แอมเนสตี้เรียกร้องหยุดปิดกั้นเด็กใช้สิทธิเสรีภาพและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ

กองบรรณาธิการ TCIJ 13 ม.ค. 2567 | อ่านแล้ว 2777 ครั้ง

แอมเนสตี้เรียกร้องหยุดปิดกั้นเด็กใช้สิทธิเสรีภาพและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ

วันเด็กแห่งชาติ 2567 แอมเนสตี้ เรียกร้องนายกรัฐมนตรี - รัฐบาลไทย หยุดข่มขู่คุกคาม ปล่อยตัว ยุติการดำเนินคดีอาญา – แก้กฎหมาย หยุดปิดกั้นเด็กใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ

13 ม.ค. 2567 เนื่องใน ‘วันเด็กแห่งชาติ (Children’s Day)’ ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคมของทุกปี แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่ด้านหน้าทำเนียบ ประตู 5 ฝั่งกระทรวงศึกษาธิการและหน้ารัฐสภาไทย กรุงเทพมหานคร ใช้ชื่อกิจกรรมในครั้งนี้ว่า ‘ปล่อยผ้าเรียกร้องรัฐไทยหยุดคุกคามสิทธิเสรีภาพเด็ก’ มีเป้าหมายเพื่อส่งเสียงเรียกร้องถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และทุกฝ่ายที่เกี่ยวให้หยุดข่มขู่คุกคาม หยุดติดตาม และยุติการดำเนินคดีอาญากับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ในช่วงปี 2563 จนถึงปัจจุบัน

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า ปัจจุบันมีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและชุมนุมประท้วงโดยสงบมากกว่า 286 คน รวม 215 คดี ในจำนวนนี้มีเด็กที่ถูกดำเนินคดีที่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ คดี ‘หมิ่นประมาทกษัตริย์’ มากกว่า 20 คน รวม 23 คดี และมีเด็กประมาณ 2 คน ต้องมีชีวิตที่ไร้อิสรภาพเพราะถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจากคดีนี้  

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2563 – 2566 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่กระบวนการยุติธรรม ดำเนินคดีอาญากับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ หากมองตามหลักสิทธิมนุษยชนระดับสากล สะท้อนให้เห็นว่าทางการไทยกำลังลิดรอนสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกของเด็กอย่างเห็นได้ชัด ทั้งที่อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532 (UNCRC) ระบุว่า เด็กทุกคนมีสิทธิมนุษยชนเท่าเทียมกับผู้ใหญ่ทั้งการใช้สิทธิในการพูดและแสดงความคิดเห็น รวมถึงสิทธิการได้รับความคุ้มครองให้ปลอดภัย เข้าถึงการศึกษา และอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี แต่การที่รัฐไทยดำเนินคดีอาญากับเด็กที่มาร่วมชุมนุมช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เหมือนการลดมาตรฐานเกินกว่าที่ประชาสังคมโลกจะยอมรับได้ เพราะเด็กทุกคนไม่เพียงแต่เป็นอนาคตของชาติ แต่พวกเขาคือปัจจุบันที่จะนำภาประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้

“วันเด็กไม่ควรเป็นเพียงแค่วันที่ผู้ใหญ่ให้คำสอนว่าเด็กควรปฏิบัติตัวอย่างไร แต่เป็นวันที่ผู้ใหญ่ และรัฐควรคำนึงถึงความสำคัญ และสิทธิต่างๆ ของพวกเขา ตามสิทธิที่ถูกเขียนเป็นมาตรฐานระหว่างประเทศและในประเทศ วันเด็กแห่งชาติปี 2567 นี้ แอมเนสตี้เรียกร้องให้ทางการไทยหยุดข่มขู่และดำเนินคดีอาญาต่อเด็ก”

ปิยนุชอธิบายเกี่ยวกับการทำกิจกรรม ‘ปล่อยผ้าเรียกร้องรัฐไทยหยุดคุกคามสิทธิเสรีภาพเด็ก’ เนื่องในวันเด็กแห่งชาติปีนี้ว่า มีจุดเริ่มต้นจากการที่ เมื่อช่วงต้นปี 2566 แอมเนสตี้ จึดทำรายงานเรื่อง ‘ขอทวงคืนอนาคตของพวกเรา สิทธิเด็กที่จะชุมนุมประท้วงโดยสงบในประเทศไทย’ ขึ้นมา ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพตั้งแต่เดือน มิ.ย. - พ.ย. 2565 สัมภาษณ์เชิงลึกกับเด็กนักกิจกรรมทั้งหมด 30 คน พบว่า มีเด็กที่ถูกดำเนินคดีอาญาจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกถูกข่มขู่คุกคามและติดตามตัวเวลาไปสถานที่ต่างๆ เช่น บ้าน โรงเรียน หรือสถานที่อื่นๆ นอกจากนั้น ยังพบว่าเด็กบางคนถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือคนนอกเครื่องแบบ นำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ปิดกั้นและสกัดไม่ให้ใช้สิทธิในการพูดหรือแสดงความคิดเห็น โดยใช้ยุทธวิธีกดดันคนรอบข้าง เช่น ครอบครัว เพื่อน และโรงเรียน จนทำให้เด็กบางคนต้องเจอความรุนแรงในครอบครัว หลุดจากระบบการศึกษา ที่ร้ายแรงสุดคือการที่เด็กได้รับผลกระทบทางสุขภาพจิตอย่างหนักหลังถูกสลายการชุมนุมและถูกดำเนินคดี 

“ทางการไทยมักตอบโต้ต่อผู้เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงที่เป็นเด็กผ่านการดำเนินคดี ข่มขู่คุกคาม และคุมขังเด็กที่ออกมาใช้สิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ยังใช้วิธีการปราบปรามสิทธิเด็กโดยทางอ้อมเช่น เจ้าหน้าที่รัฐใช้วิธีการกดดันจผ่านผู้ปกครองและโรงเรียนให้เด็กอยู่ห่างจากการชุมนุมประท้วง ทั้งที่ประเทศไทยมีพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศฉบับต่างๆ รวมถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง  และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กตั้งแต่ พ.ศ.2535 ที่จะต้องเคารพ คุ้มครอง และประกันสิทธิของเด็กที่จะมีสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ เพื่อให้พวกเขาใช้สิทธิเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องหวาดกลัวว่าจะถูกตอบโต้ สิทธิเหล่านี้ช่วยให้เด็กขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนและประเด็นปัญหาอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อตนเองได้”

เนื่องในวันเด็กแห่งชาติปี 2567 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เรียกร้องไปถึงรัฐบาลไทยให้ปฏิบัติตาม 3 ข้อ ดังนี้ 1.ปล่อยตัวเด็กทุกคนที่ถูกกักขังเพียงเพราะการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบโดยทันที อย่างไม่มีเงื่อนไข 2.ยุติการดำเนินคดีทั้งหมด ถอนคำพิพากษาเอาผิด และหยุดการข่มขู่คุกคามต่อเด็กที่ใช้สิทธิมนุษยชนโดยสงบ และ 3.แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศรับรองให้มีวิธีปฏิบัติระดับชาติที่สอดคล้องกับการคุ้มครอง การเคารพ  และส่งเสริมสิทธิของเด็กในการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ โดยสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 

วันเด็กแห่งชาติปีนี้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ชวนทุกคนติดแฮชแท็ก #WhatsHappeninginThailand #ThailandChildrenDay #วันเด็ก เพื่อทำให้ข้อเรียกร้องของเราส่งเสียงถึงรัฐบาลไทย ฝ่ายที่เกี่ยวข้องและคนทั่วโลก เพื่อทำให้รัฐไทยหยุดข่มขู่ ยุติการดำเนินคดีอาญาต่อเด็กที่ออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ

 

ข้อมูลพื้นฐาน

  • นับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2563 ถึงเดือน ธ.ค. 2566 Mob Data Thailand ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้บันทึกว่ามีจำนวนการชุมนุมอย่างน้อย 3,582 ครั้ง การชุมนุมในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีความหลากหลายในเชิงประเด็นที่ผู้เข้าร่วมเรียกร้อง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิด้านการศึกษา ความปลอดภัยและสิทธิมนุษยชนในโรงเรียนสิทธิทางการเมือง และ สิทธิกลุ่มชาติพันธ์ ชนเผ่าพื้นเมือง และผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น
  • มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ในปี 2563 เยาวชนรวมทั้งนักศึกษาและนักเรียนมัธยมอายุน้อยกว่า 18 ปี เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงโดยสงบหลายครั้งทั่วประเทศไทย การชุมนุมประท้วงเหล่านี้ ได้เริ่มจากพื้นที่ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยและขยายมาสู่ท้องถนน  ทางการไทยตอบโต้ปรากฏการณ์ดังกล่าวด้วยข่มขู่ การจับกุม และดำเนินคดีอาญากับผู้จัดและผู้เข้าร่วมการชุมนุมเหล่านี้ โดยเฉพาะการชุมนุมประท้วงที่มุ่งข้อเรียกร้องไปที่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ขบวนการชุมนุมประท้วงที่นำโดยเด็กและเยาวชน มีจุดเริ่มต้นมาจากความต้องการปฏิรูปประชาธิปไตย
  • ภายหลังได้ยกระดับข้อเรียกร้องไปรวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ การปฏิรูปทางสังคม และการยุติการปราบปรามผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐ การปรับปรุงระบบการศึกษา และความปลอดภัยในสถานศึกษา ผู้เข้าร่วมชุมนุมประท้วงยังได้มีการรณรงค์ในประเด็นความหลากหลายอื่น ๆ ด้วย เกี่ยวกับสิทธิของผู้หญิง ชนเผ่าพื้นเมือง ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นชนกลุ่มน้อย โดยทั้งนี้รูปแบบการชุมนุมประท้วงบนท้องถนนมีหลากหลาย เช่น งานเลี้ยง การโต้วาที แฟลชม็อบ การนั่งประท้วง การแสดงละคร และดนตรีสด การเดินแฟชั่น และงานศิลปะ
  • เด็กและเยาวชนยังมีการจัดกิจกรรมและการแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ ผู้ชุมนุมมีการใช้การล้อเลียน เสียดสี และภาพจากวัฒนธรรมป๊อปคัลเจอร์ เพื่อประกอบการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลง วัยรุ่นและเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งมักปรากฏตัวในเครื่องแบบนักเรียนหรือเสื้อผ้าสตรีทแฟชั่น ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นเหล่านี้

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: