สตาร์ลิงค์ในเมียนมา: ปัญหาข้ามแดน เมื่อโจรและผู้บริสุทธิ์ต่างใช้อินเทอร์เน็ตดาวเทียม

กองบรรณาธิการ TCIJ 24 ธ.ค. 2567 | อ่านแล้ว 1670 ครั้ง

สตาร์ลิงค์ในเมียนมา: ปัญหาข้ามแดน เมื่อโจรและผู้บริสุทธิ์ต่างใช้อินเทอร์เน็ตดาวเทียม

รายงานพิเศษจาก VOA ชี้ ขณะที่องค์กรมนุษยธรรมในเมียนมาต้องพึ่งสตาร์ลิงค์เพื่อช่วยผู้ประสบภัยสงคราม แก๊งคอลเซ็นเตอร์ก็ใช้อุปกรณ์เดียวกันก่ออาชญากรรม ส่งผลให้การปราบปรามของไทยกระทบผู้บริสุทธิ์ ท่ามกลางความท้าทายในการแยกแยะผู้ใช้และการขาดกลไกกำกับดูแลที่ชัดเจน

VOA รายงานเมื่อช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2024 ว่า การตรวจยึดอุปกรณ์อินเทอร์เน็ตดาวเทียมสตาร์ลิงค์ของไทยเพื่อควบคุมอาชญากรรมไซเบอร์ในประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อพลเรือนในเมียนมา ที่ต้องการอุปกรณ์เดียวกันเพื่อสื่อสารและรับความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมท่ามกลางภาวะสงครามกลางเมือง

เสียงปืนและระเบิดในการสู้รบระหว่างทหารเมียนมากับกองทัพกะเหรี่ยง หรือ KNLA ที่อยู่ไม่ไกลออกไป ไม่เป็นอุปสรรคสำหรับการติดตั้งอุปกรณ์เชื่อมสัญญานอินเทอร์เน็ตสตาร์ลิงก์ขนาดจิ๋ว ที่เพียงต้องการพื้นที่โล่งและเวลาเพียงเล็กน้อยก็สามารถเชื่อมสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้ทันที

ท่ามกลางการเข่นฆ่า อุปกรณ์นี้กำลังทำในสิ่งที่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง เมื่อกลุ่ม Free Burma Rangers ที่ทำงานช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเมียนมา พยายามใช้อุปกรณ์สตาร์ลิงค์ทำภารกิจในพื้นที่ปาปูน (Papun) เขตสู้รบไม่ไกลจากชายแดนไทย เมื่อเดือน เม.ย. 2024

ในวันนั้น ทีมงานใช้อินเทอร์เน็ตสื่อสารกับแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาด้านการรักษาพยาบาล และช่วยชีวิตผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ

เดวิด ยูแบงค์ ผู้ก่อตั้ง FBR กล่าวกับวีโอเอไทยว่า เขาเป็นหนึ่งในกลุ่มแรก ๆ ที่นำสตาร์ลิงค์เข้าไปใช้ในภารกิจมนุษยธรรมในเมียนมา ทั้งการติดต่อสื่อสารในหน้างาน ไปจนถึงการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารออกไปยังโลกภายนอก

ด้วยราคาที่ถูกและประสิทธิภาพที่ดี ทำให้อินเทอร์เน็ตดาวเทียมนี้ได้รับความนิยม

“สตาร์ลิงค์มีประโยชน์มหาศาล ผมคิดว่าอย่างแรกเลย มันช่วยให้ชุมชนสามารถเชื่อมต่อซึ่งกันและกันได้เพื่อแบ่งปันข้อมูล เพื่อกระจายคำเตือนล่วงหน้า เช่น ทหารพม่ากำลังมา…คนก็ตั้งสตาร์ลิงค์และกระจายข่าวให้ทุกคน ประชาชนที่ได้รับคำเตือนก็สามารถหนีได้ทัน” ยูแบงค์กล่าว

สตาร์ลิงค์ (Starlink) เป็นหน่วยธุรกิจหนึ่งของบริษัท SpaceX ที่มหาเศรษฐีอิลอน มัสก์ เป็นเจ้าของ ที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายผ่านสัญญาณจากดาวเทียมมากกว่า 6,000 ดวง ปัจจุบันให้บริการอย่างเป็นทางการในพื้นที่มากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก หนึ่งในนั้นคือยูเครน ที่ใช้อินเทอร์เน็ตดาวเทียมเป็นเครื่องมือสื่อสาร และสั่งการโจมตีด้วยโดรนเพื่อต่อต้านการรุกรานของรัสเซีย

กระนั้น ในทางปฏิบัติ สตาร์ลิงค์สามารถใช้งานได้ในหลายพื้นที่ทั่วโลก ด้วยการเปิดใช้บริการในประเทศที่ได้รับอนุญาต จากนั้นก็ลำเลียงอุปกรณ์ไปยังพื้นที่ที่ต้องการใช้งาน ดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้นแล้วในเมียนมา

เชื่อมต่อไร้สาย ทดแทนปัญหาขาดแคลนอินเทอร์เน็ต
ประชาชนในเมียนมาหันมาใช้งานสตาร์ลิงค์อย่างแพร่หลาย หลังสงครามกลางเมืองและการสอดส่องจากรัฐบาลทหารทำให้เข้าถึงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตในประเทศได้ยากขึ้น

ข้อมูลจากองค์กรไม่แสวงผลกำไร อะธาน เมียนมา (Athan) ระบุว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 มีพื้นที่เมือง 40 แห่งถูกตัดการให้บริการโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ต ขณะที่ข้อมูลจากองค์กร Myanmar Internet Program รายงานว่า นับตั้งแต่การรัฐประหาร 2021 มีการตัดอินเทอร์เน็ตไปแล้วมากกว่า 300 ครั้งทั่วประเทศ

ธู อ่อง ลิน นักศึกษาแพทย์ปีสุดท้ายจากนครย่างกุ้ง ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการปฏิบัติการของกลุ่มแพทย์อาสา Spring Health ในรัฐคะเรนนี เล่าว่าสตาร์ลิงค์เป็นเครื่องมือสื่อสารเดียวในรัฐตอนนี้ และการติดต่อเพื่อส่งคนไข้ไปยังจุดที่แพทย์มีความเชี่ยวชาญ หรือสอบถามคำแนะนำจากผู้รู้ มีบทบาทสำคัญในการช่วยชีวิตคน

โค โค ซอ บรรณาธิการใหญ่ของสำนักข่าวธาน ลวิน ไทม์ ในเมียนมา บอกกับวีโอเอไทยว่า สตาร์ลิงค์ถูกใช้ในพื้นที่ชายขอบของประเทศ และมีสื่อมวลชนพลัดถิ่นราว 20 สำนัก ใช้สตาร์ลิงค์เพื่อรายงานข่าว

บ.ก. ใหญ่ของธาน ลวิน ไทม์เพิ่มเติมว่า สตาร์ลิงค์เข้าไปในประเทศผ่านเครือข่ายชาวเมียนมาในต่างแดน ที่ส่งมาไทยก่อนจะกระจายต่อไปตามชายแดน

การลักลอบส่งของในลักษณะนี้ ไม่ใช่ความลับในสายตาของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะในช่วงปีที่ผ่านมาได้มีการจับกุมและตรวจยึดอุปกรณ์สตาร์ลิงค์ในไทยได้เกือบ 200 ชุด โดยการสอบสวนพบว่าจำนวนมากอาจมีผู้รับเป็นกลุ่มอาชญากรไซเบอร์ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในเมียนมา กัมพูชา และลาว และมีชาวจีนเกี่ยวข้อง

ที่ผ่านมา ไทยพยายามปราบปรามและกวดขันการเดินสายอินเทอร์เน็ตไปให้แก๊งเหล่านี้จากฝั่งไทย ทำให้สตาร์ลิงค์เป็นที่ต้องการของอาชญากรมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะสามารถใช้งานได้แบบไร้สาย และติดตามร่องรอยข้อมูลได้ยากกว่าผู้ให้บริการในพื้นที่

ช่วงครึ่งแรกของปี 2024 เจ้าหน้าที่ไทยจับกุมและยึดอุปกรณ์สตาร์ลิงค์ได้ราว 58 เครื่อง ตามการรายงานของสำนักงานตำรวจสอบสวนกลางที่ทำภารกิจปราบปรามมิจฉาชีพออนไลน์ และในอีกสามเดือนต่อมาก็ยึดเพิ่มได้อีก 86 เครื่อง สะท้อนถึงแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นในทางจำนวน

สภาบริหารรักษาการแห่งรัฐคะเรนนี (IEC) รัฐบาลชั่วคราวของรัฐคะเรนนี ที่มีพรมแดนติดกับ จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวกับวีโอเอไทยว่า ในจำนวนที่มีการจับกุมในครึ่งปีแรก มีสามเครื่องที่เป็นขององค์กรมนุษยธรรมในพื้นที่

ซู พะโดนมาร์ เลขานุการเอก IEC ระบุว่าสตาร์ลิงค์เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับงานมนุษยธรรมและการสื่อสารทั่วไปภายในรัฐ

“ปัจจุบันเรามีทรัพยากรบุคคลที่จำกัดมาก ยกตัวอย่างเช่นเรื่องการศึกษา…นั่นทำให้เราต้องหาคนจากประเทศอื่น หรือหาครูใหม่ ๆ ในไทยหรือในประเทศอื่น แบบนั้นแหละที่เราใช้สตาร์ลิงค์เพื่อสื่อสารกันและเรียนกันแบบออนไลน์” เลขานุการเอก IEC กล่าว

สตาร์ลิงค์ที่รัฐคะเรนนีใช้งานกันอยู่ ได้มาจากการบริจาค โดย IEC เป็นผู้ชำระค่าบริการรายเดือน ที่รวมแล้วตกอยู่ที่ประมาณ 7,000-10,000 บาท อ้างอิงจากคู พลู เร เลขาธิการใหญ่ IEC ที่เล่าด้วยว่าสตาร์ลิงค์ใช้งานได้ดีในภาพรวม แต่ยังมีปัญหาอยู่บ้างเป็นบางกรณี

VOA ติดต่อสำนักงานตำรวจสอบสวนกลาง ผู้ร่วมปฏิบัติการตรวจยึดจับกุมสตาร์ลิงค์เพื่อสอบถามถึงการจับกุม และผลกระทบที่มีต่อการใช้งานของประชาชนในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ

ไร้ตัวแทนธุรกิจ ขาดเครื่องมือแก้ปัญหา

ปัจจุบัน การใช้สตาร์ลิงค์ในไทยยังอยู่ในขั้นทดลองภายใต้โครงการในรั้วอุดมศึกษา ส่วนในเมียนมา กฎหมายโทรคมนาคมยังไม่อนุญาตให้ใช้อินเทอร์เน็ตในลักษณะนี้

VOA ติดต่อไปยังกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านโทรคมนาคมเพื่อขอความเห็น แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ

แหล่งข่าว กสทช. รายหนึ่ง ให้ข้อมูลโดยไม่ประสงค์ออกนาม เนื่องจากไม่ได้รับมอบหมายมาให้ข้อมูลกับสื่ออย่างเป็นทางการ โดยระบุว่า SpaceX ต้องจดทะเบียนธุรกิจในไทยก่อน หากต้องการให้บริการสตาร์ลิงค์ในไทย ซึ่งจนถึงเดือนพฤศจิกายนปี 2024 ยังไม่มีการจดทะเบียนดังกล่าว

รังสิมันต์ โรม ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ กล่าวกับ VOA ไทยว่า กมธ. ทราบข้อมูลในประเด็นนี้ และมีแนวคิดจะเชิญ SpaceX มาพูดคุยเพื่อหาแนวทางแยกแยะการใช้งานของมิจฉาชีพออกจากการใช้งานโดยสุจริต แต่การที่ SpaceX ยังไม่มีสำนักงานในไทย ยังคงเป็นโจทย์ที่ กมธ. ต้องหาทางเดินเรื่องต่อไป

“เราเองก็อยากให้รัฐบาลเอาจริงเอาจังกับการปรามปรามเรื่องนี้ เพราะว่ามันสร้างความเสียหายมากจริง ๆ เพียงแต่ว่าเมื่อมีการปราบปรามกันไปแล้ว มันก็กลายเป็นว่าถ้าเราไม่มีระบบในการที่จะแยกแยะหรือทำให้คนที่เป็นอาชญากรข้ามชาติไม่สามารถเข้าถึงพวกนี้ได้ ถ้าเราไม่มีระบบเหล่านี้มันก็กลายเป็นว่าคนที่ใช้โดยสุจริตกับวัตถุประสงค์ที่ไม่สุจริตเนี่ยมันปนกันไป แล้วมันก็กลายเป็นว่าได้รับผลกระทบกันทุกฝ่าย” รังสิมันต์กล่าว

บริษัท SpaceX ไม่ได้ตอบคำขอความเห็นของ VOA ในช่วงเวลาที่เผยแพร่ข่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: