สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ข้อมูลว่า คุณแม่ทุกท่านล้วนอยากให้ลูกน้อยเติบโตสมวัย จึงรังสรรค์อาหารดี ๆ มีประโยชน์มาให้ลูกน้อยได้รับประทาน “นมวัว” เป็นอีกหนึ่งสุดยอดอาหารที่มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์และจำเป็นสำหรับลูกน้อย มีแคลเซียม ช่วยเพิ่มความสูงและช่วยในการเจริญเติบโตของเด็ก แต่ในเด็กบางรายมีอาการ “แพ้นมวัว” ซึ่ง การแพ้โปรตีนนมวัว (Cow's Milk Protein Allergy - CMPA) เป็นภาวะที่ร่างกายของลูกมีปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนในนมวัว อาการแพ้นมวัวที่พบได้มีทั้งเล็กน้อยจนถึงรุนแรง คือ
- อาเจียน
- มีผื่นลมพิษ ผื่นคันตามผิวหนัง
- หน้าบวม
- อาจมีอาการท้องเสีย ถ่ายเป็นมูกเลือด
- ไอ หายใจเสียงดังวี้ด หายใจลำบาก
- อาการแพ้แบบรุนแรงเฉียบพลันทั่วตัว (Anaphylaxis)
ซึ่งอาการเหล่านี้จะดีขึ้นหรือหายไปก็ต่อเมื่อให้เด็กหยุดดื่มนมวัวหรืออาหารที่มีส่วนประกอบของนมวัวนั้นๆ แต่ในบางรายที่มีอาการแพ้รุนแรงอาจมีอาการหายใจไม่ออก และถึงขั้นเสียชีวิตได้ พ่อ แม่หรือบุคคลใกล้ตัวเด็กจึงควรสังเกตอาการแพ้ที่เกิดขึ้น และดูแลอย่างใกล้ชิด หากมีอาการรุนแรงควรรีบพาไปพบแพทย์
ถ้าลูกน้อยมีอาการแพ้นมวัวควรทำอย่างไร?
- ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินอาการแพ้ว่าเป็นการแพ้นมวัวจริงหรือไม่ เพื่อรับคำแนะนำในการปรับเปลี่ยนอาหารและการดูแลลูกน้อย
- ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อยสี่เดือน เนื่องจากมีงานวิจัยว่า การได้รับนมแม่มากกว่า 4 เดือนจะช่วยลดอาการแพ้นมวัวในเด็กได้
- หลีกเลี่ยงการให้นมวัว และอาหารที่มีส่วนผสมของนมวัวแก่เด็ก เช่น ชีส ไอศกรีม โยเกิร์ต นมเปรี้ยว อาหารที่มีส่วนประกอบของโปรตีนเวย์หรือโปรตีนเคซีน โดยผู้ปกครองควรอ่านฉลากโภชนาการทุกครั้งก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทุกชนิด เพื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่มีนมวัว หรือผลิตภัณฑ์ที่มีนมวัวเป็นส่วนประกอบ
- ไม่ควรใช้นมจากสัตว์อื่น เช่น แพะ แกะ ลา กระบือ ทดแทนนมวัว เนื่องจากในปัจจุบันพบว่ามีการแพ้ข้ามกลุ่ม ทำให้มีโอกาสแพ้ได้เช่นกัน
- สำหรับทารกและเด็กเล็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว สามารถให้นมแม่ต่อไปได้ และให้คุณแม่งดนมวัว ผลิตภัณฑ์จากนมวัว และอาหารที่มีโปรตีนจากนมวัว
สำหรับทารกและเด็กที่เลี้ยงด้วยนมผสม ให้เลือกรับประทานอาหารหรือนมสูตรเฉพาะสำหรับเด็กที่แพ้นมวัว เช่น
- Soy protein-based formula (อาหารทางการแพทย์สูตรโปรตีนจากถั่วเหลือง) เช่น Isomil และ Dumex Hi Q Soy
- Extensively hydrolyzed formula (อาหารทางการแพทย์สูตรเปปไทด์ขนาดเล็ก) เช่น Nutramigen และ Pregestimil
- Amino acid-based formula (อาหารทางการแพทย์สูตรกรดอะมิโน) เช่น Neocate LCP และ Puramino
- Modular formula (MF, อาหารทางการแพทย์สูตรที่เตรียมสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย) เช่น นมสูตรโปรตีนจากเนื้อไก่ และนมข้าวอะมิโน ซึ่งผลิตโดย ภาควิชากุมารเวชศาสตร์คณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาล
การที่ลูกแพ้อาหารเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารเด็ก เพื่อให้ได้การดูแลที่เหมาะสมต่อสุขภาพของลูก เด็กที่มีอาการแพ้นมวัวในช่วงวัยแรกเกิดอาจจะหายจากอาการแพ้นมวัวได้เองเมื่ออายุเพิ่มขึ้น และได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เพราะร่างกายแข็งแรงและมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น ทั้งยังมีความต้านทานกับโปรตีนมากขึ้น แต่มีจำนวนน้อยมาก ที่ยังไม่หายเมื่อโตขึ้น บางกรณีแพทย์อาจแนะนำให้ตรวจการทดสอบการแพ้อาหาร (Oral Food Challenge Test) เพื่อให้วินิจฉัยได้อย่างชัดเจนมากที่สุดว่าเด็กแพ้อาหารอะไร
ข้อมูลอ้างอิง
Current Guidelines and Future Strategies for the Management of Cow’s Milk Allergy
. Journal of Asthma and Allergy, 14, 1243–1256.
5 สัญญาณ อาการ “แพ้นมวัว.” (2023). โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย. Retrieved December 28, 2023
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ