เมื่อช่วงเดือน ก.ค. 2567 เบนาร์นิวส์ รายงานว่า สะพานปลาจังหวัดปัตตานีมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สองของประเทศไทย รองจากสะพานปลามหาชัย ในสมุทรสาคร ที่นี่คือแหล่งผลิตอาหารทะเลที่สำคัญของประเทศ และเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง
นอกเหนือจากรายได้ที่มาจากการค้าขายอาหารทะเล สะพานปลายังก่อให้เกิดการจ้างงานเป็นจำนวนมาก ทั้งแรงงานที่ทำงานบนเรือประมง และแรงงานที่ทำหน้าที่รับช่วงต่อ หลังจากอาหารทะเลขึ้นจากเรือจนถึงมือผู้บริโภค นำมาซึ่งการกระจายรายได้ไปสู่ประชาชนในพื้นที่
ธุรกิจเหล่านี้เริ่มที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่แรงงานผู้หญิงชาวมุสลิมในพื้นที่ โดยเฉพาะหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้แรงงานข้ามชาติที่เคยเป็นกำลังหลัก ต่างเดินทางกลับภูมิลำเนา
แต่เดิมนั้นผู้หญิงมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ไม่นิยมออกมาทำงานนอกบ้าน งานที่นิยมทำส่วนใหญ่คือ การประกอบอาชีพค้าขาย ทำสวนยางพารา รวมถึงเป็นแม่บ้าน เลี้ยงดูลูก และทำงานบ้านทั่วไป
เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง ความต้องการแรงงานในธุรกิจประมงเริ่มกลับมามีมากขึ้น ประกอบกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทำให้ผู้หญิงมุสลิมในพื้นที่ปัตตานีชักชวนกันเข้าทำงานในตลาดแรงงานประมง ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวน 700-800 ราย คิดเป็นประมาณ 400 ครัวเรือน โดยส่วนใหญ่มาจากตำบลบานา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
ภายหลังมีการชักชวนกันเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลเพิ่มมากขึ้น โดยมีปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นเหตุผลหลัก ขณะที่ในมุมของผู้ประกอบการเอง ก็เริ่มมีความต้องการแรงงานหญิงมุสลิมมากขึ้นด้วย ภายหลังจากได้ลองจ้างงานมาระยะหนึ่ง
แวะมีเนาะ ยูโซะ วัย 53 ปี แรงงานคัดปลาที่สะพานปลาจังหวัดปัตตานี คือ กรณีตัวอย่างของแรงงานมุสลิมที่ประกอบอาชีพคัดขนาดปลามากว่าสามสิบปี เธอเริ่มต้นจากการเป็นแรงงานคัดขนาดปลา จนปัจจุบันได้รับความไว้วางใจให้เป็นหัวหน้าแรงงานคัดขนาดปลาของแพปลาที่เธอทำงานอยู่
ในวันที่เรือประมงเทียบท่า หน้าที่ของแวมีเนาะคือ การติดต่อประสานงานกับแรงงานหญิงที่ยังว่างอยู่และต้องการงานทำงานในวันนั้น นั่นทำให้เธอมีรายได้ในฐานะผู้ประสานงาน ที่แรงงานคัดปลาที่เธอชักชวนจะต้องหักค่าแรง 10–20 บาท ต่อวัน เป็นค่าประสานงานให้กับเธอ ขึ้นอยู่กับปริมาณที่แต่ละคนคัดได้ว่าจะต้องหักเท่าไหร่
แม้ว่างานคัดขนาดปลาที่หญิงมุสลิมส่วนใหญ่เป็นแรงงานนั้น มีรายได้ที่ไม่มากนักและไม่แน่นอน เพราะพวกเธอจะมีโอกาสได้ทำงานก็ต่อเมื่อมีเรือประมงเข้าเทียบท่า ซึ่งในหนึ่งเดือนมีวันทำงานไม่ถึงสิบวัน แต่แวมีเนาะ เผยว่า เงินที่ได้มาก็พอที่จะจุนเจือค่าใช้จ่ายภายในครอบครัวได้
“เดี๋ยวนี้ดีหน่อยตรงที่เราได้เป็นหัวหน้าแล้ว เลยได้ค่าประสานงานมาเพิ่ม และเถ้าแก่เขาก็เพิ่มให้เราในส่วนนี้ที่เราหาคนให้เขาด้วยเหมือนกัน ถ้าเป็นสมัยก่อนมีแต่ค่าคัดปลา บางวันได้ 100 บาท บางวันได้ 70 บาท เยอะสุดที่เคยได้คือ 250 บาท แต่ก็นาน ๆ ที”
“ข้อดีคือ เราได้ปลากลับบ้านไปกิน ไม่ต้องเสียเงินซื้อเนื้อสัตว์ ประหยัดได้เยอะเลย” แวมีเนาะ กล่าว
เหล่าคนงานหญิงขณะคัดแยกปลาลงตะกร้า ที่แพปลาปัตตานี วันที่ 8 กรกฎาคม 2567 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)
แวะมีเนาะ ยูโซะ ขณะทำการคัดขนาดปลาลงตะกร้าต่างสี ที่แพปลาปัตตานี วันที่ 8 กรกฎาคม 2567 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)
คนงานหญิงชูปลาดาบเงินใหญ่ เป็นปลาที่จับได้มากในทะเลฝั่งอ่าวไทย นิยมทำเมนูทอดและแกง แพปลาปัตตานี วันที่ 8 กรกฎาคม 2567 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)
แวะมีเนาะ ยูโซะ หัวหน้าแรงงานคัดปลา ยืนคุมลูกน้องคัดแยกขนาดปลาลงแต่ละตะกร้า แพปลาปัตตานี วันที่ 8 กรกฎาคม 2567 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)
คนงานชาย-หญิง ขณะนำอาหารทะเลจากแพปลาไปส่งต่อที่ตลาดค้าส่ง ที่อยู่ไม่ไกลออกไป จังหวัดปัตตานี วันที่ 8 กรกฎาคม 2567 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)
คนงานหญิงขณะจดจำนวนปลา บริเวณตลาดค้าส่งอาหารทะเลสด ปัตตานี วันที่ 8 กรกฎาคม 2567 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)
คนงานหญิงขึ้นรถกะบะที่นายจ้างจัดให้ไปส่งแรงงาน ณ จุดเดียวกับที่รับมา หลังเสร็จงานวันนั้น จังหวัดปัตตานี วันที่ 8 กรกฎาคม 2567 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ