การบริหารจังหวัดชายแดนใต้: สับสน ซ้ำซ้อน ยุ่งเหยิง

อาทิตยา เพิ่มผล 14 ส.ค. 2567 | อ่านแล้ว 7183 ครั้ง

ความซ้ำซ้อนในโครงสร้างและหน่วยงานราชการในการบริหารสถานการณ์ภาคใต้ เป็นที่มาของความสับสนในการใช้จ่ายงบประมาณที่มาจากเงินภาษีของประชาชน โดยตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยใช้งบประมาณไปแล้วเกือบ 5.4 แสนล้านบาทเพื่อควบคุมและบริหารสถานการณ์ชายแดนใต้

ท้องถิ่นสร้าง สื่อสอบ

สารคดีข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนชุดนี้ผลิตภายใต้โครงการ สื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่น เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ประชาไท เพื่อบอกเล่าถึงเรื่องราวและปมปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นทั่วไทยในแง่มุมที่แตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่ปัญหาการบริหาร การเมือง การปกครอง สิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิคนพิการ คนไร้บ้าน ไร้ที่พึ่ง การศึกษา เด็กและเยาวชน กีฬา ไปจนถึงเรื่องธุรกิจ อันเกี่ยวเนื่องกับการทำงานของท้องถิ่นและชุมชน

คำว่าท้องถิ่นในที่นี้ได้รับการตีความอย่างกว้าง ว่าหมายถึงรูปแบบของความสัมพันธ์ที่ชุมชนในท้องถิ่นนั้นมีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้อง ไม่ได้หมายความเฉพาะรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นของกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น ถึงแม้ว่าสารคดีในชุดนี้จำนวนหนึ่งจะพูดถึงประเด็นปัญหาในกรอบขององค์กรเหล่านั้นก็ตาม

ธรรมาภิบาล (Good Governance) นั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่หน่วยการเมืองหรือการบริหารประเทศเท่านั้น หากหมายรวมถึงองค์กรภาคประชาชน ประชาสังคมหรือชุมชนต่างๆ ด้วยเหตุนี้เราจึงมีการตรวจสอบพฤติกรรมทางเพศของชุมชนนักกิจกรรมทางสังคม-การเมือง อยู่ในสารคดีชุดนี้ด้วย

  • โครงสร้างการบริหารสถานการณ์จังหวัดชายแดนใต้ได้รับการปรับเปลี่ยนหลายครั้ง โดยแปรผันตามอำนาจและนโยบายของรัฐบาลในกรุงเทพฯ มากกว่าสถานการณ์ในพื้นที่ โดยปัจจุบันมีโครงสร้างอย่างศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งเป็นส่วนราชการรูปแบบเฉพาะที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
  • หลังรัฐประหาร 2557 มีการใช้อำนาจพิเศษของหัวหน้า คสช. หรือ ม.44 กำหนดให้นายทหารสามารถมาดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ ศอ.บต. ได้ด้วย จากที่ก่อนหน้านี้ต้องเป็นพลเรือนเท่านั้น
  • แม้ว่า ศอ.บต. และองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) พื้นที่ชายแดนใต้จะมีส่วนทับซ้อนกันอยู่มาก อย่างไรก็ตามก็ยังหนุนเสริมกันได้ แต่หน่วยงานส่วนกลางอย่าง ศอ.บต. กับ กอ.รมน. กลับมีการทับซ้อนกันในเรื่องภาระงานและงบประมาณ
  • ความซ้ำซ้อนในโครงสร้างและหน่วยงานราชการในการบริหารสถานการณ์ภาคใต้ เป็นที่มาของความสับสนในการใช้จ่ายงบประมาณที่มาจากเงินภาษีของประชาชน โดยตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยใช้งบประมาณไปแล้วเกือบ 5.4 แสนล้านบาทเพื่อควบคุมและบริหารสถานการณ์ชายแดนใต้
  • มีข้อเสนอของประธานคณะขับเคลื่อนการพูดคุยสันติสุขระดับพื้นที่ เสนอให้ภาครัฐโดยเฉพาะ ศอ.บต. และ กอ.รมน. ปรับบทบาท เพื่อให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นต่อโครงการหรือนโยบายต่างๆ ได้มากขึ้น ด้านรอมฎอน ปันจอร์ สื่อมวลชนที่ปัจจุบันเป็น สส.ฝ่ายค้าน เสริมด้วยว่า นอกจากการเจรจาสันติสุขระหว่างรัฐบาลไทยและ BRN แล้ว ยังต้องแสวงหาข้อตกลงสันติภาพที่มาจากการเห็นพ้องกันของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นหลักประกันถึงการบรรลุสันติภาพที่ยั่งยืน

สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาสและบางส่วนของจังหวัดสงขลา ตกอยู่ในสถานการณ์ความรุนแรงมาเป็นเวลาถึง 20 ปีแล้ว ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนไปจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนาม “ค่ายปิเหล็ง” อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้รายงานว่า นับแต่วันนั้นเป็นต้นมาจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวันนับได้มากถึง 22,621 เหตุการณ์ จนมีผู้เสียชีวิตถึง 7,611 ราย บาดเจ็บ 14,208 คน

สถานการณ์เช่นนั้นทำให้ทั้งภาครัฐและประชาชนในพื้นที่อยู่ไม่เป็นสุข ชีวิตหาความสงบไม่ได้ ตกอยู่ในความหวาดหวั่นตลอดเวลาว่าจะเกิดเหตุขึ้นมาอีกเมื่อไหร่ รัฐบาลในกรุงเทพฯ ดิ้นรนหาหนทางที่จะสร้างสันติภาพมาตลอด 2 ทศวรรษ มีการออกกฎหมายมากมายหลายฉบับ ตั้งและยุบองค์กรหลายครั้งหลายครา ซ้ำซ้อนกับหน่วยทางการปกครองที่มีอยู่เดิมทั้งส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน เพื่อควบคุมและบริหารสถานการณ์ แต่ดูเหมือนว่าจะอยู่ในอาการจับต้นชนปลายไม่ถูก ความรุนแรงอาจจะลงบ้างบางเวลา แต่ก็เป็นบางเวลา สถานการณ์โดยรวมยังอยู่ในสภาพที่ห่างไกลจากสันติสุข ไม่นับว่าความเป็นอยู่ของประชาชนยิ่งนับแต่จะย่ำแย่

รายงานนี้ทำการสำรวจสภาพปัญหาของการบริหารสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อค้นหาว่า รูปแบบ หน่วยงาน และโครงสร้าง ที่มีอยู่อย่างซ้ำซ้อนกันในปัจจุบันจะสามารถตอบสนองการแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างไร

หลายองค์กรทับซ้อน ซ้ำซ้อน

โครงสร้างในการบริหารสถานการณ์จังหวัดชายแดนใต้ได้รับการปรับเปลี่ยนหลายครั้ง ทั้งเปลี่ยนชื่อ กฎหมายที่ใช้กำกับ โครงสร้าง อำนาจหน้าที่ โดยแปรตามอำนาจและนโยบายทางการเมืองของรัฐบาลในกรุงเทพฯ มากกว่าจะปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์

ในยุคปลายสงครามเย็นคือช่วงทศวรรษ 1980 สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี การบริหารสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ อยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ตั้งขึ้นในปี 2524 เป็นนิติบุคคลอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี เพื่อรับผิดชอบงานด้านการพัฒนาและประสานงานทางด้านการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบกับกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 43 (พตท. 43) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงที่ตั้งขึ้นในปีเดียวกันภายใต้การบังคับบัญชาของแม่ทัพภาคที่ 4 ต่อมาในสมัยทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีเห็นว่าสถานการณ์ค่อนข้างสงบ นอกจากอาชญากรรมทั่วไปแล้วบางเวลาแทบไม่มีเหตุการณ์ก่อความไม่สงบเลย จึงได้มีคำสั่งยุบ ศอ.บต. และ พตท. 43 ในปี 2545 แล้วโอนย้ายอำนาจหน้าที่ในการบริหารสถานการณ์ให้ไปอยู่ในความดูแลของ สภาความมั่นคงแห่งชาติ

แต่หลังเหตุการณ์ปล้นปืนค่ายปิเหล็ง จ.นราธิวาส กลุ่มอำนาจเก่าโทษรัฐบาลทักษิณว่าประเมินสถานการณ์ผิดพลาดจนมีการยุบโครงสร้างการบริหารสถานการณ์ซึ่งเคยทำงานได้ผลดีมาแล้วทิ้งไป ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นจึงได้มีคำสั่งจัดตั้งกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.) รับผิดชอบเป็นหน่วยงานขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนมีนาคม 2547 ซึ่งก็แก้ไขสถานการณ์อะไรไม่ได้แม้แต่น้อย ความรุนแรงยิ่งเพิ่มทวีขึ้นอย่างมาก หลังการรัฐประหารโค่นล้มทักษิณแล้ว รัฐบาลที่มีพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีจึงได้รื้อฟื้น ศอ.บต.และ พตท. 43 ขึ้นมาใหม่ในเดือนตุลาคม 2549 แรกๆ ให้อยู่ภายใต้การกำกับของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี

หลังจากนั้นมีการปรับโครงสร้าง ศอ.บต. ใหม่ ภายใต้พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2553 โดยกำหนดให้ ศอ.บต. เป็นส่วนราชการรูปแบบเฉพาะที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง แต่ให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีเช่นกัน

ดูเหมือนองค์กรหลักทั้งสองจะรวมศูนย์อยู่ที่นายกรัฐมนตรี แต่ในการปฏิบัติงานจริงนั้นนายกรัฐมนตรีจะแต่งตั้ง เลขาธิการ คนหนึ่งซึ่งแต่เดิมกำหนดให้ต้องเป็นข้าราชการพลเรือน ทำหน้าที่ในการประสานงานและบริหารงานพัฒนาในพื้นที่ ส่วน กอ.รมน. นั้นแท้จริงแล้วขับเคลื่อนโดยกองทัพบก โดยมีผู้บัญชาการทหารบกเป็นรองผู้อำนวยการ และ เสนาธิการทหารบกเป็นเลขานุการ นอกจากนี้ ยังมีสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานอีกเช่นกัน ทำหน้าที่ในการวางนโยบายและกำหนดแนวทางอันเกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้ 

รอมฎอน

รอมฎอน ปันจอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (แฟ้มภาพ)

ดุลยรัตน์  บูยูโส๊ะ ประธานคณะขับเคลื่อนการพูดคุยสันติสุขระดับพื้นที่ (แฟ้มภาพ)

รอมฎอน ปันจอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ซึ่งมีพื้นเพเป็นคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เห็นว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะกำกับดูแลหน่วยงานทั้งสาม ควรจะมีวิสัยทัศน์ในการกำหนดนโยบายและทิศทางในการบริหารสถานการณ์ที่ชัดเจนกว่านี้

อย่างไรก็ตาม โครงการสร้างการปกครองทั่วไปในสามจังหวัดภาคใต้ ก็ไม่ได้แตกต่างจากที่อื่น กล่าวคือ ยังมีจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ซึ่งเป็นการปกครองส่วนภูมิภาค แล้วก็ยังมีองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล หรือการปกครองส่วนท้องถิ่นเหมือนที่อื่น

ดุลยรัตน์ บูยูโส๊ะ ประธานคณะขับเคลื่อนการพูดคุยสันติสุขระดับพื้นที่ กล่าวว่า แม้ ศอ.บต. และ องค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) มีส่วนที่ทับซ้อนกันอยู่มาก เหมือนไปด้วยกันได้ หนุนเสริมกันได้ แต่ที่ทับซ้อนคืองานของ กอ.รมน. กับ ศอ.บต. งานหลักจริงแยกส่วนกันชัดเจน คืองานความมั่นคงกับงานพัฒนา แต่เวลานี้ ทั้งสองยังแบ่งภาระงาน งบประมาณไม่ลงตัวเท่าไหร่ ทำให้มีการทับซ้อนกันอยู่ 

“ต้องยอมรับว่างบประมาณส่วนใหญ่ตอนนี้อยู่ที่ ศอ.บต. แต่บางครั้ง แต่ละปี ใช้เงินไม่หมด ไม่รู้จะไปทำอะไรที่ไหน ยังไม่ทั่วถึง” ดุลยรัตน์ กล่าว และว่า ศอ.บต. มีงานหลักอยู่ในตัวของเขา งานแต่ละปีที่ทำประจำ แต่งานที่เป็นนโยบายเชิงรุก อาจจะเพราะขาดสภาที่ปรึกษา ไปมันก็เลยไม่มีงานใหม่ๆ ที่จะเข้าถึงประชาชนได้ดีกว่าเดิม ของที่ทำอยู่เข้าถึงประชาชนนั่นแหละในเรื่องการพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ก็ยังทำอยู่

ทหารหรือพลเรือนเป็นใหญ่

สมัยรัฐบาลที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็ยึดอำนาจมาจากรัฐบาลพลเรือน มีการปรับเปลี่ยนการบริหารสถานการณ์ในจังหวัดภาคใต้อย่างมาก เขาอาศัยอำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญในสมัยรัฐบาลทหาร ออกคำสั่งหลายฉบับเพื่อรวมศูนย์อำนาจและให้บทบาทฝ่ายทหารอย่างมาก ตัวอย่างเช่น กฎหมายปี 2553 กำหนดให้เลขาธิการ ศอ.บต. ต้องเป็นพลเรือนเท่านั้น สมัยประยุทธ์สามารถแต่งตั้งนายทหารมาดำรงตำแหน่งนี้ได้

รอมฎอน ซึ่งเคยเป็นสื่อมวลชนเกาะติดชายแดนใต้ตั้งแต่ปี 2547 และในปี 2549 ยังร่วมกับนักข่าวและนักวิชาการในพื้นที่ก่อตั้ง Deep South Watch หรือศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ เห็นว่า ในคำสั่งคณะรักษาความงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 14/2559 สมัยประยุทธ์ ระบุว่างดเว้นการบังคับใช้พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 ที่ว่าด้วยสภาที่ปรึกษาการบริหารการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นผลผลิตที่มาจากความขัดแย้ง ที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2547 รัฐบาลในช่วงเวลานั้น พยายามที่จะสถาปนาหน่วยงานพลเรือนขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

สภาที่ปรึกษามีอำนาจหน้าที่แยกเฉพาะ ทั้งในการให้ความคิดเห็นกับร่างนโยบายที่ทางความมั่นคงแห่งชาติยกร่างขึ้นมา ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษาต่อนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการ ศอ.บต. ตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นปัญหาที่ได้รับเรื่องร้องเรียน แสดงความเห็นในการโยกย้ายข้าราชการพลเรือนที่ประพฤติตัวไม่เหมาะสม ที่ประชาชนร้องเรียนมาอันเป็นผลผลิตจากการบริหารที่รวมศูนย์อำนาจ

“การมีสภานี้ก็เป็นพื้นที่ของประชาชนที่น้อยนิด พอ คสช. มาปี 2557 มีการยกเลิกสภาที่ปรึกษานี้ โดยเฉพาะที่มา ซึ่งมาจากกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่มีการเลือกกันเอง ให้ทางราชการเป็นคนคัดสรร อำนาจหน้าที่ที่สามารถถ่วงดุลเลขาธิการ การบริหารราชการในพื้นที่ก็ถูกตัดไป ซึ่งเราก็พยายามผลักดันให้มีการฟื้นคืนสภาที่ปรึกษาขึ้นมา” รอมฎอน สส.จากพรรคฝ่ายค้านกล่าว

ดุลยรัตน์ ประธานคณะขับเคลื่อนการพูดคุยสันติสุขระดับพื้นที่ มีความเห็นสอดคล้องกันว่า สภาที่ปรึกษาซึ่งเปรียบเหมือนกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นตัวแทนของหลายๆอาชีพที่เข้าไปเป็นที่ปรึกษาในการวางนโยบายต่างๆ เหมือนมีตัวแทนประชาชนเข้าไปคุยกับข้าราชการ ไปเสนอแนะ แต่รูปแบบหลังๆ เป็นการคัดเลือกกันเองมากกว่า ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ต้องผ่านการคัดสรรมาเยอะ 

มาในสมัยรัฐบาลที่มีเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี นั้นมีความพยายามกลับไปหาหลักการเดิม เริ่มต้นการนำเจ้าหน้าที่จากกระทรวงยุติธรรม คือ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อดีตรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ อดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต. โดยรอมฎอน เห็นว่า กอ.รมน. ดูจะมีบทบาทในพื้นที่ค่อนข้างเด่นชัดเพราะเคยมีอำนาจมาตลอด ส่วน ศอ.บต. นั้นเพิ่งจะเปลี่ยนเลขาธิการอาจจะยังจับต้นชนปลายไม่ถูก

ดุลยรัตน์ มีความเห็นเพิ่มเติมว่า “ช่วงดังกล่าวเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านด้วย ในขณะที่ตอนนี้มีการเรียกร้องจากนักการเมืองหลายๆ ท่านต้องการปลดล็อคคำสั่งมาตรา 44 ของ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อให้ ศอ.บต.กลับไปอยู่สภาพแบบเดิม เพราะโครงสร้าง ศอ.บต. เคยถูกเปลี่ยนแปลง ไม่มีความอิสระในการทำงานเท่าที่ควร ไม่มีการเข้าถึงประชาชนสักเท่าไหร่ ผิดกับ กอ.รมน. ซึ่งเป็นหน่วยงานกองกำลัง มีหน่วยงานภาคสื่อมวลชน ประชาสัมพันธ์อยู่เต็มในพื้นที่ เลยกลายเป็นว่าภาพของ กอ.รมน.เลยดีกว่า ศอ.บต.เสียอีก”

รอมฎอน กล่าวเสริมว่า “ผมก็ใช้โอกาสนี้ในการตั้งคำถามว่าท่าน (เศรษฐา ทวีสิน) ดูเหมือนจะไม่แยแสปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้มากพอ เป็นไปได้ว่ารัฐบาลจะปล่อยให้เป็นการดูแลภายใต้กองทัพ หรือ กอ.รมน. ต่อไป เพราะไม่เห็นการกำหนดทิศทางว่าจะแก้ปัญหาหรือสร้างสันติภาพด้วยแนวทางแบบไหน ในทางตรงข้ามท่านนายกฯ ลงไปในพื้นที่สามจังหวัด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ก็ไม่พูดถึงเรื่องความมั่นคงหรือสันติภาพ แต่พูดในประเด็นการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ ซึ่งเราคาดหวังว่าผู้นำฝ่ายรัฐบาลจะมีแนวทางในการแก้ปัญหานี้ ซึ่งคนขัดแย้งกันโดยมีการใช้กำลัง มันต้องการพลังทางการเมืองของฝ่ายบริหารในการชี้ว่ารัฐบาลจะไปทางไหน มีคำสั่งสานต่อการพูดคุยสันติภาพ ซึ่งดำเนินไปอย่างที่รัฐบาลก็ระมัดระวังที่จะไม่พูดถึง การขยายอายุพระราชกำหนดบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่เอง ก็ไม่ต่างจากรัฐบาลก่อนหน้านี้ มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายใน แต่เราคาดหวังให้นายกรัฐมนตรีทำงานให้เป็นรูปธรรมมากกว่านี้”

งบประมาณหลายแสนล้านบริหารสถานการณ์ใต้

ความซ้ำซ้อนในโครงสร้างและหน่วยงานราชการในการบริหารสถานการณ์ภาคใต้ เป็นที่มาของความสับสนในการใช้จ่ายงบประมาณที่มาจากเงินภาษีของประชาชน โดยประเทศไทยใช้งบประมาณไปแล้วเกือบ 5.4 แสนล้านบาทเพื่อควบคุมและบริหารสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา

ดุลยรัตน์ กล่าวว่าหน่วยราชการในเขตจังหวัดชายแดนใต้ดูเหมือนจะมีเสรีภาพในการใช้จ่ายมากกว่าที่อื่น “คือมันมีอะไรพิเศษอยู่หลายอย่าง โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างไม่ต้องเข้าประมูลทางเว็บไซต์ สัญญาจะทำแบบไหนก็ทำได้เลย สะดวกกว่า กลไกของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและสำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติก็เหมือนปกติ งบประมาณจะลงมาเยอะจากกระทรวงหลัก ส่วนงบประมาณจากท้องถิ่นก็ยังขาดแคลนเหมือนเดิม มีแต่ภาระงาน ยังไม่ถึง 30 % ด้วยซ้ำ ต้องมีการกระจายอำนาจมากกว่านี้”

ในขณะที่ผู้แทนราษฎรอย่าง รอมฎอน กล่าวว่า คนทั่วไปมักจะตั้งคำถามว่าที่เหตุการณ์ไม่สงบ เพราะเอาไว้ใช้งบประมาณด้วหรือเปล่า ก็เป็นคำถามที่คนอยากรู้ “ไปดูเนื้อในจริงๆ มันน่าตกใจมากกว่านั้น ในรอบ 20 ปี ใช้จ่ายงบประมาณ 5.4 แสนล้านบาทในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรามีต้นทุนเยอะมาก ใช้ทรัพยากรสาธารณะในแก้ไขปัญหา แต่คุณภาพชีวิตค่อนข้างต่ำมาก และอัตราการว่างงานสูง ยังไม่นับรวมว่าสถานการณ์ความขัดแย้งยังอยู่ มีการทำแผนบูรณาการก็เริ่มในรัฐบาลคสช แต่ข้อสังเกตคือเพื่อแก้ปัญหาต่างคนต่างทำ เนื่องจากแต่ละหน่วยงานก็มีแผนการทำงาน หลายๆโครงการที่มาแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ โดยมากำหนดตัวชี้วัดร่วมกัน”

“แต่ข้อค้นพบที่สำคัญที่ผมเจอคือมีงบประมาณนอกแผนบูรณาการเต็มไปหมด โดยเฉพาะงบที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ซึ่งควรจะต้องอยู่ในแผน แต่การเอาออกไปทำให้เราไม่เห็นต้นทุนที่แท้จริงที่สังคมไทยสูญเสียไปกับการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณที่มีปัญหาคืองบกำลังพลและการดำเนินการ ซึ่งปีนึงอยู่ที่ 3-4 พันล้านบาท เป็นเบี้ยเลี้ยงให้กับเจ้าหน้าที่ที่ทำงาน ซึ่งก็มีข้อสงสัยนะครับว่าจำนวนอัตราที่ตั้งไว้เพื่อของบประมาณกับอัตราจริงที่ปฏิบัติงานในพื้นที่อาจจะไม่เท่ากัน มีหลายคนก็วิจารณ์ว่านี่คือที่มาที่ไปของบัญชีผีที่ กอ.รมน.” รอมฎอน กล่าว

บัญชีผีที่ว่าหมายถึงกรณีที่เคยมีข่าวเมื่อ 2 ปีก่อน ที่พบว่ามีสิบตำรวจตรีหญิง ซึ่งตัวอยู่ที่ราชบุรีแต่ว่าชื่อสังกัด กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นเรื่องที่ยังไม่สามารถตรวจสอบได้ แล้วก็พยายามจะตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ กรณีนี้ไม่ได้ซ้ำซ้อน แต่ไม่โปร่งใส มีความจำเป็นการใช้งบประมาณขนาดนั้นไหม ส่วนที่มันซ้ำซ้อนจริงๆ มีความพยายามอย่างยิ่งในการที่จะคัดกรองงานที่ซ้ำซ้อนออกไปแต่ ก็พบว่าภารกิจที่ว่าไม่ใช่ภารกิจของทหาร 

"ซึ่งบางภารกิจยิ่งทำยิ่งแย่ เช่นภารกิจด้านการเมือง ในการทำงานกับเครือข่ายประชาชนยิ่งทำยิ่งสร้างความไม่ไว้วางใจ มันมีโครงการอะไรแบบนี้เยอะ ก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติอย่างเรา ที่จะต้องตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณนี้" รอมฎอนกล่าว

ความจริง สำนักงบประมาณก็เปิดให้ดาวน์โหลดเอกสารงบประมาณประกอบร่างพระราชบัญญัติได้ เพียงแต่อยู่ในรูปแบบไฟล์ PDF อีกทั้งผู้ที่เข้าไปตรวจสอบก็ต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับโครงสร้างของการจัดงบประมาณอยู่พอสมควรจึงจะสามารถค้นเข้าไปดูไว้ว่างบประมาณที่ใช้จ่ายในพื้นที่ จังหวัด หรือภารกิจอยู่ตรงไหน “ซึ่งเรื่องนี้เรียนรู้กันได้”

รอมฎอน กล่าวด้วยว่า “จริงๆ ความรู้แบบนี้มันเป็นความรู้ที่พลเมืองเรียนรู้ได้นะครับ เพียงแต่รัฐอาจจะต้องเอื้ออำนวยให้เอาถึงได้ง่าย ซึ่งถ้าเอกสารพวกนี้มันสามารถย่อยง่ายนะครับ ประชาชนก็จะมีส่วนร่วมในการติดตามข้อมูล ไม่ต้องรอคนที่จะมานั่งอภิปรายนะครับ เราสามารถที่จะเข้าถึงแล้วก็ทำการวิเคราะห์ แชร์แลกเปลี่ยนกันได้”

งบประมาณรายจ่ายในการบริหารจังหวัดชายแดนใต้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (พ.ศ. 2563-2567)

                                                                                                                                                  หน่วย: ล้านบาท

ปีงบประมาณ 2563 2564 2565 2566 2567
งบบูรณาการ 10,654 9,563 6,912 6,208 6,574
ศอ.บต. 318 353 618 618.5 685
กอ.รมน. 9,774 6,150 (1,709) 5,480 (1,357) 5,435 (1,404) 4,977 (1,409)
สมช. 130 106 (68) 87 (49.1) 92 (52) 154 (55)
จังหวัดปัตตานี 133 155 60 238 275
จังหวัดยะลา 131 143 54 217 234
จังหวัดนราธิวาส 133 119 87 246 238
จังหวัดสงขลา 268 271 146 257 295
อบจ.ปัตตานี 227 242 137 270 688
อบจ.ยะลา 169 187 109 110 255
อบจ.นราธิวาส 201 195 103 107 340
อบจ.สงขลา 310 352 131 227 276
เทศบาลในพื้นที่ชายแดนใต้ ไม่มีข้อมูล 1,380 465 1,368 1550

ที่มา: สำนักงบประมาณ

หมายเหตุ: งบของ กอ.รมน. และ สมช. ในวงเล็บคือส่วนที่ใช้ในการบริหารสถานการณ์ใต้ ซึ่งจะรวมอยู่ในงบบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

สันติภาพเริ่มจากนโยบายสาธารณะที่ดี

ต่อคำถามที่ว่าสันติภาพจะเริ่มได้อย่างไร ดุลยรัตน์กล่าวว่า จุดเริ่มเป็นเรื่องของการปกครอง เรื่องชาติพันธุ์ ซึ่งต้องยอมรับว่าในพื้นที่เหล่านี้มีชาติพันธุ์มลายูไปถึงนครศรีธรรมราช ถ้าดูประวัติศาสตร์แล้ว ต้นกำเนิดมาจากความเชื่อเดียวกัน เชื่อผีสางนางไม้มาก่อนเปลี่ยนมาเป็นพราหมณ์ พุทธ อิสลาม ปัญหาก็คือมีกลุ่มคนบางกลุ่มในการรวมศูนย์ เมื่อมีการปกครองส่วนภูมิภาคเข้ามา ส่วนกลางก็ต้องส่งคนเข้ามาดูแล กลุ่มคนที่อยู่เป็นคนดั้งเดิม ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาเป็นความบิดเบี้ยวของประวัติศาสตร์แต่ละฝั่ง ใครจะเขียนให้เข้าข้างตัวเองก็เขียนไป ตามความเข้าใจของตัวเองว่าคนในพื้นที่อพยพมาจากอินโดนีเซียมั้ง ไม่ใช่นะ เป็นคนดั้งเดิม แผ่นดินของเขา แต่มารวมให้เป็นหนึ่งเดียวกับประเทศไทย คนที่เขาเสียอำนาจไปอาจจะพยายามปลุกแนวคิดนี้อยู่ อีกส่วนก็คือความต่างในเรื่องของความเชื่อ ถ้าได้เข้าไปสอบถาม คนในภาคใต้ 100 คน กว่า 90% ไม่มีการแบ่งแยกประเทศแน่นอน

อย่างการตั้งนโยบายผิดพลาดเรื่องการกดทับวัฒนธรรมที่มีตั้งแต่สมัยของจอมพล ป.พิบูลสงคราม อันนั้นก็มีส่วนเยอะที่บังคับที่ให้เปลี่ยนเครื่องแต่งกาย ภาษามลายูห้าม ต้องใช้ภาษาไทย ก็เลยเกิดการทับถมมาเรื่อยๆ จนเกิดกลุ่มที่เห็นต่าง

ส่วนสันติสุขชายแดนใต้ ต้องไปหาตัวชี้วัดว่าวัดว่าวัดจากส่วนไหน ส่วนเรื่องนโยบายสาธารณะ เรื่องรัฐบาลมีผลต่อชาวบ้านตรงๆ ถ้าวัดจากความรู้สึกของชาวบ้าน ต้องลองมาสัมผัสดูว่าสันติภาพ สันติสุขก็คุยกันอยู่ในส่วนตัวของเขาเอง จากที่ร่วมเวทีประชาคมกับชาวบ้าน เขาไม่ได้มองเรื่องแบ่งแยกดินแดน เขาไม่ได้มองเรื่องอะไรที่มันใหญ่ๆ นอกจากมีคุณภาพชีวิตที่ดี เศรษฐกิจที่ดีขึ้น ลูกหลานมีการศึกษาที่ดีขึ้น

สำหรับตัวรอมฎอน นอกจากบทบาทสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว เขายังทำงานในประเด็นสันติภาพชายแดนใต้ ผ่านคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ของสภาผู้แทนราษฎรด้วย ต่อประเด็นเรื่องสันติภาพ เขาเห็นว่า การเข้ามาทำงานในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเขา ถือเป็นการเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้เล่นอีกแบบ จากบทบาทเดิมของเขาที่เป็นนักวิจัย นักเรียนปริญญาเอก และการทำงานสร้างเครือข่ายประชาสังคมในชายแดนใต้ที่ขยายตัวในทศวรรษ 2550

"จากนักข่าวขยับมาเป็นผู้เล่นอีกแบบ เป็นนักวิเคราะห์ ประสานงาน คุยกับคนภาคส่วนต่างๆ ต้นทุนที่เราเคยมีการจัดการกับข้อมูลที่ซับซ้อน การคุยกับคนที่มีความเห็นต่างกัน ทั้งส่วนของพรรคเอง คนที่สนับสนุนพรรค ทำให้เห็นว่าเรื่องที่มันดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ ให้มันเป็นไปได้"

"อย่างเราที่มาจากพื้นที่ความขัดแย้ง คนตายไป 7,000 กว่าคน ถ้าเราจมอยู่กับมัน เราจะนึกไม่ออกจริงๆ ว่าทางออกทางการเมืองจะเป็นยังไง พอมาเป็นฝ่ายนิติบัญญัติก็ได้มาเรียนรู้เรื่องการต่อรองกับพรรคอื่นๆ หน่วยงานราชการ รวมถึงความคาดหวังของพี่น้องประชาชน" รอมฎอนกล่าว

รอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 20 มิถุนายน 2567 เสนอแผนบูรณาการชายแดนใต้ด้วยบันได 5 ขั้น เพื่อปลดพันธนาการของ คสช. ตั้งเป้ายุติข้อขัดแย้งให้ได้ในปี 2570 

สันติภาพเมื่อประชาชนมีส่วนร่วม?

ดุลยรัตน์ มองว่ามีทิศทางที่ไปสู่สันติสุขได้หากภาครัฐโดยเฉพาะ ศอ.บต. และ กอ.รมน. ควรพยายามปรับบทบาท ให้ประชาชนเข้ามาแสดงความผิดเห็นต่อโครงการหรือนโยบายต่างๆ มากขึ้น ความผิดพลาดจากอดีต “เขายอมรับนะครับว่า จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งในยุค 20 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐเองก็มีส่วนทำให้เกิดขึ้นในการใช้ความรุนแรง ยกตัวอย่างเช่น คนที่เขาโดนคดี 20 กว่าคดี ต้องเข้ามาร่วมโครงการมาตรา 21 ใน พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งกำหนดให้ศาลสามารถสั่งให้บุคคลเข้ารับการฝึกอบรมอยู่ภายใต้การดูแลของ กอ.รมน. ได้เป็นเวลานานถึง 6 เดือน แต่บางคนหายไปเลยเพราะเจอ 10 คดี ทั้งที่คดีหลักๆ คือคดีเดียว ที่เหลือคือตีความรวมๆ ไปก่อน บ่อยครั้งเกิดกรณีแบบนี้ กอ.รมน.เลยเข้ามามีส่วนรับผิดชอบ ทำงานให้รัดกุม และเข้าเป้ามากขึ้น"

ประธานคณะขับเคลื่อนการพูดคุยสันติสุขระดับพื้นที่ กล่าวว่า นี้คือเสียงสะท้อนจากพื้นที่และความโหยหาในสันติภาพ โดยเนื้อในคนภาคใต้ไม่ได้มีความรุนแรง ไม่ได้มีการก่อการร้ายขนาดนั้น อยากให้ส่วนอื่นๆ ของได้เห็นมุมนี้ เพราะการพัฒนาประเทศ ต้องได้รับความเห็นชอบจากคนในประเทศ ตอนนี้ที่พยายามเรียกร้องคือให้ทาง สส.เข้าไปผลักดัน พ.ร.บ.สันติภาพให้เกิดขึ้นมาให้ได้

รอมฎอน กล่าวว่า ท้ายสุดแล้วการบรรลุข้อตกลงสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับ BRN น่าจะเป็นแกนกลางสำคัญของการแก้ไขปัญหา “หมายความว่า เราต้องแสวงหาข้อตกลงสันติภาพที่มาจากการเห็นพ้องกันของประชาชนในพื้นที่ด้วย ที่จะเป็นหลักประกันได้ว่าเราจะบรรลุสันติภาพที่ยั่งยืนได้ เป็นจุดตั้งต้นบนเงื่อนไขที่ว่า ผ่านมา 20 ปี ไม่ใช่อยู่ๆ แต่ละฝ่ายสามารถใช้กำลังห้ำหั่นอีกฝ่ายหนึ่งได้อย่างเด็ดขาด มันต้องผ่านกระบวนการในการเจรจาต่อรองกัน ต้องนั่งคุยกัน”

การใช้กำลังในมันไม่สามารถตอบโจทย์ได้ ผลกระทบต่อประชาชนพลเมืองมือเปล่ามันสูงมาก การพิจารณาพิทักษ์ปกป้องอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของรัฐไทย หรือการพยายามปลอดปล่อยปัตตานีให้เป็นอิสระจากรัฐไทย เป้าหมายทั้ง 2 อันนี้มันอาจจะมีจุดอยู่ตรงกลาง

“ผมคิดว่าทางที่ไปใกล้เคียงที่สุดทางการเมือง คือจะต้องมานั่งลงคุยกันเรื่องการปรับความสัมพันธ์ในเชิงโครงสร้างใหม่ของการบริหารปกครองในพื้นที่ว่าเราจะสามารถกระจายอำนาจให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้ขนาดไหนในขณะเดียวกันก็มีสายสัมพันธ์ที่ผูกพันต่อรัฐด้วย โดยต้องไปในทิศทางใหญ่ทั้งประเทศด้วยที่มีการเคลื่อนไหวเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เรื่องการปฏิรูปโครงสร้างของชุมชน เป็นประเด็นที่พรรคอื่นๆ ก็ดูจะเห็นพ้องกันในหลายๆ เรื่อง” รอมฎอน กล่าว

สังคมไทยโดยรวมมันก็กำลังเคลื่อนตัวไปสู่การพยายามจะคลายอำนาจหาทางออกแบบแบ่งปันอำนาจกัน (Power Sharing) คือการแบ่งปันอำนาจกันระหว่างรัฐส่วนกลางกับผู้คนในท้องถิ่น “ผมเองสนใจศึกษาเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 52 ร่วมกับเครือข่าย Deep South Watch มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกระจายอำนาจหรือการปรับโครงสร้างทางการเมืองการปกครองชายแดนใต้มากกว่า 10 ตัวแบบด้วยซ้ำ บางแบบก็ตอบสนองต่อวัฒนธรรมที่คนส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นมุสลิม หรือกรณีที่ชนกลุ่มน้อยในพื้นที่อย่างชาวพุทธที่จะต้องมีที่มีฐานมีหลักประกันว่าเสียงของพวกเราจะสำคัญ จะอยู่ในสภาจะอยู่ในฝ่ายบริหารอย่างไร อาจจะไม่ใช่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่มาจากการคัดสรรหรือว่าการมีโควตา ทั้งหมดนี้เราสามารถกเถียงกันได้” รอมฎอน กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: