ผู้หญิงธรรมดา-กฎหมาย-รัฐบาล บนเส้นทาง 20 ปี คดีอุ้มหาย 'สมชาย นีละไพจิตร'

กองบรรณาธิการ TCIJ 12 มี.ค. 2567 | อ่านแล้ว 5471 ครั้ง


บทสัมภาษณ์ 'อังคณา นีละไพจิตร' จากการหายตัวไปอย่างลึกลับของ 'สมชาย นีละไพจิตร' ที่ผลักให้ผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งต้องลุกขึ้นมาค้นหาความจริงและปกป้องครอบครัวของเธอเอง | ที่มาภาพ: Amnesty International Thailand

ในช่วงเวลาเดียวกับที่รัฐบาลไทยกำลังตีฆ้องร้องป่าวถึงก้าวสำคัญในเวทีโลก อย่างการสมัครเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในช่วงปลายปีนี้ ยังมีคดีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอีกมากมายที่กำลังจะมีอายุครบ 20 ปีในปีเดียวกัน ขณะที่หลายคดีก็จะหมดอายุความ ซึ่งหมายความว่า เหตุการณ์รุนแรงทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้นจะจบลงโดยที่ยังหาตัวผู้กระทำความผิดไม่ได้

อย่างไรก็ตาม คดีสำคัญที่กำลังจะมีอายุครบ 20 ปี ในวันที่ 12 มีนาคมนี้ คือคดีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่เกิดขึ้นและกลายเป็นประเด็นครึกโครมใน พ.ศ. 2547 แม้จนกระทั่งบัดนี้ เราจะเห็นครอบครัวของทนายสมชายออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมอยู่ตลอด แต่ก็ไม่มีทีท่าว่าสังคมจะได้รับทราบความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นกับทนายนักสิทธิมนุษยชนผู้นี้ ซึ่งล่าสุดใน พ.ศ. 2559 มีรายงานว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้ “งดสอบสวน” คดีนี้ และจะเริ่มการสอบสวนใหม่อีกครั้ง เมื่อมีหลักฐานเพิ่มเติม

คดีอุ้มหาย “สมชาย นีละไพจิตร”

จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ที่สั่นสะเทือนสังคม และส่งแรงกระเพื่อมไปยังกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2547 เมื่อทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ถูกชาย 4 คน บังคับให้เข้าไปในรถ ในย่านรามคำแหง ก่อนจะหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย และตามมาด้วยกระแสข่าวโจมตีว่าทนายสมชายเป็น “ทนายโจร” จากการว่าความในคดีที่ประชาชนถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับการก่อการร้ายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

การหายตัวไปอย่างลึกลับ โดยเชื่อว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ สั่นสะเทือนความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในครอบครัวของทนายสมชายอย่างรุนแรง และเหตุการณ์นี้ก็ผลักให้ผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งต้องลุกขึ้นมาค้นหาความจริงและปกป้องครอบครัวของเธอเอง เธอคนนั้นคือ “อังคณา นีละไพจิตร” ที่ปัจจุบันเป็นสมาชิกคณะทำงานด้านการบังคับสูญหาย (WGEID) ของสหประชาชาติ

“บางทีก็เคยคิดนะว่าเราไม่น่าเลย ถ้าเราไม่แต่งงานกับคนคนนี้ เราก็คงเป็นคนทั่วไป ทำไมชีวิตเรามันเป็นแบบนี้ เคยมีเพื่อนบอกว่าเราอาจจะถูกเลือกนะ เราอาจจะถูกเลือกให้ต้องทำอะไรบางอย่าง เราไม่ใช่คนเก่ง เราไม่ใช่คนที่อดทนมากกว่าคนอื่น ไม่ใช่เลย เราก็เป็นผู้หญิงธรรมดา มีอ่อนแอ คือส่วนตัวก็เชื่อว่า ถ้าเราพูดในสิ่งที่ถูกต้อง เราต้องมีสิทธิที่จะพูด

เส้นทางการต่อสู้เพื่อค้นหาความจริงเกี่ยวกับชะตากรรมของสามีของอังคณานั้นไม่ง่าย เพราะขณะที่เธอหวาดกลัว กังวลต่อความปลอดภัยและอนาคตของลูกๆ กระบวนการยุติธรรมในคดีนี้ก็เต็มไปด้วยความคลุมเครือ ไม่ได้สร้างความอุ่นใจให้ประชาชนตัวเล็กๆ แต่อย่างใด

“ส่วนตัวก็คิดมาตลอดนะคะว่า ถ้าจะหาจริงๆ ก็หาได้ จริงๆ ก็รู้อยู่แหละว่าใครเป็นคนทำ แต่ว่ามันคงอยู่ที่ความจริงใจมากกว่าว่าจะจริงใจในการหาตัวคนหายแค่ไหน เพราะว่าปี 53 มีการเยียวยากรณีเสื้อแดง แล้วก็ปี 55 มีการเยียวยากรณีตากใบ จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด แล้วก็มีการเยียวยาครอบครัวสมชาย นีละไพจิตร ด้วย โดยเหตุผลที่ระบุไว้ในมติ ครม. ทั้งหมดก็คือ “เชื่อว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ” แต่สิ่งที่ญาติหลายคนยังสงสัยก็คือ ถ้าเชื่อว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำไมไม่มีการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม”

“ช่วงประมาณปี 54 - 55 ช่วงนั้นมันมีการประท้วงเยอะ กรมสอบสวนคดีพิเศษก็บอกว่า ออฟฟิศเขาที่ศูนย์ราชการมีผู้ชุมนุมบุกเข้าไป แล้วก็ทำแฟ้มคดีสมชายหาย ก็เลยไปพบปลัดกระทรวงยุติธรรม ถามว่ามันหายจริงเหรอ ปรากฏว่าอีก 2 วัน กรมสอบสวนคดีพิเศษก็แถลงข่าวว่าเจอแล้ว ซึ่งตอนนั้นก็ถามกลับไปว่า เอาจริงแล้ว แฟ้มคดีสมชายมันมีจริงหรือเปล่า หรือว่ามันมีแต่แฟ้ม ข้างในมันมีอะไรหรือเปล่า เพราะว่าเคยไปขอดูตั้งหลายครั้ง เขาก็ไม่เคยให้ดู ไม่เคยให้เราดูเลยว่าสอบสวนอะไรไปบ้าง เราไม่เคยเห็นเลย”

นอกจากจะต้องเผชิญกับความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ในการสืบสวนคดี อังคณายังต้องเผชิญกับอคติมากมาย ด้วยเหตุที่เธอเป็น “ผู้หญิง” เช่นเดียวกับกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในสังคมไทยและทั่วโลก

“เวลาที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่วนมากเหยื่อมักจะเป็นผู้ชาย แต่คนที่ต้องออกมาทำงาน ออกมาเรียกร้อง ก็คือผู้หญิง เพราะฉะนั้น มันมีเรื่องของการเหยียดเพศเข้ามา ทำให้เรารู้สึกว่า เราถูกทำให้กลายเป็นคนไม่ดี ออกมาเดี๋ยวก็มีผัวใหม่ บางทีลูกๆ ก็โดน แบบนี้หาผัวไม่ได้หรอก มันเหมือนเป็นการทำลายศักดิ์ศรีน่ะค่ะ”

“ศักดิ์ศรีมันสำคัญนะ ใครไม่ถูกพรากไปจะไม่รู้ ศักดิ์ศรีของคนคนหนึ่งที่เป็นมนุษย์น่ะ ไม่ต้องพูดถึงยากดีมีจน ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือการศึกษา แต่คุณค่าของความเป็นมนุษย์คนหนึ่งน่ะ เวลาที่คุณจะออกมาพูดอะไรเพื่อปกป้องตัวเอง คุณกลับถูกทำให้กลายเป็นคนไร้ค่า ตรงนี้มันบั่นทอนมากเลย”

“เรารู้สึกว่า คนคนหนึ่งหายไป สิ่งที่มันกระทบ มันกระทบเยอะมากเลย” อังคณากล่าว

คดีอุ้มหายทนายสมชาย นีละไพจิตร ไม่ใช่กรณีอุ้มหายครั้งแรกของสังคมไทย เพราะในอดีตมีการอุ้มหายเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง อย่างกรณีถังแดงที่ จ.พัทลุง ใน พ.ศ. 2515 หรือกรณีคนหายในเหตุการณ์พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ทว่าไม่มีแม้แต่ชื่อผู้สูญหายที่ถูกบันทึกไว้ ซึ่งสาเหตุใหญ่มาจากความกลัว

“ก่อนที่ทนายจะหาย เราก็ทราบมาตลอดนะคะว่ามีการอุ้มกันตรงนั้นตรงนี้ เราก็ตั้งคำถามว่าทำไมญาติถึงไม่ทำอะไรเลย คุณสมชายก็เคยเล่าว่า ไม่มีใครกล้าทำอะไรหรอก เพราะญาติเขากลัว เขาไม่กล้าลุกขึ้นมาพูด แล้วก็เคยมีคนบอกว่า เวลาที่มีคนหายคนหนึ่ง มันกลัวกันทั้งหมู่บ้าน กลัวกันไปทั้งจังหวัด” อังคณาอธิบาย

นอกจากนี้ การกล่าวหาว่าผู้สูญหายเป็นคนไม่ดี เกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือการก่อการร้าย ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมเพิกเฉย เพราะ “คนไม่ดี หายไปก็ช่างมัน”

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากคดีอุ้มหายในอดีต คือกรณีการอุ้มหายทนายสมชายนั้นถูกพูดถึงในวงกว้าง ซึ่งไม่เพียงแต่บทบาทของอังคณา ในฐานะครอบครัวเท่านั้น แต่ยังมีแรงกดดันจากหลายฝ่าย ที่ช่วยผลักดันให้คดีทนายสมชายเข้าไปสู่ศาล นอกจากนี้ ใน พ.ศ. 2548 คณะทำงานของสหประชาชาติ ก็รับคดีทนายสมชายเข้าสู่สหประชาชาติ รวมทั้งคดีคนหายอื่นๆ

“กรณีสมชายอาจจะโชคดีที่ว่ามีการกดดันมาก สหประชาชาติก็ถามกลับมายังรัฐบาลด้วย ช่วงนั้นที่คุณทักษิณบอกว่า ‘UN ไม่ใช่พ่อ’ จนกระทั่งว่าหายไปวันที่ 12 ถ้าจำไม่ผิด 1 เมษายน ออกหมายจับตำรวจ 4 คน ซึ่งถือว่าเร็วมากเลย ภายในเวลา 2 อาทิตย์ ออกหมายจับตำรวจ 4 คน แล้วหลังจากนั้นอีกสัก 2 อาทิตย์ ก็ออกหมายจับตำรวจอีกคนหนึ่ง ที่มียศสูงกว่า 4 คนแรก มันก็เลยเป็นที่มาที่คดีสมชายเป็นคดีแรกที่ถูกนำขึ้นสู่ศาล”

“กรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน การที่จะหาตัวคนทำผิด สิ่งสำคัญก็คือเรื่องเจตจำนงทางการเมือง ถ้ารัฐบาลมีเจตจำนงที่จะทำอะไร มันทำได้อยู่แล้ว เพียงแต่จะทำหรือไม่ทำแค่นั้นเอง” อังคณากล่าว

จากกรณีทนายสมชาย สู่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน-อุ้มหาย

การที่ใครคนหนึ่งถูก “อุ้มหาย” สร้างความคลุมเครือ อึดอัดใจ หวาดระแวง และส่งผลต่อจิตใจของผู้ที่อยู่ข้างหลังไม่น้อย ประกอบกับการไม่มีกฎหมายสนับสนุน ก็ยิ่งง่ายที่คดีจะถูกเพิกเฉยและปล่อยผ่านไป โดยที่ไม่มีใครได้รับความเป็นธรรม

“เราก็อยากสู้ให้ถึงที่สุด อยากฟังว่าศาลสูงจะคิดอย่างไร สุดท้ายเราก็ขอเป็นโจทก์ร่วมด้วยนะคะ พอเป็นโจทก์ร่วม เราก็สามารถที่จะส่งเอกสารให้ศาลได้ เขียนแถลงการณ์ปิดคดี เขียนอุทธรณ์เองด้วย” อังคณาเล่า

ทว่าสุดท้าย อังคณาไม่สามารถเป็นโจทก์ร่วมในคดีของสามีได้

“ทนายจำเลยก็คัดค้านมาตั้งแต่ศาลชั้นต้นนะคะ ไม่ให้ครอบครัวเข้าเป็นโจทก์ร่วม เราก็อุทธรณ์มาเรื่อยๆ จนกระทั่งศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าเราไม่มีสิทธิเป็นโจทก์ร่วม เพราะว่าไม่มีหลักฐานว่าสมชายบาดเจ็บ หรือว่าเสียชีวิต เพราะฉะนั้น คนที่มาฟ้องร้องต้องเป็นตัวสมชายเอง มันก็เลยทำให้สังคมเห็นว่า คดีคนหาย ณ วันที่มันยังไม่มีกฎหมาย มันไม่มีผู้เสียหาย เพราะผู้เสียหายหายไปแล้ว และมันก็ไม่มีหลักฐานว่าตาย

“ดังนั้นในการฟ้องคดี ศาลฎีกาก็เขียนเหมือนศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ว่า ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติว่า นายสมชาย นีละไพจิตร ถูกคนกลุ่มหนึ่งผลักขึ้นรถแล้วก็หายไป ทีนี้ถ้าไม่มีศพ ก็ดำเนินคดีฆาตกรรมไม่ได้ แล้วช่วงที่ข้อเท็จจริงมันยึดว่าถูกผลักไป แล้วมันไม่เจอศพ แล้วมันไม่เจอตัว ความผิดตรงนี้มันไม่มี อังคณาอธิบาย

แม้จะเป็นความพ่ายแพ้ครั้งหนึ่งในศึกใหญ่ แต่อังคณาก็มองว่า คำพิพากษาของศาลฎีกานั้นมีความหมายมาก เพราะทำให้สังคมเห็นว่า ในคดีคนหาย เจ้าหน้าที่อาจจะชะล่าใจว่ายังไงก็เอาผิดไม่ได้ เพราะไม่มีศพ และไม่มีกฎหมายใดรองรับ

“และในเมื่อคนทำผิดกับคนทำสำนวนก็เป็นคนกลุ่มเดียวกัน ตำรวจทำผิด ตำรวจทำสำนวนส่งศาล หาหลักฐาน คือทุกอย่างอยู่ในมือคนกลุ่มเดียวหมด เจ้าหน้าที่ที่ทำแบบนี้ก็คงคิดว่ายังไงก็เอาผิดไม่ได้ เรื่องอุ้มหายมันถึงยังเกิดอยู่ ซึ่งก็ถือว่าคดีสมชายก็บอกกับสังคม คือทำให้เห็นเลยว่ามันไม่มีกฎหมายจริงๆ มันก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รัฐบาลปฏิเสธไม่ได้แล้วว่าจำเป็นที่จะต้องให้มีกฎหมาย

เพราะการอุ้มหายส่งผลกระทบต่อประชาชนในหลายมิติ จึงนำไปสู่การร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 เพื่อให้ความคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกัน ปราบปราม และเยียวยาผู้เสียหายจากการกระทำในลักษณะดังกล่าว โดยอังคณาก็ได้มีส่วนในการร่าง พ.ร.บ. นี้ด้วย

“กรณีอุ้มหายมันถือว่าไม่มีอายุความ คือในทางสากล หรือที่เราเขียนไว้ใน พ.ร.บ. ก็คือ การทำให้สูญหายเป็นอาชญากรรมต่อเนื่อง คือ 20 ปีที่แล้ว เขาถูกอุ้มหายไป ตอนนี้การกระทำผิดนั้นก็ยังอยู่ ยังหายอยู่ มันเป็นการกระทำผิดตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว จนถึงวันนี้ แล้วก็จะกระทำต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าวันที่เรารู้ชะตากรรม รู้ที่อยู่ของคนหาย จึงถือว่าสิ้นสุด เช่น อาจจะมีคนพบตัวเขา อาจจะพบสิ่งที่เหลืออยู่ของคนคนนั้น”

“มันเป็นคุณูปการกับญาติและกับสังคมมาก โดยเฉพาะอนุสัญญาคนหาย พูดถึงสิทธิที่จะทราบความจริง ซึ่งเขาเขียนว่าเป็นสิทธิสัมบูรณ์ คือสิทธิที่จะทราบความจริง เป็นสิทธิของเหยื่อที่จะรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น เพราะถ้าเหยื่อไม่รู้ ชีวิตมันก็จะอยู่กับความคลุมเครือโดยตลอด วันหนึ่งมีคนบอกว่าตาย วันหนึ่งมีคนบอกว่าไม่ตาย วันหนึ่งบอกว่าเจอศพอยู่ตรงโน้นตรงนี้ เพราะฉะนั้น สิทธิที่จะทราบความจริงจึงถูกเขียนไว้ในมาตราที่ 10 คือรัฐจะต้องสืบสวนจนกว่าจะพบตัวผู้สูญหาย หรือพบตัวผู้เสียชีวิตและรู้ตัวผู้กระทำผิดด้วย อังคณากล่าว

เก้าอี้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

เมื่อการสมัครเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เป็นวาระใหญ่ที่ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลาย และเสียงของประชาชนจำนวนมากก็ดูจะตั้งคำถามกับการชิงเก้าอี้ครั้งนี้ว่าเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมา ประเทศไทยยังเต็มไปด้วยปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายประเด็น ซึ่งอังคณาให้ความเห็นว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้ของประเทศไทย คือการขยับเข้าสู่สปอตไลต์ ให้ประชาคมโลกได้เห็น และทำให้ประเทศไทยต้องปรับปรุงและพัฒนาตัวเอง หลังจากที่ให้คำมั่นบนเวทีโลกแล้ว

“ที่จริงเวทีของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนมันประกอบด้วยสมาชิกสหประชาชาติ 153 ประเทศ ตอนนี้ประเทศในเอเชียที่เป็นสมาชิกอยู่ ยกตัวอย่างนะ ก็มีจีน อินโดนีเซีย บังกลาเทศ ซึ่งเยอะเลย มันไม่ใช่ว่าเข้ามานั่งแล้วเขาจะไม่มีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศ แต่ว่ามันเป็นการท้าทายว่า เวลาที่คุณขึ้นมาในระดับนี้ คุณจะถูกสปอตไลต์น่ะ และสิ่งที่คุณทำมันจะย้อนกลับมาถึงสถานะที่คุณนั่งอยู่”

“คราวนี้ก็เป็นเรื่องท้าทายอีกเหมือนกันว่า สิ่งที่ประเทศไทยได้ให้คำมั่นไว้ ถ้าหากว่าประเทศไทยไม่ทำ เวลาที่คุณนั่งในที่นั่งของคณะมนตรี คุณก็จะถูกท้าทาย ความสง่างามมันก็จะไม่มี เพราะฉะนั้น ตรงนี้ก็อยากจะให้คนไทยติดตามด้วยนะคะ ไม่ใช่ว่าไทยมีที่นั่งเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ แล้วศักดิ์ศรีของคนในประเทศล่ะ มันไม่ใช่ว่าแค่คุณมีชีวิตอยู่ มีกินมีใช้ ไม่ใช่ แต่ว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ศักดิ์ศรีที่คุณจะไม่ถูกใครก็ตามทรมาน อุ้มหาย หรือละเมิดสิทธิของคุณ โดยที่คนทำผิดยังลอยนวล” อังคณากล่าว

พูดถึง ทวงถาม และเคียงข้างญาติผู้สูญหาย

ขณะที่เรายังคงต้องลุ้นระทึกกับรัฐบาลไทยและประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย สิ่งหนึ่งที่ดูจะเป็นความหวังครั้งใหม่ คือการที่ประชาชนเริ่มตื่นตัวและตระหนักถึงกรณีการอุ้มหายมากขึ้น ซึ่งอังคณาเล่าภาพหนึ่งที่น่าประทับใจว่า

“ตอนนั้นที่มีการชุมนุมทางการเมือง มีคนถือภาพคนหายเต็มถนนราชดำเนิน วันนั้นเรารู้สึกว่า เรื่องแบบนี้มันปิดไม่ได้อีกต่อไปแล้ว จากที่เมื่อก่อนนี้ต้องแอบๆ คุยกัน แต่วันหนึ่ง โปสเตอร์นั้นมันขึ้นเต็มถนนราชดำเนินเลย เราไม่คิดว่าเราจะเจอภาพแบบนั้น ยอมรับเลยว่าดีใจ ภูมิใจ ที่ว่าเจ้าหน้าที่ที่ทำผิด พยายามที่จะกดคนที่ถูกอุ้มหาย กดญาติของเขา ถึงเวลาวันหนึ่ง คุณปกปิดไม่ได้แล้ว”

“สิ่งที่ดีใจมากก็คือ มีคนออกมาร่วมกับเรามากขึ้น คือหลังจากกรณีสมชาย พอมีคนหาย เราจะเห็นแม่กัญญา พี่สาววันเฉลิม เห็นใครต่อใครที่ไม่เคยมีตัวตนในสังคมกล้าที่จะออกมาพูดมากขึ้น แต่ว่าก็อยากจะฝากสื่อก็คือ อย่าทิ้งให้เขาโดดเดี่ยว เพราะว่า บางทีต่อให้เขาพูดเท่าไร เสียงเขาก็ไม่ดัง ถ้าไม่มีคนช่วยให้เสียงเขาดังขึ้น และอีกอย่างก็คือ เวลาที่คำพูดของเขามันถูกได้ยิน แล้วก็สิ่งที่เขาทำมันถูกรับรู้ มันเป็นกลไกหนึ่งที่จะปกป้องเขาด้วย

สิ่งหนึ่งที่อังคณาย้ำก็คือ เมื่อไรก็ตามที่สังคมเงียบ และสื่อไม่ได้ติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด คดีอุ้มหายก็แทบจะถูกงดการสอบสวน และเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ปิดคดีแบบเงียบๆ ซึ่งยิ่งตอกย้ำความโหดร้ายของการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยการอุ้มหาย

“ถ้าถามส่วนตัวก็คิดว่าเราอาจจะตายไปโดยที่ไม่รู้ความจริงก็ได้ แต่ก็ยังหวังว่าคนรุ่นต่อๆ ไป ก็จะยังคงตั้งคำถามต่อไป จะยังคงนึกถึงคนที่ถูกอุ้มหาย แล้วก็ยังคงเรียกร้องอะไรแบบนี้อยู่ตลอด คือส่วนตัว ถึงแม้เราจะไม่อยู่แล้ว แต่ว่าประสบการณ์ในต่างประเทศเราก็จะเห็นว่า ทายาท สังคม ก็จะช่วยกันทวงถาม คือการทวงถามมันเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันไม่ให้เรื่องนี้มันเกิดขึ้นอีก

ผู้หญิงธรรมดา ชื่อ “อังคณา นีละไพจิตร” 

“เราเป็นคนเก็บตัว เป็นพยาบาล ก็ทำงานอะไรของเรา ชอบอ่านหนังสือ เป็นคนเก็บตัว ไม่ชอบสังคม ทุกวันนี้ยังมานั่งนึกเลยนะว่า ถ้าไม่มีเรื่องนี้เราก็คงเป็นผู้หญิงธรรมดา เกษียณแล้วก็อยากใช้ชีวิตธรรมดา” อังคณากล่าวถึงตัวเองในวันที่ตัวเองเป็นคนธรรมดา ก่อนจะมาต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง ครอบครัว และคนอื่นๆ

“ถ้าถามความรู้สึกส่วนตัวก็รู้สึกว่าเราแพ้ เพราะเราไม่สามารถค้นหาความจริงได้ และเราก็เจ็บปวด แต่ว่าในขณะเดียวกัน เราก็ภูมิใจที่คนธรรมดาอย่างเรา คนที่ไม่ได้มีใครรู้จักเลย ผู้หญิงธรรมดาที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมมันกระเพื่อมน่ะ มันเหมือนกับเราเหมือนกับก้อนหินที่ถูกปาลงไปในน้ำ แล้วอะไรที่เคยปกปิดไว้มันกลายเป็นที่รับรู้ไปทั่วโลก

แม้จะรู้สึกว่าสูญเสียความเป็นส่วนตัว แต่การที่เธอกลายเป็นคนมีชื่อเสียง ก็ช่วยให้เสียงของเธอดังขึ้นกว่าเดิม เธอได้รับตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชน ก่อนจะได้เป็นผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติ ซึ่งเป็นการทำงานในเวทีระดับโลก จากการส่งเสียงเพื่อตัวเองและครอบครัว ตอนนี้เสียงของเธอดังขึ้นเพื่อคนอื่นๆ

“ถ้าสังเกตจะเห็นว่าระยะหลังๆ ไม่ค่อยพูดเรื่องตัวเอง ไม่ค่อยพูดเรื่องทนายสมชาย แต่พูดถึงกรณีอื่นๆ มากกว่า สิ่งที่เราต้องการก็คือ ทำอะไรให้มันพ้นไปจากความเป็นปัจเจก หรือการกระทำเพื่อคนคนเดียว แต่จะทำอย่างไรให้เรื่องนี้มันเป็นระบบ และไม่ว่าใครก็ตามที่ถูกทำให้หายไปแล้ว หรือเจ้าหน้าที่คนไหนที่คิดจะอุ้มคนต่อไป จะต้องไม่ทำอีก และเราก็รู้สึกว่า เราก็ภูมิใจที่ว่ามันมาถึงจุดที่เราทำเพื่อคนอื่นได้”

แม้จะเป็นเส้นทางอันเหน็ดเหนื่อยและเจ็บปวด แต่อังคณาเล่าว่า เธอได้จดบันทึกทุกเหตุการณ์ ทุกความรู้สึก เพื่อจดจำและระลึกถึงจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ที่เกิดขึ้นพร้อมความกลัว จนกระทั่งวันนี้ ที่ทั้งเธอและลูกๆ ได้เติบโตขึ้นอย่างเข้มแข็ง

“เคยคุยกับลูกว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องส่วนมากจะเปลี่ยนชื่อเลย ในขณะเดียวกัน เราก็ยังคงใช้ชื่อเดิม นามสกุลเดิม บ้านอยู่ที่เดิม เราไม่คิดจะหนี ไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงตัวตน และเราก็อยู่ได้ แล้วเราก็พิสูจน์ให้สังคมเห็นว่า เราไม่ได้ทำอะไรผิดนะ เราแค่เป็นเหยื่อ เราไม่จำเป็นต้องหลบหน้าใคร เราไม่ต้องไปเปลี่ยนชื่อเพื่อให้คนจำไม่ได้ อังคณาทิ้งท้าย

แอมเนสตี้ชี้ครบ 20 ปีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร เน้นย้ำให้เห็นถึงวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดที่หยั่งรากลึก

ด้านแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยหนึ่งในองค์กรที่รณรงค์กรณีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตรมาตั้งแต่ต้น เปิดเผยว่า ทางการไทยล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการอำนวยให้เกิดความยุติธรรม ความจริง หรือการเยียวยาต่อทนายสมชายและครอบครัวของเขา กรณีนี้และอีกหลายกรณีที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใหสูญหายเน้นย้ำให้เห็นวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดที่หยั่งรากลึกในประเทศ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยพยายามที่จะเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

“จากความล้มเหลวที่จะนำตัวผู้ต้องสงสัยเข้าสู่กระบวนการรับผิดทางอาญา และจากการเพิกเฉยสิทธิในการเยียวยาอย่างเต็มที่ของครอบครัวของเขา อีกทั้งการยกเลิกโครงการคุ้มครองพยาน เป็นที่ชัดเจนว่าเหยื่อของการบังคับให้สูญหายนั้น ไม่สามารถพึ่งพาทางการไทยได้อย่างเต็มที่ และผู้กระทำความผิดอาจไม่ต้องรับโทษตามความผิดที่ก่อขึ้น

“เป็นเวลามากกว่าหนึ่งปีแล้วที่รัฐบาลไทยประกาศใช้กฎหมายในประเทศ เพื่อเอาผิดทางอาญากับการบังคับให้สูญหาย แต่เนื่องจากยังไม่มีการฟ้องคดีเกี่ยวกับการบังคับให้สูญหายในชั้นศาล ทำให้กฎหมายฉบับนี้เป็นเพียงกระดาษแผ่นหนึ่งเท่านั้น

“หากประเทศไทยประสงค์จะเข้าเป็นสมาชิกในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติอย่างมีเกียรติ  ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีอีกหลายประการที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ แม้การมีกฎหมายในเรื่องนี้เป็นก้าวย่างแรกที่ดี แต่ต้องมีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป เพื่อประกันให้เกิดความรับผิดรับชอบและการเยียวยาต่อผู้เสียหายทุกคนจากการถูกบังคับให้สูญหาย อีกทั้งประเทศไทยต้องให้สัตยาบันรับรองโดยไม่ประกาศข้อสงวนใดๆ ต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (ICPPED) และยอมรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการว่าด้วยการบังคับให้หายสาบสูญ ที่จะรับฟังและพิจารณาข้อมูลจากผู้เสียหายและคู่กรณีที่เป็นรัฐอื่นๆ เพื่อแสดงความมุ่งมั่นอย่างจริงใจที่จะต่อต้านอาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศนี้”

 
 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: