ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ค้นพบวัสดุใหม่ ‘ไบโอชาร์ใบสับปะรด‘ ผสมสารกึ่งตัวนำ กระตุ้นด้วยแสงแดดช่วยลดมลพิษ
12 เม.ย. 2567 ด้วย “ปัญญา” และไม่ทิ้ง “โอกาส” ไขว่คว้า จะนำพาสู่ “หนทางรอด” แม้ในวิกฤติ “โลกเดือด” จากสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change) จะสามารถแปรเปลี่ยนสู่โอกาสในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่เพื่อใช้เยียวยามลพิษโลก
ศาสตราจารย์ ดร.ศิวพร มีจู สมิธ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงคุณค่าของ “ไบโอชาร์” (Biochar) ที่ได้จากการเผาของเศษใบสับปะรดที่อุณหภูมิ 600 องศาเซลเซียส จนเกิดรูพรุนและมีพื้นที่ผิวสูง ใช้ประโยชน์เป็นสารบำรุงดิน ไปจนถึงเป็นวัสดุบำบัดน้ำเสียในอุตสาหกรรม หรือน้ำเสียจากภาคการเกษตร
จากงานวิจัยล่าสุด ผู้วิจัยได้นำใบสับปะรด ซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่มีเป็นจำนวนมากจากบรรดาแหล่งปลูกสับปะรดเพื่อเป็นสินค้าส่งออกในประเทศไทย มาผลิตเป็น “ไบโอชาร์” ทดลองใช้บำบัดน้ำที่ปนเปื้อนสารกำจัดศัตรูพืชในห้องปฏิบัติการ พบว่าสามารถใช้กรอง และดูดซับสารปนเปื้อนดังกล่าวได้อย่างเห็นผล พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่การใช้ประโยชน์ด้วยต้นทุนต่ำต่อไปในวงกว้าง และการผสมเป็น “ไบโอชาร์” กับสารกึ่งตัวนำ ทำให้เกิดเป็น “วัสดุใหม่” ที่สามารถใช้บำบัดน้ำเสียจากการกระตุ้นด้วยแสงแดด
นอกจากใบสับปะรด ซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรแล้ว ยังสามารถใช้ได้กับเศษวัตถุชีวมวลอื่นๆ ที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติที่ตอบโจทย์ SDG9 เพื่อการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรม และอุตสาหกรรม (Industry Innovation and Infrastructure) และ SDG12 เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างรู้ค่า (Responsible Consumption and Reduction) ได้ต่อไปอีกด้วย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ