ประมงพื้นบ้าน 15 จังหวัดชายทะเล ค้านแก้กฎหมายประมง

กองบรรณาธิการ TCIJ 14 มี.ค. 2567 | อ่านแล้ว 22575 ครั้ง


ประมงพื้นบ้าน 15 จังหวัดชายทะเล ยื่นหนังสือถึงสภาผ่านผู้ว่าฯ ของแต่ละจังหวัด ค้านแก้กฎหมายประมงฯ ชี้ กม.ใหม่ยกเลิกการคุ้มครองประมงพื้นบ้านและชุมชนประมงท้องถิ่น ด้านผู้แทนชุมชนประมง 5 จังหวัดภาคใต้เปิดหลากผลกระทบชี้ลดความสำคัญในการช่วยเหลือการประมงพื้นบ้านหรือการประมงขนาดเล็กลง เหตุตัดข้อความสำคัญเพื่อปกป้องคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนชาวประมงพื้นบ้านและชุมชนประมงท้องถิ่นออก พร้อมเปิดให้ลดเขตทะเลชายฝั่งลงได้อีกต่ำกว่า 1.5 ไมล์ทะเล เอื้อประโยชน์ให้ชาวประมงพาณิชย์ทุกประเภทสามารถเข้ามาทำประมงด้วยเครื่องมือหนักในเขตชายฝั่งได้พร้อมเปิดช่องให้นายทุนสามารถลงทุนทำการประมงด้วยเรือขนาดเล็ก และสวมรอยเป็น “ประมงพื้นบ้าน”

เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2567 ชาวประมงพื้นบ้านใน 15 จังหวัดชายทะเลทั่วประเทศไทย ได้ร่วมกันส่งตัวแทนเข้ายื่นหนังสือ ถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 พ.ศ. .... ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดของแต่ละจังหวัด ตลอดทั้งเช้าและบ่าย โดยในหนังสือ ระบุ ขอให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด เร่ง ส่งหนังสือและเอกสารข้อกังวลและข้อเสนอต่อการแก้ไขกฎหมายประมงฯของชาวประมงพื้นบ้าน ถึงสภาผู้แทนราษฎร โดยเร็ว

สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติเห็นชอบในหลักการ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 พ.ศ. .... ตามที่คณะรัฐมนตรี เสนอ พร้อมกับฉบับของพรรคการเมืองต่างๆ อีก 7 ฉบับ และได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติฯดังกล่าว จำนวน 37 คน ไปพิจารณารายละเอียด โดยใช้ร่างฉบับของคณะรัฐมนตรีเป็นฉบับหลัก ในการพิจารณา และมีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ แล้วสองครั้ง

ปรากฏว่า ในวันที่ 13 มีนาคม 2567 กลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน ใน 15 จังหวัดชายทะเล ตบเท้าเดินทางเข้ายื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด ถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 พ.ศ. ....

ผู้แทนชุมชนประมงในจังหวัดปัตตานีระบุร่างกฎหมายประมง ใหม่ฯตัดข้อความสำคัญเพื่อปกป้องคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนชาวประมงพื้นบ้านและชุมชนประมงท้องถิ่นออก

นายสะมะแอ เจะมูดอ ผู้แทนชุมชนประมงในจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า วันนี้ตนและตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านได้เข้ายื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ถึงสภาผู้แทนราษฎร ในครั้งนี้ เพราะได้รับทราบเนื้อหา ร่างกฎหมายประมง ใหม่ฯ โดยเฉพาะฉบับร่างของคณะรัฐมนตรี ได้มีแก้ไขใหม่ โดยอ้างว่า แก้ไขเพื่อประมงพื้นบ้าน แต่ กลับ มีการตัดข้อความสำคัญที่กฎหมายประมงเดิมเคยระบุวัตถุประสงค์ ไว้ว่า “เพื่อปกป้องคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนชาวประมงพื้นบ้านและชุมชนประมงท้องถิ่น” นั้น ตนและชาวประมงพื้นบ้านปัตตานี เห็นว่า เป็นการลดความสำคัญในการช่วยเหลือการประมงพื้นบ้านหรือการประมงขนาดเล็กลง ทั้งที่ทุกฝ่ายทราบดีว่า ชาวประมงพื้นบ้าน กับ ชาวประมงพาณิชย์ แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ประเทศไทยควรมีมาตรการ ปกป้อง ส่งเสริม พัฒนาขีดความสามารถชาวประมงพื้นบ้านขนาดเล็กเอาไว้เป็นการเฉพาะที่มีมาตรการแตกต่างจากการประมงพาณิชย์

นายสะมะแอ กล่าวอีกว่า “การที่มีการแก้ไขโดยการตัดข้อความนี้ ออก เท่ากับว่า ประเทศไทยไม่ต้องการ คุ้มครองและสนับสนุนชาวประมงพื้นบ้านอีกต่อไป เปลี่ยนเป็นให้การช่วยเหลือการประมงรวมๆไปกับการประมงพาณิชย์ ที่มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ไม่ต่างกับการให้คนตัวใหญ่กับคนตัวเล็กแข่งขันกันอย่างไม่เป็นธรรม ตั้งแต่ต้น”

ประมงพื้นบ้านจากจังหวัดนครศรีธรรมราชระบุร่าง กม.ประมงใหม่ที่เปิดให้ลดเขตทะเลชายฝั่งลงได้อีกต่ำกว่า 1.5 ไมล์ทะเล เอื้อประโยชน์ให้ชาวประมงพาณิชย์เกินไปเพราะทำให้ประมงพาณิชย์ทุกประเภทสามารถเข้ามาทำประมงด้วยเครื่องมือหนักในเขตชายฝั่งได้

ด้านนายวิรชัช เจ๊ะเหล็ม ชาวประมงพื้นบ้านจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือ ณ ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช ในวันเดียวกัน พร้อมระบุว่า “การแก้ไขกฎหมายประมงในครั้งนี้ หลายมาตราเป็นการจงใจทำลายชาวประมงพื้นบ้าน ด้วยการเปิดให้ลดเขตทะเลชายฝั่งลงได้อีกต่ำกว่า 1.5 ไมล์ทะเล ซึ่งต่ำกว่า 2,800 เมตร น้อยกว่า การกำหนดเขตห้ามอวนลากอวนรุนที่ 3,000 เมตร ในอดีตเสียอีก ถือว่าเป็นการออกกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้ชาวประมงพาณิชย์ เกินไป โดยมีผลทำให้ ประมงพาณิชย์ทุกประเภทสามารถเข้ามาทำประมงด้วยเครื่องมือหนัก ในเขตชายฝั่งได้ ทั้งที่เขตทะเลชายฝั่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญที่สุดของทะเลไทย” และยังแก้กฎหมายลดโทษสำหรับผู้กระทำผิดการประมงลงอีกนั้น ยิ่งทำให้ผู้ทำการประมงผิดกฎหมายย่ามใจ ไม่เกรงกลัวกฎหมาย และจะเกิดผลร้ายทำลายแหล่งอาหารของชุมชนท้องถิ่น แน่นอน ในอนาคต” นายวิรชัช กล่าวย้ำ

ประมงพื้นบ้านประจวบคีรีขันธ์ชี้ร่าง กม.ประมงฉบับแก้ไขใหม่ไม่มีแผนการส่งเสริมการประมงพื้นบ้านทั้งที่เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในบรรดาผู้ประกอบการประมงทั้งหมด

นายจิรศักดิ์ มีฤทธิ์ ชาวประมงพื้นบ้าน จากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้เดินทางเข้าร่วมการยื่นหนังสือที่ ศาลากลางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในวันเดียวกัน กล่าวว่า “ในขณะที่กฎหมายยกเลิกการคุ้มครองช่วยเหลือประมงพื้นบ้าน โดยอ้างว่าจะส่งเสริมไปพร้อมกับการประมงอื่นๆ แต่ตนอ่านแล้ว พบว่า ในร่างกฎหมายฉบับเดียวกัน กลับกำหนดให้ส่งเสริมการประมงพาณิชย์คู่ไปกับประมงพื้นบ้านและประมงน้ำจืด ไม่ต้องปกป้องชุมชนท้องถิ่น, กำหนดให้ส่งเสริมการประมงนอกน่านน้ำไทย กำหนดให้รัฐบาล ต้องมีแผนในการส่งเสริมการประมงในน่านน้ำ, กำหนดให้มีแผนส่งเสริมการประมงนอกน่านน้ำ, กำหนดให้มีแผนส่งเสริมการเพาะเลี้ยง, ให้มีแผนส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการประมง แต่กลับไม่มี “แผนการส่งเสริมการประมงพื้นบ้าน” ทั้งที่เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในบรรดาผู้ประกอบการประมงทั้งหมด แต่อย่างใด

ประมงพื้นบ้านสตูลระบุการแก้ไขกฎหมายประมงฉบับใหม่เปิดช่องให้นายทุนสามารถลงทุนทำการประมงด้วยเรือขนาดเล็ก และสวมรอยเป็น “ประมงพื้นบ้าน” แทนชาวประมงพื้นบ้านในท้องถิ่น เสียเอง

ทางด้านหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสตูล ศาลากลางจังหวัดสตูล นายเหลด เมงไซ หนึ่งในชาวประมงพื้นบ้านที่เดินทางเข้ายื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า นอกจากกฎหมาย ยกเลิกข้อความให้ การคุ้มครองประมงพื้นบ้านและชุมชนประมงท้องถิ่นแล้ว สิ่งที่ตนเจ็บปวดที่สุด คือการ “แก้ไขกฎหมายเปิดช่องให้นายทุนสามารถลงทุนทำการประมงด้วยเรือขนาดเล็ก และสวมรอยเป็น “ประมงพื้นบ้าน” แทนชาวประมงพื้นบ้านในท้องถิ่น เสียเอง” เท่ากับเป็นการโดยเปิดช่องให้ นักลงทุน สามารถลงทุนทำประมงใช้ “อวนลากคู่, อวนลากเดี่ยว.อวนล้อมจับ, อวนปั่นไฟจับปลากะตัก,อวนล้อมจับกะตัก ,เรือคราดทุกชนิด ประกอบกับเรือต่ำกว่าสิบตันกรอส ได้ โดยต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็น “ประมงพื้นบ้าน” แถมยังสามารถมีใบอนุญาตประมงดังกล่าว ได้ ไม่จำกัดจำนวน โดยจงใจตัดคำว่า “จะออกใบอนุญาตให้แก่บุคคลใดเกินจํานวนที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดมิได้” ที่มีอยู่ในกฎหมายเดิมทิ้งไป

ประมงพื้นบ้านตรังชี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประมงไทยที่กม.ประมงฉบับแก้ไขใหม่มีการ ปล่อยผี “อวนล้อมปั่นไฟด้วยอวนตาถี่” ให้ทำประมงในเวลากลางคืนที่จะส่งผลกระทบต่อนิเวศชายฝั่งของทะเลได้

ในวันเดียวกัน นายแสวง ขุนอาจ ชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง เข้าร่วมการยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ถึงสภาผู้แทนราษฎร ณ หน้าศาลากลางจังหวัดตรัง กล่าวว่า อีกสิ่งหนึ่งที่น่าตกใจอย่างมาก สำหรับ ร่างกฎหมายประมงใหม่ ที่กำลังอยู่ในสภา คือ มีการ ปล่อยผี “อวนล้อมปั่นไฟด้วยอวนตาถี่” ให้ทำประมงในเวลากลางคืนได้ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประมงไทย

นายแสวง กล่าวว่า เครื่องมืออวนตาถี่ที่ตีวงล้อมจับ เป็นเครื่องมือที่เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรสัตว์น้ำวัยอ่อน และพันธ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจอย่างหนัก ประเทศไทยห้ามใช้โดยเด็ดขาดมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2526 พวกตนและชาวประมงพื้นบ้านทั่วประเทศเคยเรียกร้องให้ยกเลิกการจับสัตว์น้ำด้วยอวนตาถี่ในเวลากลางคืน มาต่อเนื่อง ตั้งแต่สมัย ปี 2540 เป็นต้นมา และในกฎหมายประมงปี 2558 ได้กำหนด “ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่าสองจุดห้าเซนติเมตร ทําการประมงในเวลากลางคืน” แต่ ร่างกฎหมายประมงฉบับใหม่รอบนี้ คณะรัฐมนตรี กลับเสนอให้รัฐสภาแก้กฎหมายโดยซ่อนเนื้อหา “ปล่อยผีอวนล้อมปั่นไฟให้ทำประมง” แม้จะอ้างว่าให้ทำในเขต 12 ไมล์ทะเล นับจากแนวทะเลชายฝั่ง แต่พื้นที่ดังกล่าว เป็นเส้นทางเดินสัตว์น้ำ และหลายจุดเป็นแหล่งสัตว์น้ำวัยอ่อน สัตว์น้ำหายาก และเป็นพื้นที่ทำประมงพื้นบ้าน การแก้กฎหมายเช่นนี้ ยิ่งทำลายพันธ์สัตว์น้ำ ทำลายเศรษฐกิจการ

อนึ่ง แหล่งข่าวในเครือข่ายประมงพื้นบ้าน แจ้งว่าหากไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา หรือมีแนวโน้มว่า คณะกรรมาธิการฯ ยืนยันตามร่างของคณะรัฐมนตรี จะมีการรวมตัวชาวประมงพื้นบ้านทั่วประเทศ เดินทางไปร้องเรียนยื่นหนังสือที่ รัฐสภาพร้อมกัน อีกครั้งเร็วๆ นี้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: