู้ที่เรียกร้องในการแก้ปัญหากระบวนการยุติธรรม สิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชนและอื่นๆในปัญหาชายแดนใต้ จะยิ่งทำให้สร้างความชอบธรรมให้กับรัฐที่จะใช้วิธีการอย่างไรก็ได้เข้าไปจัดการโดยอ้างมิติความมั่นคง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีกฎหมายพิเศษหลายฉบค คนของรัฐมีปืน มีอำนาจ ไม่เพียงเท่านั้นยังสร้างความเกลียดชังในหมู่ประชาชนซึ่งคนภาคอื่นอาจจะไม่เข้าใจความรู้สึกนี้ นอกจากนี้ยังสร้างภาวะโรควาดกลัวอิสลามทั้งชายแดนใต้และที่อื่น ๆ ของประเทศอย่างเหมารวม

อย่างไรก็แล้วแต่ในสื่อโลกปัจจุบัน บทเรียนคดีตากใบ 20 ปี ส่วนใหญ่คนไทยเข้าใจ เห็นถึงปัญหากระบวนการยุติธรรมไทยมากกว่า ดังที่เราเห็นข่าวในสื่อ และหลากหลายแถลงการณ์ ที่ต้องการใช้บทเรียนคดีตากใบเพื่อแก้ปัญหา

“ผู้เขียนขอแสดงความเสียใจอย่างจริงใจต่อครอบครัวของผู้สูญเสียและชื่นชมความกล้าหาญของประชาชนที่ฟ้องคดีแม้รู้ว่าต้องเผชิญอุปสรรคมากมาย การกระทำนี้เป็นบทเรียนสำคัญให้ทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ปัญหาชายแดนใต้และปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทยอย่างยั่งยืน เพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรมต่อพลเมืองทุกคน ในขณะเดียวกันแต่ภาคส่วนคงมีข้อเสนอแนะมากมาย

ตัวอย่างเช่น ของคณะนักวิชาการและนักกิจกรรมทางสังคมผู้ทำงานและศึกษาเกี่ยวกับปัญหาชายแดนใต้ (อ่านรายละเอียด) ข้อเสนอของสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (อ่านเพิ่มเติม) ข้อเสนอของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) (อ่านเพิ่มเติม) กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ (อ่านเพิ่มเติม) สมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้ (อ่านเพิ่มเติม) และข้อเสนอของญาติผู้ได้รับผลกระทบและทนายฯ (อ่านเพิ่มเติม)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: