กสทช. เตือนตู้เติมเงิน K4 เสี่ยงเป็นธุรกิจเครือข่าย-แชร์ลูกโซ่

กองบรรณาธิการ TCIJ 20 ธ.ค. 2567 | อ่านแล้ว 296 ครั้ง

กสทช. เตือนตู้เติมเงิน K4 เสี่ยงเป็นธุรกิจเครือข่าย-แชร์ลูกโซ่

กสทช.เตือน "ตู้เติมเงินเคธี่ปันสุข" (ตู้เติมเงิน K4) อ้างผลตอบแทนสูง เสี่ยงเป็นธุรกิจเครือข่าย-แชร์ลูกโซ่ ย้ำธุรกิจตู้เติมเงินไม่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ที่ได้รับอนุญาตคือเฉพาะซิมเท่านั้น

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2567 ว่า จากกรณีมีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับการลงทุน "ตู้เติมเงินเคธี่ปันสุข" ของบริษัท เคโฟร์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (บริษัท เคโฟร์ฯ) ที่อ้างให้ผลตอบแทนสูง และได้รับใบอนุญาต จาก กสทช.นั้น นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ แจงว่า ธุรกิจของ K4 ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. มีเพียงอย่างเดียว คือ ธุรกิจชิมการ์ด K4 โดยบริษัท เคโฟร์ฯ เป็นผู้รับใบอนุญาตกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 1 ซึ่งได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2562 เพื่อให้บริการขายต่อบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน หรือบริการ MVNO แต่ธุรกิจอื่นของ บริษัท เคโฟร์ฯ เช่น ธุรกิจตู้เติมเงินชื่อ “เครี่ปั่นสุข” และบริการเติมเงินค่าโทรศัพท์ค่าย K4 ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน กสทช. และไม่มีเรื่องการให้ใบอนุญาต เพราะตู้เติมเงินไม่เข้าข่ายเป็นกิจการโทรคมนาคมตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และไม่เข้าข่ายเป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจาก กสทช. ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544

นายไตรรัตน์ กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ได้ตรวจสอบข้อมูลการประกอบกิจการโทรคมนาคมของบริษัทเคโฟร์ฯ ที่ได้รับการจัดสรรเลขหมายจากผู้ให้บริการโครงข่ายพบว่า ปัจจุบันบริษัท เคโฟร์ฯ ได้รับจัดสรรประมาณ 331,000 เลขหมาย โดยช่วง 3 เดือนหลัง ได้แก่ เดือน ก.ย. 2567 มีเลขหมายที่ใช้งานจริงประมาณ 33,000 เลขหมาย มียอดการเติมเงินออนไลน์ประมาณ 1,286,000 บาท เดือน ต.ค. 2567 มีเลขหมายใช้งานจริงประมาณ 42,000 เลขหมายยอดการเติมเงินออนไลน์ประมาณ 1,020,000 บาท และเดือน พ.ย. 2567 ใช้งานจริงประมาณ 46,000 เลขหมาย ยอดการเติมเงินออนไลน์ 1,742,000 บาท ซึ่งหากนำยอดการใช้จ่ายจริงในเดือน พ.ย. มาคำนวณจะพบว่ามีการเติมเงินเฉลี่ยเพียงเลขหมายละ 38 บาท ประกอบกับในปี 2566 บริษัท เคโฟร์ฯ ได้ชำระค่าธรรมเนียมจากการประกอบกิจการโทรคมนาคมให้กับสำนักงานกสทช. เพียง 7,000 บาท ซึ่งคำนวณจากรายได้ประกอบกิจการโทรคมนาคมประมาณ 5 ล้านบาท

ขณะเดียวกันพบว่า บริษัท เคโฟร์ฯ ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทอย่างต่อเนื่องจาก 5 ล้านบาทในปี 2565 เป็น 500 ล้านบาท ในปี 2567 จึงมีข้อสังเกตว่า การเพิ่มทุนจดทะเบียนดังกล่าวมีพื้นฐานรายได้จากการประกอบกิจการโทรคมนาคมตามที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. หรือเป็นการประกอบธุรกิจประเภทอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับใบอนุญาตของ กสทช. หรือไม่ ซึ่งหากมีการประกอบธุรกิจประเภทอื่นจะต้อง พิจารณาต่อไปว่าการประกอบธุรกิจดังกล่าวนั้นมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายจูงใจให้ผู้ใช้บริการของตนโดยมอบผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ใช้บริการอันเป็นการแสวงหาผลประโยชน์อื่นใดนอกเหนือจากการให้บริการโทรคมนาคม อันเป็นข้อห้ามตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตคมนาคมข้อ 12.17 และประกาศ กสทช. เรื่อง เงื่อนไขมาตรฐานใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ข้อ 16 ด้วยหรือไม่

จากการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบศูนย์บริการของ K4 ของสำนักงาน กสทช. ภาค และสำนักงาน กสทช. เขต พบว่า ศูนย์บริการบางแห่งมีการปิดล็อกประตูเข้าออก บางแห่งพบว่ามีตู้เติมเงิน แต่มีสภาพที่ไม่พร้อมใช้งาน บางแห่งไม่พบ ตู้เติมเงินแต่อย่างใด และเมื่อโทรสอบถามได้รับแจ้งจากผู้ดูแลศูนย์บริการว่ายังคงเปิดให้บริการ และมีการขายซิมการ์ดอยู่

ในส่วนของการลงทุนตู้เติมเงินเคธี่ปันสุข พบมีการโปรโมท ชักชวนลงทุน โดยอ้างผลตอบแทนสูง โดยลงทุนซื้อหุ้นในราคาขั้นต่ำหุ้นละ 50,000 บาท จะได้ผลตอบแทนจากบริษัทวันละ 300 บาท เป็นเวลา 500 วัน รวมเป็นเงิน 150,000 บาท ซึ่งจากการสอบถามผู้ลงทุนบางรายบอกได้ผลตอบแทนไม่ถึง 300 บาท/วัน โดยบริษัทอ้างว่าหักเป็นค่าใช้จ่าย หรือ ค่าธรรมเนียมต่างๆ

สำนักงาน กสทช. ขอให้ประชาชนพิจารณาการลงทุนหากมีการชักชวนลงทุนที่เกี่ยวกับตู้เติมเงิน และได้รับผลตอบแทนสูง ในลักษณะธุรกิจเครือข่าย ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาในอนาคตได้ และหากพบว่าบริษัทมีการกล่าว อ้างถึงใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมของ กสทช. เพื่อแสวงหาประโยชน์จากการชักชวนประชาชนลงทุนตู้เติมเงินหากตรวจสอบแล้วพบว่า มีการกระทำดังกล่าวและเกิดความเสียหายร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะ จะถือเป็นการฝ่าฝืน ข้อบังคับตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยสำนักงานกสทช. จะติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด เพื่อพิจารณาการพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคมต่อไป

“ที่ผ่านมา มีประชาชนโทรมาสอบถามว่า K4 ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ขอบคุณริงหรือไม่ เพราะมีโฆษณาชักชวนลงทุนตู้เติมเงิน ย้ำธุรกิจนี้ไม่ได้ใบอนุญาตจากเรา อย่างไรก็ตาม เราก็ยื่นเรื่องต่อดีเอสไอ สคบ. ปปง. ธปท. เพื่อให้แต่ละหน่วยงานดำเนินในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป เพราะไม่ต้องการให้เกิดความเสียหายเกิดขึ้น และอยากให้ประชาชนได้ทราบข้อมูลที่ถูกต้องว่าใบอนุญาตที่ กสทช. ให้ไม่ได้เกี่ยวกับการชวนลงทุนตู้เติมเงิน หรือเอาธุรกิจสื่อสารไปทำธุรกิจลักษณะเครือข่ายได้” นายไตรรัตน์ กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: