TB-CERT ภายใต้สมาคมธนาคารไทย ยืนยันไม่สามารถใช้เสียงในการยืนยันตัวตนเพื่อโอนเงิน

กองบรรณาธิการ TCIJ 13 ก.พ. 2567 | อ่านแล้ว 2643 ครั้ง

TB-CERT ภายใต้สมาคมธนาคารไทย ยืนยันไม่สามารถใช้เสียงในการยืนยันตัวตนเพื่อโอนเงิน

ศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร (TB-CERT) ภายใต้สมาคมธนาคารไทย ยืนยันไม่สามารถใช้เสียงในการยืนยันตัวตนเพื่อโอนเงิน - ตำรวจ “ไม่ยืนยัน” แค่คุย 2 นาทีเงินหายจากบัญชี ชี้ยังไม่พบผู้เสียหาย หากมีให้รีบแจ้งความ พร้อมนำโทรศัพท์มาด้วย

13 ก.พ. 2567 เพจกระทรวงการคลัง : Ministry of Finance ศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร (TB-CERT) ภายใต้สมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก ขอชี้แจงกรณีที่มีข่าวการดูดเงินเพียงการโทรพูดคุย 2 นาที โดยไม่ต้องกดลิงก์ว่า ปัจจุบันธนาคารไม่มีการใช้เสียงในการยืนยันตัวตนเพื่อโอนเงิน ดังนั้นเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงและยังไม่พบเหตุการณ์ความเสียหายเกิดขึ้นจากกรณีดังกล่าว ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก

ระบบของธนาคารมีการป้องกันและพัฒนาการพิสูจน์ยืนยันตัวตนอย่างต่อเนื่อง เช่น มาตรการให้ยืนยันตัวตนผ่านการสแกนหน้า ควบคู่กับข้อมูลส่วนบุคคล และรวมถึงการกำหนดวงเงินในการทำธุรกรรม นอกจากนี้ TB-CERT ภายใต้สมาคมธนาคารไทย รวมถึงธนาคารสมาชิก ได้ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data Protection) ของลูกค้าทุกคน พร้อมปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อความปลอดภัยในการใช้บริการธนาคาร และสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและประชาชน

อย่างไรก็ดี ประชาชนต้องพึงระวัง

1. ไม่ดาวน์โหลด รวมถึงกดลิงก์ใด ๆ โดยเฉพาะจากบุคคลที่ไม่รู้จัก
2. ไม่สแกนหน้ากับโปรแกรมจากแหล่งอื่น ๆ นอกเหนือจากแหล่งที่ได้รับการควบคุมและรับรองความปลอดภัยจากผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการที่เป็น Official Store
3. เมื่อรู้ตัว หรือสงสัยว่ากำลังคุยกับมิจฉาชีพ ไม่แนะนำให้คุยต่อ เพราะอาจจะหลงเชื่อมิจฉาชีพ เนื่องจากมิจฉาชีพอาจจะมีข้อมูลจริงทำให้พูดคุยแล้วยิ่งหลงเชื่อ
4. หากสงสัย ให้โทรสอบถามที่เบอร์ทางการของหน่วยงานโดยตรง

หากลูกค้าธนาคารพบธุรกรรมผิดปกติเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว หรือมีข้อสงสัย ขอให้ติดต่อคอลเซ็นเตอร์ หรือสาขาของธนาคารที่ลูกค้าใช้งานทันที หรือ ติดต่อ ศูนย์ AOC สายด่วน 1441 เพื่อแจ้งตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของการทำธุรกรรม โดยธนาคารจะดูแลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด

ตำรวจ “ไม่ยืนยัน” แค่คุย 2 นาทีเงินหายจากบัญชี ชี้ยังไม่พบผู้เสียหาย

ด้าน เพจ POLICETV สถานีโทรทัศน์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รายงานว่าพล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อ กรณี อดีต “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ออกมาเผยแพร่กับสื่อมวลชน ว่ากลุ่มมิจฉาชีพมีเทคโนโลยีใหม่ในการดูดเงินจากบัญชีธนาคารของผู้เสียหาย เพียงการหลอกล่อให้ผู้เสียหายคุยโทรศัพท์ด้วย 2 นาทีขึ้นไป โดยไม่จำเป็นต้องให้ผู้เสียหายกดลิงก์ หรือติดตั้งแอปพลิเคชันใด ๆ นั้น

จากการตรวจสอบข้อมูลการรับแจ้งความคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ของ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ยังไม่พบว่ามีแจ้งความร้องทุกข์ในกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด โดยกรณีของการถูกดูดเงินออกจากบัญชีธนาคารที่พบนั้น มีสาเหตุมาจากการถูกหลอกให้ส่งข้อมูลบัญชีผู้ใช้ รหัสผ่าน และ OTP หรือถูกหลอกให้กดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมเครื่องระยะไกล หรือแอปดูดเงิน เพื่อควบคุมโทรศัพท์ของเหยื่อแล้วถอนเงินออกจากบัญชีธนาคารผ่านแอปธนาคารในโทรศัพท์จนเงินหมดบัญชี

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอเรียนมายังพี่น้องประชาชน ว่าอย่าตื่นตระหนกและวิตกกังวลกับกรณีดังกล่าว เพราะจากการตรวจสอบจากหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยังไม่พบข้อมูลว่ามีกลุ่มมิจฉาชีพที่มีเทคโนโลยีในลักษณะดังกล่าว ประกอบกับยังไม่มีผู้เสียหายเข้ามาแจ้งความร้องทุกข์ กรณีถูกดูดเงินจากบัญชีธนาคาร จากการคุยโทรศัพท์กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์เกิน 2 นาที ตามที่มีการกล่าวอ้างแต่อย่างใด

ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายจาก การคุยโทรศัพท์กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์เกิน 2 นาที โดยไม่ได้มีการกดลิงก์กรอกข้อมูลส่วนบุคคลหรือรหัสผ่าน และไม่ได้ติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมเครื่องระยะไกล แล้วถูกดูดเงินออกจากบัญชีธนาคาร ให้รีบมาแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยเร็ว พร้อมกับนำโทรศัพท์มือถือเครื่องที่ท่านใช้งานมาด้วย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการตรวจพิสูจน์ว่าคนร้ายใช้เทคโนโลยีใดในการก่อเหตุ เพื่อหาแนวทางการป้องกันต่อไป

สุดท้ายนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ บนเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th หรือสายด่วน 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: