เหยื่อทารุณแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เรื่องเล่าซ้ำ ย้ำปัญหาในเอเชียอาคเนย์

กองบรรณาธิการ TCIJ 14 ธ.ค. 2567 | อ่านแล้ว 4508 ครั้ง

เหยื่อทารุณแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เรื่องเล่าซ้ำ ย้ำปัญหาในเอเชียอาคเนย์

VOA เผยสถานการณ์แก๊งคอลเซ็นเตอร์ยังหนัก ล่าสุดแม่ชาวมาเลเซียถูกเรียกค่าไถ่ลูกชายที่ถูกทรมานในเมียนมา กว่า 16,000 ดอลลาร์ หลังถูกลวงไปตั้งแต่เดือน ต.ค. 2024 สะท้อนปัญหาเรื้อรังในภูมิภาค โดยยูเอ็นประเมินมีเหยื่อกว่า 2 แสนคนในเมียนมาและกัมพูชา สร้างรายได้หลายพันล้านดอลลาร์ต่อปี ผู้เชี่ยวชาญชี้ต้องเร่งกดดันประเทศต้นตอปราบปรามอย่างจริงจัง | ที่มาภาพ: Humanity Research Consultancy

VOA รายงานเมื่อช่วงต้นเดือน ธ.ค. 2024 ว่า การถูกหลอกไปทำงาน ถูกทำร้ายและเรียกค่าไถ่ในต่างแดน กลายเป็นเรื่องเล่าซ้ำ ๆ ของเหยื่อและญาติที่ถูกลวงไปเป็นแรงงานแก๊งมิจฉาชีพออนไลน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

กรณีล่าสุดมาจากแม่ชาวมาเลเซีย ที่ลูกชายวัย 24 ปี บอกว่าจะไปเที่ยวไทย แต่มาทราบภายหลังว่าไปอยู่ในการจองจำของแก๊งมิจฉาชีพในเมียนมาตั้งแต่เดือน ต.ค. 2024 โดยเขาถูกทำร้าย ทุบตี และโดนไฟฟ้าช็อต อ้างอิงจากวิดีโอที่แม่ได้รับจากผู้คุมขัง และส่งต่อให้ VOA

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่แล้ว เธอส่งเงินค่าไถ่ราว 16,000 ดอลลาร์ (ราว 545,000 บาท) หวังจะได้ตัวลูกชายคืน แต่ก็ไม่มีวี่แววของความหวัง

เรื่องราวลักษณะนี้ถูกเล่าขานซ้ำหลายครั้งในหลายกรณี ทั้งในมาเลเซีย ในไทย รวมถึงประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เจค ซิมส์ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบัน United States Institute of Peace ที่กรุงวอชิงตัน กล่าวว่า “ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนหลายแสนคนถูกพามาที่ภูมิภาคนี้ หลายคนมาผ่านการบังคับ หลอกลวงและการค้ามนุษย์ เพื่อให้มาข้องแวะกับอุตสาหกรรมองค์กรอาชญากรรมไซเบอร์ระดับโลกที่ทำเงินได้มหาศาล”

ซิมส์กล่าวว่า ฐานปฏิบัติการหลักของแก๊งอาชญากรเหล่านี้อยู่ในเมียนมา ลาว และกัมพูชา โดยใช้ประโยชน์จากปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ช่องว่างด้านการบริหารประเทศและระบบนิติรัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพ

รัฐบาลทั้งสามประเทศไม่ได้ตอบรับคำขอความเป็นจาก VOA

เมื่อปีที่แล้ว องค์การสหประชาชาติประเมินว่ามีคนมากกว่า 200,000 คนถูกบังคับให้ทำงานให้แก๊งมิจฉาชีพในเมียนมาและกัมพูชา

รายงานจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ระบุว่าอาชญากรไซเบอร์ “ทำรายได้หลักหลายพันล้านดอลลาร์ต่อปี”

ซิมส์จาก United States Institute of Peace กล่าวว่าเหยื่อที่ถูกหลอกไปทำงานส่วนใหญ่มาจากเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแม้ที่ผ่านมาจะมีการพูดถึงปัญหานี้ทั้งในระดับท้องถิ่นและนานาชาติ แต่ดูเหมือนแก๊งอาชญากรยังคงขยายตัว

เขากล่าวว่า “อุตสาหกรรมนี้หลอกลวงเงินจากโลกเป็นหลักหลายหมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี ดังนั้นมันมีแรงจูงใจอย่างมากให้กลุ่มอาชญากรยังทำงานต่อไป”

ที่ผ่านมา เหยื่อมักถูกหลอกลวงว่าจะได้ทำงานที่ดี แต่พอไปถึงสถานที่จริงก็ถูกบังคับให้หลอกลวงผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ให้นำเงินมาลงในการลงทุนที่ไม่มีอยู่จริง โดยต้องทำงานวันละ 15 ชั่วโมงโดยไม่มีวันหยุด และหากไม่ยอมทำก็อาจถูกทำร้ายร่างกาย

ซิมส์ระบุว่ามีรายงานการทรมานและการเสียชีวิตอย่างลึกลับ ไม่เพียงเท่านั้น เหยื่อหลายคนไม่รู้มาก่อนเลยว่าต้องมาทำงานเป็นมิจฉาชีพจนกระทั่งเริ่มงาน แต่ในหลายกรณีก็ยอมรับความเสี่ยง เพราะมีความจำเป็นต้องใช้เงิน

ฟิล โรเบิร์ตสัน ผู้อำนวยการ Asia Human Rights and Labor Advocates องค์กรให้คำปรึกษาในกรุงเทพฯ กล่าวว่า ประเทศอื่นในภูมิภาคต้องหาแนวทางกดดันและต่อรอง ที่บีบให้กัมพูชา ลาว และเมียนมา ยอมเปลี่ยนท่าทีเรื่องการจัดการกับอาชญากรรมไซเบอร์ในประเทศ

เขากล่าวว่า “หากไม่มี (แรงกดดันที่มากพอ) เครือข่ายอาชญากรรมในประเทศเหล่านี้ก็จะลอยนวลต่อไป”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: