สหรัฐฯ คงสถานะไทยบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List) การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

กองบรรณาธิการ TCIJ 15 พ.ค. 2567 | อ่านแล้ว 3037 ครั้ง

สหรัฐฯ คงสถานะไทยบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List) การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เผยสหรัฐฯ คงสถานะไทยในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List) การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ย้ำชื่นชมประเทศไทยพัฒนาการและความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐของไทยได้ดีเยี่ยม แต่สหรัฐมีข้อห่วงกังวลปัญหามีการลักลอบบันทึกภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ การแอบอ้างสิทธิในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ และอื่นๆ ขอให้ไทยแก้ไข | ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อช่วง พ.ค. 2567 ว่านายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (United States Trade Representative : USTR) ประกาศสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้ารายสำคัญ ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐ มาตรา 301 พิเศษ (Special 301) ประจำปี 2567 เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา โดยคงสถานะไทยอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List : WL)

ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ดำเนินการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทยมาอย่างต่อเนื่อง และพร้อมเดินหน้าชี้แจงสหรัฐ ถึงพัฒนาการ และเร่งขับเคลื่อนการเจรจาแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP Work Plan) เพื่อผลักดันให้ไทยหลุดจากบัญชี WL

ทั้งนี้ จากการประกาศสถานะดังกล่าว สหรัฐตระหนักถึงพัฒนาการด้านการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทย โดยเฉพาะการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ กฎหมายลิขสิทธิ์ และกฎหมายสิทธิบัตร รวมทั้งชื่นชมความพยายามของหน่วยงานไทยในการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและการบูรณาการภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าของสิทธิ ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ศุลกากร การจัดทำระบบฐานข้อมูลเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ของกรมศุลกากร (Thai Customs IPR Recordation System : TCIRs) การจัดทำแผนปฏิบัติการเร่งด่วนในการดำเนินการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญา กับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อกำหนดพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังพิเศษ

อย่างไรก็ดี สหรัฐยังคงมีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับปัญหาบางประการ อาทิ ยังคงมีการลักลอบบันทึกภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ การแอบอ้างสิทธิในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ การละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ผ่านอุปกรณ์หรือแอปพลิเคชันสำหรับการสตรีมและดาวน์โหลด content โดยไม่ได้รับอนุญาต และความล่าช้าในการดำเนินคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา

ทั้งนี้ กรมฯ มองว่าทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในด้านการส่งเสริม การคุ้มครอง และการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ที่ผ่านมากรมฯ ได้เร่งพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศอย่างต่อเนื่องและมีพัฒนาการที่ชัดเจน โดยไทยมุ่งมั่นดำเนินทุกภารกิจเพื่อที่จะหลุดจากบัญชี WL และทุกบัญชีให้ได้ ซึ่งเห็นได้จากการดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อทุกข้อกังวลของสหรัฐ หลายเรื่องได้ดำเนินการสำเร็จไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการ Smart DIP ซึ่งอำนวยความสะดวกรวดเร็วให้กับประชาชนในการให้บริการด้านทรัพย์สินทางปัญญา มีเพียงบางเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ เพื่อรองรับการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยการแสดงและสิ่งบันทึกเสียงขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Performances and Phonograms Treaty : WPPT) และการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร เพื่อรองรับการเข้าเป็นภาคีความตกลงกรุงเฮกว่าด้วยการจดทะเบียนการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระหว่างประเทศ (Hague Agreement Concerning International Registration of Industrial Designs : Hague Agreement) ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ

อย่างไรก็ตาม กรมฯ มั่นใจว่าสหรัฐจะพิจารณาให้ไทยหลุดจากบัญชี WL และทุกบัญชีในไม่ช้านี้ ทั้งนี้ กรมฯ ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เห็นถึงความสำคัญของการคุ้มครองและการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จึงขอเน้นย้ำว่ากรมฯ จะเร่งผลักดันให้ไทยหลุดจากบัญชี WL ให้สำเร็จโดยเร็ว โดยเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2567 กรมฯ หารือกับ USTR เพื่อเร่งจัดทำแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP Work Plan) ร่วมกับสหรัฐ ซึ่งจะเป็นกรอบในการดำเนินการเพื่อให้ไทยหลุดจากบัญชีดังกล่าวได้ต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: