ชุดมลายูที่ Olympic และชายแดนใต้

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) 13 ส.ค. 2567 | อ่านแล้ว 14289 ครั้ง


Image

ที่มาภาพ: @arfdy12

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

#มาเลเซีย’ ใช้ชุดมลายูหรือ ‘The Malaya’ ในพิธีการโอลิมปิก 2024 ที่ปารีส⁣

26 ก.ค. 2567 มีการแข่งขันมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ หรือโอลิมปิก 2024 ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งหลายชาติต่างใส่ชุดประจำชาติในพิธีเปิดของการแข่งขัน

ส่วนประเทศไทยนั้นเป็นเสื้อแจ็กเกตสีน้ำเงินจากแกรนด์สปอร์ตแทน "เสื้อชุดไทย" ผ้าไหมสีฟ้า ที่มีดราม่าก่อนหน้านี้

สำหรับนักกีฬามาเลเซีย ได้ใช้ชุดมลายูพิธีสีเขียวมะกอกในพิธีเปิดโอลิมปิก 2024⁣

ชุดดังกล่าวใช้ชื่อชุดว่า “The Malaya” ที่ออกแบบโดย Rizman Ruzaini ดีไซเนอร์ท้องถิ่นชื่อดัง โดยผู้ออกแบบระบุว่า รู้สึกภูมิใจที่นักกีฬาทีมชาติมาเลเซียจะนำความภาคภูมิใจของประเทศติดตัวไปปารีสด้วย ผ่านการสวมใส่ชุดที่ออกแบบมาให้สื่อถึงเอกลักษณ์ของประเทศ⁣

นักออกแบบผู้มารังสรรค์ชุด “The Malaya” ยังระบุว่า ชุดสีเขียวมะกอกนี้ออกแบบมาเป็นพิเศษ ซึ่งเมื่ออยู่ใต้แสงไฟจะมองเห็นลวดลายสีทองเด่นชัด เป็นแรงบันดาลใจให้นักกีฬาในการนำเหรียญทองกลับมา⁣

ชุดมลายูที่ชายแดนใต้

ในขณะที่ชายแดนใต้นั้นในช่วงนี้จะใส่ในสองกิจกรรม หนึ่งกิจกรรมต้อนรับปีใหม่อิสลามหรือในพื้นที่ มาอัลฮิจเราะห์กับกีฬาสีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามและตาดีกาหรือแม้แต่กีฬาสีชุมชน

เช่นโรงเรียนรุ่งโรจน์วิทยา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา (อ่านรายงานเพิ่มเติมใน https://share.csitereport.com/share.php?post_id=0000041740)

กล่าวคือเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2567 โรงเรียนรุ่งโรจน์วิทยา ตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ภายใต้การบริหารของบาบอนัสรูดิน กะจิ จัดกิจกรรมต้อนรับฮิจเราะห์ศักราชใหม่ 1446 หรือปีใหม่อิสลาม อย่างยิ่งใหญ่และมีกิจกรรมหลากหลาย เพื่อการเรียนรู้ เช่นขบวนพาเหรด สุดตระการตา หลากสีสันด้วยการแต่งกาย ชุดวัฒนธรรมมลายู อนาชีดจากทีม ALWARIS แชมป์ DAI Voice Thailand 2023 การแสดงละครสั้นอิสลามบูรณาการวิถีและการแสดงโชว์สุดพิเศษอีกมากมาย การแข่งขัน The Munsyid Voice Season 6 ในการสร้างแรงบันดาลใจ นอกจากนี้ได้พบกับแขกรับเชิญพิเศษ คาลิสโต้ไลฟ์ (อลงกรณ์ บุนนาค)คาร์ลิสโต้ไลฟ์ฟุตซอล-Khalis To Live Futsal YouTuber ชื่อดังของชายแดนใต้ (หมายเหตุชมย้อนหลังใน https://www.facebook.com/share/v/TcWguf9fkkTgvj5t/?mibextid=TGkgF5 ประมวลภาพใน https://www.facebook.com/share/p/nN6MvXR3Dq1smVP1/?mibextid=WC7FNeและ https://www.facebook.com/share/p/FduHksbeDWmD6Xxv/?)

อย่างไรก็แล้วแต่ในทางกลับกันเดือนนี้มีเหตุการสำคัญ เมื่อ 9 นักกิจกรรม ‘คดีชุดมลายู’ ถูกฟ้องจากหน่วยความมั่ขอนคง ได้ไปขออัยการสั่งไม่ฟ้อง ย้ำเจตนาบริสุทธิ์ กล่าวคือ

วันที่ 25 ก.ค. 2567 นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ 9 คน ที่ถูกดำเนินคดีจากกรณีการจัดกิจกรรมชุมนุมชุดมลายู (Melayu Raya 2022) ณ หาดวาสุกรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ซึ่งจัดขึ้นในปี 2565 นัดรวมตัวกันที่สำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี ตามนัดส่งผู้ต้องหาในชั้นอัยการ

อับดุลเลาะห์ หะยีอาบู ทนายความ จากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เปิดเผยกับ The Active ว่า คดีนี้ตำรวจได้ทำสำนวนเสร็จแล้ว จึงนำส่งสำนวนพร้อมกับผู้ต้องหาให้กับอัยการ จากนี้ก็อยู่กับการพิจารณาสำนวนในชั้นอัยการว่าจะมีความเห็นสั่งฟ้องหรือไม่ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่ต้องติดตามต่อจากนี้

ทนายความ ระบุด้วยว่า วันนี้ผู้ต้องหาทั้ง 9 คน ได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการในนามผู้ต้องหาให้อัยการสั่งไม่ฟ้อง โดยขอให้อัยการพิจารณาพยานหลักฐานเพิ่มเติม รวมถึงพิจารณาข้อมูลต่าง ๆ นำไปสู่การหักล้างในประเด็นของผู้กล่าวหา เพื่อให้อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง หรือ อัยการอาจพิจารณาส่งสำนวนให้ตำรวจสอบเพิ่มเติม

“ตอนนี้ยังดูไม่ออกว่าคดีนี้จะออกมายังไง เราก็พยายามยื่นคำร้อง และข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้อัยการนำไปหักล้างในสิ่งที่ทางหน่วยงานความมั่นคง ผู้กล่าวหาดำเนินคดีกับเรา โดยเฉพาะประเด็นการชุมนุมที่เน้นย้ำว่าทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะปราศจากอาวุธ ไม่มีความรุนแรง ขณะที่การรวมกลุ่มในลักษณะการส่งเสริมวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นก็เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ เพราะรัฐธรรมนูญก็เปิดช่อง ส่วนคำกล่าวบนเวที การร้องเพลง ที่ฝ่ายผู้กล่าวหามองว่ามีความสุ่มเสี่ยง แต่ทางผู้จัดก็ยืนยันว่า สิ่งที่พูดบนเวทีวันนั้นสามารถพูดได้”

อับดุลเลาะห์ หะยีอาบูทนายความ ยังมองว่า คดีลักษณะนี้เป็นคดียุทธศาสตร์ที่ฝ่ายรัฐใช้กฎหมายมาเล่นงานนักกิจกรรมในชายแดนใต้ หรือที่เรียกว่า คดีฟ้องปิดปาก (Strategic lawsuit against public participation: SLAPP) นำไปสู่การปิดกั้นสิทธิเสรีภาพการแสดงออกในพื้นที่ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ก็ถูกชี้ให้เห็นกับอัยการได้เห็นในหนังสือร้องขอความเป็นธรรมด้วย เพราะมองว่าหากรัฐใช้กฎหมายลักษณะนี้มากดดัน ปิดกั้นเสรีภาพ ก็อาจเป็นประเด็นที่กระทบต่อกระบวนการสันติภาพ เมื่อสิทธิเสรีภาพไม่สามารถพูดคุยได้ กระบวนการสันติภาพก็เดินต่อได้ยากเช่นกัน

อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดชายแดนใต้ ย้ำว่า การจัดกิจกรรมที่ผ่านมาไม่ผิดกฎหมาย การตีความของกิจกรรม และเนื้อหาอาจเกินเลยไป ทั้งที่คดีนี้เกี่ยวข้องกับการแสดงออกเชิงอัตลักษณ์ การแต่งกายตามวัฒนธรรม ซึ่งมีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ในอดีตก็เคยเกิดกรณีแบบนี้ขึ้น จึงไม่อยากให้กรณีนี้กลายเป็นเงื่อนไขในพื้นที่ กระทบต่อกระบวนการสันติภาพ

“เรามั่นใจพยานที่ยื่นต่อพนักงานสอบสวน คิดว่าตรงนี้เป็นพยานหลักฐานให้อัยการพิจารณาชั่งน้ำหนัก ไปในทางให้ความเมตตากับผู้ถูกดำเนินคดีทั้ง 9 คน ยอมรับว่าการจัดกิจกรรมชุมนุม มีคนเยอะอาจมีบางเรื่องหมิ่นเหม่จริง แต่ที่ผ่านมาก็ยอมรับ และแก้ไข การจัดกิจกรรมครั้งต่อไปก็พยายามพูดคุยกับฝ่ายความมั่นคงตลอด ว่า ไม่มีเจตนาปลุกระดม ได้พบหลายฝ่ายก็มองว่ากิจกรรมมีประโยชน์ต่อสาธารณะ ดังนั้นการพิจารณาคดีไม่ควรมองด้านนิติศาสตร์อย่างเดียว ทั้งนี้ได้ฝากหนังสือถึงพนักงานอัยการที่ปัตตานี และทางอัยการสูงสุด เพื่อขอความเป็นธรรม ขณะเดียวกันทาง UN ก็ส่งหนังสือส่งมาที่พนักงานอัยการห่วงกังวลต่อการดำเนินคดีที่ละเอียดอ่อนในพื้นที่ขัดแย้งแบบนี้ รัฐต้องมองอย่างละเอียดรอบด้านมากกว่านี้ ที่ผ่านมาก็จัดกันได้ จึงไม่อยากให้เกิดประเด็นเช่นนี้ เพราะจะกระทบต่อผู้คนที่อยากมีพื้นที่ทางการเมือง หากรัฐปิดกั้นก็อาจจูงใจไปทางอื่นได้”

ขณะที่ มะยุ เจ๊ะนะ กรรมาธิการวิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ สภาผู้แทนราษฎร และอดีตผู้อำนวยการสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดี ในฐานะผู้จัดกิจกรรม MELAYU RAYA 2022 ยอมรับกับ The Active ว่า วันนี้ไม่มีอะไรมาก เมื่อทางตำรวจรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จแล้วก็ต้องส่งสำนวน ส่งตัวให้กับอัยการ ตนและนักกิจกรรมที่ถูกกล่าวหาก็เข้าสู่กระบวนการ คาดว่าจากนี้คงต้องรอให้อัยการใช้เวลาพิจารณาต่ออีกสักระยะ จึงจะมีความเห็นว่าสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง แต่ทางผู้ถูกกล่าวหาก็พยายามทำทุกทางเพื่อขอความเป็นธรรมว่าคดีนี้เป็นคดีที่ไม่ควรจะสั่งฟ้อง และมองว่าเป็นคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

ด้าน พ.ต.อ.ดร.จารุวิทย์ วงศ์ชัยกิตติพร รองผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กอ.รมน.ภาค 4 สน. โต้ ว่ามันเป็นกระบวนการปกติ โดยกล่าวว่า “การดำเนินคดีนี้ เป็นกระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยปกติ ไม่ได้มีการกลั่นแกล้งใดๆ ทั้งในชั้นพนักงานสอบสวนและในชั้นอัยการ ผู้ต้องหาทั้งหมดก็ได้รับการปล่อยชั่วคราวหลังจากนี้หากพนักงานอัยการเห็นว่าสำนวนคดียังมีพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ก็สามารถสั่งให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ แต่หากเห็นว่าพยานหลักฐานมีความหนักแน่นมั่นคงเพียงพอแล้ว ก็มีความเห็นฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลต่อไป”

กอ.รมน. ชี้แจงออกหมายเรียก ไม่ได้เกิดจากการแต่งชุดมลายู

วันที่ 9 ม.ค. 2567 กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ผู้แจ้งความให้ดำเนินคดีนักกิจกรรม 9 คน ออกคำแถลงว่า การออกหมายเรียกไม่มีความเกี่ยวข้องกับการแต่งกายชุดมลายู แต่การออกหมายเรียกเกิดจากการจัดกิจกรรมเมื่อวันที่ 4 พ.ค. และวันที่ 10 พ.ค. 2565 มีกิจกรรมแอบแฝง และมีธงของขบวนการบีอาร์เอ็น ปรากฏอยู่ในกิจกรรม

นอกจากนี้ กอ.รมน. ยังอ้างว่า มีการปลุกปั่นยุยงผ่านบทกวีที่มีการแสดงออกสื่อความหมายได้ว่า เป็นถ้อยคำปลุกระดมให้กลุ่มเยาวชนยอมสละชีวิตต่อสู้เพื่อชาติมลายู เป้าหมายคือแยกออกเป็นประเทศเดียวหรือประชาชาติเดียว ให้กลุ่มเยาวชนต่อสู้ ชูธงปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง อันเป็นการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเอกราช

เอกรินทร์ ต่วนศิริ รองศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า เราต้องการคนเห็นต่างที่ไม่ติดอาวุธใช่หรือไม่ เพราะฉะนั้น คนเห็นต่างที่ใช้วิธีการพูด การเรียกร้อง พวกเขาไม่ได้ไปทำร้ายใคร ถ้อยคำต่างๆ ไม่ได้ปลุกระดม

บทเรียนหน่วยความมั่นคง ประเด็นชุดมลายูและโอกาสทางเศรษฐกิจของรัฐบาลเศรษฐา

ความเป็นจริงแม้กิจกรรมชุดมลายูที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีปีนีนั้นคือเหตุการณ์ปี 2565 โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ก็ตาม แต่มีการทำความเข้าใจตรงกันแล้วว่า ฝ่ายความมั่นคงไม่ได้ห้ามจัดกิจกรรม ส่วนการดำเนินคดีเป็นเพราะในปีนั้นมีการโบกธงบีอาร์เอ็น และปราศรัยในลักษณะยุยงปลุกปั่น การจัดกิจกรรมในปีนี้ ผู้จัดงานจึงประสานกับฝ่ายความมั่นคงล่วงหน้า และมีการจัดสมาชิกคอยสังเกตการณ์หน้างาน เพื่อกลั่นกรอง เเจ้งกฎข้อห้าม เเละขอความร่วมมือผู้ร่วมงานระมัดระวังในเรื่องที่อาจสุ่มเสี่ยงกระทำผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด รวมถึงห้ามนำอาวุธเข้าไปในบริเวณที่จัดกิจกรรมด้วย โดยหลังจากจัดกิจกรรม กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ออกแถลงการณ์ขอบคุณทีมงานผู้จัด และกลุ่มเยาวชนที่ไปร่วมกิจกรรม ที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ละเมิดกติกา กิจกรรมจึงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ราบรื่น พร้อมย้ำว่า กอ.รมน.สนับสนุนเรื่องการอำนวยความสะดวก ทั้งการจราจร การบริการทางการแพทย์ อาหารและเครื่องดื่ม ตลอดจนตรวจตราสถานที่เพื่อความปลอดภัย

นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจของรัฐบาลพลเรือนนายเศรษฐา ทวีสิน หากสามารถส่งเสริมอนุรักษ์ผ้าท้องถิ่นมลายู คล้ายๆกับเทศกาลสงกรานต์ (Soft Power) จากคุณค่าสร้างสู่มูลค่าได้อย่างเป็นระบบ เช่นนายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา เคยสะท้อนว่า

“การออกแบบกระบวนการพัฒนาลายผ้าท้องถิ่น และเครื่องแต่งกาย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อให้ผู้ผลิตลายผ้า ดีไซเนอร์ ผู้ตัดเย็บเสื้อผ้า ตลอดจนผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ผ้า พัฒนาคุณภาพสินค้า ก้าวไปสู่มาตรฐานสากล เป็นที่ชื่นชอบของคนอาเซียนที่มีวิถีมลายูใกล้เคียงจังหวัดชายแดนใต้ คือประเทศมาเลเซีย บูรไนและประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน มาร่วมมือกันในการพัฒนาและก้าวสู่ศูนย์กลางแฟชั่นมลายูร่วมกัน รวมถึงเป็นการส่งเสริมนโยบายของรัฐบาล ในการสนับสนุน Soft Power เพื่อผลักดัน อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก เป็นสินค้าส่งออก ทางวัฒนธรรม สร้างรายได้และภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศด้วยอุตสาหกรรม วัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพและเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” (อ่านเพิ่มเติมวิวัฒนาการชุดมลายูในโลกมลายูจากประเทศอาเซียนเช่นมาเลเซีย อินโดนีเซีย https://prachatham.com/2024/02/20/21022567/)

อย่างไรก็แล้วแต่มลายูมิใช่มีแต่เสื้อผ้ามันยังมี อาหาร ภาษาและอื่นๆผ่านวิถีชีวิต ผู้คน และมิใช่หยุดนิ่งแต่มันพลวัตรปรับปรนตามยุคสมัย อีกทั้งมันยังมีในพื้นที่อื่นๆทั้งฝั่งอันดามันและลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งภาคประชาชนจัดขึ้นเช่นกันหลายครั้ง

“มุสลิมภาคกลางร่วมทุกภาคส่วน “จัดงานลูกหลานมลายูลุ่มน้ำเจ้าพระยา”อย่างยิ่งใหญ่ ชูSoft Power” (อ่านเพิ่มเติมใน จุดประกาศวิถีชุมชน อาเนาะมลายู ลุ่มน้ำเจ้าพระยากว่า 200 ปี http://spmcnews.com/?p=51311)

ในขณะที่วิถีมลายูฝั่งอันดามัน นั้น ดร.รุชดี เถาว์กลอย นักวิชาการชาวกระบี่กล่าว่า “จังหวัดไกล้เคียง (กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง สุราษฎร์ธานี) ในขณะที่ การแต่งตัว ศาสนา วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี ชื่อของสถานที่ต่างๆ รวมถึงภาษาถิ่นที่ใช้ในการพูดของคนในพื้นที่ยังมีความเป็นมลายูปะปนอยู่ทั้งสิ้น”

สำหรับกระบวนการใช้ Soft Power เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เชื่อมต่อเศรษฐกิจระดับพื้นที่ พร้อมส่งเสริมให้เป็นเทศกาลสำคัญ เพื่อให้ประชาชนทั้งในและต่างประเทศเห็นถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสามารถดำเนินงานร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงมหาดไทย (อาจผ่านองค์การบริหารส่วนจังหวัดซึ่งใกล้ชิดประชาชน มีงบประมาณด้วย) กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ มหาวิทยาลัยต่างๆเช่นมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยฟาฏอนีที่สำคัญสุดก็น่าจะเป็นศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือ ศอ.บต. และต้องไม่ลืมการสื่อสาร การประชาสัมพันธ์โดยใช้กลไกการทำงานร่วมระหว่างกรมประชาสัมพันธ์ของรัฐ นักข่าวในพื้นที่ นักข่าวพลเมืองและYouTuber ดังในพื้นที่ซึ่งมียอดวิวหลักแสนหลักล้าน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: