ม.มหิดล คิดค้นนวัตกรรมกระดาษทดสอบไนไตรต์ ตรวจสอบความปลอดภัยอาหารแปรรูป-น้ำดื่ม

กองบรรณาธิการ TCIJ 14 พ.ย. 2567 | อ่านแล้ว 4065 ครั้ง

ม.มหิดล คิดค้นนวัตกรรมกระดาษทดสอบไนไตรต์ ตรวจสอบความปลอดภัยอาหารแปรรูป-น้ำดื่ม

นวัตกรรมใหม่จากมหาวิทยาลัยมหิดล สู่การพัฒนาชุดตรวจสอบไนไตรต์ต้นทุนต่ำ ใช้งานง่ายเพียงถ่ายรูปผ่านสมาร์ตโฟน ช่วยยกระดับความปลอดภัยในอาหารแปรรูปและน้ำดื่ม สอดรับมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล

ดร.ชนิกา ภิญโญรสประทุม นักวิจัยคุณภาพจากสถาบันวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และตรวจสารในการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับทีมวิจัยภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้พัฒนานวัตกรรมชุดกระดาษทดสอบเพื่อตรวจวัดปริมาณไนไตรต์ในอาหารและสิ่งแวดล้อม ที่สามารถใช้งานได้ทั้งในและนอกห้องปฏิบัติการ

นวัตกรรมดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการใช้โซเดียมไนไตรต์ในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปต่างๆ เช่น ไส้กรอก เบคอน ที่มีการเติมสารนี้เพื่อควบคุมแบคทีเรียก่อโรคและเพิ่มสีสันให้น่ารับประทาน ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดปริมาณการใช้โซเดียมไนไตรต์ไว้ไม่เกิน 0.2 กรัมต่ออาหารแปรรูปเนื้อสัตว์ 1 กิโลกรัม

ชุดทดสอบนี้ผลิตจากกระดาษเคลือบแวกซ์ด้วยความร้อนและสารตัวนำการทำปฏิกิริยา มีต้นทุนการผลิตต่ำ วิธีการใช้งานทำได้ง่ายเพียงถ่ายรูปผ่านกล้องสมาร์ตโฟนและเทียบสีกับฐานข้อมูล โดยความเข้มของสีจะแปรผกผันกับปริมาณไนไตรต์ที่พบ กล่าวคือ ยิ่งสีอ่อนลงเท่าไหร่ แสดงว่ามีปริมาณไนไตรต์มากขึ้นเท่านั้น

นอกจากการตรวจสอบในอาหารแปรรูป นวัตกรรมนี้ยังสามารถใช้ทดสอบในอาหารสัตว์และน้ำดื่ม ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้กำหนดมาตรฐานปริมาณไนไตรต์ในน้ำดื่มไว้ไม่เกิน 0.2 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร การควบคุมปริมาณไนไตรต์มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากหากร่างกายได้รับในปริมาณมากเกินไป จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของสารในเม็ดเลือดแดง ทำให้เกิดการขัดขวางการลำเลียงออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กที่มีความเสี่ยงสูง

อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยยังพบข้อจำกัดในการใช้งานนอกห้องปฏิบัติการ เนื่องจากปัจจัยด้านแสงในการถ่ายภาพอาจส่งผลต่อความแม่นยำในการแปลผล ในขณะที่การใช้งานภายในห้องปฏิบัติการสามารถทำได้แม่นยำกว่าโดยการหยดสารตัวอย่างลงบนชุดกระดาษทดสอบและเทียบสีกับฐานข้อมูลได้ทันที

ผลงานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ "Science, Engineering and Health Studies" และอยู่ในระหว่างการพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานต่อไป

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: